ชไนเดอร์ อิเล็คทริค จับมือกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ถ่ายทอดความเชี่ยวชาญและเทคโนโลยีด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและอุตสาหกรรม หวังเป็นแรงขับเคลื่อนตลาดแรงงานไทยให้มีความเป็นเลิศด้านวิศวกรรม ทั้งความเชี่ยวชาญ และการสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพทัดเทียมระดับสากล เชื่อมั่นเทคโนโลยีและความรู้ คือรากฐานสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
ม.ล.ปุณฑริก สมิติ อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า “ที่ผ่านมากรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ได้มีการฝึกอบรมอาชีพในหลากหลายสาขาผ่านทางสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค (สพภ.) และศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด (ศพจ.) เพื่อผลิตกำลังแรงงานป้อนสู่ตลาด แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของภาคเอกชน นายจ้างและสถานประกอบกิจการ กพร.จึงร่วมกับภาคเอกชนในการเป็นช่องทางการแก้ปัญหา
ล่าสุด กพร.ได้จับมือกับ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ประเทศไทย เน้นพัฒนากลุ่มช่างไฟฟ้าและเทคโนโลยีอุตสาหกรรมให้เป็นมืออาชีพมีความสามารถแบบ Multi Skill ในบริการประชาชน โดยความร่วมมือในครั้งนี้ จะมีตั้งแต่ร่วมกันกำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงาน จัดทำหลักสูตรฝึกอบรม พัฒนาครูฝึกของกพร. ในการเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ให้แก่แรงงานใหม่และแรงงานในสถานประกอบกิจการ ร่วมกันจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมที่เกี่ยวกับช่างไฟฟ้าและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนช่างสาขานี้ทุกระดับ โดยมุ่งเน้นการจัดการเพื่อประสิทธิภาพพลังการติดตั้งไฟฟ้า การควบคุมมอเตอร์ และระบบการควบคุมอัตโนมัติ”
ด้าน มาร์ค เพลิทิเยร์ ประธาน ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ประเทศไทย เปิดเผยว่า ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ในฐานะผู้เชี่ยวชาญทางด้านการจัดการพลังงาน และวิศวกรรมไฟฟ้าระดับโลก มีความยินดีเป็นอย่างมาก ที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย ในการมอบผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยีด้านการจัดการพลังงานไฟฟ้า และองค์ความรู้ต่างๆ ตลอดจนความเชี่ยวชาญที่สั่งสมมานาน ในการช่วยพัฒนาบุคลากรของประเทศไทย เพื่อผลักดันความรู้ของแรงงานซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวหน้า ทัดเทียมนานาชาติ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ที่มุ่งพัฒนาฝีมือแรงงานให้มีความรู้ความสามารถตามมาตรฐานระดับนานาชาติ จึงถือเป็นรากฐานที่สำคัญของการพัฒนาประเทศ
"ครั้งนี้เราได้มอบตู้คอนซูเมอร์แบบแยกกลุ่มกันดูดพร้อมอุปกรณ์ควบคุมไฟฟ้า รวมถึงชุดประกอบการสอนระบบ อีซี่ อินสตอลล์ 3 เทคโนโลยีการควบคุมอุปกรณ์ไฟฟ้าภายในบ้านและที่พักอาศัยผ่านรีโมทคอนโทรล และสมาร์ทโฟน ใหม่ล่าสุดจากเรา ภายใต้โครงการสนับสนุนและพัฒนาหลักสูตร ช่างไฟฟ้าภายในอาคารและภายนอกอาคาร ซึ่งมีความจำเป็นต้องก้าวให้ทันเทคโนโลยีที่กำลังเติบโตทั่วโลกอยู่ขณะนี้ ซึ่งเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะช่วยให้แรงงานได้เพิ่มพูนความรู้ความสามารถให้มากยิ่งขึ้น สร้างมูลค่าเพิ่ม และยกระดับแรงงานฝีมือที่มีมาตรฐานสากล”
ปัจจุบันทั่วโลกกำลังขับเคลื่อนโดยแนวโน้ม หรือเมกะเทรนด์ 3 ประการ นั่นคือเรื่องของการพัฒนาสู่สังคมเมือง (Urbanization) การใช้เทคโนโลยีทำให้ข้อมูลอยู่ในรูปแบบดิจิทัล (Digitization) และการเติบโตขึ้นของเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในประเทศเศรษฐกิจใหม่ (Growing trend of industrialization in new economies) ดังนั้นองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีจึงเป็นเรื่องสำคัญ กอปรกับปัจจุบันอยู่ในยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หรือ Industry 4.0 ที่มีการนำกระบวนการทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาหล่อหลอมเพิ่มประสิทธิภาพในภาคอุตสาหกรรม
สำหรับ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค มีการทุ่มทุนในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์เป็นประจำทุกปี เพื่อตอบโจทย์การก้าวกระโดดทางความต้องการดังกล่าวในทุกๆอุตสาหกรรม ตั้งแต่อุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้า จวบจนอาคาร ที่พักอาศัย ดังนั้นการพัฒนาฝีมือแรงงานด้านไฟฟ้าและวิศวกรรมในองค์ความรู้ใหม่ๆ ทั้งเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญ นับมีความจำเป็นอย่างยิ่ง หากแรงงานสามารถมีองค์ความรู้ทันเทคโนโลยีระดับโลกได้แล้ว สามารถตอบโจทย์ความต้องการที่มีอยู่ในประเทศได้อย่างแน่นอน
จากความร่วมมือในครั้งนี้ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ได้ตกลงร่วมกันในการพัฒนาบุคลากรช่างไฟฟ้าและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาบุคลากร ให้มีความรู้ ความสามารถ และทักษะฝีมือแรงงานที่สูงขึ้น ได้มาตรฐานฝีมือแรงงาน ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ตลอดจนเพื่อรองรับต่อการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจในอนาคต และแก้ปัญหาการขาดแคลนช่างฝีมือในตลาดแรงงาน โดยจะมีการร่วมกันกำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงาน จัดทำหลักสูตร และพัฒนาบุคลากรของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานที่เกี่ยวกับช่างไฟฟ้าและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม จัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมที่เกี่ยวข้องกับช่างไฟฟ้าและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ตลอดจนร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาฝีมือแรงงานด้านไฟฟ้าและเทคโนโลยีอุตสาหกรรมทุกระดับoโดยมุ่งเน้นการจัดการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน ทั้งการติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้า การควบคุมมอเตอร์ และระบบควบคุมอัตโนมัติ ให้การสนับสนุน เครื่องมือ อุปกรณ์ เพื่อจัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมที่เกี่ยวข้องกับช่างไฟฟ้าและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม รวมทั้งการพัฒนาฝีมือแรงงานให้แก่บุคลากรเกี่ยวกับด้านกับช่างไฟฟ้าและเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ตลอดจนการออกวุฒิบัตรร่วมกัน
“ในการถ่ายทอดองค์ความรู้ และเทคโนโลยีให้กับกระทรวงแรงงานในครั้งนี้ มูลค่ารวมของโครงการทั้งหมดอยู่ที่ 4,500,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวนที่เทียบไม่ได้เลย กับการที่เราสามารถมองเห็นศักยภาพของช่างฝีมือแรงงานไทยที่กำลังจะเติบโตขึ้นต่อไปในอนาคต” มาร์ค กล่าวทิ้งท้าย