xs
xsm
sm
md
lg

“กองทุนรวม คนไทยใจดี” ย้ำต้นแบบของกองทุน ESG มุ่งยั่งยืน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เปิดงาน “ก้าวเดินของการทำดี”กับ กองทุนรวม คนไทยใจดี โดยมี วรวรรณ ธาราภูมิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ พีรพงศ์ จิระเสวีจินดา กรรมการผู้จัดการ กลุ่ม Fund Management บลจ.บัวหลวง ให้การต้อนรับ รพี สุจริตกุล เลขาธิการ ก.ล.ต. มาร่วมยินดี ร่วมด้วย วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ ที่ปรึกษาสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ดร.วิรไท สันติประภพ กรรมการมูลนิธิปิดทองหลังพระ และวิเชียร พงศธร ประธานกรรมการ  มูลนิธิเพื่อ “คนไทย”
•ตอกย้ำก้าวเดินของการทำดี หลังจาก “กองทุนรวม คนไทยใจดี” หรือ BKIND เปิดเสนอขายครั้งแรกเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2557 ตั้งเป้าหมาย 6 เดือนแรก ได้มูลค่าทรัพย์สิทธิสุทธิ (NAV) 800 ล้านบาท แต่ปรากฎว่า NAV พุ่งเกินกว่า 1,800 ล้านบาท
•นับเป็นกองทุน ESGC กองแรกของประเทศไทยที่แสดงจุดยืนว่า “เป็นการลงทุน...ที่ให้ทำดีตั้งแต่บาทแรกของเงินลงทุน” ล่าสุดปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ได้อนุมัติเงินสนับสนุนให้ 9 โครงการเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นตามกรอบคำมั่นแก่ผู้ลงทุน
วรวรรณ ธาราภูมิ
หนุน 9 โครงการแรกเพื่อสังคม
วรวรรณ ธาราภูมิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด (กองทุนบัวหลวง) กล่าวว่า นอกเหนือจากเป็นกองทุนรวมกองแรกที่มุ่งในเรื่องของ ESGC แล้ว กองทุนรวม คนไทยใจดี ยังเป็นกองทุนรวมกองแรกที่มอบรายได้ในการจัดการกองทุน 40% หรือเทียบเท่า 0.8% ของมูลค่าเงินกองทุน เพื่อสนับสนุนหรือลงทุนในโครงการสาธารณประโยชน์ต่างๆ
ในครั้งแรก ณ วันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา เราอนุมัติเงินสนับสนุนให้แก่ 9 โครงการแล้ว รวมเป็นเงิน 6,157,000 บาท ได้แก่ โอเปเรชั่นสมายส์, โครงการทุนหมุนเวียนเพื่อกลุ่มวิสาหกิจของสตรี 3 จังหวัดภาคใต้, โครงการสื่อดิจิตัลลดความเหลื่อมล้ำวิทย์-คณิต, กองทุนนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์แก้จน, หลักสูตรโตไปไม่โกง, โครงการกายอุปกรณ์, โครงการ Peace Please, โครงการป้องกัน HIV ที่ส่งผลกระทบต่อเด็กชายแดนไทย-ลาว และไทย-กัมพูชา และโครงการคนกล้าคืนถิ่น
“เป็นการทำให้เงินทุกบาทของผู้ลงทุนมีส่วนร่วมในการสร้างสังคมไทยให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ในการพิจารณาคัดเลือกโครงการต่างๆ ที่จะได้รับการสนับสนุนนั้น จะมีคณะกรรมการพิจารณาโครงการที่เหมาะสม เราพูดได้ว่าผู้ลงทุนในกองทุนรวม คนไทยใจดี ได้ร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งดีๆ และเป็นผู้ให้แก่สังคมได้ จึงเป็นการรวมคนที่มีแนวคิดของการให้มาไว้ที่เดียวกันโดยลงทุนผ่านกองทุนเดียวกัน นับเป็นนวัตกรรมใหม่ของการลงทุน ที่เป็นทั้งผู้ให้และผู้รับ คือให้แก่สังคมและรับจากโอกาสในการลงทุน”
วรวรรณ บอกว่า โครงการเพื่อสังคมในข่ายพิจารณาอาศัยแนวคิดการสนับสนุน 2 แนวทาง ได้แก่ 1)ต่อชีวิตให้คนไทย คือต้องเป็นโครงการที่ไปช่วยเหลือผู้ได้รับความเดือดร้อน ด้อยโอกาสให้พ้นจากภาวะทุกข์ยาก หรือกลับมาใช้ชีวิตได้เป็นปกติ 2)สร้างอนาคตให้คนไทย หมายถึงเป็นโครงการที่ไปสร้างเสริมคุณธรรม ความรู้ ความเป็นอยู่ ความรับผิดชอบและความมีส่วนร่วมของคนในสังคมเพื่อการแก้ไขปัญหาที่สำคัญและพัฒนาสังคมให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น


พีรพงศ์ จิระเสวีจินดา
โชว์กระบวนการคัดสรรหุ้นมีคุณภาพ ได้ ESG
ในกระบวนการคัดเลือกหุ้นคุณภาพมาอยู่ในขอบเขตการลงทุนของกองทุนรวม คนไทยใจดี พีรพงศ์ จิระเสวีจินดา กรรมการผู้จัดการ กลุ่ม Fund Management บลจ.บัวหลวง กล่าวว่า เริ่มจากบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตลาด mai ซึ่งมีทั้งหมด 668 ราย เราใช้กระบวนการของ การคัดออก เราเลือกบริษัทที่เข้าเกณฑ์พิจารณาในการชิงรางวัลของ set award ก็จะเหลือประมาณ 485 ราย
ต่อมาใช้หลักเกณฑ์ CG Rating Report โดยสถาบัน IOD (สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย) ซึ่งจะมีดาวในกองทุนในการคัดเลือก เราจะเลือก 3 ดาวขึ้นไป ซึ่งจะเหลืออยู่ประมาณ 285 ราย และเกณฑ์อีกอย่างหนึ่งที่เราใช้กันภายในของกองทุนรวม คนไทยใจดี คือ การดูสวัสดิการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อเกษียณอายุ หรือบำเหน็จบำนาญของพนักงานบริษัท ที่ทุกคนก็มีหมด ซึ่งต้องมีในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง
การคัดเลือกขั้นต่อไปเป็นการกลั่นกรองว่าความดีขั้นพื้นฐานของบริษัทจดทะเบียน จะต้องสมดุลทั้งหมด นอกเหนือจากเรื่องของสิ่งแวดล้อม สังคม หรือพนักงานในบริษัทแล้ว ก็มาถึงส่วนในเรื่องของผู้ถือหุ้น ซึ่งใช้เกณฑ์ว่าอย่างต่ำต้องให้ผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้น 10% ต่อปี ใช้ผลประกอบการย้อนไป 4 ไตรมาส ทำให้คัดจาก 285 เหลือ 167 ราย
ถัดไปดูเรื่องของสภาพคล่องของบริษัทที่จดทะเบียนในเรื่องปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน ย้อนกลับไป 1 ปี ขั้นต่ำ คือ 5 ล้านบาทต่อวัน สาเหตุที่เราต้องใช้สภาพคล่องมาเป็นเกณฑ์ เพราะว่าเราเป็นกองทุนเปิด ซึ่งเผื่อในกรณีไถ่ถอนด้วย และเรื่องของการบริหารความเสี่ยงสำหรับกองทุนด้วย ถึงตรงนี้ก็จะคัดออกเหลือ 111 ราย ขั้นต่อไปคือ การวิเคราะห์ของบลจ.บัวหลวง ซึ่งเป็น ESGC search analyze ที่จะเจาะจงเพื่อลงภาคสนาม และเก็บข้อมูลภาพรวมเป็นคะแนนของ ESCG scorecard โดยเราจะให้คะแนนกับแต่ละปัจจัย 4 มิติ เท่าๆ กัน คือ 25% ถึงตรงนี้จะเหลือ บจ. 47 ราย
ปัจจัย 4 มิติ หมายถึงกิจการที่มีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคม 4 ด้าน ได้แก่ สิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) บรรษัทภิบาล (Governance) และต่อต้านคอร์รัปชัน (Anti-Corruption)
ดังกล่าวนี้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกหุ้นที่จะลงทุน ภายใต้แนวคิดที่ว่า “กิจการที่มีกำไรและยั่งยืนต้องอยู่บนพื้นฐานของการประกอบธุรกิจ เพื่อยกระดับสังคมไทยอย่างแท้จริง” กองทุนรวม คนไทยใจดี ใช้แนวคิดนี้ในการแสวงหาผลตอบแทนจากการลงทุนในระยะยาวซึ่งมีเป้าหมายสร้างความยั่งยืน
พีรพงศ์ ย้ำว่าเส้นทางในการลงทุน เรานึกถึงคำพูดที่ว่า “การที่เราจะเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างบางสิ่ง ดีกว่าการต่อต้านบางสิ่ง” เพราะฉะนั้นเวลาในการทำงานวิจัย หรือเก็บข้อมูลเพื่อทำ ESCG scorecard เราได้เรียนรู้ว่าที่เราจะไป เราไม่ได้ไปต่อต้าน แต่เป็นการสนับสนุนและร่วมกันทำเพื่อเดินทางสู่สังคม และพัฒนาอย่างยั่งยืน

9 โครงการแรก ที่ได้รับสนับสนุนจากกองทุนรวม คนไทยใจดี
1.โอเปอเรชั่นสมายส์ 900,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดเด็กที่มีภาวะปากแหว่ง เพดานโหว่ และค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดรักษาเด็กที่มีภาวะหน้าเป็นงวงช้าง ซึ่งดำเนินการโดยมูลนิธิสร้างรอยยิ้ม http://operationsmile.or.th/
2.โครงการทุนหมุนเวียนเพื่อกลุ่มวิสาหกิจของสตรี 3 จังหวัดภาคใต้ 300,000 บาท เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์และขยายกิจการสำหรับวิสาหกิจชุมชนของสตรี 3 จังหวัดภาคใต้ โดยมีองค์การอ๊อกแฟมประเทศไทย www.oxfam.org.uk/asia เป็นผู้คัดเลือกกิจการที่จะให้การสนับสนุน เพื่อให้กิจการสามารถอยู่รอดได้ด้วยตนเอง
3.โครงการสื่อดิจิตัลลดความเหลื่อมล้ำวิทย์-คณิต 610,000 บาท เพื่อนำไปใช้ในการนำระบบการสอนวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สำหรับโรงเรียนที่อยู่ห่างไกลและขาดแคลน 1 โรงเรียน ดำเนินการโดยบริษัท เลิร์น เอ็ดดูเคชั่น จำกัด www.learn.co.th
4.กองทุนนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์แก้จน 900,000 บาท เพื่อใช้เป็นเงินทุนตั้งต้นสำหรับการสนับสนุนเกษตรประมาณ 20 ครัวเรือนให้ทำนาอินทรีย์ 5 ไร่ ปลูกผักอินทรีย์ และกระบวนการสนับสนุนพี่เลี้ยงคอยดูแลการผลิตและการเชื่อมตลาด เพื่อให้เกิดการพัฒนาทางการเกษตรที่ยั่งยืน ดำเนินการโดย บริษัท นวัตกรรมชาวบ้าน จำกัด
5.หลักสูตรโตไปไม่โกง 900,000 บาท เพื่อใช้ในการอบรมปลูกฝังเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชันให้กับครูจำนวน 150 คน ที่จะนำความรู้ไปสอนในโรงเรียน 30-50 โรงเรียน ดำเนินการโดย มูลนิธิองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย http://www.cpcs.nida.ac.th/home/index.php
6.โครงการกายอุปกรณ์ 200,000 บาท สำหรับการจัดหาแขนขาเทียมเพื่อผู้พิการยากไร้ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ และเด็กเล็กพิการที่อยู่ในวัยเรียน ดำเนินการโดย มูลนิธิคนพิการไทย http://www.tdf.or.th
7.โครงการ Peace Please 947,000 บาท เพื่อใช้ในการจัดกิจกรรมต้นแบบการมีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดมาตรการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับเด็กและเยาวชน สตรี ครู ใน 4 พื้นที่ความรุนแรงสูงจังหวัดยะลา ดำเนินการโดยสมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (กลุ่มลูกเหรียง) www.Luukrieang.com
8.โครงการป้องกัน HIV ที่ส่งผลกระทบต่อเด็กชายแดนไทย-ลาว และไทย-กัมพูชา 500,000 บาท เพื่อใช้เป็นเงินทำกิจกรรมสร้างความรู้ ปรับทัศนคติของเด็กและเยาวชนที่เกิดจากแรงงานกัมพูชา ลาว พม่า ในเขตชายแดนให้มีความรู้ความเข้าใจเรื่อง HIV ดำเนินการโดยมูลนิธิสุธาสินีน้อยอินทร์เพื่อเด็กและเยาวชน www.baanhomehug.org
9.โครงการคนกล้าคืนถิ่น 900,000 บาท เพื่อให้เป็นเงินสนับสนุนการลงมือปฏิบัติของโครงการคนกล้าคืนถิ่น ตั้งแต่การจัดกระบวนการอบรม บ่มเพาะ และสนับสนุนเกษตรกรที่ใช้ชีวิตแบบพึ่งตนเองได้อย่างมั่นคง พอเพียง สมดุลกับการใช้ทรัพยากรที่จำกัดได้อย่างมีประสิทธิผล และกลับไปเป็นต้นแบบผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงในท้องถิ่น ดำเนินการโดยความร่วมมือระหว่างกองทัพบก สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิปิดทองหลังพระ โครงการหนึ่งไร่หนึ่งแสนของสภาหอการค้าไทย ศูนย์บัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ มูลนิธิธนาคารต้นไม้ และเครือข่ายร่วมขับเคลื่อนรวมกว่า 20 องค์กร http://konglakuentin.com/
รพี สุจริตกุล เลขาธิการ ก.ล.ต.
ก.ล.ต. หนุนกองทุน ESG กระตุ้นตลาดทุนทางตรง
รพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
กล่าวว่า เวลาที่พูดถึงการทำดีต่อสังคม เราเห็นว่าควรจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการพัฒนาตลาดทุนให้มีความยั่งยืนมากกว่า ในเรื่องนี้ ก.ล.ต. เองก็มี 3 เรื่องหลักที่พยายามที่จะผลักดัน คือ
1.ธรรมาภิบาล เป็นเรื่องใหญ่ที่สุด เพราะบริษัทที่จดทะเบียนหรือผู้ประกอบการมีธรรมาภิบาลที่ดี ย่อมจะทำให้เกิดความยั่งยืนแก่บริษัทและตลาดทุนของเรา ก.ล.ต.ได้ผลักดันเรื่องนี้มาโดยตลอด ในปัจจุบันยังเป็นเรื่องของการติดฟอร์มอยู่ในเรื่องของฟอร์มเบส จะเห็นว่าเวลาทำก็จะมีคนมาคอยดูว่าเราทำครบหรือยัง คำถามที่อยากให้ช่วยกันคิดและทำ คือ แล้วจะทำอย่างไรให้มันเกิดขึ้นจริงๆ ซึ่งก็ยากมากเพราะเกี่ยวกับตัววัด การยอมรับว่าบริษัทเข้ามาจดทะเบียนในตลาดเป็นบริษัทของมหาชน เป็นอะไรที่เจ้าของบริษัทต้องยอมรับในจุดนี้
เกือบ 70% เป็นบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ของเรา อาจจะเป็นบริษัทที่มีผู้ถือหุ้น ที่เรียกว่าเป็นเจ้าของบริษัท ยังควบคุมอยู่ เพราะฉะนั้น การที่กรรมการอิสระเข้าไป เราบอกว่าให้มีเพียงแค่ 1 ใน 3 เพื่อให้กรรมการอิสระมีส่วนร่วมในการบริษัทธุรกิจอย่างจริงจัง และให้เป็นพื้นฐานของความยั่งยืนของตัวบริษัท เช่น เจ้าของบริษัทที่ก่อตั้งบริษัทขึ้นมา พนักงานในบริษัทก็จะไม่ค่อยกล้าคัดค้าน ซึ่งก็ต้องใช้คนนอกบริษัทเข้ามาช่วยคิดเห็นต่าง เพื่อป้องกันการเกิดข้อผิดพลาดในบริษัท ดังนั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ใหญ่มาก ที่เราพยายามจะผลักดันให้เกิดเรื่องที่มันเกี่ยวกับบรรษัทภิบาล ซึ่งก็จะเป็นเรื่องของการประเมินบทบาทคณะกรรมทั้งคณะ โดยให้กรรมการมองถึงความก้าวหน้าของบริษัท หรือบริษัทมีจุดบกพร่องอะไรบ้าง
2. การคอรัปชั่น เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมาก เราได้พยายามเรียกร้องให้บริษัทต่างๆเข้ามาประชุมเรื่องคอรัปชั่น ซึ่งเราก็ใช้เวลา 3 ปีจากที่มีบริษัทเข้ามาร่วมประมาณ 10 บริษัท ตอนนี้ก็เพิ่มจนถึงประมาณ 400 บริษัท โดย 100 กว่าบริษัทจากที่ร่วมเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทั้งนี้ ก.ล.ต. พยายามสนับสนุนเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรื่องของการเปิดเผยข้อมูล การสร้างความสนใจให้กับบริหารบริษัทจดทะเบียนว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากเรายังมีการคอรัปชั่นอยู่ มันไม่ใช่เรื่องที่เราจะสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน
3. เรื่องของการทำดีต่อสังคม ที่เรียกว่า Corporate Social Responsibility หรือ CSR ซึ่งก็มีการพูดถึงกิจกรรมมากมาย เช่น การไปปลูกป่า การออกไปช่วยเหลือต่างๆ เป็นต้น แต่การทำ CSR ในลักษณะนั้น เหมือนเป็นการจัดเงินที่ได้ไปคืนสังคมส่วนหนึ่ง แต่ตาม CSR จริงๆ ที่สมบูรณ์ควรจะทำเป็นปกติในกระบวนการทำธุรกิจเป็นสำคัญ
เลขาธิการ ย้ำว่าเราอาจจะเคยได้ยินเรื่อง bad profit และ good profit โดยที่ bad profit คือการที่บริษัททำกำไร แต่ทำให้สิ่งรอบตัวเสียไปหมด เช่น เกิดมลภาวะ หรือทำลายธรรมชาติ เป็นต้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ ส่วน good profit คือ กำไรจากการทำธุรกิจที่ดี มีการดูแลสิ่งแวดล้อม หรือสังคมต่างๆด้วย จึงต้องอยู่ในส่วนหนึ่งของนโยบายการทำธุรกิจด้วย
นี่เป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะว่า การหาแรงผลักดันเราจะหามาจากไหน หากนักลงทุนไม่ได้นำเรื่องนี้มาอยู่ในจุดที่สนใจ ดังนั้น ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนก็จะไม่สนใจ และการที่นักลงทุนรายย่อยหรือนักลงทุนสถาบันพากันมาสนใจเรื่องดังกล่าว มันเป็นสิ่งที่บังคับให้บริษัทจดทะเบียนต้องหันมาทำเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นจึงมีความดีใจมากว่า “กองทุนรวม คนไทยใจดี” พิจารณาบทบาทความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม (E) สังคม (S) และการมีธรรมาภิบาล (G) เป็นตัววัดในการคัดเลือกหุ้นเพื่อลงทุน ก็จะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน และก็ได้รับความสนใจจากนักลงทุนรายย่อยอย่างจริงจัง
กำลังโหลดความคิดเห็น