นายจ้างเมินรับพนักงานเพิ่มหลังทิศทางเศรษฐกิจโลกและในประเทศยังชะลอตัว คาดครึ่งปีหลังอัตราการว่างงานจะเพิ่มเป็น 1.1-1.2% จากเด็กจบใหม่ที่จะเข้าสู่ระบบจะว่างงานเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะปริญญาตรีสายสังคมทั่วไป ด้าน ส.อ.ท.ผวาหากเศรษฐกิจครึ่งปีแรกไม่ฟื้นครึ่งปีหลังอาจเห็นธุรกิจกลางและเล็กปลดคนเพิ่ม
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) เปิดเผยว่า ขณะนี้การขยายการลงทุนภายในประเทศของภาคธุรกิจยังคงมีอัตราต่ำเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวกระทบต่อการส่งออกที่ยังคงติดลบทำให้อัตรากำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่เพียง 60-63% การจ้างงานใหม่ในระบบจึงยังคงมีทิศทางชะลอตัวลง ดังนั้นแนวโน้มอัตราการว่างงานของคนไทยที่ปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 0.92-1% จะมีอัตราเพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้เป็น 1.1-1.2% ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากเด็กจบการศึกษาใหม่ที่จะเข้ามาในระบบช่วง มี.ค.-เม.ย. 59 โดยเฉพาะระดับปริญญาตรีสายสังคมที่ตลาดแรงงานต้องการต่ำ
ทั้งนี้ แรงงานไทยจะเพิ่มเข้ามาในระบบเฉลี่ยปีละ 5.8 แสนคน โดยในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่จบการศึกษาระดับปริญญาปีละประมาณ 3 แสนคน ซึ่งหากเป็นสาขาสายสังคมอัตราการว่างงานจะสูงเนื่องจากสำนักงานออฟฟิศต่างๆ ขณะนี้มีการจ้างงานใหม่น้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นการจ้างมาทดแทนแรงงานเดิมและบางครั้งกลับจ้างใหม่ในจำนวนที่ลดลงกว่าเดิมจากสภาพเศรษฐกิจที่ยังไม่เอื้ออำนวยนัก ซึ่งจุดนี้สถาบันการศึกษาและรัฐจะต้องเข้ามาดูแลอย่างจริงจัง
ขณะที่เด็กสายอาชีวะก็พบว่าระดับ ปวช. และ ปวส.ประมาณ 1.2 แสนคน เมื่อแยกเป็น ปวส.แรงงานส่วนนี้ส่วนใหญ่จะเข้าสู่ระบบการทำงานแต่อัตราการจบมาเมื่อเทียบกับตลาดแรงงานก็ยังไม่เพียงพอ ขณะที่สาย ปวช.ตลาดมีความต้องการอย่างมากแต่ก็พบว่าเข้ามาในระบบงานจริงเพียง 20% เนื่องจากส่วนใหญ่เรียนต่อ ส่วนที่เหลือเป็นแรงงานระดับล่างและจบการศึกษาไม่เกินมันธยมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งภาพรวมก็จะพบว่าตลาดแรงงานไทยมีทั้งขาด และเกินความต้องการ
“เราจะพบว่าตลาดแรงงานของเราเองในระดับล่างได้หันไปใช้แรงงานต่างด้าวเกือบทั้งสิ้นกว่า 3 ล้านคน เวลาที่นายจ้างจะลดคนงานจึงลดแรงงานต่างด้าวแทนจึงจะเห็นว่าระยะหลังไม่มีการประท้วง และตลาดนี้คนไทยเองก็ไม่ยอมทำงานแม้จะขาดแคลนแรงงานอยู่ก็ตาม แต่ช่วงนี้ตลาดนี้ก็ทรงตัวเช่นกันจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ส่วนเด็กจบใหม่ก็คงจะเหนื่อยหน่อยโดยเฉพาะปริญญาสายสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ฯลฯ ที่ตลาดต้องการต่ำและที่ผ่านมาก็พบว่ามีการผลิตออกมาเกินความต้องการเฉลี่ยปีละ 2 แสนคน” นายธนิตกล่าว
แหล่งข่าวจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวยอมรับว่า ภาพรวมปีนี้คาดการณ์การส่งออกที่อาจจะโตในระดับเพียง 1-2% ทำให้การขยายการลงทุนภาพรวมยังต่ำเพราะต้องใช้อัตรากำลังการผลิตเดิมให้ได้ก่อน ประกอบกับแรงซื้อในประเทศชะลอตัวกว่าที่คาดไว้ ขณะนี้มีแต่การพยายามรักษาพนักงานไว้คงเดิมด้วยการไม่รับเพิ่ม แต่หากสถานการณ์เศรษฐกิจครึ่งปีแรกยังคงไม่ดีขึ้นครึ่งปีหลังอาจเห็นการปลดคนงานได้โดยเฉพาะในธุรกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี)