xs
xsm
sm
md
lg

ไฟฟ้าพลังงานลมป่วนต่อ เอกชนยื่น “นายกฯ” ทบทวนจ่อยื่นศาลฯ คุ้มครอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


มติ กพช.ปรับแผนรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจาก ADDER เป็น FiT ป่วน ผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าจากลมยื่นหนังสือถึง “บิ๊กตู่” ขอให้ทบทวน จ่อยื่นศาลฯ ขอคุ้มครองชั่วคราวเหตุลดค่ารับซื้อไฟฟ้ากระทบผู้ผลิตเสี่ยงขาดทุน แบงก์ไม่ปล่อยกู้ คาด 1,000 เมกะวัตต์ที่เหลือไม่เกิดแน่ ลั่นไม่ได้ร้องให้ค่าไฟสูงแต่ขอให้อยู่บนความจริง




นายอัครินทร์ สุวรรณรัตน์ นายกสมาคมกังหันลมแห่งประเทศไทย (ThaiWEA) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.สมาคมฯ ได้ยื่นหนังสือผ่านตัวแทนนายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้ทบทวนอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตามต้นทุนที่แท้จริง หรือ Feed in Tariff (FiT) ของพลังงานลม หลังมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อ 15 ธ.ค.ที่ผ่านมาเห็นชอบปรับจากอัตราเดิมที่รับซื้อรูปแบบส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (ADDER) ที่พลังงานลมจะได้รับเฉลี่ย 7 บาทต่อหน่วย มาเป็นแบบ FiT ที่เฉลี่ยจะได้รับเพียง 6.06 บาทต่อหน่วย เป็นระยะเวลา 20 ปี

“หลัง กพช.เห็นชอบแล้วกระทรวงพลังงานก็คงจะไปกำหนดเกณฑ์รับซื้อภายใน 31 ม.ค. 2558 ซึ่งเราเองก็ต้องการให้รัฐบาลใช้เวลานี้ได้พิจารณาทบทวนนโยบายดังกล่าวเสีย และกำลังพิจารณาอยู่ว่าอาจจะมีการยื่นศาลปกครองกลางขอคุ้มครองมติดังกล่าวชั่วคราวจนกว่าจะมีข้อยุติถึงแนวทางที่ชัดเจน” นายอัครินทร์กล่าว

ทั้งนี้ รัฐบาลมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากลมทั้งสิ้น 1,800 เมกะวัตต์ แต่ล่าสุดมีผู้ประกอบการที่จ่ายไฟเข้าระบบ (COD) แล้วเพียง 200 เมกะวัตต์ และมีการทำสัญญารับซื้อไฟฟ้า หรือ PPA แล้ว 300 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างดำเนินการอีกส่วนหนึ่งเมื่อมีการปรับการรับซื้อไฟเหลือ 6.06 บาทต่อหน่วยคาดว่า 1,000 เมกะวัตต์ที่เหลือคงจะเกิดขึ้นไม่ได้แน่

นายอัครินทร์กล่าวว่า อัตราเดิมแบบ ADDER จะมีผลตอบแทนการลงทุน หรือ IRR เฉลี่ยที่ 10-14% แต่เมื่อปรับใหม่จะเหลือเพียง 5-9% ซึ่งหากพิจารณาต้นทุนการผลิตกลับเพิ่มสูงขึ้นแต่ประสิทธิภาพเครื่องจักรใหม่ดีกว่าเดิมจึงทำให้ต้นทุนไม่ได้ต่างจากอดีตมากนัก โดยพลังงานลมจะต่างจากพลังงานทดแทนอื่นที่ต้องมีการวัดทิศทางลมก่อนตัดสินใจลงทุน และทำเลที่ตั้งจะต้องลากสายส่งไปไกลเพราะจะอยู่ในพื้นที่ป่าและทะเลเท่านั้น และลมยังมีความไม่แน่นอนสูง จึงมีการวัดค่าความเป็นไปได้ที่สถาบันการเงินใช้ในการพิจารณาอนุมัติปล่อยกู้คือ P90 หรือความเป็นไปได้ 90% ซึ่งอัตราใหม่ทำให้ค่าความเป็นไปได้ลดต่ำเหลือแค่ 50% ดังนั้นจะมีผลต่อการตัดสินใจปล่อยกู้ของสถาบันการเงินอย่างมาก

น.ส.นวลละออง ศรีชุมพล เลขาฯ สมาคมฯ กล่าวว่า กรณีโรงไฟฟ้าพลังงานลมของบริษัทวินด์ เอ็นเนอร์ยี่ โฮลดิ้ง จำกัด (WEH) ของนายนพพร ศุภพิพัฒน์ ก็ทำให้สถาบันการเงินเข้มงวดกับโครงการพลังงานลมมากขึ้นแล้ว เมื่อมีกรณีปรับ FiT ก็ยิ่งทำให้เพิ่มปัญหาเข้าไปอีกทั้งที่อุตสาหกรรมดังกล่าวมีศักยภาพในไทย และหากเทียบกับต่างประเทศเช่นฟิลิปปินส์ที่พลังงานลมดีกว่าไทยยังให้ค่าไฟเฉลี่ย 7 บาทต่อหน่วย

นายสุเมธ สุทธภักติ รองนายกสมาคมฯ กล่าวว่า กรณีปรับสมาคมฯ ไม่ได้เรียกร้องให้ค่าไฟต้องสูงขึ้นแต่ต้องการให้อยู่บนพื้นฐานความจริง เพราะ FiT ใหม่นั้นจะส่งผลให้ผู้พัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้ากังหันลมขนาดเล็ก (VSPP) ซึ่งจะผลิตไฟไม่เกิน 10 เมกะวัตต์โครงการจะขาดทุนและไม่สามารถดำเนินการได้ ส่วนผู้ขายไฟไม่เกิน 90 เมกะวัตต์หรือ SPP อยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงที่จะขาดทุน รัฐน่าจะพิจารณาให้ดีว่าอัตราเดิมที่ได้รับว่าสูงยังเกิดได้น้อย แต่อัตราใหม่ที่ปรับให้น้อยกว่าเดิมจะเกิดขึ้นได้อย่างไร
กำลังโหลดความคิดเห็น