-เปิดแผนพัฒนาพลังงานทดแทน ไทยก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำใน10 ปี
-ดันภาคเอกชนลงทุนผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน
-ภาครัฐเล็งคลอดมาตรการส่งเสริมการลงทุน หวังเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
แม้ว่าในช่วงนี้ราคาพลังงานจะปรับตัวลดลง แต่จากวิกฤติราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ประเทศไทยต้องนำเข้าพลังงานเป็นมูลค่าเกือบหนึ่งล้านล้านบาทในปี 2550 และเพิ่มเป็น 1.8 ล้านล้านบาทในปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบต่อการพัฒนาภาวะเศรษฐกิจของประเทศ กระทรวงพลังงานจึงมีนโยบายที่จะจัดหาแหล่งพลังงานที่หลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พลังงานหมุนเวียนในประเทศมาใช้ทดแทนพลังงานเชื้อเพลิงที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ
โดยกำหนดให้แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกของประเทศเป็นแผนที่มีเป้าหมายให้ใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกให้ได้ 25% ของการใช้พลังงานของประเทศภายในปี 2564 ซึ่งได้ทำแผนตั้งแต่ปี 2554 มีกรอบเวลาของแผน 10 ปี ในช่วงปี 2555 - 2564 (Alternative Energy Development Plan: AEDP 2012-2021) ต่อมากรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้ปรับค่าเป้าหมายของแผนให้สอดคล้องตาม Country Strategy ในยุทธศาสตร์ 3 ประการ คือ การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การสร้างโอกาสบนความเสมอภาคและเท่าเทียมกันในสังคม และการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
โดย พพ.ได้ปรับเป้าหมายการใช้พลังงานทดแทนเพื่อการผลิตไฟฟ้า ผลิตความร้อนและใช้ในภาคขนส่ง โดยผลรวมเป้าหมายตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกในระยะเวลา 10 ปี ยังคงรักษาสัดส่วนพลังงานทดแทนต่อพลังงานขั้นสุดท้ายในปี 2564 เท่ากับ 25%
ทั้งนี้ เพื่อให้แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกเป็นไปตามแผน กระทรวงพลังงานจึงกำหนดยุทธศาสตร์การจัดทำ Roadmap เพื่อส่งเสริมการพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก 25% ใน 10 ปี โดยได้กำหนดยุทธศาสตร์ส่งเสริมการพัฒนาพลังงานทดแทนตามแผนดังนี้
1. ส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการผลิตและการใช้พลังงานทดแทนอย่างกว้างขวาง
2. ปรับมาตรการจูงใจสำหรับการลงทุนจากภาคเอกชนให้เหมาะสมกับสถานการณ์
3. แก้ไขกฎหมาย และกฎระเบียบที่ยังไม่เอื้อต่อการพัฒนาพลังงานทดแทน
4. ปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบสายส่ง สายจำหน่ายไฟฟ้ารวมทั้งการพัฒนาสู่ระบบ Smart Grid
5. ประชาสัมพันธ์ และสร้างความรู้ความเข้าใจต่อประชาชน
6. ส่งเสริมให้งานวิจัยเป็นเครื่องมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนแบบครบวงจร
อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงานคาดการณ์ว่า ความต้องการพลังงานในอนาคตของประเทศ ในปี 2564 จะมีความต้องการมากถึง 99,838 ktoe จากปัจจุบัน 71,728 ktoe โดยแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ในปี 2553-2573 และแผนการพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ปี 2555-2564 ได้กำหนดให้มีสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นจาก 7,413 ktoe ในปี 2555 เป็น 25,000 ktoe ในปี 2564 หรือคิดเป็น 25% ของการใช้พลังงานรวมทั้งหมด
พิสมัย เสถียรยานนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานทดแทน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า เป้าหมายที่จะใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกนั้น มีจุดประสงค์ คือ เพื่อให้ประเทศไทยใช้พลังงานทดแทนเป็นพลังงานหลักของประเทศแทนการนำเข้าน้ำมัน เพื่อเพิ่มความมั่นคงในการจัดหาพลังงานให้ประเทศ ส่งเสริมการใช้พลังงานรูปแบบชุมชนสีเขียวแบบครบวงจร สนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตเทคโนโลยีพลังงานทดแทนในประเทศ และวิจัย พัฒนา ส่งเสริมเทคโนโลยีพลังงานทดแทนประสิทธิภาพสูง
ทั้งนี้ เชื้อเพลิงที่จะสามารถนํามาใช้ในการผลิตไฟฟ้าทดแทนก๊าซธรรมชาติได้มีหลากหลาย โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังน้ำขนาดเล็ก ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ และขยะ และหากเทคโนโลยีพลังงานทดแทนเหล่านี้มีต้นทุนถูกลงและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ก็อาจสามารถพัฒนาให้เป็นพลังงานหลักในการผลิตไฟฟ้าสําหรับประเทศไทยได้ในอนาคต
โดยผลผลิตทางการเกษตรจำนวนมากนั้น สามารถนำมาเป็นวัตถุดิบใช้ผลิตพลังงาน ทั้งชีวมวล ก๊าซชีวภาพ รวมไปถึงไบโอดีเซลและเอทานอล การแปรรูปจากอุตสาหกรรมอาหาร วัสดุเหลือทิ้งยังสามารถก่อให้เกิดเป็นพลังงานจากขยะได้อีกด้วย
นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีศักยภาพด้านพลังงานธรรมชาติ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ที่มีความเข้มรังสีแสงอาทิตย์ เฉลี่ยประมาณ 18.2 MJ/m2/day สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ได้ ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการภาคเอกชนจำนวนมากผลิตกระแสไฟฟ้าขายให้กับการไฟฟ้า
ขณะที่บางสถานที่ของประเทศมีศักยภาพพลังงานลมดี แม้ว่าจะไม่มากเหมือนในต่างประเทศ แต่ก็มีบางพื้นที่ที่มีลมเพียงพอที่จะผลิตกระแสไฟฟ้า เช่น นครราชสีมา ที่มีผู้ประกอบการลงทุนกังหันลม
ปัญหา/อุปสรรคแจ้งเกิดพลังงานทดแทน
แม้ว่าหลายฝ่ายจะมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ประเทศไทยควรจะหันมาใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก แทนพลังงานเชื้อเพลิง แต่ในทางปฏิบัติกลับพบกับอุปสรรคนานัปการที่ทำให้การก้าวไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำไม่ใช่เรื่องง่ายๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การถูกต่อต้านจากชาวชุมชน ที่ขาดความรู้ความเข้าใจ
รวมถึงความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการสนับสนุนให้ใช้พลังงานทดแทน ซึ่งภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็พยายามเร่งสร้างความเข้าใจให้กับชาวชุมชน ด้วยการไปพูดคุยกับชาวชุมชน เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว
ขณะเดียวกัน ก็ยังติดปัญหาด้านข้อกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ ซึ่งต้องแก้ไขไปทีละปัญหา โดยที่ผ่านมา ก็แก้ปัญหาไปได้มาก เพราะรัฐบาลต้องการให้นโยบายการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกเกิดขึ้นจริง
นอกจากนี้ ยังติดขัดปัญหาเรื่องสายส่งสัญญาณที่ในบางสถานที่ไม่สามารถติดตั้งสายส่งสัญญาณได้ ก็ต้องไปเจรจากับการไฟฟ้า เพื่อให้ติดตั้งสายส่งสัญญาณได้
ปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การเข้าถึงแหล่งเงินกู้ เพราะสถาบันการเงินยังไม่ค่อยปล่อยสินเชื่อ เพราะไม่มั่นใจในเทคโนโลยีที่ใช้ในการลงทุนในพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก