xs
xsm
sm
md
lg

สัตว์ยุคน้ำแข็งตายหมู่ปริศนานับแสนตัวในคาซัคสถาน ผวาถึงขั้นสูญพันธุ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รอยเตอร์ - ผู้เชี่ยวชาญนานาชาติกำลังดำเนินการสืบสวนการตายอย่างกะทันหันของกุย (ไซกา) สัตว์ใกล้สูญพันธุ์มากกว่า 100,000 ตัวในคาซัคสถานช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา จากการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่ในวันพุธ (27 พ.ค.) ท่ามกลางความกังวลว่าสัตว์สายพันธุ์นี้ที่อยู่บนโลกมาตั้งแต่ยุคน้ำแข็งอาจเสี่ยงสูญพันธุ์

ราวร้อยละ 40 ของประชากร “กุย” ทั้งหมดในชาติเอเชียกลางแห่งนี้ เกิดตายอย่างปริศนาในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ท่ามกลางการสันนิษฐานจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพสัตว์ว่ามันอาจมีต้นตอจากโรคเกี่ยวกับระบบหายใจ

คาซัคสถาน ประเทศที่มีเนื้อที่ขนาดใหญ่สุดอันดับ 9 ของโลก เป็นถิ่นฐานของประชากรกุย ราวร้อยละ 90 ที่มีอยู่บนโลกใบนี้ ซึ่งมีลักษณะเด่นที่สังเกตได้ง่าย คือมีจมูกที่ใหญ่กลมเป็นกระเปาะและมีเขาชี้ตั้ง “การตายของกุย ถือเป็นหายนะใหญ่หลวง” ไบไบกุล ซาร์เซโนวา นักสัตววิทยาบอก “มันอาจเกิดขึ้นอีกในปีหน้า บางทีมันอาจสูญพันธุ์ไปโดยสิ้นเชิง”

สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ องค์กรระหว่างประเทศที่จัดตั้งขึ้นด้วยเป้าหมายเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ บอกว่าไกซา เป็นสายพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างที่สุดแล้ว

คาดหมายว่าจนถึงเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม ยังมีกุยราวๆ 300,000 ตัว เตร็ดเตร่ตามทุ่งหญ้าทั่วคาซัคสถาน ซึ่งเป็นวันแรกที่พบซากกุยตัวแรก ต่อมาในวันที่ 27 พฤษภาคม ก็พบซากสัตว์สายพันธุ์นี้อีกเกือบ 121,000 ตัว ในพื้นที่ขนาดใหญ่ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ตามปกติของพวกมัน “เราเชื่อว่าสาเหตุของการตายคือโรคพาสเจอเรลโลซิส” เยอร์ซาน มาดิเยฟ รองประธานคณะกรรมาธิการด้านสัตวแพทย์ของกระทรวงเกษตรแห่งคาซัคสถานเผย

โรคพาสเจอเรลโลซิส เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียรุนแรงในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม อาทิวัวควาย กระต่าย แมว สุนัข รวมถึงมนุษย์

บักดัต อัซบาเยฟ ประธานคณะกรรมาธิการป่าไม้และสัตว์ป่าของกระทรวงเกษตร เผยว่าเหล่านักวิทยาศาสตร์ของคาซัคสถาน กำลังดำเนินการตรวจสอบดิน อากาศและน้ำ ในความพยายามคลี่คลายปริศนาการตายหมู่ครั้งมโหฬารนี้ ขณะเดียวกันผู้เชี่ยวชาญจากอังกฤษ เยอรมนี และองค์การสุขภาพสัตว์โลก ก็ได้เดินทางมาช่วยสืบสวนแล้วด้วย

ฝูงกุยหรือไซกา ครั้งหนึ่งเคยตะลอนอยู่บนโลกเคียงข้างแมมมอธขนปุยและเสือเขี้ยวดาบ แต่แมมมอธและเสือเขี้ยวดาบได้สูญพันธุ์ไปหมดแล้ว อย่างไรก็ตาม เวลานี้ ไซกา กลายเป็นเนื้ออันโอชะที่มีราคาแพง มีรสชาติคล้ายเนื้อแกะ

ในช่วงทศวรรษ 1990 ยังมีกุย อยู่มากกว่า 1 ล้านตัว แต่จากการล่าและโรคติดต่อร้ายแรงช่วงปี 2003 ส่งผลให้จำนวนของพวกมันในคาซัคสถานลดลงเหลือแค่ 21,000 ตัวเท่านั้น จากนั้นอีก 2 ปีต่อมา รัฐบาลก็กำหนดแผนปกป้องพวกมันและจำนวนก็กลับมาเพิ่มขึ้นอีกครั้ง


กำลังโหลดความคิดเห็น