xs
xsm
sm
md
lg

ซีพีเอฟ นำร่องลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ ชูการผลิตไบโอดีเซลจาก “น้ำมันพืชใช้แล้ว”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเร็วๆ นี้ สุนันต์  อรุณนพรัตน์ (ที่2 จากซ้าย)  ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย โดย ชาตรี รชตะสมบูรณ์ (ที่2 จากขวา)        รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ นำโรงงานแปรรูปเนื้อไก่และอาหารแปรรูปสระบุรี และโรงงานแปรรูปเนื้อไก่นครราชสีมา เข้าร่วมโครงการฯ จากการผลิตไบโอดีเซล เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง โดยมี ประเสริฐสุข จามรมาน (ซ้ายสุด)  ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ดร.พงษ์วิภา  หล่อสมบูรณ์ (ขวาสุด)  รองผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก นางสาวกุหลาบ กิมศรี (กลาง) ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สำนักระบบมาตรฐานสากล บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องวิภาวดีบอลรูม ซี โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซาลาดพร้าว
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ โดยโรงงานแปรรูปเนื้อไก่และอาหารแปรรูปสระบุรี และโรงงานแปรรูปเนื้อไก่นครราชสีมา เป็นองค์กรนำร่องเข้าร่วมโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) จากการผลิตไบโอดีเซล เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนภายในโรงงาน
สืบเนื่องจากความสำเร็จในการพัฒนาโครงการ T-VER ปี 2557 โดยองค์การบริหารการจัดการก๊าซเรือนกระจก ในฐานะหน่วยงานทำหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศซึ่งได้พัฒนากลไกและเครื่องมือในการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจในประเทศไทย ชื่อว่า “โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย” หรือ Thailand Voluntary Emission Reduction Program (T-VER) เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับภาคส่วนต่างๆ ในโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งที่ได้แสดงเจตจำนงการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ร้อยละ 7-20 จากการดำเนินงานตามปกติ ภายในปี 2563
ชาตรี รชตะสมบูรณ์
เล็งเป้าลดก๊าซเรือนกระจก 5,000 ตัน
ชาตรี รชตะสมบูรณ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่านับเป็นโอกาสดี ที่ซีพีเอฟได้เป็นส่วนหนึ่งในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งสอดคล้องกับหลักค่านิยมของซีพีเอฟ เรื่อง 3 ประโยชน์สู่ความยั่งยืน ทำให้เราช่วยประเทศชาติ ในด้านลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่วนชุมชนและสังคม เราตัดตอนน้ำมันพืชที่ใช้แล้วออกสู่ท้องตลาดเพราะน้ำมันพืชเก่าเป็นของเสียที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคหากถูกนำไปใช้ซ้ำ จึงนำไปทำเป็นพลังงานทางเลือกใช้ทดแทนน้ำมันดีเซลได้ ขณะเดียวกันด้านพนักงานของซีพีเอฟ เราส่งเสริมให้ตระหนัก และมีจิตสำนึกในการช่วยกันอนุรักษ์พลังงาน
“เชื่อมั่นว่าหลังจากดำเนินโครงการนี้จะช่วยประหยัดการนำเข้าน้ำมันดีเซลได้ปีละ 1 ล้านลิตร คิดเป็นเม็ดเงินที่ประเทศไทยสามารถประหยัดเป็นมูลค่า 29 ล้านบาทต่อปี และสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 5,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี”
กุหลาบ กิมศรี
ต้นแบบการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชใช้แล้ว
ขณะที่ กุหลาบ กิมศรี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สำนักระบบมาตรฐานสากล ซีพีเอฟ กล่าวเสริมว่าโครงการ TVER ช่วยรณรงค์เรื่องลดภาวะโลกร้อนซึ่งซีพีเอฟเข้าร่วมโครงการลดภาวะโลกร้อนมาหลายโครงการก่อนหน้านี้ เช่น ทำคาร์บอนฟุตพริ้นต์ของผลิตภัณฑ์อาหารตั้งแต่ปี 2551 ทำให้ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ซีพีเอฟที่ขึ้นทะเบียนคาร์บอนฟุตพริ้นต์แล้ว 145 ผลิตภัณฑ์ และทั้งสองโรงงานแปรรูปไก่ ที่สระบุรี และนครราชสีมา ก็ได้เข้าร่วมโครงการจัดการคาร์บอนฟุตพริ้นต์ของผลิตภัณฑ์ด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมต่างๆ ที่ทั้งสองโรงงานนี้ได้ทำเพื่อลดคาร์บอนฟุตพริ้นต์ อาทิ การใช้ไบโอแก๊ส การผลิตไบโอแก๊สจากน้ำเสีย เพื่อนำไปผลิตไอน้ำ และยังมีเรื่องพลังงานทางเลือกอื่นๆ ของโรงงาน เช่น โคเจนเนอเรชั่น สำหรับโครงการผลิตไบโอดีเซลนี้เห็นผลชัดเจนเพราะเป็นการนำน้ำมันพืชใช้แล้วมาใช้ประโยชน์โดยการผลิตเป็นน้ำมันไบโอดีเซล ซึ่งปกติเราต้องนำน้ำมันพืชใช้แล้วเป็นของเสียที่จะต้องนำไปทิ้ง และจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งยังเป็นต้นเหตุของการสร้างภาวะโลกร้อน โครงการนี้จึงนับเป็นโครงการที่ช่วยลดคาร์บอนฟุตพริ้นต์ที่เกิดขึ้นในโรงงาน และส่งผลดีทำให้สินค้าซีพีเอฟมีคาร์บอนต่ำ


กระบวนการผลิตไบโอดีเซล จากน้ำมันพืชใช้แล้ว
โครงการฯ ดังกล่าวเปิดโอกาสให้เราเปลี่ยนไปใช้พลังงานจากของเสียที่จะทิ้งนำมาทำเป็นพลังงานทดแทน ทำให้เห็นต้นแบบในการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชใช้แล้วมาก่อให้เกิดประโยชน์ ช่วยทดแทนการใช้น้ำมันดีเซลซึ่งเป็นพลังงานที่ได้จากฟอสซิล ส่งเสริมการดำเนินการภายในโรงงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
เมื่อคาร์บอนฟุตพริ้นต์ของผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากโรงงานนี้ต่ำ ย่อมสร้างแรงกระตุ้นให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อสินค้าที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ และหากผู้บริโภคเลือกบริโภคสินค้าที่มีคาร์บอนต่ำเพิ่มขึ้น สุดท้ายเราก็จะบรรลุความตั้งใจที่ต้องการไปสู่สังคมที่มีคาร์บอนต่ำ ถ้าซีพีเอฟทำได้ ประเทศไทยก็จะมีต้นแบบที่ดีในการพัฒนาโครงการแบบนี้ต่อไป ซึ่งประชาชนทั่วไปก็สามารถมีส่วนร่วมได้ ด้วยการเก็บน้ำมันพืชใช้แล้วที่บ้านนำกลับมาใช้ประโยชน์ ด้วยการนำไปผลิตไบโอดีเซลได้เช่นกัน เชื่อว่าในอนาคตจะเห็นผลชัดเจนว่าในภาคครัวเรือนก็ทำได้ ในภาคอุตสาหกรรมก็ทำได้
กำลังโหลดความคิดเห็น