xs
xsm
sm
md
lg

ทีเส็บ ดึงจุดขายภูเก็ต สู่ “เมืองไมซ์อินเซนทีฟแห่งอันดามัน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภูเก็ต - สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ จับมือจังหวัดภูเก็ต ร่วมหาแนวทางพัฒนาธุรกิจไมซ์ของจังหวัด ชูจุดขายจังหวัด “เมืองไมซ์อินเซนทีฟแห่งอันดามัน” กระตุ้นดีไมซ์ด้วยการจัดงานไทยแลนด์ไมซ์มาร์ท ครั้งที่ 2 เปิดเวทีเจรจาธุรกิจผู้ซื้อพบผู้ขาย เพิ่มยอดนักเดินทางกลุ่มไมซ์ในภูเก็ต

เมื่อเวลา 14.00 น.วันนี้ (23 ก.ค.) สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ ได้จัดงานไทยแลนด์ไมซ์มาร์ท ครั้งที่ 2 จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นกิจกรรมส่งเสริมการขายเพื่อให้เกิดการจัดงานไมซ์โดยเฉพาะกลุ่มประชุม-อินเซนทีฟ ภายใต้การดำเนินงานโครงการประชุมเมืองไทย ภูมิใจช่วยชาติ โดยเปิดเวทีเจรจาธุรกิจระหว่างกลุ่มผู้ซื้อเป้าหมายจากองค์กรในกรุงเทพฯ 30 ราย และองค์กรในท้องถิ่น 60 ราย กลุ่มผู้ขายซึ่งมีทั้งโรงแรม สถานที่จัดประชุม แหล่งท่องเที่ยว บริษัทรับจัดงานเชิงธุรกิจ และผู้ให้บริการด้านไมซ์ที่เกี่ยวข้องรวม 34 ราย เช่น มิชชั่น ฮิลล์ ภูเก็ต กอล์ฟ รีสอร์ท โรงแรมอินดิโก้ เพิร์ล โรงแรมดวงจิตต์ รีสอร์ท แอนด์ สปา ภูเก็ตแฟนตาซี บริษัทแอร์โร มีเดีย และบริษัท Coco Travel เป็นต้น โดยคาดการณ์ว่างานดังกล่าวจะก่อให้เกิดรายได้จากการซื้อขายภายในงานประมาณ 18 ล้านบาท โดยมี นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วย นางศุภวรรณ ตีระรัตน์ รองผู้อำนวยการ สายงานกลยุทธ์และพัฒนาธุรกิจ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หน่วยงานภาครัฐ และเอกชน เข้าร่วม ณ โรงแรม อินดิโก้ เพิร์ล อ.ถลาง จ.ภูเก็ต

นางศุภวรรณ ตีระรัตน์ รองผู้อำนวยการ สายงานกลยุทธ์และพัฒนาธุรกิจ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ กว่าวว่า “ภูเก็ตเป็นเมืองไมซ์ซิตีที่ได้รับความนิยมจากนักเดินทางกลุ่มไมซ์ โดยในครึ่งปีงบประมาณ 2558 (ตุลาคม 2557-มีนาคม 2558) มีนักเดินทางกลุ่มไมซ์ภายในประเทศที่เดินทางเข้าสู่จังหวัดภูเก็ต จำนวน 73,570 คน คิดเป็นรายได้ 573.42 ล้านบาท ซึ่งกลุ่มท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล หรืออินเซนทีฟ มีสัดส่วนสูงถึงประมาณ 46.37% ของตลาดไมซ์ภูเก็ตทั้งหมด คิดเป็นจำนวน 34,112 คน สร้างรายได้ 469.85 ล้านบาท รองลงมาคือ กลุ่มประชุมนานาชาติ กลุ่มงานแสดงสินค้า และกลุ่มประชุมองค์กร”

เพื่อขยายสัดส่วนการเติบโตของ “กลุ่มไมซ์อินเซนทีฟ” และกระตุ้นไมซ์ทั้งภาคประชุม และแสดงสินค้า ทีเส็บผสานความร่วมมือกับจังหวัด ทั้งภาครัฐ ภาคท่องเที่ยว และภาคบริการกำหนดยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนไมซ์ภูเก็ต ให้สอดคล้องต่อยุทธศาสตร์ท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต และรัฐบาล เน้นสร้างความแตกต่างเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่เศรษฐกิจของจังหวัด โดยเฉพาะการนำ “ไมซ์” มาเป็นจุดขาย โดยทีเส็บใช้ 3 กลยุทธ์การตลาดเป็นตัวดันยอดนักเดินทางไมซ์สู่ภูเก็ต กลยุทธ์ที่ 1 การเปิดตัว แคมเปญ “ประชุมเมืองไทย ภูมิใจช่วยชาติ” ส่งเสริมกิจกรรมดีไมซ์ในภูเก็ต พร้อมขยายศักยภาพของเมืองไมซ์ในกลุ่มอันดามัน (ภูเก็ต กระบี่ พังงา ระนอง และตรัง) เพื่อรองรับการจัดประชุม สัมมนา และกลยุทธ์ที่ 2 ส่งเสริมการจัดประชุมและท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัลในพื้นที่โครงการพระราชดำริ สอดรับต่อนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวและสัมมนาในโครงการพระราชดำริของรัฐบาล เช่น โครงการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าทุ่งทะเล อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดกระบี่ ตลอดจนกลยุทธ์ที่ 3 กระตุ้นธุรกิจการแสดงสินค้าในประเทศผ่านแนวทาง “กระจายงานแสดงสินค้า” ที่ประสบความสำเร็จไปยังจังหวัดภูเก็ต เช่น งาน Food and Hotelex 2015 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-22 พฤศจิกายนนี้

“จุดเด่นของภูเก็ตคือ ความหลากหลายของพื้นที่ และกิจกรรมที่รองรับนักเดินทางกลุ่มไมซ์ โดยเฉพาะกลุ่มอินเซนทีฟ ซึ่งทีเส็บจะนำเสนอศักยภาพของภูเก็ตใน 6 แนวคิดที่รองรับการจัดงาน ประกอบด้วย แนวคิดการจัดงานแบบ Team Building สร้างความร่วมมือให้แก่องค์กรในการทำกิจกรรมร่วมกัน การจัดงานภายใต้แนวคิดแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ผ่านการปลูกป่าชายเลน ปล่อยเต่าทะเล ปลูกปะการังเทียม แนวคิดการสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ใหม่ๆ โดยการลงมือปฏิบัติ และเข้าเยี่ยมชมสถานที่จริง เช่น การดูงานในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรือการชมโรงงานอุตสาหกรรม และแหล่งผลิตสินค้าชุมชน แนวคิดการจัดประชุมสีเขียว หรือ Green Meetings จัดประชุมในสถานที่และรูปแบบกิจกรรมที่เน้นการอนุรักษ์ธรรมชาติ และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม แนวคิดกิจกรรมเชิง History & Culture การเยี่ยมชมเส้นทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมในสถานที่ประวัติศาสตร์ และการจัดงานในรูปแบบพิเศษเฉพาะตามความต้องการของกลุ่มประชุม หรือ LUXURY

ในด้านการพัฒนานั้น ทีเส็บดำเนินโครงการมาตรฐานสถานที่จัดงานไมซ์ (ประเภทห้องประชุม) หรือ Thailand MICE Venue Standard ผลักดันสถานที่ประกอบการไมซ์ในจังหวัดภูเก็ต ให้ผ่านการประเมินรับตราสัญลักษณ์การรับรอง เพื่อให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานการจัดงานระดับสากล รวมทั้งอยู่ระหว่างการหาแนวทางจัดตั้งศูนย์ข้อมูล และส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์ประจำจังหวัดภูเก็ต ตลอดจนฝึกอบรมบุคลากรในสถาบันการศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพิ่มศักยภาพของบุคลากรในจังหวัดให้รองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ผ่านโครงการ Coach the Coaches
 
“การพัฒนาคุณภาพธุรกิจไมซ์ของจังหวัดภูเก็ตภายใต้การทำงานแบบ partnership ของทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน นับเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนไมซ์ภูเก็ตอย่างมีเป้าหมาย ตอกย้ำจังหวัดในฐานะศูนย์กลางเมืองไมซ์แห่งอันดามัน ด้านเป้าหมายดีไมซ์ปี 2558 นี้ตั้งเป้าการเติบโตทั้งจำนวนคน และรายได้ร้อยละ 5 คิดเป็นนักเดินทางกลุ่มไมซ์ จำนวน 15.23 ล้านคน สร้างรายได้ 33,069 ล้านบาท” นางศุภวรรณ กล่าวทิ้งท้าย

ด้าน นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า “ปีนี้ทางจังหวัดได้เตรียมร่างแผนยุทธศาสตร์ไมซ์จังหวัดภูเก็ตด้วย โดยจะครอบคลุม 2 ด้านหลัก คือ 1. Partnership เน้นการทำงานเชิงเครือข่ายกับภาคีต่างๆ โดยเฉพาะภาคีหลัก คือ เทศบาลนคร สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภูเก็ต สมาคมโรงแรมไทย (ภาคใต้) และการมีส่วนร่วมของชุมชนภายในภูเก็ต รวมถึงความร่วมมือกับกลุ่มจังหวัดอันดามัน (ภูเก็ต กระบี่ พังงา ระนอง และตรัง) ซึ่งสามารถพัฒนาพื้นที่ของกลุ่มอันดามันให้เป็นเส้นทางเชื่อมโยง และรองรับกิจกรรมไมซ์ในอนาคต 2.Destination marketing การหารือจุดยืนทางการตลาดด้านไมซ์ร่วมกับภาครัฐและเอกชน โดยพิจารณาจากแผนยุทธศาสตร์จังหวัด เทศบาล และภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อมุ่งไปสู่การเป็นจุดหมายชั้นนำระดับโลก

พร้อมกันนี้ ยังวางแผนการพัฒนาจังหวัดเพื่อรองรับอุตสาหกรรมไมซ์ใน 3 ด้าน คือ 1.การพัฒนาสถานที่ และบริการใหม่ๆ เน้นตลาดคุณภาพ เช่น การพัฒนาเมืองเก่าอันเป็นแหล่งวัฒนธรรมพื้นบ้านเปอรานากัน (peranakan) หรือบาบ๋า-ย่าหยา เป็นชาวจีนเชื้อสายมลายู ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว และสถานที่จัดกิจกรรมพิเศษที่เอื้อให้เกิดการอนุรักษ์ และรักบ้านเกิด 2.การส่งเสริมตลาด LUXURY ภายใต้นโยบายรัฐบาลในการทำให้ภูเก็ตเป็นเมืองพักผ่อนชายทะเลเทียบเท่าเมืองระดับโลกอย่าง โมนาโค บีช และ 3.ร่วมกับทีเส็บดึงงานที่สอดคล้องต่อจุดยืนทางการตลาดของเมืองภูเก็ต เพื่อให้ภาพลักษณ์ของเมืองมีความโดดเด่นมากขึ้น เช่น การดึงงานประชุมและแสดงสินค้าด้านอาหาร ด้านวัฒนธรรมพื้นบ้านเปอรานากัน และด้านเรือสำราญ เป็นต้น

ทั้งนี้ ทางจังหวัดยังมีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์ผ่านแผนงานลงทุนสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้อง เช่น การก่อสร้างสนามบินส่วนขยาย การปรับปรุงถนน ปรับภูมิทัศน์ชายหาด การลงทุนพัฒนาท่าเรือสำราญ โครงการลงทุนด้านโรงแรมและศูนย์ประชุมของกลุ่ม The Mall และ Central ตลอดจนการเน้นตลาดคุณภาพ เช่น การศึกษาขีดความสามารถของเกาะภูเก็ตอีกด้วย
 
จังหวัดภูเก็ต มีงานสำคัญที่เกี่ยวข้องต่อธุรกิจไมซ์ และทีเส็บให้การสนับสนุน เช่น งาน Vestige Marketing PVT Ltd Thailand Conference 2015 งาน British American Tobacco Marketing Conference 2015 งาน International Conference on Beneficial Microbes 2015 งาน The Phuket International Boat Show 2016 (PIMEX) งาน Laguna Phuket International Marathon 2015 และงาน Food and Hotelex 2015 รวมถึงงานประชุมสัมมนาของทางจัดหวัดที่จะจัดขึ้นในเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2558 เช่น โครงการสัมมนาพร้อมรุก-ปรับรับ AEC PLUS ของผู้ประกอบการจังหวัดภูเก็ต การจัดฝึกอบรมคนประจำเรือ รุ่นที่ 25 การประชุมเชิงปฏิบัติการป้องกันโรคเมอร์ส เป็นต้น








 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น