xs
xsm
sm
md
lg

องค์การ IUCN เปิดเวทีการอนุรักษ์โลมาระหว่างพรมแดนไทย-กัมพูชา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

องค์การ IUCN เปิดเวทีการอนุรักษ์โลมาระหว่างพรมแดน ไทย –กัมพูชา
ตราด - องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) เปิดเวทีการอนุรักษ์โลมาระหว่างพรมแดนไทย-กัมพูชา ที่จังหวัดตราด

วันนี้ (29 ก.ค.) ที่ห้องประชุมโรงแรมเซ็นทาราชานทะเล แอนด์ รีสอร์ท ตำบลแหลมกลัด อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด นายณรงค์ ธีรจันทรางกูร ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด พร้อมด้วย นายวุฒิชัย เจนการ รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมกันเปิดเวทีการประชุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตามโครงการความร่วมมืออนุรักษ์โลมาระหว่างพรมแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN : International Union for Conservation of Nature) ร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดขึ้น โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนเครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์โลมา กลุ่มชาวประมง จากทั้งในจังหวัดตราด และจากจังหวัดชายทะเลของกัมพูชา

นายเพชร มโนปรวิตร รองหัวหน้ากลุ่มงานเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) กล่าวว่า จากปัญหาการตายของโลมาในน่านน้ำไทย และกัมพูชา ที่มีการพบซากโลมาอย่างต่อเนื่องมาในระยะ 4-5 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้จำนวนประชากรโลมาสายพันธุ์ต่างๆ ในทะเลแถบนี้ลดจำนวนลง

ดังนั้น เพื่อเป็นการระดมความคิดเห็นจากหน่วยงาน บุคคลที่เกี่ยวข้อง ทาง IUCN จึงได้จัดเวทีครั้งนี้ขึ้น เพื่อร่วมกันระดมความคิดเห็นในการอนุรักษ์ประชากรโลมาในทะเลทั้งบริเวณทะเลตราด และทะเลบริเวณประเทศกัมพูชา ซึ่งจะนำสู่การสร้างเครือข่ายให้มีการประสานความร่วมมือในการอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายากระหว่างกัน นำสู่การเพิ่มประชากรสัตว์ทะเลหายาก โดยเฉพาะโลมาในน่านน้ำไทย และน่านน้ำกัมพูชา

ด้าน นายวุฒิชัย เจนการ รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวระหว่างการเปิดเวทีความร่วมมืออนุรักษ์โลมาระหว่างพรมแดนไทย-กัมพูชา ที่จังหวัดตราด ว่า ปัจจุบันการพบซากสัตว์ทะเลหายากเกยชายฝั่ง ทั้งเต่าทะเล พะยูน โดยเฉพาะโลมามีจำนวนมากขึ้น เฉพาะที่จังหวัดตราดช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบมาแล้ว 2-3 ตัว

ทั้งนี้ ในแต่ละปีพบว่าสัตว์ทะเลหายากตายเกยชายหาดเฉลี่ยกว่า 300 ตัว ภัยคุกคามที่สำคัญที่ทำให้โลมาตายมีหลายองค์ประกอบ ทั้งจากการเจ็บป่วย หรือเครื่องมือประมงบางชนิด

ปัญหาดังกล่าวทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งชาวประมง หรือประชาชนที่อาศัยในชุมชนชายทะเล รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายาก โดยเฉพาะเครื่องมือประมงบางชนิด หากไม่ส่งผลดีต่อการอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายาก ควรหันมาปรับเปลี่ยนมาใช้เครื่องมือทำประมงชนิดอื่นแทน
หลายหน่วยงานให้ความสนใจต่อปัญหาที่เกิดขึ้น
พื้นที่จังหวัดตราด และจากจังหวัดชายทะเลของกัมพูชา เป็นพื้นที่ที่ต้องเอาใจใส่มากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น