xs
xsm
sm
md
lg

GREEN CEO : ซีอีโอหัวใจสีเขียว “สิทธิพร สุวรรณสุต”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ก่อนกระแสรักษ์โลก จะบูมเป็นแฟชั่นระบาดไปทุกสาขาอาชีพ น้อยคนจะรู้ว่าบริษัทรับสร้างบ้านเล็กๆที่ถือกำเนิดขึ้นด้วยพนักงานเพียง 8 คน อย่าง “ปทุมดีไซน์ ดีเวลลอป จำกัด”ภายใต้การนำของ “สิทธิพร สุวรรณสุต” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีดี เฮ้าส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด
คือบริษัทรับสร้างบ้านรายแรกของเมืองไทย ที่ “กล้าสร้าง -กล้าขาย -กล้าตะโกน” เชิญชวนให้ลูกค้าเห็นความสำคัญสิ่งแวดล้อม และสนใจบ้านอนุรักษ์พลังงาน แข่งกับคู่แข่งทางธุรกิจที่กำลังทำสงครามราคาอย่างไม่แคร์โลก

จุดเริ่มต้น
พีดี เฮ้าส์ - สิ่งแวดล้อม
เพราะเล็งเห็นทิศทาง แนวโน้ม ผลกระทบวงกว้างที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ถ้ามนุษย์ไม่รู้จักใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด แบบประหยัด กอปรกับเสียงที่พูดถึงสภาวะโลกร้อนจากประเทศที่พัฒนาแล้ว ทำให้ “สิทธิพร สุวรรณสุต ” เมื่อครั้งยังนั่งตำแหน่งประธานกรรมการ บริษัท ปทุมดีไซน์ ดีเวลลอป จำกัด ตัดสินใจนำพาบริษัทรับสร้างบ้าน ที่เขากุมบังเหียนสู่เส้นทางสีเขียว ทั้งที่เวลานั้นเรื่อง “สิ่งแวดล้อม และโลก” ยังเป็นเรื่องไกลตัวคนไทย และคู่แข่งทางธุรกิจ
“เราให้ความสำคัญกับโลก และสิ่งแวดล้อม อย่างเป็นรูปธรรมประมาณ 14-15 ปีแล้วครับ ถ้ามองว่าเป็นเจ้าแรกๆในกลุ่มธุรกิจสร้างบ้านขนาดเล็กก็คงใช้” สิทธิพร สุวรรณสุต ยอมรับตำแหน่งผู้นำธุรกิจสร้างบ้านสีเขียวอย่างถ่อมตน ก่อนเล่าตำนานเรื่องสิ่งแวดล้อม และโลก ที่เกิดขึ้นกับบริษัท ปทุมดีไซน์ ดีเวลลอป จำกัด ให้ฟังว่า
“หลังจากเห็นผลกระทบส่วนรวม เราก็มองเห็นโอกาสทางธุรกิจด้วยว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีอนาคต จะมาแทนที่การใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง ตอนนั้นคิดว่าถ้าเราคิดก่อนทำก่อน แน่นอนโอกาสก็จะเป็นของเรา แต่ในการคิดก่อนทำก่อน มันก็มีแรงต้าน และมีอุปสรรคเรื่องของการรับรู้ด้วยเพราะตอนนั้นประชาชนยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องสภาวะโลกร้อนมากนัก เราเลยต้องใช้เวลา และทุ่มเทพลังเยอะหน่อย

เพราะธุรกิจของเราต้องไปอีกยาว ไม่ใช่จะทำกันเพียงแค่ไม่กี่ปีแล้วเลิก ฉะนั้นเวลาคิด หรือวางวิสัยทัศน์องค์กร ก็ต้องมองไกล และกำหนดแผน ระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาวออกมาให้ชัดเจน นั่นคือจุดเริ่มต้น และเทรนด์ ที่เราคาดการณ์ว่าบ้านประหยัดพลังงานกำลังจะมาในอนาคต เมื่อ 14-15 ปีก่อนครับ”

บททดสอบ
ซีอีโอ หัวใจสีเขียว
ผลของการกล้าคิดต่าง ทำให้ยอดเติบโตที่เคยพุ่งขึ้นไปแตะ 300 ล้านบาท ตกฮวบลงมาเหลือหลักร้อยล้านปลาย ๆ บททดสอบนี้ถ้าเป็นผู้ประกอบการรายอื่นอาจตัดสินใจเปลี่ยนวิสัยทัศน์ หรือไม่ก็แอบกลืนน้ำลายลงคอแกล้งทำไม่รู้ไม่ชี้ เพื่อความอยู่รอดปลอดภัย แต่ในฐานะผู้นำ“สิทธิพร สุวรรณสุต ”มองตรงกันข้าม เพราะเชื่อมั่นว่า สิ่งที่เขาคิดทำ คือสิ่งที่ยั่งยืนต่อองค์กร สิ่งแวดล้อม และโลก
“ไม่กลัวเจ๊งหรอกครับ แต่มันเจ๊งจริงๆอยู่ 2-3 ปี” เขากล่าว แกล้มเสียงหัวเราะ ก่อนจะย้ำว่า “เจ๊งจริง ขาดทุนจริงครับ เพราะว่ามันอธิบายย๊าก ยาก ยากมากๆ คือเราต้องยอมรับว่าไม่มีลูกค้ารายไหนที่จะฟังผู้ประกอบการรับสร้างบ้านเพียงรายเดียวแล้วตัดสินใจหรอกครับ
แถมเวลานั้นเราเป็นตัวประหลาด ที่พูดภาษาประหลาด กว่าเขาเพื่อน ต้นทุนของเราก็สูงกว่าบริษัทรับสร้างบ้านรายอื่นๆอีกต่างหาก ตัวเลข 300 ล้านบาท ก็เลยตกฮวบลงมาเหลือ 100 ล้านบาทปลายๆ ระยะที่ปรับเปลี่ยนในช่วง 2 ปีแรก เราขาดทุนค่อนข้างเยอะ แต่เราอึด เพราะคิดว่ากระแสแนวโน้มทิศทางบ้านอนุรักษ์พลังงานมาทางนี้แน่ ก็เลยเลือกที่จะยืนหยัดต่อ
แต่ความประหลาดที่เป็นหนึ่งเดียวตอนนั้น ก็ทำให้เรามีโชคอยู่บ้าง เพราะพอจะมีลูกค้ากลุ่มเล็กๆ ที่กำลังมองหาบ้านอนุรักษ์พลังงาน เดินเข้ามาปรึกษา และไว้วางใจให้เราสร้างบ้านรักษ์โลก และสิ่งแวดล้อมเหมือนกัน
“แรงต้านที่รุนแรงมากที่สุด ก็คือคู่แข่งขันในธุรกิจเดียวกัน ที่นิยมใช้วัสดุก่อสร้างจากธรรมชาติ ซึ่งขณะนั้นป่าไม้ยังมีอยู่เยอะ โดยไม่ยอมผ่านโพรเซสการผลิต เพราะกลัวต้นทุนจะบานปลาย อย่างถ้าการไม้สังเคราะห์ หรือไม้เทียม เราจะต้องนำเศษไม้เข้าสู่ขบวนการเครื่องจักรในการผลิต ตรงนี้ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นกว่าการออกไปตัดไม้จากป่าสัมปทานในประเทศ หรือจากประเทศเพื่อนบ้าน
พอเป็นแบบนี้ผู้ประกอบการด้วยกันก็เลยมองว่า ทำไมต้องดิ้นรนเพิ่มต้นทุนปลายทางในการสร้างบ้าน ด้วยการซื้อวัตถุดิบที่ผ่านกระบวนการผลิตด้วย ขณะที่การเบียดเบียนธรรมชาติ ซึ่งถูกกว่า ง่ายกว่า เร็วกว่า ก็มีอยู่
ในฐานะนายทุนคิดแบบนั้นก็ไม่ผิดนะ แต่อย่าลืมว่าการใช้วัสดุที่ผ่านกระบวนการผลิต ที่มีระบบควบคุมคุณภาพ และการคัดเลือกวัสดุที่มีคุณภาพสูง ก็ทำให้อายุการใช้งานสิ่งก่อสร้างยาวนานขึ้น ขณะที่วัตถุดิบจากธรรมชาติแท้ๆถูกกว่า ง่ายกว่า เร็วกว่า ก็จริง แต่ก็เสื่อมสลาย หรือหมดอายุการใช้งานเร็วกว่าเช่นกัน
นอกจากแรงเสียดทานจากผู้ร่วมเส้นทางธุรกิจ เราก็ค่อยๆ เปลี่ยนทัศนคติที่ปลูกฝังกันมานานว่า การใช้ต้นสักใหญ่ๆ ไม้มะค้า ไม้พะยูง ใหญ่ๆ ทำให้เจ้าของบ้านมีคุณค่า แสดงฐานะ แต่ค่านิยมใหม่ที่ต้องพยายามอธิบายกับคนที่กำลังจะเป็นเจ้าของบ้านก็คือ การใช้ไม้สังเคราะห์ ไม้เทียม ซึ่งผ่านกระบวนการผลิตอย่างดี ทำให้บ้านทุกหลังมีอายุการใช้งานนานขึ้น แถมได้มีส่วนร่วมในการดูแลธรรมชาติ สังคม และโลกด้วย นั่นจึงเป็นที่มาว่า
“ทำไมเราต้องต่อสู้กับแรงต้าน ทำไมเราต้องแข่งขันภายใต้ต้นทุนที่สูงกว่า ทั้งๆที่ไม่สามารถทำราคาให้สูงกว่าได้”

ความหมายคำว่าบ้าน
“สิทธิพร สุวรรณสุต”
บ้าน คือความสุข คือความจริงใจ สำหรับผมทุกอย่างเกิดขึ้นที่บ้านนะ ไม่ว่าคุณจะออกไปมีความสุขนอกบ้านเยอะขนาดไหน แต่นั่นก็เป็นความสุขที่เราสัมผัสได้ชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น แต่บ้านมันเป็นความสุขตลอดกาล

คนดีโลกคุ้มครอง
กว่า 5 ปี ที่ “สิทธิพร สุวรรณสุต ” ปกป้องสิ่งแวดล้อม ผ่าธุรกิจรับสร้างบ้านที่ทำด้วยความเพียรอธิบายกับกลุ่มลูกค้าต่างเหตุต่างผล เพื่อค่อยๆลบล้างความเชื่อเก่าๆ ซึ่งเขายอมรับว่า “ยากมาก”
“ความที่กลุ่มเป้าหมายของเราเป็นกลุ่มเล็ก ที่พูดจาภาษาเดียวกันจึงเข้าใจกัน ตรงนี้ทำให้เรื่องยาก กลายเป็นง่ายขึ้นครับ” เขาให้เหตุผล ก่อนสะท้อนมุมมอง และโอกาสจากฟากของนักธุรกิจว่า
“ถึงกลุ่มเป้าหมายของเราจะเล็กกว่าคู่แข่งขันในตลาดก็จริง แต่คู่แข่งที่จะแข่งขันกับเรา ก็มีน้อยเช่นกันครับ”
ผลของการไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม และไม่รังแกโลก ในที่สุด เจ้าของบ้าน และผู้อยู่อาศัย ก็เริ่มเข้าใจภาษาประหลาดที่เขาพยายามจะสื่อสาร กระทั่งให้การยอมรับขบวนการการสร้างบ้านอนุรักษ์พลังงานผ่านนวัตกรรมที่ทันสมัยภายใต้แบรนด์พีดี เฮ้าส์ ว่า นอกจากความภาคภูมิใจที่ได้อาศัยภายใต้หลังคาบ้านรักษ์โลก ที่สามารถช่วยลดผลกระทบการทำลายแหล่งธรรมชาติแล้ว บ้านหลังนี้ยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนอีกด้วย
เขายกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า “หากเราใช้วัตถุดิบที่มาจากธรรมชาติล้วนๆ จะทำให้การถ่ายเทความร้อนภายในตัวบ้าน ต่างจากวัสดุที่เป็นฉนวน เพราะคุณจะต้องใช้เวลาเปิดแอร์นานถึงครึ่งชั่วโมง หรือ 1 ชั่วโมงเลยทีเดียว กว่าอุณหภูมิในบ้านจะลดลง นั่นก็แปลว่าต้องใช้พลังงานเยอะ แต่หากเลือกวัสดุที่เป็นฉนวน อุณหภูมิภายในบ้านจะเย็นลง ภายในเวลาแค่ 10 -15 นาทีเท่านั้นเอง ภาระค่าไฟก็จะลดลงด้วย
5 ปีที่แล้ว เราใช้เครื่องทำน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ เข้ามาสู่ระบบการก่อสร้าง แน่นอนว่าค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ระยะแรกๆที่นำเข้ามาติดตั้ง เราโดนลูกค้าส่วนใหญ่ปฏิเสธเยอะมาก
โจทย์ที่เราต้องแก้ก็คือ แทนที่จะคิดค่าติดตั้งเครื่องทำน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ให้ลูกค้า เราแถมให้ลูกค้าฟรีๆ แต่ถ้าลูกค้าไม่รับก็สามารถยกเลิกรายการนี้ได้เช่นกัน ปรากฏว่าพอลูกค้าเริ่มเข้าอยู่อาศัย เสียงตอบรับเครื่องทำน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ดีเกินคาด ร้อยเปอร์เซ็นต์บอกว่าคุ้มค่ามาก เราจึงใช้กระบอกเสียงของลูกค้ากลุ่มนี้บอกต่อความคุ้มค่าเพื่อผู้บริโภค เพื่อสิ่งแวดล้อม และเพื่อโลก
นั่นทำให้ลูกค้าเข้าใจสิ่งที่เราทำมากขึ้นอีก ถึงประเทศไทยเราจะช้าไปนิดหนึ่ง แต่ระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา กระแสตอบรับ ทั้งภาคประชาชน ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะภาครัฐบาล ที่เข้ามาส่งเสริม ทั้งในแง่ของวัตถุดิบ และการลดภาษี เพื่อเอื้อต่อสิ่งจำเป็นด้านสาธารณูปโภคในบ้าน ทำให้ผู้บริโภคจับต้องได้ง่ายขึ้น รวมถึงเห็นประโยชน์เห็นคุณค่าว่า การสร้างบ้านอนุรักษ์พลังงาน นอกจากใส่ใจสิ่งแวดล้อมแล้วยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในอนาคตได้มากมายเพียงใด”

พื้นที่ชีวิต
GREEN CEO
ทุกครั้งที่จะต้องคิดไปข้างหน้า หรือแก้ไขปัญหาสำคัญ
ส่วนใหญ่ผมใช้เวลาช่วงเช้า หมดไปกับพื้นที่ระเบียงหน้าบ้าน
เพราะนอกจากอากาศเย็นสบายโดยไม่ต้องเปิดแอร์แล้ว
บรรยากาศต้นไม้มุมสวนหน้าบ้านยังชวนให้ผ่อนคลายอีกด้วย

GREEN CEO SECRET
ไม่กังวลเรื่องเงิน แต่คิดถึงความสำเร็จของงานก่อนเสมอ
เพราะผมมาจากครอบครัวยากจนครอบครัวหนึ่ง ความรู้การศึกษาไม่สูง
ตอนเริ่มทำธุรกิจก็ไม่ได้มีเงินเยอะแยะอะไร
เพื่อน และคู่ค้าที่มีความจริงใจ คือเครดิต ที่มีราคามากกว่าเงิน
ผมเคยเป็นหนี้เป็นสินหลาย 10 ล้าน แต่ผมก็ใช้หนี้ได้ทุกบาททุกสตางค์
โดยที่ไม่ต้องรอให้เขามาทวง
ชีวิตผมโตมาได้เพราะเพื่อน
ชีวิตติดดิน สมถะ
วันนี้ผมไม่รู้เหมือนกันว่าผมมีเงินเท่าไหร่ แต่ผมก็ยังใช้ชีวิตเหมือนเดิม
ใช้รถคันเก่าๆ ซึ่งก็โดนบ่นตลอดว่าเมื่อไหร่จะเปลี่ยนรถ
แต่ถ้าสมรรถนะมันยังดี ถึงไม่ทันสมัยแต่ก็ทำให้ไปถึงจุดหมายได้

รางวัลแด่ “ซีอีโอหัวใจสีเขียว”
ทันทีที่หน่วยงานรัฐเข้ามาส่งเสริมจริงจัง บริษัทรับสร้างบ้านอนุรักษ์พลังงานของเขา ก็เริ่มมีรางวัลต่างๆการันตี เสียงตะโกน ของบริษัท พีดี เฮ้าส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด จึงดังกว่าบริษัทคู่แข่ง วันนี้บริษัทรับสร้างบ้านที่เคยมีพนักงานแค่ 8 คน มีเพื่อนร่วมงานเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมเพิ่มกว่า 300 คน
แน่นอนว่า บริษัท พีดี เฮ้าส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ไม่ได้รักษ์โลกแค่ลมปาก หรือเพียงเพราะ สกรีนภาพต้นไม้ ทุ่งหญ้าสีเขียวสบายตา ภายในออฟฟิศห้องประชุมที่กำลังนั่งสัมภาษณ์หรอก หากแต่แบบบ้านทุกหลังของพีดี เฮ้าส์ ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ อีกกว่า 45 สาขา 50 จังหวัดห่วงใยสิ่งแวดล้อม รักษ์โลกเหมือนกัน
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีดี เฮ้าส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด พูดถึงรางวัลแห่งความภาคภูมิใจ ด้วยหน้าเปื้อนรอยยิ้ม พร้อมลงลึกรายละเอียดของรางวัลว่า
“เป็นรางวัลอาคารอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งกรมพัฒนาพลังงานทดแทน และอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน มอบให้กับเจ้าของโครงการบ้านจัดสรร หรือเจ้าของบ้านที่ต้องการสร้างบ้านเอง หรือบริษัทรับสร้างบ้านที่คิดว่า มีการออกแบบบ้าน ใช้วัสดุก่อสร้าง เพื่อลดการใช้พลังงานภายในบ้านครับ
ซึ่งผมเห็นว่าเราใช้อยู่แล้ว ก็เลยลองส่งเข้าประกวด และก็โชคดี ที่ได้รับรางวัลเยอะที่สุดในประเทศไทย คือ 21 รางวัลจากการเข้าประกวด 2 ครั้ง ทั้งในประเภทดีมาก และประเภทดี
ทุกรางวัลที่ได้รับมาจากการสกรีน 2 เรื่องหลักๆ คือ บ้านที่เน้นเรื่องการอนุรักษ์พลังงาน และบ้านที่ไม่ทำผิดตัวบทกฎหมาย ไม่ผิดพระราชบัญญัติการควบคุมก่อสร้าง เพื่อให้ลูกค้าเห็นความจริงว่าแม้ต้องลงทุนสูงกว่า แต่ในระยะยาวคุณจะได้ความคุ้มค่าคืนกลับไปเช่นกัน
ทุกรางวัลที่ได้รับสำคัญมากสำหรับเรา แต่ที่สำคัญที่สุดคือรางวัลแห่ง “ความเข้าใจ” จากลูกค้า สมัยก่อนเราต้องเป็นฝ่ายเรียกร้องให้ผู้บริโภคเลือกสร้างบ้านที่มิตรต่อสิ่งแวดล้อม วันนี้ผู้บริโภคจะถาม หรือเรียกร้องว่าบ้านที่เขาอยู่อาศัยประหยัดพลังงาน และรักษ์สิ่งแวดล้อมหรือเปล่า (ยิ้ม)
“เรื่องนี้ตอบโจทย์ นักธุรกิจรุ่นใหม่ที่มาร่วมงานกับเรามากที่สุด เพราะเขารู้สึกภาคภูมิใจที่ได้ทำธุรกิจ และเป็นหนึ่งเดียวที่สร้างบ้านอนุรักษ์พลังงานในท้องถิ่นของตัวเอง ภายใต้แบรนด์ พีดี เฮ้าส์ครับ
เราเองก็คิดไม่ถึงเหมือนกันว่า จะประสบความสำเร็จทางนี้อีกด้านหนึ่ง จากที่คิดแค่ว่า จะสร้างบ้านเพื่ออนาคตให้ลูกค้าพอใจ แต่ตอนนี้เราได้พันธมิตรอีกกลุ่มหนึ่งมาช่วยตะโกนให้ผู้บริโภคเข้าใจว่า ชีวิต และสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องเดียวกัน (ยิ้ม)
เราไม่หยุดดูแลสิ่งแวดล้อมหรอกครับ เพราะคิดเสมอว่ามีสิ่งแวดล้อมให้ดูแลดีกว่าไม่มี นโยบายรักษ์โลกห่วงใยสิ่งแวดล้อมของเราจากนี้ จะลงลึกไปในรายละเอียด ตั้งที่มาของวัตถุดิบ เสาะหา และเปรียบเทียบบันทึก เพื่อขวนขวายค้นหา Innovation ใหม่ๆ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ลดใช้แรงงานคน ลดกระบวนสร้างบ้าน เพื่อทำให้มีเศษวัสดุเหลือน้อยที่สุด และคุ้มค่าที่สุด นอกจากเราแล้ว ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรา ก็ต้องรักษ์สิ่งแวดล้อม และห่วงใยโลก เหมือนกับเราด้วยครับ”
กำลังโหลดความคิดเห็น