ผู้จัดการรายวัน 360 - “แมนพาวเวอร์กรุ๊ป” ระบุตลาดแรงงานไทยปรับตัวตามตลาดโลก เริ่ม “ยืดหยุ่น” ทั้งทางด้านเพศ อายุ ทักษะการทำงาน การเรียนรู้และการต่อยอด พร้อมเปิดโอกาสให้เพศหญิงและผู้สูงวัยทำงานมากขึ้น เผยภาวะว่างงานมีเพียง 1% แต่ตลาดเติบโตไม่ทันเศรษฐกิจ ส่งผลให้จำเป็นต้องใช้บุคลากรชาวต่างชาติสูงถึง 2 ล้านคน
นางสาวมาร่า สวอน รองกรรมการผู้จัดการ ด้านกลยุทธ์ระดับโลกและผู้เชี่ยวชาญพิเศษ “แมนพาวเวอร์กรุ๊ป” ประจำสำนักงานใหญ่ สหรัฐอเมริกา ผู้นำระดับโลกในธุรกิจการให้บริการการจ้างงาน เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจโลกปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สวนทางกับลักษณะการดำเนินธุรกิจที่ไม่ต้องการความเปลี่ยนแปลงมากนัก ส่งผลให้ตลาดแรงงานต้องอยู่ในภาวะ Waiting Period ซึ่งทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องรอให้สถานการณ์ต่างๆ คลี่คลายและปรับตัวดีขึ้น เช่นเดียวกับกรณี Brexit ซึ่งต้องรออีก 2 ปีจึงจะคาดการณ์ผลกระทบต่างๆ ได้
สำหรับภาวะตลาดแรงงานโลกในปัจจุบันยังคงมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2554 ทำให้ผู้จ้างงานต้องมีการลงทุนด้านทรัพยากรบุคคลโดยต้องพิจารณาถึงความยืดหยุ่นเป็นหลัก ทั้งทางด้านเพศ อายุ ทักษะการทำงาน ตลอดจนความสามารถในการเรียนรู้และการต่อยอดพัฒนาการด้านการทำงาน
ปัจจุบันตลาดโลกรวมถึงประเทศไทยมีการส่งเสริมให้เพศหญิงเข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น โดยปัจจุบันจะพบว่าประเทศพัฒนาแล้ว เช่น ในกลุ่มประเทศยุโรปมีเพศหญิงอยู่ในตลาดแรงงานเป็นจำนวนมาก โดยส่วนมากจะทำงานในลักษณะพาร์ตไทม์ที่สามารถเลือกเวลาการทำงานนอกเหนือจากหน้าที่ประจำวันในการดูแลครอบครัว
ขณะที่ในประเทศไทยพบว่าเพศหญิงเริ่มมีพฤติกรรมการทำงานที่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ แม้ส่วนใหญ่ยังคงเป็นไปตามวัฒนธรรมไทยที่ต้องรับผิดชอบหน้าที่ในครอบครัวเป็นหลัก แต่เริ่มมีการทำงานในตำแหน่งผู้บริหารระดับกลางขึ้นไปและมีอัตราเงินเดือนค่อนข้างสูงเป็นจำนวนมากเช่นกัน สอดรับกับผลการประชุม World Economic Forum (WEF) 2015 ณ เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ระบุว่า จากการสำรวจใน 145 ประเทศทั่วโลก ปรากฏว่าผู้หญิงไทยมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นลำดับที่ 19 ขณะที่อยู่ในลำดับที่ 60 ซึ่งประสบปัญหาในการเข้าสู่ตลาดแรงงาน
“สังคมไทยเริ่มมีความยืดหยุ่นสูงในการเปิดโอกาสให้เพศหญิงแสดงศักยภาพด้านการทำงานมากขึ้น โดยพบว่า 2 ปัจจัยสำคัญที่มีส่วนในการส่งเสริมให้ผู้หญิงไทยทำงานมากขึ้นคือความยืดหยุ่นเรื่องเวลาที่เอื้ออำนวยให้สามารถทำงานได้โดยไม่กระทบต่อหน้าที่ดูแลครอบครัว และการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการใช้งานโดยเฉพาะโซเชียลมีเดีย ดังจะเห็นได้จากร้านค้าออนไลน์ในอินสตาแกรมมีเจ้าของร้านเป็นผู้หญิงมากถึง 80% ขณะที่กลุ่มธุรกิจที่มีผู้หญิงไทยทำงานมากที่สุด คือ ท่องเที่ยว สุขภาพ และบริการ เช่น สปา เป็นต้น”
นางสาวมาร่ากล่าวอีกว่า ตลาดแรงงานในประเทศไทยยังมีแนวโน้มเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ที่พัฒนาแล้ว คือ การเปิดโอกาสให้กลุ่มผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปทำงานมากขึ้น โดยมีผลวิจัยพบว่ากลุ่มผู้สูงวัยทั่วโลกมีความต้องการทำงานตราบจนบั้นปลายของชีวิต จากปัจจุบันที่วัยเกษียณการทำงานเฉลี่ยในกลุ่มประเทศยุโรปคือ 65 ปี โดยสวีเดนเป็นประเทศที่มีผู้เกษียณการทำงานสูงที่สุดคือ 67 ปี ขณะที่ญี่ปุ่นมากกว่า 60 ปี
“ปัจจุบันประเทศไทยมีองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ประมาณ 5-10% มีความต้องการผู้สูงวัยเข้าทำงานมากขึ้นเพราะต้องการได้รับการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ โดยพบว่า 2 ธุรกิจหลักที่มีความต้องการมากที่สุดคือ กลุ่มธุรกิจค้าปลีกและสินค้าอุปโภค-บริโภค ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจครอบครัวที่อยู่ในช่วงโอนถ่ายการบริหารงานไปยังคนรุ่นต่อไป และกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมการผลิตทั่วไปที่ต้องการความรู้ความสามารถและประสบการณ์เฉพาะทาง โดยพร้อมที่จะมอบค่าตอบแทนตั้งแต่หลักหมื่นจนถึงหลักแสนขึ้นอยู่กับขนาดธุรกิจ”
นางสาวมาร่ากล่าวด้วยว่า ลักษณะตลาดแรงงานของประเทศไทยในปัจจุบันมีอัตราการเติบโตช้าไม่ทันภาวะเศรษฐกิจจึงจำเป็นต้องมีการสรรหาบุคลากรชาวต่างชาติมาร่วมงานเป็นจำนวนมากกว่า 2 ล้านคน ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีปัญหาขาดแคลนแรงงานเพราะมีอัตราการว่างงานเพียง 1% แต่มีปัญหาเรื่องความสมดุลระหว่างบุคลากรกับประเภทของงานที่ไม่สอดคล้องกัน ส่งผลให้ตลาดขาดแคลนบุคลากรในบางสายงาน เช่น วิศวกร ช่างเทคนิค พนักงานขาย พนักงานบริการลูกค้า เป็นต้น ขณะที่สายงานบัญชีและทรัพยากรบุคคล (HR) มีอัตราการจ้างงานอยู่ในภาวะคงที่
นอกจากนี้ ความต้องการแรงงานในบางธุรกิจอุตสาหกรรมยังมีแนวโน้มลดลง เช่น สายงานภาคการผลิตซึ่งมีแนวโน้มถูกทดแทนโดยหุ่นยนต์ รวมถึงสายงานธุรกิจค้าปลีกซึ่งจะถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยีออนไลน์และอี-คอมเมิร์ซ เป็นต้น
“ตลาดแรงงานไทยมีความต้องการบุคลากรที่มีความสามารถด้านการเรียนรู้ในการทำงานโดยใช้สิ่งจูงใจสำคัญคือรายได้ค่าตอบแทน โดยปัจจุบันยังมีแนวโน้มในการว่าจ้างพนักงานสัญญาจ้าง หรือพนักงานชั่วคราวเป็นระยะๆ เพราะสามารถกำหนดช่วงเวลาการทำงานในระยะเวลาที่ต้องการได้ โดยเฉพาะในช่วงการจัดแคมเปญ หรือโปรโมชันต่างๆ ซึ่งตรงกับความต้องการของแรงงานไทยยุคปัจจุบัน ทั้งยังได้รับรายได้ค่าตอบแทนสูงกว่าปกติประมาณ 10-40% และยังมีโอกาสร่วมงานในองค์กรขนาดใหญ่ได้ในอนาคต” นางสาวมาร่ากล่าวในที่สุด