xs
xsm
sm
md
lg

สรรพสามิต 10 ชาติอาเซียนประชุมกำหนดนโยบายภาษีรถยนต์รับเออีซี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ไทยเจ้าภาพเปิดประชุมสรรพสามิต 10 ชาติสมาชิกอาเซียน หารือสร้างความร่วมมือนโยบายภาษี และกำหนดทิศทางอุตสาหกรรมรถยนต์ในภูมิภาค เตรียมพร้อมรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

วันนี้ (20 พ.ย.) ที่โรงแรมเลอเมอริเดียน จ.เชียงใหม่ นายสรร วิเทศพงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานพิธีเปิดการประชุม The Director - General Meeting of ASEAN Member Countries on Automobile Taxation ซึ่งกรมสรรพสามิตเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระหว่างวันที่ 20-21 พฤศจิกายน เพื่อสร้างความร่วมมือด้านนโยบายภาษีสรรพสามิต โดยเฉพาะภาษีสรรพสามิตรถยนต์ในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน

โดยมีอธิบดีที่กำกับดูแลงานด้านภาษีสรรพสามิตจากประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย พม่า ลาว เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และบรูไน รวมถึงผู้แทนส่วนราชการและองค์กรภาคเอกชนภายในประเทศที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมศุลกากร สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สถาบันยานยนต์ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเข้าร่วม

ทั้งนี้ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังระบุว่า รถยนต์เป็นสินค้าหลักที่กระทรวงการคลังจัดเก็บรายได้จากภาษีสรรพสามิต โดยปีงบประมาณ 2557 จัดเก็บได้ 93,000 ล้านบาท ดังนั้นความร่วมมือด้านนโยบายภาษีสรรพสามิต โดยเฉพาะภาษีสรรพสามิตรถยนต์ในกลุ่มประเทศอาเซียน จึงมีความสำคัญต่อการกำหนดทิศทางของอุตสาหกรรมยานยนต์ในกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศ

ขณะที่นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า นโยบายภาษีสรรพสามิตรถยนต์นอกจากจะส่งผลต่อราคาขายปลีกรถยนต์แล้ว ยังเป็นกลไกสำคัญในการกำหนดทิศทางของอุตสาหกรรมยานยนต์ และพฤติกรรมของผู้บริโภค ในการเลือกใช้รถยนต์ที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยปัจจุบันการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์แบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ การจัดเก็บภาษีตามความจุของกระบอกสูบ การจัดเก็บภาษีตามอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และการจัดเก็บภาษีตามอัตราการประหยัดพลังงาน

เนื่องจากในอดีตเทคโนโลยีในด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ไม่มีความซับซ้อน ประเทศไทยจึงจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์ โดยใช้ฐานในการคำนวณยึดตามความจุของกระบอกสูบ ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นถึงความฟุ่มเฟือย อันเป็นไปตามหลักพื้นฐานของการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต แต่ปัจจุบันการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตตามความจุของกระบอกสูบไม่สามารถสะท้อนอัตราการประหยัดพลังงาน และลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกหรือ CO2 ได้เท่าที่ควร

ดังนั้น คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2555 อนุมัติในหลักการการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ โดยพิจารณาจากอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แทนการจัดเก็บภาษีตามปริมาณความจุของกระบอกสูบ สาเหตุที่มีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตตาม CO2 เนื่องจากมีความต้องการที่จะผลักดันให้เกิดการผลิตรถยนต์ที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ปริมาณการปล่อย CO2 ลดลง เพื่อเป็นการประหยัดพลังงานและลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อันเป็นสาเหตุสำคัญของสภาวะโลกร้อน ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 เป็นต้นไป

นอกจากนี้ ปัจจุบันกรมสรรพสามิตอยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางการปฏิรูปโครงสร้างภาษีสรรพสามิตของไทย โดยคำนวณอัตราภาษีสรรพสามิตจากฐานราคาขายปลีกแทนการคำนวณจากฐานราคาขาย ณ โรงอุตสาหกรรม (ex-factory) สำหรับสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ และคำนวณตามฐานราคาสำหรับสินค้านำเข้า เนื่องจากราคาขายปลีกเป็นราคาที่ผู้ประกอบการกำหนดขึ้นเองตามกลไกตลาด ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความโปร่งใส เป็นธรรม และมีประสิทธิภาพในการบริหารงานด้านการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตโดยรวม ซึ่งการปฏิรูปโครงสร้างภาษีสรรพสามิตของไทยจะช่วยให้การเปิดเสรีทางการค้าของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการอีกทางหนึ่งด้วย

กำลังโหลดความคิดเห็น