xs
xsm
sm
md
lg

บทสรุปประชุมอนุรักษ์ภูมิภาคเอเชีย ที่กรุงเทพฯ โดย IUCN หนุนสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบนิเวศและชุมชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  และ ชาง ซินเชง ประธาน IUCN เปิดการประชุมด้านการอนุรักษ์ครั้งที่ 6 โดย IUCN

“เอเชียต้องให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและการสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบนิเวศและชุมชน รวมทั้งต้องรักษาความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติเพื่อเป็นหลักประกันต่อความอยู่ดีกินดีและอนาคตของประชาชนในภูมิภาค” เป็นบทสรุปของการประชุมด้านการอนุรักษ์ในภูมิภาคเอเชียครั้งที่ 6 จัดขึ้นที่กรุงเทพฯ โดย IUCN เมื่อวันที่ 12 ส.ค. ที่ผ่านมา
ในงานนี้เปิดโอกาสให้ผู้นำจากทุกภาคส่วนในสังคมได้มาแลกเปลี่ยนความคิดในการหาทางออกต่อวิกฤติการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคมในเอเชียโดยอาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน ภายใต้กรอบ “การลงมือสร้างภูมิต้านทานและความเข้มแข็งให้กับธรรมชาติและชุมชน : ทางออกของคนและธรรมชาติ”
ในที่ประชุมมีการอภิปรายอย่างกว้างขวางในหัวข้อ การให้คุณค่าและการอนุรักษ์ธรรมชาติ การจัดการใช้ประโยชน์ธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพและเท่าเทียม และการหาทางออกต่อความท้าทายของสังคมโดยใช้ธรรมชาติเป็นพื้นฐาน การประชุมครั้งนี้ร่วมจัดโดยกระทรวงทรัพยากรและธรรมชาติของรัฐบาลไทย และมีผู้เข้าร่วมประชุมมากกว่า 400 คนจากภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน สถาบันวิจัย สถาบันการศึกษา และภาคธุรกิจ จาก 26 ประเทศทั่วเอเชียและอื่นๆ
“ปีนี้เป็นจุดเปลี่ยนของเอเชีย เราต้องทำงานอย่างเร่งด่วนเพื่อปกป้องธรรมชาติและความเป็นอยู่ของคน ด้วยพลังและนวัตกรรมแบบเดียวกับที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของเอเชียในช่วงที่ผ่านมา เวทีการประชุมการอนุรักษ์ในภูมิภาคเอเชียได้มุ่งเน้นในการหาหนทางว่าภาคส่วนต่างๆจะร่วมกันหาทางออกด้วยกันได้อย่างไร จากนี้ไปเราต้องแน่ใจว่าแนวทางต่างๆในการอนุรักษ์ธรรมชาติและสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนจะถูกนำไปปฏิบัติจริงในพื้นที่ ซึ่งจะเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด” อาบาน มาร์เคอร์ คาบราจี ผู้อำนวยการ IUCN ในภูมิภาคเอเชียกล่าว

ทั้งนี้ การประชุมเป็นเวทีหลักสำหรับสมาชิกของ IUCN ทั่วเอเชียที่จะได้มาแลกเปลี่ยน เสนอความคิดเห็น และแสดงเจตนารมณ์ต่อการประชุมใหญ่สมัชชาการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโลก (World Conservation Congress) ในปีพ.ศ.2559 สำหรับสมาชิกของ IUCN ประกอบไปด้วยสมาชิกที่เป็นองค์กรภาครัฐ 14 แห่งรวมถึงรัฐบาลประเทศไทย ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการก่อตั้ง IUCN ตั้งแต่เริ่มต้น
การประชุมใหญ่สมัชชาการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโลก (The World Conservation Congress) เป็นการประชุมด้านการอนุรักษ์ที่สาคัญที่สุดทุกๆ 4 ปี โดยเป็นการรวมตัวกันขององค์กรสมาชิก IUCN กว่า 1,300 แห่งทั่วโลก (เป็นองค์กรภาครัฐ 88 แห่ง) การประชุมดังกล่าวช่วยขับเคลื่อนนโยบายสากลด้านการอนุรักษ์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งจะจัดประชุมในปีหน้าระหว่างวันที่ 1-10 กันยายน ที่รัฐฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยจะเป็นการชุมนุมผู้มีบทบาทในการอนุรักษ์จากทุกภาคส่วนจำนวนหลายพันคน
“IUCN เป็นองค์กรที่มีความหลากหลายอย่างยิ่ง ซึ่งในความหลากหลายนี้เองที่เป็นจุดแข็งของเรา สำหรับหัวข้อที่มีการอภิปรายในการประชุมตลอดสองวันที่ผ่านมา ที่กรุงเทพฯ สะท้อนถึงความจริงในข้อนี้ได้เป็นอย่างดี ธรรมชาติมีความซับซ้อนและเราต้องเรียนรู้ที่จะดึงจุดแข็งจากความซับซ้อนและความหลากหลายของธรรมชาติ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการหาทางออกให้กับความท้าทายต่างๆ ที่ภูมิภาคของเราและโลกของเรากำลังเผชิญ” ชาง ซินเชง (Zhang Xinsheng) ประธาน IUCN กล่าว และว่า
“การประชุมครั้งนี้ปิดฉากลงอย่างสมบูรณ์ ในวโรกาสที่พิเศษอย่างยิ่ง เนื่องจากเราได้ร่วมเทิดพระเกียรติเฉลิมฉลองในวโรกาสมหามงคล 82 พรรษามหาราชินี ของประเทศไทย ซึ่งเป็นที่รับรู้ในระดับสากลถึงความอุตสาหะวิริยะในการทำงานอนุรักษ์ธรรมชาติ” “เราขอขอบคุณรัฐบาลไทยที่ร่วมเป็นเจ้าภาพในการจัดงานประชุมครั้งนี้ รวมทั้งตัวแทนจากภาครัฐ เอกชน และองค์กรพัฒนาเอกชน ที่ได้ร่วมกันทำให้การประชุมครั้งนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี”
พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เยี่ยมชมบูธ นิทรรศการงานประชุมด้านการอนุรักษ์ครั้งที่ 6
งานประชุมด้านการอนุรักษ์ในภูมิภาคเอเชีย
จัดขึ้นทุกๆ 4 ปีโดยองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ หรือ IUCN (International Union for Conservation of Nature) เป็นการประชุมที่สมาชิกและเครือข่ายของ IUCN ทั้งหน่วยงานของภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน สถาบันวิจัย สถาบันการศึกษาและองค์กรเพื่อการพัฒนาอื่นๆ รวมทั้งภาคธุรกิจ มาอภิปรายและแลกเปลี่ยนกันเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านความหลากหลายทางชีวภาพและการอนุรักษ์ในเอเชีย และแสวงหาทางออกรวมทั้งตัดสินใจร่วมกันเกี่ยวกับมาตรการและแผนงานร่วมเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนและธรรมชาติในภูมิภาคนี้

ประเทศไทยและ IUCN
ประเทศไทยมีประวัติศาสตร์อันยาวนานกับการมีส่วนร่วมกับ IUCN ในปี พ.ศ. 2491 ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 14 ประเทศที่ลงนามสนธิสัญญาที่ Fontainebleau ในการจัดตั้ง IUCN ในปี พ.ศ. 2493 จนถึงปี พ.ศ. 2503 IUCN ได้สนับสนุนกรมป่าไม้ ในการออกแบบและจัดตั้งระบบพื้นที่คุ้มครอง ปัจจุบัน IUCN และองค์กรสมาชิกในประเทศได้ร่วมมือกับรัฐบาลไทยในการดาเนินการโครงการต่างๆมากมายที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์สายพันธุ์ การบริหารจัดการพื้นที่คุ้มครองและ การสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนและธรรมชาติต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

เกี่ยวกับ IUCN
IUCN คือองค์กรสิ่งแวดล้อมสากลที่เก่าแก่ที่สุดและมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกด้วยสมาชิกอันประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐและองค์กรเอกชนกว่า 1,200 แห่ง และผู้เชี่ยวชาญที่เป็นคณะกรรมการชุดต่างๆ อีกกว่า 15,000 คนใน160 ประเทศทั่วโลก
หลักการทำงานของ IUCN จะมุ่งเน้นที่คุณค่าและการอนุรักษ์ธรรมชาติ การกำกับดูแลและใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพและมีธรรมาภิบาล รวมทั้งวิธีการแก้ปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศ ด้านอาหาร และด้านการพัฒนา โดยให้เป็นไปในแนวทางเดียวกับธรรมชาติ
IUCN สนับสนุนงานวิจัยและจัดการโครงการภาคสนามทั่วโลก โดยประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐองค์กรพัฒนาเอกชนองค์การระหว่างประเทศและภาคธุรกิจเพื่อพัฒนานโยบาย กฎหมายและแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด จึงนับว่า IUCN ช่วยโลกหาทางออกที่เป็นไปได้จริงต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่เร่งด่วนที่สุดในปัจจุบัน
สำนักงานภูมิภาคเอเชียของ IUCN ตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ โดยมีสำนักงานระดับประเทศในบังคลาเทศ กัมพูชา จีน อินเดีย ลาว เนปาล ปากีสถาน ศรีลังกา ประเทศไทย และเวียดนาม
Website : www.iucn.org/asia | Facebook: iucn.asia | Twitter: IUCNAsia
กำลังโหลดความคิดเห็น