xs
xsm
sm
md
lg

“ณรงค์ชัย” เมินเสียงค้าน ยันไม่ทบทวน Feed in Tariff

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ณรงค์ชัย” เมินข้อเรียกร้องผู้ผลิตไฟฟ้ากังหันลมหลังค้านระบบรับซื้อไฟแบบ Feed in Tariff หรือ FiT ลั่นไม่ทบทวน ย้ำจากนี้ชะลอรับซื้อโซลาร์เซลล์ล็อตใหม่ขอเคลียร์เป้าเดิม 3.8 พันเมกะวัตต์สิ้นปี 2558 ให้จบก่อนแต่อีก 10 ปีการส่งเสริมฯจะขึ้นไปถึง 5 พันเมกะวัตต์ได้

นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานเปิดงานสัมมนาและนิทรรศการเรื่อง การลงทุนพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์ฟาร์ม โซลาร์รูฟ) ซึ่งจัดโดยสมาคมอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ไทย ว่า จากกรณีข้อเรียกร้องของผู้ผลิตไฟฟ้ากังหันลมที่ขอให้ทบทวนอัตราการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนสะท้อนต้นทุนจริง (Feed in Tariff ) หรือ FiT ที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบเมื่อวันที่ 15 ธ.ค.ที่ผ่านมานั้น ยืนยันว่าจะไม่มีการทบทวนใดๆ เนื่องจากถือเป็นอัตราที่ได้พิจารณาอย่างเหมาะสมแล้ว

“เดิมเราใช้ระบบรับซื้อค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่ม หรือ ADDER แล้วปรับมาเป็น FiT ล่าสุดซึ่งคิดว่าเหมาะสมแล้ว การจะทำให้ทุกคนพอใจคงเป็นไปไม่ได้ ซึ่งส่วนของโซลาร์เซลล์นั้นก็ปรับให้เหมาะสมเช่นกันเพราะต้นทุนลดลงมากแล้ว โดยปี 2558 น่าจะเป็นปีทองของอุตสาหกรรมนี้” นายณรงค์ชัยกล่าว

ทั้งนี้ นโยบายรัฐบาลได้กำหนดเป้าหมายที่จะส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ทุกประเภทรวม 3,800 เมกะวัตต์ แต่แนวโน้มในอีก 10 ปีข้างหน้าคาดว่าแผนการรับซื้อจะเพิ่มขึ้นได้ประมาณ 4,500-5,000 เมกะวัตต์ได้ แต่ระหว่างนี้รัฐบาลจะเคลียร์แผนการรับซื้อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ก่อน โดยจะให้เวลาจนถึงสิ้นปี 2558 หลังจากนั้นหากจะรับซื้อเพิ่มก็คงจะไปดำเนินการได้ในปี 2559

ปัจจุบันผู้ผลิตโซลาร์เซลล์มีโครงการที่ผูกพันกับรัฐแล้ว 1,900 เมกะวัตต์ ขายไฟแล้ว 1,300 เมกะวัตต เซ็นสัญญาแล้วแต่ยังไม่ขายไฟ 384 เมกะวัตต์ ตอบรับซื้อแล้วแต่ยังไม่เซ็นสัญญา 150 เมกะวัตต์ ยื่นคำขอแต่ยังไม่ตอบรับซื้อ 1,000 เมกะวัตต์ ภาพรวมแล้วไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์น่าจะเกิดขึ้นได้ประมาณ 2,900 เมกะวัตต์ รวมจำนวนประมาณ 4,621 ราย โดยจำนวนดังกล่าวเป็นแบบติดตั้งบนพื้นดินหรือโซลาร์ฟาร์ม 487 ราย

นายดุสิต เครืองาม นายกสมาคมอุตฯ เซลล์แสงอาทิตย์ไทย สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กลุ่มพลังงาน กล่าวว่า ปีหน้าจะเป็นปีทองของการลงทุนอุตสาหกรรมนี้โดยคาดว่าจะมีการผลิตไฟฟ้าราว 2,000 เมกะวัตต์ คิดเป็นเงินลงทุน 1.4 แสนล้านบาท ซึ่งอนาคตจะมีผู้ผลิตอุปกรณ์โซลาร์เซลล์ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำเพิ่มอีกหลายรายจากขณะนี้มี 5ราย ส่งผลให้ไทยจะเป็นศูนย์กลางหรือฮับของอุตสาหกรรมนี้ได้

อย่างไรก็ตาม เร็วๆ นี้จะมีการเสนอ สปช.ถึงแนวทางการปฏิรูปพลังงานทดแทนด้วยการส่งเสริมพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคา หรือ Solar Roof top แบบเสรี เนื่องจากพบว่าตามเป้าหมายส่งเสริม 3,800 เมกะวัตต์เป็นโซลาร์รูฟฯ เพียง 200 เมกะวัตต์เท่านั้น ซึ่งไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนเท่าใดนัก ซึ่งขั้นตอนจากนั้นจะพยายามเสนอคณะรัฐมนตรีให้ออกระเบียบส่งเสริมฯ โดยให้ประชาชนติดตั้งได้โดยไม่จำกัดเวลา และปริมาณ รูปแบบระยะแรกคือผลิตไฟเองและใช้เองไปก่อนที่เหลือจึงขายจากปัจจุบันที่ต้องขายเข้าระบบทั้งหมด
กำลังโหลดความคิดเห็น