- USAID หนุนโครงการ ACTS ช่วยเหลือกิจการเพื่อสังคม ยกระดับมาตรฐานโมเดลธุรกิจเพื่อสังคมของไทย
- สกส. หนุนภาครัฐออก พ.ร.บ. สร้างเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม เพื่อให้ SE ไทยยั่งยืน ทั้งโอกาสการเข้าถึงแหล่งทุน และการพัฒนาในระยะยาว
เมื่อเร็วๆ นี้ องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) ประกาศความร่วมมือเพื่อช่วยให้ธุรกิจขนาดเล็กเข้าถึงแหล่งทุน พร้อมสนับสนุนทุนมูลค่า 8 แสนดอลลาร์สหรัฐฯให้แก่ Impact Investment Shujog Pte. Ltd. (Shujog) ซึ่งเป็นองค์กรส่งเสริมกิจการเพื่อสังคม มีสำนักงานที่สิงคโปร์ เพื่อดำเนินการผ่านโครงการพัฒนาศักยภาพและให้บริการเชิงเทคนิค Assistance for Capacity-building and Technical Services (ACTS) ซึ่งจะทำให้ธุรกิจเพื่อสังคมราว 25 แห่งในเอเชียขยายงาน ซึ่งถือเป็นการขยายผลเชิงบวกให้กับ 5 ภาคส่วนสำคัญในอีก 2 ปีข้างหน้า ได้แก่ การเกษตร สาธารณสุข การศึกษา พลังงานและน้ำ
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ณัฐพงษ์ จารุวรรณพงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ (สกส.) ให้สัมภาษณ์ว่าบทบาทของ USAID จะช่วยกิจการเพื่อสังคมในระยะเริ่มต้นที่มีความชัดเจนในการทำงานพอควร (ยังมีอยู่ไม่มากนักในไทย) ทั้งในส่วนของแผนธุรกิจ รูปแบบการดำเนินธุรกิจ ผลกระทบทางสังคมที่ได้สร้างขึ้น หรือมีโอกาสสร้างขึ้นที่วัดผลได้จริง โอกาสเช่นนี้ก็สามารถมีทางเลือกในการเข้าถึงเงินทุนและการสนับสนุนทางเทคนิคที่เหมาะสมและมีคุณภาพซึ่งปัจจุบันในประเทศไทยยังไม่มีนโยบายสนับสนุนจากรัฐที่ชัดเจนนัก
สำหรับกลุ่มกิจการที่ยังไม่ชัดเจน หรือ กลุ่มที่อยู่ตัวแล้วไม่น่าจะมีผลมากเท่าไร เพราะกลุ่มแรกไม่น่าจะผ่านเกณฑ์การพิจารณา ส่วนกลุ่มที่สองไม่น่าจะให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือลักษณะนี้
ผู้อำนวยการ สกส.บอกว่าเริ่มเห็นโอกาสที่มากขึ้นในเรื่องนี้ เพราะปัจจุบันมีกองทุนลักษณะนี้จำนวนมากจากต่างประเทศที่สนใจสนับสนุนกิจการเพื่อสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งนอกเหนือจากประเด็นเงินในการลงทุน โครงการลักษณะนี้จะเข้ามาพร้อมกับความรู้และการเป็นพี่เลี้ยงซึ่งจะมีมูลค่ามากกว่าเงิน ทำให้กิจการเพื่อสังคมในบ้านเราที่ผ่านกระบวนการได้ยกระดับตนเองให้มีมาตรฐานที่สูงขึ้น ทั้งการศึกษาความเป็นไปได้ทางธุรกิจ การวัดผลกระทบทางสังคม
“ในการนี้ สกส.อาจจะเข้าไปมีบทบาททั้งในการสื่อสารประชาสัมพันธ์ ประสานงานอำนวยความสะดวก รวมไปถึงการช่วยสนับสนุนขั้นตอนในการเตรียมความพร้อมของกิจการเพื่อสังคมที่น่าสนใจเข้าสู่กระบวนการสมัครเพื่อขอรับทุนสนับสนุนดังกล่าว รวมไปถึงการเรียนรู้จากตัวอย่างรูปแบบการสนับสนุนที่ดีเพื่อมาปรับใช้เป็นแนวทางที่จะมีนโยบายส่งเสริมจากภาครัฐในอนาคต หมายความว่าจะเป็นสาระสำคัญส่วนหนึ่งในการมีพระราชบัญญัติเพื่อส่งเสริมกิจการเพื่อสังคม”
ชี้พัฒนาการ SE ไทย ควรมีกฎหมายรองรับ
ผู้อำนวยการสกส. กล่าวถึงพัฒนาการกิจการเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise (SE)ในไทยที่ยังคงเป็นไปได้ช้า เนื่องจากไม่มีกฏระเบียบและแรงจูงใจที่ชัดเจนจากภาครัฐ ทำให้รูปแบบในการเติบโตเป็นแบบธรรมชาติของแต่ละภาคส่วน
ขณะที่ปัจจุบันมีสถาบันอุดมศึกษา ที่เปิดการเรียนการสอนเรื่องนี้มากขึ้น ภาคธุรกิจก็มีการพูดคุย และหาวิธีการเพื่อจะปรับบทบาทงาน CSR ของตนเองมาสู่เรื่อง SE ได้อย่างไร ส่วนภาครัฐได้เริ่มขยับตัวสนใจในเรื่องบริการสาธารณะว่า SE ควรจะเข้ามาเป็นทางเลือกของผู้ให้บริการที่ดีกว่าได้หรือไม่
ภาครัฐเองควรจะต้องปรับระเบียบทั้งในเรื่องการมอบหมายอำนาจ (commissioning) เช่นกรณีสำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช) ด้านการจัดซื้อจัดจ้างสาธารณะ (public procurement) เพื่อให้เข้ามาสนับสนุนเรื่องนี้ได้อย่างไร ส่วนภาคการลงทุนเริ่มมีการพูดถึงเรื่อง การลงทุนทางสังคม หรือ social investment market ว่าตลาดทุนจะมีบทบาทได้แค่ไหนต่อการเข้ามาร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคม
“โดยรวมผมคิดว่าทั้งหมดก็เติบโตไปได้พอสมควร แต่หากได้มีการสนับสนุนเชิงนโยบายจากรัฐที่ดีขึ้นก็น่าจะทำให้ความพยายามที่มีอยู่อย่างกระจัดกระจายสามารถนำสู่การเปลี่ยนแปลงได้มากขึ้น และเป็นเหตุผลสำคัญให้สกส.เริ่มหันมาให้น้ำหนักเรื่องการผลักดันนโยบายและออกกฎหมาย (พ.ร.บ.สร้างเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม) มากกว่าการทำกิจกรรมแบบครั้งคราวซึ่งเกิดผลยาก” ผู้อำนวยการสกส. กล่าวในที่สุด
โครงการ ACTS ขับเคลื่อนผู้ประกอบการระยะเริ่มต้น
ACTS หรือโครงการพัฒนาศักยภาพและให้บริการเชิงเทคนิค เป็นโครงการร่วมกับพันธมิตร ได้แก่ ธนาคารแห่งอเมริกา เมอร์ริลล์ ลินช์, เจพี มอร์แกน เชส และมูลนิธิ ร็อคกี้เฟลเลอร์ ในการส่งเสริมกิจการเพื่อสังคม เพื่อจะดึงดูดการลงทุน ขยายธุรกิจและเพิ่มผลกระทบเชิงบวกผ่านการให้ความช่วยเหลือทางด้านเทคนิคที่มีนวัตกรรม โดยการร่วมมือกันนั้นเป็นหนึ่งในหกรูปแบบการ
กระตุ้นความร่วมมือที่จัดตั้งขึ้นโดย USAID เพื่อเร่งสร้างผู้ประกอบการโดยส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชนให้แก่ผู้ประกอบการในระยะเริ่มต้น และค้นหานวัตกรรมที่ช่วยส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการหลายพันรายทั่วโลก
“แม้ธุรกิจเพื่อสังคมจำนวนมากมีขนาดเล็ก แต่ธุรกิจเหล่านี้ก็มีศักยภาพที่จะขยายตัวและสร้างผลในเชิงบวกให้กับสังคมได้มากขึ้น ซึ่งเราก็จะช่วยกันทำให้เกิดขึ้นด้วยการร่วมกับ Shujog ในการช่วยเพิ่มทุนให้แก่ธุรกิจเพื่อสังคม ส่งเสริมให้ธุรกิจของพวกเขาเติบโตและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ที่ยากไร้และถูกกีดกันทางสังคม USAID มีความยินดีที่จะได้สนับสนุนการเติบโตของธุรกิจเพื่อสังคม เพราะถือว่าเป็นหนทางเพิ่มเติมที่จะช่วยแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมของโลกที่ทวีความรุนแรงขึ้น” ไมเคิล เยทส์ ผู้อำนวยการ USAID สำนักงานภาคพื้นเอเชีย กล่าว
ทั้งนี้ โครงการ ACTS จะสนับสนุนทุนให้ยืมล่วงหน้าแก่ผู้ประกอบการระยะเริ่มต้นเพื่อเตรียมแสวงหาบริการและเตรียมความพร้อมในการลงทุน ผู้ประกอบกิจการเพื่อสังคมที่เข้าร่วมโครงการสามารถจ่ายคืนเงินยืมล่วงหน้าซึ่งปลอดดอกเบี้ย เพื่อหมุนเวียนกลับมาส่งเสริมผู้ประกอบการที่เพิ่งเริ่มธุรกิจรายอื่นๆ ต่อไป
Shujog : ธุรกิจเพื่อสังคมที่ไม่แสวงหากำไร
ก่อตั้งขึ้นในปี 2010 ที่ประเทศสิงคโปร์ คำว่า Shujog เป็นภาษาเบงกอลที่หมายถึง โอกาส ดังนั้น การสร้างโอกาสจึงเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินโครงการ
พันธกิจของ Shujog คือการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กิจการเพื่อสังคมหยั่งรากลึกและขยายตัวออกเพื่อประโยชน์แก่ชุมชนที่ยากไร้และถูกกีดกัน โดยการมุ่งเน้นการประเมินผลกระทบ วิจัย ฝึกอบรมและรณรงค์โดยได้ดำเนินการประเมินผลกระทบกว่า 40 โครงการทั่วเอเชีย และได้เขียนงานวิจัยเรื่องการเงินภาคสังคมร่วมกับ
มูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย องค์การสหประชาชาติและออกซ์แฟม ในฐานะที่เป็นผู้สร้างงานสาธารณูปโภคพื้นฐาน
ความเชี่ยวชาญของ Shujog มุ่งไปที่ภาคการเกษตร พลังงาน สาธารณสุข น้ำและการศึกษาในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก นับถึงวันนี้ มีผู้คนที่ขาดแคลนนับ 1.4 ล้านคนที่ได้รับประโยชน์จากการสร้างมูลค่าทางสังคมของ Shujog ภายในปี 2018 Shujog ตั้งเป้าหมายว่าจะสนับสนุนกิจการเพื่อสังคมให้ได้ 100 รายผ่านโครงการ ACTS และหมุนเวียนเงินทุนนับ 50 ล้านเหรียญในการลงทุนต่อเนื่องเพื่อส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจและยังประโยชน์ให้แก่ชุมชนที่ด้อยโอกาส สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Shujog ชมเพิ่มเติมที่ www.shujog.org