คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย... ประสาท มีแต้ม
“If it’s wrong to wreck the planet, then it’s wrong to profit from that wreckage.” (ถ้าการทำลายโลกเป็นความชั่ว ดังนั้น การหากำไรจากซากปรักหักพังก็เป็นความชั่วด้วย)
Bill McKibben
นักสิ่งแวดล้อมชาวอเมริกัน ผู้ก่อตั้งองค์กร 350.org , ได้รับรางวัลสันติภาพคานธี 2013
ขณะที่ผมเขียนบทความนี้ (28 มิถุนายน 58) กำลังมีการเดินขบวนแสดงพลังที่เรียกว่า “Climate March” (เดินเพื่อภูมิอากาศ) ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี นำโดยพระสันตะปาปา ฟรานซิส ผู้จัดคาดว่าจะมีสาวกของพระองค์จากทั่วโลกมาร่วมชุมนุมไม่ต่ำกว่า 5 พันคน ภายใต้ประเด็น “หนึ่งโลก หนึ่งครอบครัวมนุษย์ (One Earth, One Human Family)”
ก่อนหน้านี้ (18 มิถุนายน) พระองค์ได้ออกหนังสือชื่อ “Praised Be” ซึ่งมีความหน้าเกือบ 200 หน้า เพื่อเรียกร้องให้ผู้นำโลกลงมือปฏิบัติการอย่างจริงเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผมได้อ่านบทวิจารณ์ของนักวิเคราะห์หลายคนทำให้ทราบว่า ท่านเป็นนักการสื่อสารมือฉมัง โดยรู้จักใช้การเปรียบเทียบที่ไม่ทำให้น่าเบื่อ ท่านเคยผ่านหลักสูตรศิลปะการจูงใจ และท่านมีสมาชิกในสังคมออนไลน์เกือบเจ็ดล้านคน ทำให้ข่าวดังกล่าวได้แพร่หลายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วราวกับการแพร่ของเชื้อไวรัส แต่ผมแปลกใจมากว่า ผมไม่เห็นข่าวนี้ในเมืองไทยเลย
“โลก, บ้านของเรา, นับวันยิ่งดูเหมือนกองโสโครกกองมหึมามากขึ้นทุกวัน” คือประโยคสั้นๆ ที่ท่านโพสต์ในทวิตเตอร์ของท่าน
ในเรื่องนโยบายพลังงาน ท่านว่า “มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะพัฒนานโยบายเพื่อว่าอีกใน 2-3 ปีข้างหน้า การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซมลพิษสูงอื่นๆ ต้องลดลงอย่างมาก เช่น การแทนที่พลังงานฟอสซิลด้วยพลังงานหมุนเวียน”
ในประเด็นระหว่างการเพิ่มของประชากร และลัทธิบริโภคนิยม พระองค์กล่าวว่า “การกล่าวโทษโดยอ้างว่าเพราะประชากรของโลกเพิ่มขึ้นแทนที่จะเป็นเพราะลัทธิบริโภคนิยมแบบสุดโต่งบนวิถีของคนบางกลุ่ม นี่คือหนึ่งตัวอย่างของการทำให้เกิดความสับสน”
ในเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ พระองค์ทรงเห็นว่า “ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่มากมายของพลังงานแสงอาทิตย์ จำเป็นต้องมีการสร้างกลไก และอุดหนุน ต้นทุนเหล่านี้ก็จะลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”
“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ใช่เรื่องของนักวิทยาศาสตร์ นักการเมือง หรือนักกิจกรรมเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของทุกคนที่มีจริยธรรม มีความรู้สึกรับผิดชอบชั่วดี”
ท่านผู้อ่านอาจจะรู้สึกสงสัยว่า ผมเข้ามารับรู้เรื่องดังกล่าวได้อย่างไร เพราะในโลกอินเทอร์เน็ตนั้นมีข้อมูลจำนวนมหาศาลมาก การรู้ข่าวชิ้นนี้ก็เปรียบเหมือน “ยากเหมือนการงมเข็มในมหาสมุทร” คำตอบก็เพราะความเป็นเครือข่ายครับ ผมค้นคำว่า “การถอนการลงทุนจากถ่านหิน (Divest from Coal)” จึงได้พบว่า มีองค์กรทางการศึกษาและศาสนาคริสต์จำนวนหลายร้อยองค์กรที่ได้เข้าร่วมกระบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้มีการถอนการลงทุนจากพลังงานฟอสซิล
ดังนั้น คำพังเพยที่ว่า “ยากเหมือนการงมเข็มในมหาสมุทร” จะไม่เป็นความจริงในสังคมสมัยใหม่อีกต่อไป เพราะว่า“เข็ม” ในปัจจุบันต่างก็มีเครือข่าย ทำให้เราสามารถค้นหาได้ง่ายอย่างที่ผมได้พบมาแล้ว
เขียนมาถึงตอนนี้ก็อยากจะขอแถมสักนิดเพื่อเป็นกำลังใจให้แก่คนทำงานทางสังคมว่า โลกทุกวันนี้แคบมาก ไม่ได้กว้างเหมือนที่เราเคยเข้าใจกัน จากการทดลองทางสถิติพบว่า เราสามารถค้นหาใครก็ได้ในโลกนี้ขอแต่เพียงให้รู้ชื่อ นามสกุล และอาชีพเท่านั้น โดยไม่จำเป็นต้องรู้เลขที่บ้านที่อยู่ที่ชัดเจน จากการทดลองพบว่า เราสามารถรู้ได้โดยการสอบถามคนไม่เกิน 6 คนเท่านั้น (เขาเรียกว่า Six Degrees of Separation)
เพื่อไม่ให้บทความผมยาวเกินไป ผมขอสำเสนออีก 4 เรื่องซึ่งเกี่ยวพันกับชื่อบทความนี้ครับ
หนึ่ง เรื่องถอนการลงทุนจากพลังงานสกปรกหรือพลังงานฟอสซิล
แนวคิดของเรื่องนี้เกิดจากกลุ่มของคุณ Bill McKibben เพราะได้ประสบการณ์มาว่า การเรียกร้องให้ผู้นำโลกแก้ปัญหาโลกร้อน (ซึ่งผมจะกล่าวถึงผลกระทบในข้อที่สอง) มักจะไม่ค่อยได้ผล มีแต่คำมั่นสัญญา แต่ไม่มีการกระทำใดๆ หรือดีแต่ปาก ทางกลุ่มนี้จึงได้เปลี่ยนเป้าหมายการเคลื่อนไหวไปที่สถาบันการศึกษา และสถาบันทางศาสนา และอื่นๆ เพื่อเรียกร้องให้ถอนการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ หรือธนาคารที่เข้าไปลงทุนในธุรกิจพลังงานสกปรก
ปรากกฏว่า ได้ผลและแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว ไปทั่วทุกทวีป ภาพข้างล่างยังไม่ได้ปรับปรุงให้ทันสมัย ในทวีปเอเชียก็มีครับ
ในประเทศออสเตรเลียมี 2 มหาวิทยาลัย หลายสิบองค์กร รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือเมืองด้วย เช่น เมือง Fremantle ซึ่งเป็นเมืองท่าขนาดใหญ่ในรัฐออสเตรเลียตะวันตก ได้ถอนไปเมื่อปี 2014
ในสหรัฐอเมริกามีเกือบ 30 มหาวิทยาลัยรวม ทั้งมหาวิทยาลัยดัง เช่น Stanford University
เอาที่ใหม่ๆ สดๆ เช่น มหาวิทยาลัย Washington สภามหาวิทยาลัยมีมติเอกฉันท์เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2015 ซึ่งมหาวิทยาลัยนี้มีเงินลงทุนถึง $2,800 ล้าน โดยนักศึกษามีบทบาทสำคัญในการเรียกร้องครั้งใหญ่เมื่อเดือนมีนาคม ก่อนการตัดสินใจไม่นาน
ล่าสุด เท่าที่ผมทราบ เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2558 มหาวิทยาลัย Georgetown ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยในสังกัดองค์กรศริสต์ศาสนา ก็ได้ประกาศถอนการลงทุนมีมูลค่าถึง $1,500 ล้าน
นอกจากมหาวิทยาลัยแล้ว ยังมีกองทุนบำนาญแห่งชาติของประเทศนอร์เวย์ ซึ่งเป็นกองทุนที่ใหญ่ที่สุดในโลก (9 แสนล้านเหรียญสหรัฐ) ได้ถอนตัวไปเมื่อวันสิ่งแวดล้อมโลก 5 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าเป็นผลมาจากการเคลื่อนไหวดังกล่าวด้วยหรือไม่
สอง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา ศาลประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้มีคำสั่งให้รัฐบาลของตนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้มากกว่าแผนเดิม ตามคำฟ้องของกลุ่มเอ็นจีโอที่ชื่อว่า Urgenda
เดิมทีเดียวรัฐบาลมีแผนการจะลดลง 14-17% ของปริมาณที่เคยปล่อยในปี 1990 ทั้งนี้ ภายในปี 2020 แต่ศาลกลับสั่งว่าน้อย และช้าเกินไป ต้องลดให้ได้ 25% ภายใน 5 ปี พร้อมกับสั่งให้รัฐบาลจ่ายเงินให้แก่ผู้ฟ้องด้วย เป็นที่คาดกันว่า คำสั่งของศาลดังกล่าวจะส่งแรงกระเพื่อมไปทั่วโลกต่อไป (หมายเหตุ ผมได้ยินข่าวนี้ครั้งแรกจากเนชั่นทีวี ขอบคุณครับ)
สาม ภัยจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
ขณะนี้สังคมไทยกำลังได้รับความเดือดร้อนจากภัยแล้งอย่างรุนแรงในรอบหลายสิบปี อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลกซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทั่วโลก ท่านนายกฯ ประยุทธ์ ก็พูดถึงเรื่องนี้ แต่น่าเสียดายที่ท่านไม่ได้เชื่อมโยงกับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดยักษ์อีก 9 โรง ในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (พีดีพี 2015) ของประเทศไทย
การเปลี่ยนแปลงของอากาศไม่ได้มีแค่การเกิดพายุรุนแรง น้ำท่วม และภัยแล้งอย่างที่เรารับทราบกันเท่านั้น แต่ส่งผลต่อการตายปะการังของโลก ซึ่งจะกระทบต่อการท่องเที่ยวในเขตอันดามันของไทยด้วย
ผมได้มีโอกาสคุยกับเพื่อน Facebook ซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศเยอรมนี ผมขอคัดลอกคำพูดของเธอมาลงดังนี้ “เมื่อสองสามวันก่อนเราคุยกันเรื่องการบุกรุกของพืชเขตร้อนในยุโรป... เพราะอุณหภูมิที่สูงขึ้น... นี่คือหนึ่งตัวอย่างค่ะ... ชื่อของพืชชนิดนี้ภาษาเยอรมันเรียก Heusenkraut (Ludwigiagrandiflora) ดอกสวยน่าดูชม เป็นพืชเขตร้อนจากทวีปอเมริกาใต้ ที่กำลังสร้างปัญหาอย่างมากมายในแหล่งน้ำของเยอรมนี และฝรั่งเศส เติบโตและขยายพันธุ์รวดเร็วมาก แบบไม่เกรงใจใครเลย มีลักษณะเหมือนเสื่อ ปกคลุมทั้งแหล่งน้ำ ทะเลสาบ และแม่น้ำลำคลองทั่วไป บดบังพืชชนิดอื่นจากแสงอาทิตย์ ทำให้พืชเหล่านั้น และสัตว์น้ำตายเรียบ... เป็นพืชที่ปรับตัวเก่ง ทำลายพืชพันธุ์อื่นรอบตัวโดยการปล่อยสารพิษ งอกงามได้ทั้งในแหล่งน้ำที่ไม่มีออกซิเจน...ทั้งยังผ่านพ้นฤดูหนาวอยู่ใต้ผืนน้ำได้โดยไม่ตาย ...ปัจจุบัน กระจายไปทั่วยุโรป จนถึงทางเหนือของสกอตแลนด์... เป็นหนึ่งใน 38 ชนิดของพืช Alien ที่ถูกขึ้นบัญชีดำเป็นพืช Invasion โดยสำนักงานกลางเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติของเยอรมนี...การทำลายพืชชนิดนี้ ทำได้ด้วยการถอนทีละต้น และต้องทำทุกๆ ปี...หรือคลุมด้วยแผ่นพลาสติกหนา” พร้อมกับแนบภาพถ่ายมาด้วย
เดิมทีเดียวพืชต่างถิ่นจากเขตร้อนเมื่อหลงเข้าไปในเขตอากาศหนาวก็จะตายเองโดยธรรมชาติ แต่เมื่ออุณหภูมิอากาศร้อนขึ้น พืชพวกนี้ก็ไม่ตายแต่กลับเติบโตได้ดี ส่งผลต่อระบบนิเวศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเป็นเขตการท่องเที่ยวพบว่า คนเลิกเที่ยว สัตว์น้ำเดิมอยู่ไม่ได้ จึงเจ๊งกันระนาวครับ
สี่ คุณ Bill McKibben นักเคลื่อนไหวด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคนสำคัญได้นำเสนอ จำนวน 3 จำนวนให้เราทำความเข้าใจ
ตัวแรกคืออุณหภูมิอากาศไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส คือ ระดับอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม ถ้าให้เป็นไปตามดังกล่าว มนุษย์สามารถเผาพลังงานฟอสซิลได้อีกไม่เกิน 595 กิกะตัน (จำนวนตัวที่สอง) ซึ่งถ้าใช้ในอัตราทุกวันนี้ก็จะหมดไปภายใน 16 ปี
แต่บริษัทพลังงานประมาณ 200 บริษัททั่วโลกบอกว่า ฉันมีแหล่งพลังงานสำรองอยู่ 2,795 กิกะตัน (จำนวนตัวที่สาม) ฉันขอขายให้หมดตามที่ฉันมีสำรองอยู่ก่อน
ประเด็นปัญหามีอยู่แค่นี้เองครับ ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์บอกว่า ถ้าอุณหภูมิสูงกว่านี้ “จะเอาไม่อยู่” โลกจะพังเสียก่อนอย่างที่ไม่อาจกลับคืนได้
สรุป ประเทศไทยกำลังเดินสวนทางกับกระแสโลกอย่างชัดเจนครับ โดยจะเพิ่มทั้งการใช้พลังงานฟอสซิล และปริมาณการใช้พลังงานชนิดที่เติบโตเกินความจริงมาตลอด โดยอ้างสิ่งที่มีความหมายคลุมเครือ เช่น ความมั่นคงด้านพลังงาน ทั้งๆ ที่แหล่งพลังงานที่พวกข้าราชการระดับสูงเลือกใช้ล้วนนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น ถ่านหิน ก๊าซ ในขณะเดียวกัน กลับปฏิเสธแหล่งพลังงานที่เรามีเอง และไม่มีวันหมด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น
แนวคิดในการ “พัฒนา” ของรัฐบาลชุดนี้ และชุดก่อนๆ ด้วยก็คือ “การเติบโต” อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ไม่รู้จักพอท่านไม่รู้หรือแกล้งทำโง่กันแน่ว่า สิ่งที่มีการเติบโตอย่างไม่สิ้นสุดนั้น มีอยู่สิ่งเดียวเท่านั้นคือ มะเร็ง ครับ ท่านกำลังนำพาประเทศไปสู่ความเป็นมะเร็ง ไปสู่ความล่มสลายเหมือนกับหลายประเทศที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว โดยไม่มีใครกล้าท้วงติง หรือตั้งคำถาม เพราะกลัวในอำนาจของท่าน เช่น จังหวัดกระบี่ มีแหล่งพลังงานจากของเสียในการผลิตน้ำมันปาล์มมากมาย ทำไมไม่อนุญาตให้เอกชนทำ และทำได้ตลอดไป หรือการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ทำไมต้องเสี่ยงต่อการทำลายระบบนิเวศอย่างถาวร
น่าห่วงมากๆ