xs
xsm
sm
md
lg

คาร์บอนเครดิตชุมชน จุดติด ชูธง “ประโยชน์ร่วม” จูงใจธุรกิจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


-ตลาดคาร์บอนเครดิตเวทีโลกที่ซบเซา กระทบ อบก. ขยายผลต่อ
-ล่าสุด สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ประสานมือองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน นำร่อง 2 โครงการคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจ
-แจงเห็นผลทันที ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ และเตรียมพร้อมในระดับชาติเข้าสู่ข้อตกลงปี 2020


คาร์บอนเครดิตในเวทีโลก ระยะแรกๆ เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์ ว่าจะเป็นเครื่องมือในการช่วยรักษาโลกได้จริงหรือ เพราะขณะที่กลุ่มประเทศหนึ่งตื่นตัวลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG : Green House Gases) เพื่อจะได้นำปริมาณ GHG ที่ลดได้ไปขายเป็นคาร์บอนเครดิต แต่อีกกลุ่มประเทศที่ไม่สามารถลดการปล่อย GHG กลับมุ่งไปซื้อคาร์บอนเครดิต และเมินเฉยต่อแนวทางลดการปล่อย GHG ทั้งที่ลงทุนเองได้ ดังนั้น คาร์บอนเครดิตก็จะเป็นเพียงอีกเครื่องมือทางการค้า

สถานการณ์ตลาดคาร์บอนเครดิตในเวทีระหว่างประเทศในปัจจุบันซบเซาลง ราคาที่ตกต่ำนั้นส่งผลกระทบต่อการซื้อขาย และการพัฒนา ทำให้กลไกส่งเสริมการลด หรือหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปัจจุบันขาดแรงจูงใจทั้งต่อผู้ซื้อ และผู้พัฒนาโครงการ

ขณะเดียวกันโครงสร้างของระบบคาร์บอนเครดิตในเวทีสากลก็ยังไม่สามารถเข้าถึง หรือให้ประโยชน์ต่อชุมชนในชนบทได้ เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูงสำหรับการพัฒนาและรับรองเอกสารโครงการ
ศิริธัญญ์ ไพโรจน์บริบูรณ์
ศิริธัญญ์ ไพโรจน์บริบูรณ์ ที่ปรึกษา สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ซึ่งเป็นอดีตผู้อำนวยการคนแรก องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. เปิดเผยว่า วิธีการลดก๊าซเรือนกระจกแบบง่ายๆ เช่น การปลูกป่า ซึ่งรวมอยู่ในโครงการ CDM ประเภทหนึ่ง (CDM-Clean Development Mechanism เป็นระบบจัดการหนึ่งภายใต้พิธีสารเกียวโต ซึ่งต้องการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการลงทุนเพื่อหาทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก)
แต่ยังไม่เป็นที่ยอมรับมากนัก

เช่น ประเทศญี่ปุ่นไม่รับซื้อ เนื่องจากเห็นว่าโครงการ CDM ภาคป่าไม้อาจทำให้เกิดการบุกรุกป่าเพิ่มมากขึ้น เป็นปรากฏการณ์ Leakage คือการปลูกป่าในท้องที่หนึ่ง อาจทำให้มีการตัดไม้ทำลายป่าในอีกพื้นที่หนึ่ง หรืออาจทำให้เกิดการกว้านซื้อที่ดินผืนใหญ่เพื่อการลงทุน ซึ่งจะส่งผลกระทบกับเกษตรกรรายย่อย

ประเทศไทยเคยมีข้อถกเถียงและการทบทวนนโยบายเรื่องนี้เช่นเดียวกัน เมื่อมีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาเสนอโครงการปลูกป่าขนาดใหญ่ เมื่อหลายปีก่อน ประเด็นข้อโต้แย้งดังกล่าวทำให้โครงการปลูกป่าซึ่งเป็นกิจกรรมสำคัญที่เกิดประโยชน์มหาศาลต่อชุมชน สังคม และระบบนิเวศ ไม่ได้ร่วมอยู่ในตลาดคาร์บอนระดับสากลอย่างเต็มที่

เดินหน้าขยายผลคาร์บอนเครดิตชุมชน
เป็นความร่วมมือของสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) และองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) โดยสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยได้พัฒนาทดลองระบบคาร์บอนเครดิตชุมชน หรือ Local Carbon Reduction Scheme(LCRs) จากการประยุกต์ระบบสากลให้เหมาะสมกับบริบทไทยที่สามารถเข้าถึงพื้นที่ห่างไกล และเกิดการมีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจกจากชุมชนในชนบทได้ ในขณะที่ บริษัทในเครือ TBCSD เข้ามาให้การสนับสนุนโครงการ ซึ่งจะถือว่าเป็นผู้จ่ายค่าคาร์บอนเครดิตตลอดอายุโครงการ

ปัจจุบันได้ดำเนินโครงการนำร่องแล้ว 2 โครงการ คือ
1.โครงการพัฒนาระบบพลังงานแสงอาทิตย์โซล่าโฮล์ม (Solar Home) ให้กับชุมชน 25 ครัวเรือนในหย่อมบ้านหัวฮะ อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน โดย บจม.ราชบุรีโฮลดิ้ง เป็นผู้สนับสนุนด้วยราคาคาร์บอนฯ รวมมูลค่าผลประโยชน์ร่วม 5 บาท/กิโลกรัมคาร์บอนฯ ซึ่งหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้รวม 6.64 ตันคาร์บอนฯ/ปี คิดเป็นเงิน 33,200 บาท/ปี เป็นเวลา 5 ปี
2.โครงการมอบตะเกียงแสงอาทิตย์ (Solar Lanterns) ให้ชุมชนจำหน่ายให้ครัวเรือนในหย่อมบ้านหัวฮะ หย่อมบ้านพะยอย และหย่อมบ้านห้วยปูลิง จ.แม่ฮ่องสอน จำนวน 125 ชุด โดยกลุ่มบริษัท แพนดอร่า และ บมจ.ราชบุรีโฮลดิ้ง เป็นผู้สนับสนุน สามารถหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้รวม 9.2 ตันคาร์บอนฯ/ปี หรือ 46 ตันคาร์บอนฯ ตลอดอายุการใช้งานของอุปกรณ์ 5 ปี ด้วยราคา 6 บาท/กิโลกรัมคาร์บอนฯ รวมเป็นเงิน 276,000 บาท

“ในที่สุดบ้านเราก็ได้พัฒนาการในการสร้างตลาดแบบสมัครใจ เรามีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยราชการ มหาวิทยาลัย และภาคเอกชน ร่วมให้ข้อคิดเห็นปรับปรุงเงื่อนไขต่างๆ เพื่อให้เหมาะสมต่อท้องถิ่นของประเทศไทย รวมทั้งให้ความเห็นชอบต่อระเบียบวิธีการประเมินผลการลดก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมประเภทต่างๆ” ศิริธัญญ์ กล่าว และบอกถึง 2 ระเบียบวิธีการประเมินผลจากกิจกรรมโครงการคาร์บอนเครดิตชุมชน
1.วิธีการประเมินการลด หรือหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมโครงการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนทุกประเภท
2.วิธีการประเมินการดูดซับก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมการปลูกต้นไม้และพัฒนาส่วนสาธารณะในเมือง

“ขณะนี้ยังมีโครงการอยู่ระหว่างการพิจารณาร่างระเบียบวิธีการประเมินอยู่อีกหลายประเภท เช่นในภาคป่าไม้ โครงการป่าชุมชนซึ่งสามารถขยายผลได้ทันทีในพื้นที่ป่าใกล้ชุมชนโดยรวมกิจกรรมด้านการปลูกป่า การ ป้องกันรักษาพื้นที่ป่าไม้ การฟื้นฟูป่า รวมทั้งการจัดการพื้นที่การเกษตรรูปแบบต่างๆ โครงการพัฒนาทางเดินเท้าและช่องทางจักรยาน โครงการลดก๊าซมีเทนในนาข้าว เป็นต้น”

มุ่งขยายผลโครงการที่ยั่งยืน

ศิริธัญญ์ กล่าวว่ากิจกรรมการลด หรือหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ปกติจะมีผลประโยชน์ร่วม (Co-benefit) เกิดขึ้นด้วยเสมอ เช่น การปลูกต้นไม้ หรือการดูแลรักษาป่า นอกจากให้ป่าคงอยู่ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ ยังช่วยลดการชะล้างหน้าดินเมื่อฝนตก ทำให้ทรัพยากรดินมีความสมบูรณ์ แหล่งน้ำในพื้นที่ชุมชนก็มีคุณภาพดีขึ้น ทำให้มีปริมาณกักเก็บน้ำที่มากเพียงพอ นับเป็นการเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพที่จะนำสร้างรายได้ให้ชุมชนมากขึ้น

หรือ โครงการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนจากแสงอาทิตย์ หรือจากพลังน้ำขนาดเล็กของชุมชน นอกจากหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ลดการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิล พลังงานที่ได้มาก็จะมีราคาต่ำ

สำหรับพลังงานไฟฟ้าโดยชุมชนเองก่อให้เกิดการพัฒนาระบบการสื่อสารโทรคมนาคม และจะนำไปสู่การเสริมสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก ระบบการศึกษาที่พัฒนามากขึ้น รวมถึงการส่งเสริมให้เกิดอาชีพที่สร้างรายได้ในชุมชน ในขณะที่การดูแลป่าต้นน้ำในโครงการพัฒนาพลังน้ำขนาดเล็กของชุมชนซึ่งเป็นเงื่อนไขของระบบคาร์บอนเครดิตชุมชนก็สามารถเพิ่มการกักเก็บคาร์บอนและเพิ่มมูลค่าคาร์บอนเครดิตด้วย

ราคาคาร์บอนเครดิตชุมชนนั้นอยู่บนพื้นฐานของราคาค่าเดินระบบและการดูแลบำรุงรักษาโครงการให้เกิดความยั่งยืนและผลประโยชน์ร่วมที่เกิดขึ้น ดังนั้น ยิ่งมีเกิดขึ้นได้มากเท่าใดก็จะช่วยให้ราคาคาร์บอนเครดิตสูงขึ้นด้วย
ซึ่งจะเห็นว่า ระบบคาร์บอนเครดิตชุมชน (LCRs) มอง “ผลประโยชน์ร่วม” เป็นสินค้าหลัก โดยมี “ปริมาณการลดหรือหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก” เป็นผลพลอยได้

“ระบบ LCRs จึงให้ความสำคัญต่อการตรวจสอบรับรองผลประโยชน์ร่วมที่จะเกิดขึ้นควบคู่ไปกับปริมาณการลดคาร์บอน หรือก๊าซเรือนกระจก”

แจงกระบวนการดูแลที่โปร่งใส
ศิริธัญญ์ ยืนยันอีกว่าโครงการที่ผ่านรับรองจะมีผลประโยชน์ร่วมกัน อย่างชุมชนจะได้รับประโยชน์จากการขายคาร์บอนเครดิตนั้น ระบบLCDs กำหนดเงื่อนไขให้ทางชุมชนต้องมีกลไกการบริหารจัดการรายได้ที่มีความโปร่งใส และดูแลบำรุงรักษาโครงการให้ยั่งยืน ไม่ใช่สร้างโครงการแล้วปล่อยทิ้งให้เสียหายเพราะขาดการดูแล เช่นการจัดตั้งกองทุนจากรายได้และมีคณะกรรมการบริหาร มีระบบบันทึกการใช้จ่าย และการให้ค่าตอบแทนผู้มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ของการพัฒนาชุมชน เป็นต้น ทั้งนี้ รายได้จากผู้สนับสนุนโครงการ (ผู้ซื้อเครดิตฯ) จะมีเข้ามาทุกปีหลังการตรวจสอบและทวนสอบผลประโยชน์ร่วมที่เกิดขึ้น และปริมาณการลดคาร์บอน ตลอดระยะเครดิตที่กำหนดไว้ 5 ปี (ต่ออายุได้ 1 ครั้ง รวม 10 ปี) แต่กิจกรรมโครงการเกี่ยวกับป่าไม้จะมีอายุเครดิตครั้งละ 10 ปี

TBCSD ยันหนุนสังคมคาร์บอนต่ำ
ด้านประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานคณะกรรมการนักธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมไทย (Thailand Business Council for Sustainable Development : TBCSD) กล่าวว่านโยบายในการดำเนินงานของ TBCSD มุ่งดำเนินงานในการรณรงค์และสร้างความตระหนักต่อภาคธุรกิจและสังคมไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน “สังคมคาร์บอนต่ำ” หรือ “Green and Low Carbon Society” ซึ่งครอบคลุมการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมสังคมคาร์บอนต่ำ การป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติทางธรรมชาติ การบริหารจัดการน้ำ เพื่อตอบสนองต่อสภาวการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมของประเทศ และแสดงบทบาทในการเป็นผู้นำภาคธุรกิจในการนำสังคมสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

“TBCSD มีเป้าหมายเพิ่มจำนวนของสมาชิกให้ครอบคลุมในทุกกลุ่มธุรกิจ ตลอดจนนำองค์กรสมาชิกและภาคธุรกิจให้มีการพัฒนาตนเองอย่างสม่ำเสมอเพื่อยกระดับของกลุ่มธุรกิจและอุตสาหกรรมให้ก้าวไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนตามเป้าหมายหลักของ TBCSD โดยจะร่วมมือกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยในการประเมิน ตรวจสอบและติดตามการดำเนินงานของสมาชิกและองค์กรภาคธุรกิจ เพื่อพิจารณาให้การรับรองมาตรฐานการทำธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายใต้ “การรับรองมาตรฐานองค์กรภาคธุรกิจ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยการตรวจประเมินในด้านต่างๆ
เช่น การจัดการสิ่งแวดล้อม การลดการใช้พลังงาน การมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนและสังคม การเพิ่มพื้นที่สีเขียว รวมถึงการบริหารจัดการองค์กรอย่างยั่งยืน โดยจะผลักดันให้องค์กรสมาชิกมีการยกระดับขั้นขึ้น ตลอดจนมีจำนวนองค์กรหรือสมาชิกที่ได้รับการรับรองเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และหากองค์กรสมาชิกใดไม่ผ่านมาตรฐานก็จะมีนักวิชาการจากสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยและจากองค์กรพันธมิตรภายนอกเข้าไปช่วยแนะนำ ซึ่งจะทำให้เห็นบทบาทที่ชัดเจนของ TBCSD ในการนำพาทั้งสมาชิกและภาคธุรกิจของประเทศสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ตลอดจนเพื่อยกย่ององค์กรที่แสดงความห่วงใยต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรของประเทศ อย่างยั่งยืนในระดับต่างๆ"
ประเสริฐ บุญสัมพันธ์ และ ศิริธัญญ์ ไพโรจน์บริบูรณ์ ในงานมอบใบรับรอง “คาร์บอนเครดิตชุมชน และ Green Meetings” ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ เมื่อเร็วๆ นี้
ข้อดีของโครงการ CDM แบบสมัครใจ 
มีความยืดหยุ่นมากกว่า มีต้นทุนทางธุรกรรมน้อยกว่า ผู้ซื้อ ผู้ขาย และกิจกรรมมีหลากหลายประเภทมากขึ้น และสามารถขยายตลาดคาร์บอนออกไปสู่ชุมชนในชนบทได้อีกด้วย
การออกใบรับรองคาร์บอนเครดิตของตลาดแบบสมัครใจเรียกว่า VERs-Voluntary Emission Reductions ตลาดซื้อขายที่สำคัญคือ Chicago Climate Exchange แต่ราคาซื้อขายของ VERs ต่ำกว่า CERs ประมาณ 5 เท่า เนื่องจากมาตรฐานการรับรองคาร์บอนเครดิต มีความเข้มงวดน้อยกว่าตลาดแบบทางการ
ประตูที่เปิดกว้างมากขึ้นของตลาดคาร์บอนแบบสมัครใจ อาจชักจูงใจทุกฝ่ายให้เข้ามามีบทบาทในการช่วยลดก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น หากคาดหวังจากนักลงทุนในตลาดคาร์บอนแบบทางการเพียงอย่างเดียว ก็อาจไม่มากพอที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
คาร์บอนเครดิตแบบสมัครใจ ดึงตลาดคาร์บอนสู่ชุมชนในชนบท หากมีการจัดการที่ดีจะสามารถสร้างการมีส่วนร่วมของกลุ่มคนจำนวนมาก เชื่อมต่อให้เกิดการ ทำงานร่วมกันระหว่างชุมชนคนปลูกป่าหรือเกษตรกร กับชุมชนวิชาการที่ต้องเข้ามาช่วยจัดการเรื่องยุ่งยากของการจัดทำเอกสาร กระบวนการซื้อขาย หรือให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคในการคิดคำนวณปริมาณการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของต้นไม้
รวมถึงการเรียกร้องและกระตุ้นบทบาทของบริษัทและผู้ประกอบการ ให้เข้ามามีส่วนช่วยในการลดก๊าซเรือนกระจก โดยการซื้อคาร์บอนเครดิตจากเกษตรกรและคนปลูกป่า ไม่ใช่เพื่อการซื้อขายค้ากำไร ในตลาดคาร์บอนเท่านั้น แต่เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม และเป็นทางเลือกหนึ่งที่ สนับสนุนการดำเนินนโยบาย CSR ของบริษัท
กำลังโหลดความคิดเห็น