ภาครัฐหนุนเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันของอุตสาหกรรมไทย ลดภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เว้นอากรเครื่องจักร เพิ่มสิทธิประโยชน์ 6 กลุ่มเป้าหมายสร้างฐานอนาคตชาติ ขีดเส้นขอ BOI ในปี 2559 ลงทุนในปี 2560
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า นโยบาย Talent Mobility เป็นกลไกสำคัญที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทยที่จะช่วยให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากการเป็นประเทศรายได้ปานกลาง โดยหนึ่งในนโยบายรัฐบาล คือ มาตรการสนับสนุนการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา สู่เป้าหมาย 1% ของ GDP ในจำนวนนี้คิดเป็นสัดส่วนลงทุนของภาคเอกชนกับภาครัฐ 70 : 30 จากการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พบว่า การลงทุนวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชนนับตั้งแต่ปี 2551 - 2556 เพิ่มขึ้นจาก 7,273 ล้านบาท เป็น 26,768 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึง 368%
"เมื่อภาคเอกชนลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนามากขึ้น จะเกิดความต้องการบุคลากรมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันบุคลากรเหล่านี้อยู่ในภาครัฐและภาคอุดมศึกษาถึง 83% ขณะที่ส่วนของภาคเอกชนมีบุคลากรดังกล่าวเพียง 17% นโยบาย Talent Mobility จะทำให้เกิดการดึงศักยภาพของนักวิจัยไทยที่กระจุกตัวอยู่ในมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของรัฐบาลจำนวนมากมาช่วยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของสถานประกอบการภาคเอกชนหรือภาคอุตสาหกรรมอย่างเป็นรูปธรรม และพัฒนาภาคอุตสาหกรรมให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการเชื่อมโยงการทำงานระหว่างมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของภาครัฐ ก่อให้เกิดการถ่ายทอดแลกเปลี่ยนความรู้และสร้างองค์ความรู้ใหม่ระหว่างกันด้วย" ดร.พิเชฐ กล่าว
ล่าสุด รัฐบาลได้ผ่อนกฎเกณฑ์บางเรื่องที่ทำให้นักวิจัยและนักเรียนทุนรัฐบาลไม่สามารถไปปฏิบัติงานในภาคเอกชน สามารถไปทำงานให้ภาคเอกชนได้ โดยผู้ที่ไปปฏิบัติงานภายใต้นโยบาย Talent Mobility ให้ถือว่าเป็นการปฏิบัติงานเต็มเวลา และให้นับเป็นอายุราชการหรืออายุงานของหน่วยงานต้นสังกัด และสำหรับผู้ที่มีข้อผูกพันตามสัญญาชดใช้ทุน ให้นับเป็นเวลาใช้ทุนตามสัญญาด้วย อีกทั้งยังให้บุคลากรดังกล่าวสามารถใช้ผลการปฏิบัติงานในภาคเอกชน เป็นผลงานในการขอตำแหน่งทางวิชาการหรือตำแหน่งงานอื่นๆ รวมถึงการขึ้นเงินเดือน ตามเกณฑ์ที่หน่วยงานต้นสังกัดจะจัดทำขึ้น
ดร.พิเชฐ กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯได้จัดตั้งศูนย์อำนวยความสะดวก Talent Mobility หรือ TM Clearing House เพื่อรวบรวมข้อมูลจำนวนนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญประมาณ 30,000 คน และข้อมูลความต้องการของภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี รวมถึงการประสานงานจับคู่บุคลากรและผู้เชี่ยวชาญเข้าไปปฏิบัติงานเพื่อลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และพัฒนาสินค้า ปัจจุบันมี TM Clearing House อยู่ 4 แห่งทั่วประเทศ คือ ส่วนกลางที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าธนบุรี ภาคเหนือที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภาคอีสานที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น และภาคใต้ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีนักวิจัยเข้าร่วม 80 คน นักศึกษา 31 คน
"ปัญหาสำคัญ คือ การเชื่อมโยงภาคอุตสาหกรรมกับภาครัฐและมหาวิทยาลัย เพราะยังไม่สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ภาคการผลิตที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคเศรษฐกิจได้ รัฐบาลก็พยายามจะสร้างการเชื่อมโยงให้มากที่สุด เพื่อให้สามารถพัฒนาสินค้าที่ดีมีคุณภาพ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้" ดร.พิเชฐ กล่าว
กานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยว่า เอสซีจี ร่วมถึงภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ต่างก็ต้องการพัฒนาสินค้าที่มีนวัตกรรมใหม่ๆ มีมูลค่าเพิ่มออกสู่ตลาด แต่ติดอุปสรรคที่ขาดนักวิจัยมาช่วยคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อต่อยอดพัฒนาสินค้าเดิม หรือสร้างสรรค์สินค้าใหม่ๆ ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ซึ่งภาครัฐเองก็รู้ถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้หาแนวทางปลดล็อกปัญหาต่างๆ ด้วยการนำมาตรการด้านภาษีมาเป็นเครื่องมือช่วยแก้ปัญหา โดยการให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีสำหรับคลัสเตอร์เป้าหมายใน 6 กลุ่มอุตสาหกรรมที่จะสร้างฐานเพื่ออนาคต ด้วยการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และอากรนำเข้าเครื่องจักร มีจุดประสงค์สร้างจูงใจในการลงทุน
สำหรับคลัสเตอร์เป้าหมาย 6 กลุ่ม ประกอบด้วย ซูเปอร์คลัสเตอร์ 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.ยานยนต์และชิ้นส่วน 2.เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์โทรคมนาคม 3.ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 4.ดิจิตอล ครอบคลุมพื้นที่ 9 จังหวัด ได้แก่ จ.นครราชสีมา, อยุธยา, ปราจีนฯ, ฉะเชิงเทรา, ชลบุรี, ระยอง, ปทุมธานี, เชียงใหม่ และภูเก็ต กลุ่มคลัสเตอร์ 2 กลุ่ม ได้แก่ เกษตรแปรรูปและสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งเกษตรแปรรูปจะแบ่งออกเป็น 5 พื้นที่ตามวัตถุดิบ ส่วนสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มจะเชื่อมโยงแหล่ง ผลิตในเมียนมาในฝั่งตะวันตก และเชื่อมโยงกับแหล่งผลิตในกัมพูชาในฝั่งตะวันออก ส่วนกรุงเทพฯจะเป็นศูนย์กลางด้านการออกแบบและการค้า
สำหรับสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มซูเปอร์ คลัสเตอร์ ผู้ประกอบการจะได้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 8 ปี และลดหย่อน 50% เพิ่มอีก 5 ปี ขณะที่กิจการเพื่ออนาคตที่มีความสำคัญสูง กระทรวงการคลังจะพิจารณายกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มขึ้นสูงสุด 10-15 ปี รวมทั้งได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร และยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยจะพิจารณาให้ถิ่นที่อยู่ถาวรสำหรับผู้เชี่ยวชาญชั้นนำระดับนานาชาติที่มาทำงานด้วย และจะอนุญาตให้ต่างชาติถือกรรมสิทธิ์ที่ดินเพื่อประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริมได้
ส่วนคลัสเตอร์เป้าหมายอื่นจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3-8 ปี และลดหย่อน 50% เพิ่มอีก 5 ปี ส่วนสิทธิประโยชน์อื่นจะได้รับเช่นเดียวกับซูเปอร์คลัสเตอร์ ซึ่งจะต้องยื่นขอรับการส่งเสริมจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ( BOI ) ภายในปี 2559 และลงทุนภายในปี 2560
กานต์ กล่าวว่า โครงการ Talent Mobility ของรัฐบาลจะช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมสามารถแข่งขันได้ เพราะนักวิจัยจะช่วยพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ที่มีนวัตกรรม เพื่อเพิ่มยอดขายได้มากขึ้น แต่ภาครัฐควรเขียนกติกาให้ชัดเจน เพื่อให้นักวิจัยสามารถเข้ามาช่วยงานภาคอุตสาหกรรมได้ เพราะจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้มากขึ้น