ท่ามกลางสังคมที่เต็มไปด้วยความรวดเร็ว เร่งเร้าด้วยค่านิยมของการแข่งขันและขับเคลื่อนด้วยกลไกทางเศรษฐกิจ “สโลว์ไลฟ์” วิถีชีวิตเนิบช้ากลายเป็นเทรนด์ของคนรุ่นใหม่ซึ่งมักถูกเรียกกันว่า “ฮิปสเตอร์” เสียงวิพากษ์รุนแรงจากท่อนหนึ่งของบทสัมภาษณ์จากนักพูดชื่อดังโจมตีวิถีชีวิตดังกล่าวอย่างรุนแรงจนกลายเป็นกระแสที่พูดถึง
“...ผมอยากจะบอกเลยว่าอย่าเพิ่งมาดัดจริตสโลว์ไลฟ์ เพราะคุณเพิ่งเรียนจบกันมาหมาดๆ ชีวิตต้องรีบก่อนเลย ต้องขยัน ทำงานหนักก่อน ก่อนที่จะมานั่งชิล ใช้ของแพงๆ ใช้ของที่ดูเหมือนง่าย ชีวิตที่ใช้กับชีวิตที่โชว์อันเดียวกันหรือเปล่าไม่รู้นะ…”
ทั้งนี้ ข้อความดังกล่าวถูกแชร์ไปทั่วโลกออนไลน์พร้อมเสียงเฮโลวิพากษ์วิจารณ์การใช้ชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์ จนกลายเป็นวิวาทะ ชวนให้สงสัยว่า “สโลว์ไลฟ์” นั้นมีจุดเริ่มมาอย่างไร คนรุ่นใหม่ที่สนใจวิถีดังกล่าวต้องทำอย่างไรบ้าง?
จุดกำเนิดสโลว์ไลฟ์
สโลว์ไลฟ์เป็นคำที่มีต้นกำเนิดไม่ชัดเจนนัก อาจมาจากวิถีชีวิตที่เร่งรีบตามความรีบเร่งของวิถีชีวิตในเมืองหลวง กลุ่มคนที่พยายามจะใช้ชีวิตแตกต่างจนถึงขั้นสวนทางกับวิถีที่ต้องเร่งรีบจึงถูกตั้งชื่อให้ว่า สโลว์ไลฟ์ อย่างไรก็ตามผู้บุกเบิกการใช้ชีวิตในลักษณะดังกล่าวและแพร่หลายไปทั่วโลกนั้นมีชื่อว่า “ลีโอ บาบัวต้า” บล็อกเกอร์และนักเขียนชื่อดังชาวอเมริกันเชื้อสายกวม ผู้ก่อตั้งเว็บบล็อก Zen Habits ซึ่งมีสมาชิกมากกว่า 240,000 คน และได้รับการจัดอันดับจากนิตยสารไทม์ให้เป็นเว็บบล็อกยอดนิยมอันดับหนึ่งของโลกประจำปี 2010
ทั้งนี้ ความหมายในเบื้องต้นนั้นสโลว์ไลฟ์มีความหมายเป็นเหมือนหลักการดำเนินชีวิตกว้างเพื่อให้มีความสุขท่ามกลางสังคมที่รีบเร่งโดยมีหลักการ 9 ข้อด้วยกัน 1 คือรู้จักโฟกัสมากขึ้นและทำอะไรให้น้อยลง 2 ต้องมีสติอยู่กับปัจจุบันมากขึ้น 3 ใช้ชีวิตแบบโลว์เทค ปิดมือถือและอุปกรณ์ไฮเทคทุกอย่างในช่วงวันหยุด 4 ใส่ใจเพื่อนฝูง, ครอบครัว และคนรอบข้างให้มากขึ้น 5 หันมาชื่นชมกับความงดงามของธรรมชาติ ทำกิจกรรมกลางแจ้งอย่างการเดิน, ว่ายน้ำและขี่จักรยาน 6 การรับประทานอาหารให้ช้าลง โดยค่อยๆ เคี้ยวเพื่อรับรู้รสสัมผัสความอร่อยของอาหารแต่ละเมนู 7 ขับรถให้ช้าลงลดความเครียดและอาจเปิดเพลงคลอเบาๆ 8 มีความสุขง่ายๆ และรื่นรมย์กับทุกอย่างที่พบเจอ 9 ขจัดความเครียดด้วยการสูดลมหายใจเข้าลึกๆ กำหนดลมหายใจเข้าออกเพื่อให้จิตเป็นสมาธิ
แต่นอกจากในแง่มุมของหลักการดำเนินชีวิตแล้ว สโลว์ไลฟ์ มีการขยายขอบเขตความหมายคลอบคลุมถึงวัฒนธรรมการใช้ชีวิตในมิติอื่นๆ ที่มักจะเชื่อมโยงกับการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยมีชื่อเรียกรวมว่า สโลว์มูฟเมนท์ (slow movemant) โดยมีต้นกำเนิดมาจาก คาร์ล โอนอเร (Carl Honoré) เป็นนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ชาวแคนาดา เจ้าของหนังสือ In Praise of Slowness (แปลเป็นภาษาไทยในชื่อ เร็วไม่ว่า ช้าให้เป็น :ศิลปะแห่งการใช้ชีวิตเนิบช้า โดย กรรณิการ์ พรมเสาร์) เขามองเห็นว่า “วัฒนธรรมความเร็ว” น่าจะเริ่มกัดกินมนุษย์มาตั้งแต่ปฏิวัติอุตสาหกรรมเมื่อสัก 200 ปีก่อน แล้วค่อยๆ สมทบด้วยการเกิดขึ้นของเมืองใหญ่ บวกกับความก้าวล้ำด้านเทคโนโลยี ทำให้มนุษย์เร่งรีบอย่างรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนตกอยู่ใน “ความขัดสนเวลา” หรือ time poverty โอนอเรมองว่า มนุษยชาติควร “บริโภค ผลิต และทำงานด้วยจังหวะก้าวที่สมเหตุสมผลมากกว่านี้”
การเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมดังกล่าวเกิดขึ้นครั้งแรกโดยสมาคม “สโลว์ฟูด” หรืออาหารช้าที่มีคาร์โล เปรตินี นักเขียนเรื่องอาหารชาวอิตาลีเป็นผู้ก่อตั้ง เพราะทนไม่ไหวกับอาหารด่วนอย่างแมคโดนัลด์
โดยสมาคมอาหารช้าให้ความสำคัญกับศิลปะของอาหาร ทั้งการปรุงและการกิน การเลือกและเตรียมวัตถุดิบ กระบวนการปรุง การรู้จักรับรสอาหารจนต่อมากลุ่มดังกล่าวมีการเคลื่อนไหวที่เข้มแข็งขึ้นและได้ขยายนิยามให้ “สโลว์ฟูด” หมายถึงอาหารที่ ดี - สะอาด - เป็นธรรม เป็นอาหารที่มีคุณภาพและรสชาติดี มีกระบวนการผลิตที่สะอาดและเคารพธรรมชาติ และให้ความเป็นธรรมโดยผู้ผลิตได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมและได้รับความนับถือจากผู้บริโภค
กระบวนการสโลว์ฟูดจุดประกายการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมอื่นๆ ในหลายด้าน นับแต่ Slow Fish การประมงที่รักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน Slow Design การออกแบบให้มีคุณค่ากับการรักษาทรัพยากร Slow Travel การท่องเที่ยวที่ทำให้รู้จักท้องถิ่นมากขึ้น Slow Sport เชื่อมโยงกายกับใจด้วยการออกกำลังกาย Slow Work การทำงานอย่างผ่อนคลาย Slow Parenting/ Slow School การเลี้ยงลูกและให้ลูกเรียนอย่างไม่รีบเร่ง และยังมีอีกหลายมิติของชีวิตที่สามารถนำเอาปรัชญาดังกล่าวมาประยุกต์ใช้
ตัวอย่างเช่น เมืองคะเคะงะวะ (Kakegawa-shi) จังหวัดชิซุโอกะ (Shizuoka-ken) ของประเทศญี่ปุ่นกลายเป็นเมือง Slow life city โดยกำหนดเทศบัญญัติการพัฒนาเมือง 8 ประการได้แก่ SlowPace การทําจังหวะชีวิตให้ช้าลง รณรงค์การเดินทางด้วยการเดินเท้าของชาวเมืองมากขึ้น Slow Wear การรณรงค์การใช้ผ้าพื้นเมืองที่ทํามาจากวัสดุท้องถิ่น ไม่เสียค่าขนส่ง ช่วยกระจายรายได้สู่ชุมชนSlow Food รับประทานอาหารท้องถิ่น หรืออาหารชาติญี่ปุ่นด้วยวัตถุดิบตามฤดูกาล ปฏิเสธอาหารฟาสต์ฟูดเพื่อไม่ให้เสียสุขภาพ Slow House รณรงค์การอยู่บ้านแบบญี่ปุ่นโบราณที่ใกล้ชิดธรรมชาติ ไม่ก่อมลพิษ Slow Industry รณรงค์การดูแลทรัพยากรธรรมชาติ ระบบอุตสาหกรรมต้องไม่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม Slow Education ให้ความสําคัญต่อกระบวนการเรียนรู้วิถีชีวิต และวัฒนธรรมท้องถิ่น เน้นความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในสังคมมากกว่าการแข่งขันด้วยระบบค่าคะแนน Slow Aging มุ่งมีชีวิตยืนยาวด้วยวิถีธรรมชาติ
อาจบอกได้ว่า สโลว์ไลฟ์เป็นปรัชญาการใช้ชีวิตอย่างหนึ่งที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับทุกกิจกรรมในการดำเนินชีวิตโดยยึดหลักให้ช้าลง คิดถึงรายละเอียดของสิ่งนั้นๆ มากขึ้น มองหาจุดเชื่อมโยงของสิ่งนั้นกับความสุข และการรักษาสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป ทว่า เมื่อสโลว์ไลฟ์เข้ามาเป็นเทรนด์ในประเทศไทยแล้ว มันกลับเข้ามาพร้อมกับวัฒนธรรมฮิปสเตอร์ ร้านกาแฟ ความเป็นศิลปินที่หลายคนแอบครหาว่า สโลว์ไลฟ์อาจหมายถึงการใช้ชีวิตช้าๆ และขี้เกียจจนถึงขั้นไมทำการทำงาน!
Slow life in Thailand
การเข้ามาของสโลว์ไลฟ์ในสังคมไทยนั้น ยุคแรกเริ่มมีปรากฏตามหน้านิตยสารวัยรุ่นและสื่อโทรทัศน์ โดยมากับกระแสรักษ์โลกในช่วงย้อนกลับไปราว 6 - 7 ปีก่อน แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจมากนัก หากแต่ก็มีการรวบรวมกลุ่มที่มีความคิดในอุดมการณ์เดียวกันอยู่กล่าวโดยรวมคือ ใช้ชีวิตช้าลง ใส่ใจกับสุขภาพ ทำอาหารกินเอง ใส่ใจกับรายละเอียดในการใช้ชีวิตมากขึ้น
จนเมื่อไม่นานมานี้ กระแสไลฟ์สไตล์แบบฮิปสเตอร์ได้รับความนิยมมากขึ้น ส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมฮิปสเตอร์ก็คือเทรนด์ในการใส่ใจสิ่งแวดล้อม การปั่นจักรยาน บริโภคสินค้าออแกนิกต่างๆ จากค่อยๆ ก่อตัวจึงกลายเป็นกระแสที่มีผู้สนใจมากขึ้น
เมื่อไม่นานมานี้ภาพยนตร์ญี่ปุ่นเรื่อง Little forest ที่พูดถึงวิถีปลูกผักทำไร่พึ่งพาตัวเอง กลายเป็นภาพยนต์ที่ทำได้รายสูงและยืนฉายอยู่ในโรงหนังอินดี้นานเกินกว่าที่หลายคนคาดการณ์ไว้ กระทู้พันทิปมีการถกเถียงถึงการออกไปใช้ชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์มากขึ้น โดยชุดความเข้าใจความหมายของคำว่า สโลว์ไลฟ์ก็เปลี่ยนแปลงไปจากความหมายเดิม
โดยภาพของวิถีชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์มีการให้นิยามในเชิงเสียดสีโดยมักจะถูกเหมารวมจับคู่กับความช้าในการใช้ชีวิตส่วนที่ต้องมากับความรับผิดชอบ ตัวอย่างเช่น ช้าในการทำงาน ช้าในการเดินทางไปตามนัดหมาย ช้าในการพัฒนาตัวเอง สโลว์ไลฟ์หากใช้ในเชิงล้อเลียนจึงกลายเป็นคำที่มีความหมายในเชิงลบ
ในส่วนของการสัมภาษณ์ของโน้ส - อุดมพร้อมกระแสเห็นด้วยกับความเห็นดังกล่าวถือเป็นจุดร่วมหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นนิยามของคำว่า สโลว์ไลฟ์ที่เคลื่อนไปจากเดิม กลายเป็นวิถีชีวิตของคนไม่ทำงาน ชอบดื่มกาแฟที่มีกระบวนการชงแบบแปลกๆ และโพสต์ภาพวิถีชีวิตที่ดูเท่ของตัวเองผ่านโซเชียลมีเดีย จนนำมาซึ่งวิวาทะกับเพจชื่อดังที่เห็นแย้งว่าวิถีชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์ไม่ได้สร้างความเดือดร้อนให้ใคร
ด้าน แอดมินเพจเกี่ยวกับวัฒนธรรมฮิปสเตอร์ มองว่า เรื่องดังกล่าวถือเป็นเรื่องส่วนบุคคล ปัญหาหนึ่งมาจากโควตดังกล่าวเป็นการตัดทอนมาจากบทสัมภาษณ์ทั้งหมดที่กล่าวถึงชีวิตของตัวโน้ส - อุดมเองที่ต้องผ่านการทำงานหนักมาจึงจะประสบความสำเร็จ แต่คนกลับนำมาพูดเพียงแค่ เด็กจบใหม่อย่าเพิ่งมาดัดจริตใช้ชีวิตแบบสไลว์ไลฟ์
“ผมคิดว่ามันทำให้เกิดการเหมารวมคนที่เลือกจะใช้ชีวิตแบบนี้คือคนที่ฟังแค่โควตนี้อาจจะรู้สึกมันใช่ เห็นด้วย สะใจ ต่อไปเวลาเดินผ่านร้านกาแฟ เห็นคนใช้ชีวิตสโลว์ไลฟ์ก็จะรู้สึกว่าพวกนี้ดัดจริต พวกนี้ไม่ขยันเป็นพวกขี้เกียจ รักแค่สบายมากกว่า รู้สึกว่ามันเป็นการตัดสินคนโดยไม่รู้อะไรเกี่ยวกับชีวิตเขาเลยมากกว่า”
เขามองว่าสาเหตุที่คนรุ่นใหม่เปลี่ยนแปลงและหันมาชื่นชอบการใช้ชีวิตแบบนี้มากขึ้นนั้นมาจากยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ความสำเร็จของคนแต่ละรุ่นจึงมีนิยามที่ต่างกัน
“สำหรับคนรุ่นก่อนความสำเร็จคือการทำงานหนัก การสร้างความมั่นคง แต่กับคนรุ่นหลังที่โตมากับกูเกิ้ล นิตยสารอะเดย์จะรู้สึกว่าชีวิตที่ดีคือชีวิตที่มีความสุขตลอดเวลาทั้งการทำงาน การพักผ่อน มันควรจะมีสมดุลไม่เร่งรัดจนเกินไป”
ขณะที่ คมสัน หุตะแพทย์ บรรณาธิการบริหาร นิตยสารเกษตกรรมธรรมชาติ ในฐานะที่ทำงานเกี่ยวกับวิถีชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์ เขามองว่าวิถีดังกล่าวอยู่ในหลายมิติด้วยกัน
“มิติหนึ่งที่ผมยึดถือคือการพยายามพึ่งพาตนเอง พื้นฐานที่สุดคือปัจจัยสี่หรือสิ่งที่จำเป็นสำหรับชีวิตซึ่งอาจจะแตกต่างจากสโลว์ไลฟ์ของคนรุ่นใหม่”
เมื่อตั้งต้นที่การพึ่งพาตัวเองเพื่อให้ตัวเองมีอิสระจากระบบที่เป็นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการปลูกพืชผักทำการเกษตรด้วยตัวเอง ทำสบู่แปรงสีฟันถึงสิ่งจำเป็นอื่นๆ
“พอทำปุ๊บมันไม่สำเร็จรูป ไม่จานด่วนอย่างความเคยชินที่เป็นมา เงินซื้อไม่ได้ต้องลงมือทำเองในครอบครัว ไม่ก็ชุมชน ต้องใช้เวลา ความพิถีพิถันประณีต ต้องมีใจ ถ้าไม่มีใจก็จะเกิดความขัดแย้งไม่รู้จะทำไปเพื่ออะไร”
แต่วิถีชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์กับคนรุ่นใหม่อาจมีนิยามที่ต่างกัน โดยเขามองว่า คนรุ่นใหม่อาจเข้าถึงได้เพียงบางมิติเท่านั้น
“บางมิติเขาสัมผัสไม่ได้ซึ่งก็ไม่มีปัญหาอะไรเพราะจุดเริ่มต้นของแต่ละคนที่จะตอบโจทย์ชีวิตก็จะแตกต่างกัน แต่ถ้าทุกคนไม่หยุดที่ตรงจุดที่ตัวเองทำ พยายามสืบสาวราวเรื่องไปการใช้ชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์พึ่งพาตัวเองในความเป็นจริงเราไม่สามารถใช้ชีวิตโดดๆ ได้ ต้องเกี่ยวพันกับคนอื่นตลอดเวลา”
ทั้งนี้ ในส่วนของคนรุ่นใหม่ที่ให้ความเข้าใจวิถีชีวิตแบบนี้ เขามองว่ามีมากขึ้นและถือเป็นเรื่องดี แต่ลักษณะอย่างหนึ่งที่เห็นชัดคือการเติบโตขึ้นมากับสังคมที่เพียบพร้อมแล้วทำให้คนเหล่านี้ไม่ค่อยมีความอดทนสักเท่าไหร่
“ถ้าทำงานในบริษัทเอกชน หรือทำงานรัฐบาลพวกเขาก็จะต้องการอิสระ อยากทำอะไรด้วยตัวเอง และพวกเขาก็มักจะอยากได้อะไรที่รวดเร็ว สะดวกสบาย ซึ่งข้อเสียก็คือพอปฏิเสธระบบมาใช้ชีวิตสโลว์ไลฟ์แล้ว พอมาสัมผัสจริงๆ มันไม่ง่ายเหมือนกับที่หลายคนอาจจะคิด
“เอาแค่เรื่องทำกับข้าวอย่างเดียว ถ้าใครไม่เคยทำมาเลย แล้วมาทำ ต้องเตรียมวัตถุดิบ หาวัตถุดิบ ปรุงอาหารเสร็จต้องล้างจานหม้อชาม ถ้าไม่เคยฝึกมาเลยก็ยากแล้ว หรือใครจะปลูกผักกินเอง ก็ไม่ง่ายเว้นว่าเมื่อทำแล้วชอบ พบว่ามีความสุขที่ได้อยู่กับสิ่งเหล่านี้ ได้ใช้เวลาช้าๆ ทำไปทีละนิดหน่อย ต้องหัดพอสมควร ชีวิตชนชั้นกลางในเมืองมันไม่เป็นแบบนั้นไง มันจะต้องฝืนตัวเราเอง พยายามหาเหตุผลอธิบาย ค้นหาตัวเองให้พบว่าสโลว์ไลฟ์มันคืออะไร”
การใช้ชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์จึงไม่ใช่เพียงใช้ชีวิตอย่างช้าๆ แต่เป็นการใส่ใจกับรายละเอียดของสิ่งรอบๆ ให้มากขึ้น และลึกขึ้น การปลูกผักกินเองที่บ้านในเมืองต้องเชื่อมโยงไปถึงชนบทที่ขาดน้ำเพราะต้องส่งน้ำมาให้เมืองกรุงใช้อย่างเพียงพอ ทรัพยากรหลายอย่างมีการเชื่อมโยงถึงกัน แม้แต่การใช้น้ำปลาในการปรุงอาหาร ก็ควรรู้ที่มาว่า มาจากบริษัทใหญ่ หรือมาจากผู้ผลิตรายย่อย หรือจะทำใช้เอง
“ถ้าเราจะสโลว์ไลฟ์ของเราเองโดยไม่สนใจเลย โดยไม่คิดสัมพันธ์กับธรรมชาติเลยเนี่ย การใช้ไฟฟ้ามันต้องแลกมาด้วยทรัพยากรธรรมชาติหลายอย่างมากๆ สูญเสียพื้นที่ป่าไม้มหาศาล ถ้าใส่ใจดูรายละเอียดก็จะพบว่าเราไม่ได้อยู่ได้คนเดียว ไม่ได้โรแมนติกศิลปินแบบนั้น และเราจะเห็นถึงการเชื่อมโยง เรากินน้ำปลาจากผู้ผลิตรายย่อยเพราะอะไร มันจะมีความลึกซึ้งมากขึ้น ไม่ใช่ทำอาหารเสร็จแล้วก็รู้สึกสโลว์ไลฟ์ มันมีหลายแง่มุมมากกว่านั้น”
…
อย่างไรก็ตาม กรณีข้อวิพากษ์ของโน้ส - อุดมที่กลายเป็นกระแสอยู่ตอนนี้ก็ถือเป็นการสร้างกระแสอย่างดีถือเป็นการทำการตลาดก่อนถึงช่วงเดี่ยวไมโครโฟนที่กำลังจะมาถึงในเร็ววันนี้อย่างได้ผล
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754