xs
xsm
sm
md
lg

เนสท์เล่ ดัน “โครงการเด็กไทยสุขภาพดี” สู่โมเดลระดับโลก หนุนขยายเครือข่าย-โชว์แบบประเมินผล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บูธเนสท์เล่ “โครงการเด็กไทยสุขภาพดี” ในงานประชุมวิชาการโภชนาการแห่งชาติ ครั้งที่ ๙ เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวโรกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558 ที่สยามพารากอน (จากขวา) ยูจีน ชาน  ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายสื่อสารและบริการทางการตลาด บริษัท เนสท์เล่ (ไทย)ออดรีย์ เลียว) ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เนสท์เล่ อินโดไชน่า นภดล ศิวะบุตร ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด และ กนกทิพย์ ปริญญานุสสรณ์ ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กร และประชาสัมพันธ์ บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด
•เผยพฤติกรรมในการบริโภคของเด็กไทย ผ่านรายงานฉบับสมบูรณ์ จะต้องเร่งปรับเปลี่ยนให้เด็กรู้ทัน ฉลาดกิน ออกกำลังกายเป็น ผ่าน“ภารกิจพิชิตสุขภาพดี 8 สัปดาห์”
•สถาบันโภชฯ ม.มหิดล ยืนยันสื่อการสอนสามารถใช้พัฒนาพฤติกรรมเด็กให้มีสุขภาวะที่ดีได้จริง
ปัจจุบันเนสท์เล่พยายามสร้างเครือข่ายจากโรงเรียนนำร่อง เพื่อให้สื่อการเรียนการสอน “ภารกิจพิชิตสุขภาพดี 8 สัปดาห์” จาก “โครงการเด็กไทยสุขภาพดี”ให้กระจายออกไปสู่ทั่วทั้งประเทศ และเมื่อเร็วๆ นี้ได้ส่งรายงานฉบับสมบูรณ์ การประเมินผลโครงการเด็กไทยสุขภาพดี (กิจกรรมพิชิตสุขภาพดีใน 8 สัปดาห์) เพื่อขอบรรจุหลักสูตรนี้กับกระทรวงศึกษาธิการ ด้วยเห็นว่าจะกระจายองค์ความรู้นี้ไปสู่การปฏิบัติจริงและเกิดผลดีต่อสุขภาพของเด็กไทยโดยรวมมากที่สุด
เนื่องจากทุกวันนี้เด็กไทยเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วนและโรคเบาหวานเพิ่มขึ้น หากดูจากเกณฑ์น้ำหนักที่เกิน ล้วนแต่มีสาเหตุจากการไม่ค่อยออกกำลังกาย และพฤติกรรมในการรับประทานที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่ได้ใส่ใจเรื่องฉลากและโภชนาการ ถึงแม้จะมีการเรียนรู้เกี่ยวกับอาหาร 5 หมู่ แต่เด็กก็เลือกที่จะรับประทานตามใจปาก
ด้วยเหตุผลดังกล่าวเนสท์เล่จึงเลือกที่จะพัฒนาสื่อการเรียนการสอนของเด็กโดยเริ่มตั้งแต่การปูพื้นฐานสุขอนามัยและโภชนาการที่ดีตั้งแต่วัยเด็ก เพื่อทำให้เกิดเป็นนิสัยและเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์ พร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ สื่อความรู้ยังทำให้เด็กสนุกสนานและสามารถนำไปใช้ได้ทั้งในโรงเรียน และที่บ้าน สร้างการมีส่วนร่วมระหว่างบ้านและโรงเรียน
เนสท์เล่ ประสานความร่วมมือกับกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ผ่าน “โครงการเด็กไทยสุขภาพดี” กับโรงเรียนระดับประถมศึกษาในเขตกรุงเทพมหานคร พร้อมมุ่งแจกสื่อการเรียน ให้ครอบคลุมทุกโรงเรียนทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา
กนกทิพย์ ปริญญานุสสรณ์
เริ่มจาก อ่าน ปรับ ขยับ เปลี่ยน
เนื่องจากพฤติกรรมการกิน เป็นอีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กเสี่ยงต่อการเป็นโรค “โครงการเด็กไทยสุขภาพดี” ได้พัฒนาสื่อการเรียนการสอนที่เน้น 4 หัวข้อหลัก คือ อ่าน ปรับ ขยับ เปลี่ยน
อ่าน คือ อ่านฉลากโภชนาการ เพื่อให้เด็กรู้ถึงพลังงาน หวาน มัน เค็ม ที่อยู่บนฉลาก ซึ่งทำเพื่อให้เด็กเริ่มชินจนติดเป็นนิสัย เพราะเมื่อถ้าเด็กโตแล้วอาจแก้ไม่ทัน
ปรับ คือ ปรับมากินผักและผลไม้บ้าง เด็กมีความรู้เรื่องอาหารหลัก 5 หมู่ แต่ผักเป็นสิ่งที่เด็กเขี่ยทิ้งมาตลอดเช่นกัน
ขยับ คือ ต้องควบคุมการกินให้ได้แคลอรีเท่าที่ควรเมื่อกินแล้วต้องออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายมีความสมดุล
เปลี่ยน คือ พวกเด็กตระหนักและฉุกคิดถึงเรื่องการกิน การควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย เป็นสำคัญ
 
กนกทิพย์ ปริญญานุสสรณ์ ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กร และประชาสัมพัธ์ บริษัทเนสท์เล่ (ไทย) จำกัด กล่าวว่า “ภารกิจพิชิตสุขภาพดี 8 สัปดาห์ เราได้เข้าไปสอนเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 จากนั้นเราให้โรงเรียนต่อยอดเอง และเมื่อทำเป็นกิจวัตรไปแล้ว หวังว่าเด็กจะสานต่อจากที่โรงเรียน แล้วนำกลับไปทำที่บ้านด้วย และแต่ละสัปดาห์คุณครูจะต้องมาบันทึกลงในบอร์ดที่เราจัดไว้ ส่วนนักเรียนก็จะมีเล่มพาสปอร์ตเพื่อให้พวกเขานำกลับไปให้ผู้ปกครองดูว่าพวกเขาทำไปได้กี่ครั้งแล้วในการอ่าน ปรับ ขยับ เปลี่ยน สุดท้ายแล้วจะให้เขาประเมินตัวเองว่ามีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปอย่าง เรื่องไหนมากที่สุด ด้านคุณครูได้นำความรู้ไปประยุกต์ใช้แนะนำให้สร้างแปลงปลูกผักให้เด็กมาปลูกแข่งกัน เมื่อผักโตแล้วจะนำไปทำเป็นอาหารกลางวัน ให้เด็ก พวกเขาจะเกิดพฤติกรรมอยากกินผัก เพราะว่าปลูกเองกับมือและไม่เขี่ยทิ้ง ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นนำผักเข้าบ้าน”
ถือว่าเป็นอีกหนึ่งก้าวที่ประสบความสำเร็จ หากสื่อการเรียนการสอนจะทำให้เด็กหันมาดูแลใส่ใจกับสุขภาพและเกิดประสิทธิผลขึ้นจริง
“การทำโครงการแบบนี้ไม่มีอะไรน่าชื่นใจเท่ากับตอนเห็นผลแล้วได้ถูกนำไปใช้จริงได้เห็นผลจริง พาสปอร์ตที่เราให้แล้วพวกเด็กๆ เขานำไปทำตาม จนมีบางคนบอกว่าเขาลดขนมจาก 5 ถุง เหลือ 3 ถุงแล้ว และจากไม่เคยออกกำลังกายวันนี้เขาออกไปวิ่งมา 10 นาทีแล้วนะ” กนกทิพย์ กล่าว

สร้างเครือข่ายให้ครอบคลุมทั้งประเทศอย่างยั่งยืน
ทศวรรษที่ผ่านมา เนสท์เล่เริ่มมองหาสิ่งที่ควรจะต้องปรับปรุง เพื่อนำมาแก้ไขและขยายผลออกไปให้ครอบคลุมทั่วประเทศตามเป้าหมาย จึงร่วมมือกับสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล มาช่วยตรวจสอบโปรแกรม “ภารกิจพิชิตสุขภาพดี 8 สัปดาห์” เพื่อหาข้อสรุปว่าสื่อการเรียนการสอนจะสามารถมีผลต่อการพัฒนาชีวิตเด็กได้จริง และเขียนรีพอร์ทนำเสนอต่อกระทรวงศึกษาธิการเพื่อขอบรรจุลงหลักสูตรการเรียน
“เราได้รับความร่วมมือจากอาจารย์สถาบันโภชนาการของ ม.มหิดล เข้ามาดูโปรแกรม “ภารกิจพิชิตสุขภาพดี 8 สัปดาห์” และทำออกมาเป็นรีพอร์ท ว่าสุดท้ายแล้วโปรแกรมนี้มีผลต่อการพัฒนาในการใช้ชีวิตประจำวันและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ไหม และจะเขียนมาเลยว่ากระบวนการออกแบบเราทำอย่างไรในการสร้างโรงเรียนนำร่อง วันเด็กไทยสุขภาพดี เราจัดอะไรบ้าง เดิมเด็กกินอะไรอยู่ เด็กออกกำลังกายไหม อ่านฉลากไหม แล้ว 8 สัปดาห์ที่ใช้สื่อการเรียนการสอน ทัศนคติของเด็ก ครู ผู้ปกครองเปลี่ยนไปอย่างไร”
“เราภูมิใจว่า เมื่อวัดผลออกมาแล้วมันเกิดผลตรงนั้นจริงๆ เปลี่ยนทัศนคติ เปลี่ยนพฤติกรรม เกิดขึ้นจริง และในอนาคตต่อไป เรายังจับมือกับทางมหาวิทยาลัยมหิดลและกระทรวงศึกษาธิการต่อไป เพื่อสานต่อโครงการฯ และตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไปเราพยายามให้โรงเรียนต้นแบบที่สร้างไว้ ไปขยายเครือข่ายโรงเรียนอื่นต่อ หรือทำอย่างไรให้ทุกโรงเรียนนำสื่อการสอนไปปฏิบัติตามได้อย่างทั่วถึงทั้งประเทศ”
โดยในปีที่ผ่านมาทางเนสท์เล่ร่วมกับโรงเรียนนำร่อง สร้างเครือข่ายกระจายการเรียนรู้จริง มอบสื่อการสอนไปแล้วทั้งหมดกว่า 13,000 โรงเรียนทั่วประเทศ
รายงานฉบับสมบูรณ์ ที่นำเสนอต่อกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อเร็วๆ นี้
กิจกรรมที่หลากหลายสามารถสร้างการเรียนรู้ได้
การดำเนินงานของ “โครงการเด็กไทยสุขภาพดี” ผ่านมาแล้วกว่า 11 ปี มีการดำเนินกิจกรรมไปอย่างมากมาย เพื่อสนับสนุนให้เกิดสุขอนามัยที่ดีของทุกคนในโรงเรียน นับเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเด็กไทยให้กินดีอยู่ดี
ตัวอย่างเช่น กิจกรรมค่ายและการประกวดเครือข่ายยุวทูตสุขภาพดี กิจกรรม “เด็กไทยสุขภาพดีสัญจร”กับ“รถปฏิบัติการเด็กไทยสุขภาพดี”กิจกรรมประกวดสื่อการเรียนการสอนหัวข้อ “โภชนาการที่สมดุลและการออกกำลังกาย” กิจกรรม “เปิดบ้าน เลเล่ เพื่อนบ้านมหัศจรรย์” รวมถึงกิจกรรม“วันเด็กไทยสุขภาพดี” ที่มาพร้อมการเดินหน้าแจกสื่อการเรียนการสอน และสาธิตวิธีการใช้อย่างถูกวิธีโดยนักโภชนาการ และกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย
ดังนั้นประโยชน์ที่ได้รับจากการทำกิจกรรมในโครงการเด็กไทยสุขภาพดี สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตและวิชาการเรียนต่างๆ ภายใต้ความรู้บัญญัติเด็กไทยสุขภาพดี 4 ประการ คือ กินหลากหลาย เพิ่มผักผลไม้ กินหวาน มัน เค็มแต่พอดี กินเท่าไหร่ ใช้ให้หมด ฉลากโภชนาการอ่านเป็นกินเป็น หรือ หลักการ อ่าน ปรับ ขยับ เปลี่ยน รวมถึงความรู้หลัก 6 อ. คือ อาหาร อารมณ์ ออกกำลังกาย อนามัยสิ่งแวดล้อม อโรคยา และอบายมุข มาใช้ในการเสริมสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับตนเองด้วย
“เรามีการจัดทำกิจกรรมขึ้นหลายอย่าง เช่น เกมกินหลากหลายเพิ่มผักผลไม้ เราจัดทำเป็นเกมบันไดงู ทอยเต๋า และมีคำถามเกี่ยวกับอาหารหลัก 5 หมู่ สมมติถ้ากินผักมากก็จะได้ไต่งูขึ้นไปสูงขึ้น เพื่อให้เด็กเข้ามาร่วมสนุกกัน และที่กำลังนิยมสุดๆ ตอนนี้น่าจะเป็นเพลงเด็กไทยสุขภาพดี เนสท์เล่ฟิตแอนด์เฟิร์ม (Healthy Kids...Fit & Firm) และเมื่อเราไปเยี่ยมที่โรงเรียนเขาจะเปิดเพลงนี้ให้เด็กนักเรียนเต้นออกกำลังกายที่หน้าเสาธง ซึ่งถือเป็นเรื่องดีที่โรงเรียนส่งเสริมให้นักเรียนมีสุขภาพแข็งแรง”

เป้าหมายสูงสุดของเนสท์เล่
หลักสูตรการเรียนการสอนของเนสท์เล่ที่ยื่นรายงานฉบับสมบูรณ์ไปนั้น หากได้บรรจุเป็นหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ นับเป็นอีกหนึ่งก้าวความสำเร็จ และนอกจากนี้โครงการเด็กไทยสุขภาพดียังได้เป็นโมเดลต้นแบบโครงการเด็กสุขภาพดีของเนสท์เล่ทั่วโลก (GLOBAL NESTLE HEALTHY KIDS PROGRAMME) ที่มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมโภชนาการสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี แก่นักเรียนทั่วโลก
“โครงการเด็กไทยสุขภาพดีไม่ใช่สิ่งที่เนสท์เล่ จัดทำขึ้นเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กร เพียงแต่เราคิดว่าต้องเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันเรื่องโภชนาการให้มีความชัดเจน เห็นผลจริง และถ้าสื่อการเรียนการสอนนี้ถูกบรรจุเป็นหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการจริงๆ จะเป็นฝันอีกก้าวหนึ่งของเราและทำให้เรารู้สึกได้ว่าแรงที่เราลงไปหรือความคิดที่เราใส่ลงไป สิ่งที่เราได้ทำการทดลองนี้ถูกกระจายสู่ทั่วประเทศแล้ว หรือหากทางโรงเรียนได้นำสื่อใดสื่อหนึ่งของเราไปใช้ จนสามารถทำให้ลดปริมาณเด็กที่เสี่ยงเป็นโรคอ้วนหรือโรคเบาหวานลงไปได้ นี่คือฝันสูงสุดของเนสท์เล่” กนกทิพย์ กล่าวปิดท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น