BTS (Borderless Talent Solutions) เป็นการจัดหาบุคลากรงานแบบเครือข่ายภายใต้ฐานข้อมูลของแมนพาวเวอร์กรุ๊ปทั่วโลกในการส่งออกและนำเข้าแรงงาน จดทะเบียนอย่างเป็นทางการในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2554 เติบโตอย่างต่อเนื่อง และสวนกระแสเศรษฐกิจ คิดเป็นร้อยละ 20 - 30 คาดว่าอัตราการเติบโต มีโอกาสสูงขึ้นในลักษณะทวีคูณ คิดเป็นร้อยละ 50 เนื่องจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนสัดส่วนในการนำเข้า และส่งออก ตลอดปี 58 คือ นำเข้าร้อยละ 80 ส่งออกร้อยละ 20 มีการเปลี่ยนแปลงจากเดิม ที่นำเข้าร้อยละ 40 ส่งออกร้อยละ 60 กลุ่มสายงานด้านไอที เป็นที่ต้องการหลักของตลาดแรงงานไทย ในทั้งการส่งออกและนำเข้า เน้นอย่ามองข้ามจุดแข็ง 4 สายอาชีพหลักที่มีการแย่งตัวสูงจากต่างประเทศ
ผลสรุปจากการศึกษาหรือสำรวจของ แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย จาก มร.ไซมอนแมททิวส์, ผู้จัดการประจำประเทศไทย, แถบตะวันออกกลาง และเวียดนาม แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ได้ให้ความเห็น อย่างน่าสนใจว่า BTS (Borderless Talent Solutions) คือ การจัดหางานบุคลากรแบบเครือข่าย ภายใต้ฐานข้อมูลของแมนพาวเวอร์กรุ๊ปทั่วโลก ในการส่งออกและนำเข้าแรงงาน ที่มีทักษะเหมาะสมตามความต้องการ เพื่อลดช่องว่างการขาดแคลนแรงงานของแต่ละประเทศ ซึ่ง BTS เป็นแบรนด์ภายใต้ร่มใหญ่ของแมนพาวเวอร์กรุ๊ป ที่จดทะเบียนอย่างเป็นทางการในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 54 และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากทั้งหน่วยงาน องค์กร รวมไปถึงผู้สมัครที่มีความประสงค์ เดินทางไปทำงานที่ต่างประเทศอีกด้วย
จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ส่งผลกระทบเล็กน้อยต่อแบรนด์ BTS วัดผลจากอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ที่สวนกระแสเศรษฐกิจ คิดเป็นร้อยละ 20 - 30 ในตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นในปี 59 นี้ บริษัทฯ คาดว่าอัตราการเติบโต มีโอกาสสูงขึ้นในลักษณะทวีคูณ คิดเป็นร้อยละ 50 เนื่องจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเต็มตัว อีกทั้งจุดแข็งของ BTS ที่มีการดำเนินการแบบเครือข่ายสัมพันธ์ มุ่งเน้นการจับคู่คุณสมบัติของบุคลากรทุกสัญชาติ โดยใช้ฐานข้อมูล จากแมนพาวเวอร์กรุ๊ปทั่วโลก ที่มีการลงรายละเอียด อาทิ คุณสมบัติสำคัญที่หน่วยงาน องค์กร ในแต่ละประเทศต้องการเพื่อสามารถจับคู่ความเหมาะสม เช่น ธุรกิจสายงานด้านโรงแรมและท่องเที่ยวในต่างประเทศ ที่มีความต้องการแรงงานด้านบริการจากประเทศไทย เนื่องจากรอยยิ้ม และความใส่ใจในการให้บริการของแรงงานไทย เป็นต้น รวมถึงรายละเอียดทางด้านข้อแม้แต่ละประเทศ, เอกสารสำคัญที่จำเป็นในการดำเนินการ ที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ และที่สำคัญคือ ถูกต้องตามขั้นตอนตามกฎหมายทุกประการ จึงทำให้หน่วยงาน องค์กร บริษัท รวมไปถึงแรงงานจากแมนพาวเวอร์กรุ๊ป มั่นใจ พร้อมทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ปัจจุบัน แบรนด์ BTS ภายใต้แมนพาวเวอร์ มีการนำเข้า และส่งออกบุคลากร ในระดับ Professionalและระดับผู้บริหาร จำนวน 200 - 300 คน/ปี โดยทักษะแรงงานนำเข้า ที่เป็นที่ต้องการ จัดอันดับ 1 - 5 ได้แก่ 1. กลุ่มสายงานด้านพัฒนาธุรกิจและการขาย 2. กลุ่มสายงานด้านวิศวกร 3. กลุ่มสายงานด้านไอที 4. กลุ่มสายงานด้านการให้บริการลูกค้า (ในกลุ่มของ Share Service เช่น บุคลากรญี่ปุ่น ให้บริการลูกค้าชาวญี่ปุ่น ในประเทศไทย เป็นต้น) และ 5. กลุ่มสายงานด้านHR โดยประเทศที่มีการส่งออกบุคลากรไทย ติดอันดับ 1 - 5 คือ 1. ประเทศญี่ปุ่น 2. ประเทศจีน 3. ประเทศเวียดนาม 4. ประเทศพม่า และ 5. ประเทศไซปรัส ในส่วนของการนำเข้าแรงงานจากต่างประเทศ อันดับ 1 - 5 คือ 1. ประเทศญี่ปุ่น 2. ประเทศจีน (รวมฮ่องกง) 3. ประเทศพม่า 4. ประเทศอินโดนีเซีย และ 5. ประเทศรัสเซีย จะเห็นได้ว่า ทั้งอันดับการนำเข้า และส่งออก อันดับ1 เป็นประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากในหลายปีที่ผ่านมานักลงทุนชาวญี่ปุ่น เดินทางมาลงทุนในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก คิดเป็นร้อยละ 30 - 40 ดังนั้นจึงมีการเตรียมบุคลากรชาวญี่ปุ่นไว้เพื่อรองรับคู่ค้า อาทิ ธุรกิจด้าน Automotive เป็นต้น
"สัดส่วนในการนำเข้า และส่งออก ตลอดปี 58 คือ นำเข้าร้อยละ 80 ส่งออกร้อยละ 20 มีการเปลี่ยนแปลงจากเดิม คือ นำเข้าร้อยละ 40 ส่งออกร้อยละ 60 ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเนื่องจากอัตราแรงงานในกลุ่มสายงานที่ส่งออกหลัก คือ กลุ่มสายงานด้านไอที มีความขาดแคลนเป็นอย่างมาก เพราะในปัจจุบันแรงงานในสายงานนี้ มีความต้องการสูง ด้วยการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี ที่มีความทันสมัย และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งนักศึกษาที่จบการศึกษาด้านไอทีมีการเปลี่ยนสายงาน นอกจากนี้จุดแข็งของกลุ่มสายงานอาชีพไทย ที่เป็นที่ต้องการในตลาดโลก อาทิ 1. การบริการ 2. นักครีเอทีฟ คนไทยเด่นเรื่องสร้างสรรค์ ตัวอย่างเช่น การครีเอทีฟด้านการตลาด อาทิ โปรโมชั่น หรือแคมเปญต่างๆ 3. นักจัดดอกไม้ในโรงแรม เพราะคนไทยมีฝีมือประณีต งานละเอียด เป็นที่ยอมรับจากต่างชาติ 4. แฟชั่นดีไซเนอร์ รวมไปถึงด้านการ QC และบุคลากรด้าน Garment เรามองว่าเป็นจุดแข็งของตลาดไทยที่พัฒนาได้ เมื่อเปิดเออีซี โรงงานเสื้อผ้าอาจอยู่ที่ประเทศกัมพูชา พม่า หรือเวียดนาม เนื่องจากถูกกว่าแรงงานไทย แต่บุคลากรไทยสามารถใช้ทักษะที่เป็นจุดแข็งนี้ สร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันในระดับประเทศ" ไซม่อนกล่าวสรุป