รอยเตอร์ – ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ประกาศทุ่มวงเงินทุนอุดหนุนระบบการศึกษาสาธารณะเป็น 2 เท่าภายในช่วง 5 ปีข้างหน้า วันนี้ (19 พ.ค.) โดยจะเน้นยกระดับคุณภาพการศึกษาของเยาวชนมากกว่าจำนวนผู้ลงทะเบียนเรียน
เวิลด์แบงก์ประกาศจัดสรรเงินทุน 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2020 หรือมากกว่าในช่วง 5 ปีก่อนอีกเท่าตัว เพื่อเข้าถึงเยาวชนอีกกว่า 120 ล้านคนทั่วโลก ที่ไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือ และอีก 250 ล้านคน ซึ่งยังอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ทั้งที่ได้ชื่อว่าเข้าเรียนในโรงเรียนแล้ว
จิม ยอง คิม ประธานเวิลด์แบงก์ ระบุว่า ทางธนาคารได้เริ่มใช้ระบบเงินอุดหนุนแบบอิงผลงาน (results-based financing system) ซึ่งประเทศต่างๆ จะได้รับเงินช่วยเหลือก็ต่อเมื่อทำผลงานได้ตรงตามเงื่อนไขที่เวิลด์แบงก์กำหนดไว้
คำแถลงดังกล่าวมีขึ้นระหว่างพิธีเปิดการประชุม เวิลด์ เอ็ดยูเคชัน ฟอรัม ที่ประเทศเกาหลีใต้ ในวันนี้ (19) ซึ่งมีผู้นำด้านการศึกษาเข้าร่วมกว่า 160 ประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อออกแบบเป้าหมายทางการศึกษาชุดใหม่สำหรับ 15 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา
เป้าหมายเหล่านี้จะเป็นส่วนหนึ่งของ “เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน” (Sustainable Development Goals) ที่องค์การสหประชาชาติจะเริ่มนำมาใช้ในเดือนกันยายนปีนี้ แทนที่ “เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ” (Millennium Development Goals) และจะถือเป็นการก้าวสู่ยุคใหม่สำหรับการต่อสู้วงจรความยากจน
“ความจริงก็คือว่า ระบบการศึกษาที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ยังไม่เอื้อต่อเยาวชนที่มีฐานะยากจนเท่าที่ควร” คิม ระบุในคำแถลง
“ประชากรโลกเกือบ 1,000 ล้านคนยังยากจนข้นแค้น ดังนั้น ความพยายามที่จะปรับปรุงคุณภาพการศึกษาสำหรับเด็กๆ จึงเท่ากับช่วยปลดล็อกศักยภาพของมนุษยชาติในอีกหลายสิบปีข้างหน้า”
เวิลด์แบงก์ตั้งเป้าขจัดวงจรความยากจนขั้นรุนแรง (extreme poverty) ให้หมดไปภายในปี 2030 และได้จ่ายเงินทุนอุดหนุนการศึกษาไปแล้ว 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2000 ซึ่งถือเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ให้เงินสนับสนุนด้านการศึกษามากเป็นอันดับ 1 ของโลก
สถาบันการเงินแห่งนี้เริ่มหันมาทดลองใช้ระบบจ่ายเงินอุดหนุนแบบอิงผลงาน หลังเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษถูกวิจารณ์ว่าเน้นที่จำนวนผู้ลงทะเบียนเรียนมากมากเกินไป โดยไม่ได้ปรับปรุงคุณภาพการศึกษาอย่างแท้จริง
คิม ยกตัวอย่างโครงการปล่อยกู้แก่รัฐบาคิากีสถาน 350 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเวิลด์แบงก์หวังว่าจะช่วยเพิ่มจำนวนนักเรียนที่มาจากครอบครัวยากจน ตลอดจนจัดหาครูและตำราเรียนที่มีประสิทธิภาพให้แก่เยาวชนได้ทันท่วงที
“ผลที่ได้รับเมื่อเราเปลี่ยนไปใช้ระบบจ่ายเงินอุดหนุนแบบอิงผลงาน ถือว่าน่าตกใจมากทีเดียว” คิม ระบุ
ผู้เชี่ยวชาญเวิลด์แบงก์มองว่า การลงทุนในด้านการศึกษาถือเป็นอาวุธที่ช่วยทำลายวงจรความยากจนของโลก เพราะคุณภาพการศึกษาคือตัวพยากรณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีเยี่ยม และการศึกษายังช่วยให้ประชากรโลกหลุดพ้นวงจรความยากจนโดยเพิ่มรายได้เฉลี่ย 10 เปอร์เซ็นต์ในทุกๆ ชั้นเรียนที่สูงขึ้น
นอกจากนี้ เมื่อรัฐบาลส่งเสริมการศึกษาแก่เด็กผู้หญิง รายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากรก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
“เป้าหมายในปี 2030 ไม่ใช่แค่การนำเยาวชนที่เหลืออยู่เข้าโรงเรียน แต่ต้องมั่นใจว่าพวกเขาเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย” คิม กล่าว