xs
xsm
sm
md
lg

Green vision : คืบหน้า “อาคารอนุรักษ์พลังงาน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปัจจุบันประเทศไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานในต่างประเทศ เป็นมูลค่าถึง 1.4 ล้านล้านบาท นับว่าเป็นภาระหนักหน่วงสำหรับการจัดหาพลังงานให้เพียงพอต่อคนในประเทศ ขณะที่แนวทางแก้ไขในระยะยาวที่จะสร้างความยั่งยืนด้านพลังงาน จะต้องอาศัยทุกภาคส่วนมีการใช้พลังงานอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ
ยุทธศาสตร์สำคัญของสำนักกำกับและอนุรักษ์พลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทน และอนุรักษ์พลังงาน เพื่อจะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้ มุ่งไปที่การใช้พลังงานภายในอาคารทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งการใช้พลังงานจากอาคารภาคธุรกิจ และภาคที่อยู่อาศัยนั้นมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 22 ของการใช้พลังงานทั้งหมด
แนวทางในการดำเนินงานดังกล่าว มุ่งไปที่อาคารก่อสร้างใหม่โดยให้มีการออกแบบเป็นอาคาร Zero Green Building ภายในปี พ.ศ. 2563 โดยมี “ศูนย์ประสานงานการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน” เป็นทั้งศูนย์รวมข้อมูลทางวิชาการ และให้คำปรึกษาด้านการออกแบบอาคารอนุรักษ์พลังงาน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้อาคารที่ก่อสร้างใหม่มีการออกแบบตามข้อกำหนดของกฎหมาย
เนื่องจากการใช้พลังงานในอาคารอย่างประหยัด และมีประสิทธิภาพนั้น ควรเริ่มจากการออกแบบและเลือกใช้วัสดุที่มีคุณภาพสูงซึ่งสามารถทำให้ประหยัดพลังงานได้ถึงร้อยละ 10 เมื่อเปรียบเทียบกับอาคารที่ออกแบบโดยทั่วไป ถึงแม้ค่าก่อสร้างในระยะเริ่มต้นจะสูงกว่าอาคารทั่วไป แต่เมื่อพิจารณาถึงค่าใช้จ่ายเทียบกับอายุการใช้งาน จะพบว่าอาคารที่ออกแบบตามเกณฑ์มาตรฐานกำหนด จะมีค่าก่อสร้างเพิ่มสูงสุด ไม่เกินร้อยละ6 และยังคุ้มค่าในการลงทุน และลดค่าใช้จ่ายในระยะยาว ทั้งช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อีก
ในการดำเนินโครงการดังกล่าวที่ผ่านมา เกิดผลประหยัด ปี 2552-2557 จากทั้งหมด 354 อาคาร แบ่งเป็นสถานศึกษา 153 อาคาร (43%) สำนักงาน 63 อาคาร (18%) สถานพยาบาล 48 อาคาร (14%) อาคารชุด 45 อาคาร (13%) อาคารชุมนุมชน 25 อาคาร (7%) โรงแรม 14 อาคาร (4%) และห้างสรรพสินค้า 5 อาคาร (1%) สามารถลดใช้ไฟฟ้า 171.98 ล้านหน่วยต่อปี คิดเป็นมูลค่าถึง 601.92 ล้านบาทต่อปี และลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ 99.8 พันตันต่อปี
ที่ผ่านมา เราได้ทำการลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกับหน่วยงานการศึกษาต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง รวมถึงการฝึกอบรมบุคลากรทั้งด้านการตรวจสอบแบบและด้านการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงานด้วยโปรแกรม Building Energy Code (BEC) 1,150 คน
ส่วนเป้าหมายดำเนินการขับเคลื่อนช่วงครึ่งปีหลังนี้ เราจะกระตุ้นด้วยการสนับสนุนเป็นเงินทุนหมุนเวียน หรือ Revolving funds ให้กับทั้งอาคารใหม่ และอาคารเก่า จากวงเงินสนับสนุนรวม 1,500 ล้านบาท
อาคารก่อสร้างใหม่นั้นมีการบังคับโดยกฎกระทรวง กำหนด ประเภท หรือขนาดอาคาร และมาตรฐาน หลักเกณฑ์ และวิธีการในการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2552 แต่ก็สนับสนุนให้อาคารเก่าได้ทำการปรับปรุงเป็นอาคารประหยัดพลังงานด้วยเช่นกัน เช่น อาคารโรงเรียน โรงพยาบาล สามารถเอาแบบมาแจ้งเพื่อปรับปรุงได้ เราจะตรวจสอบแบบให้ว่า ต้องแก้ไขอย่างไร หรือปรับอะไรบ้าง เพื่อให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานตามกำหนดของกฎกระทรวง ซึ่งขั้นตอนการขอรับบริการตรวจแบบใช้เวลาเพียง 28 วันทำการ
ในอนาคตเชื่อว่าจะต้องมีการบังคับใช้เป็น พ.ร.บ. ส่วนกับภาคเอกชน เราพยายามผลักดันออกกฎหมาย โดยคณะปฏิรูป โดยเริ่มจาก 2,000 ตารางเมตรขึ้นไปเป็นอาคารควบคุม ทั้งอาคารและโรงงานเช่นเดียวกับอาคารของภาครัฐ
ส่วนเป้าหมายสำคัญอีกประการ เพื่อให้เกิดแรงกระตุ้นขับเคลื่อน ก็คือการสร้างความเข้าใจร่วมกัน ของภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา โดยมุ่งเน้นความเข้าใจในการพัฒนาองค์ความรู้ บุคลากรด้านการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน หากหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนให้ความร่วมมือในการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงานขยายตัวไปในวงกว้างอย่างทั่วถึงจะสามารถช่วยลดการใช้พลังงานในภาคอาคาร และบรรลุเป้าหมายตามแผนอนุรักษ์พลังงานได้

“แนวทางในการดำเนินงานดังกล่าว มุ่งไปที่อาคารก่อสร้างใหม่โดยให้มีการออกแบบเป็นอาคาร Zero Green Building ภายในปี พ.ศ. 2563”

อนุชา อนันตศานต์
ผู้อำนวยการสำนักกำกับและอนุรักษ์พลังงาน
กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน
กำลังโหลดความคิดเห็น