ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - หลังจากแอบมองการเมืองในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาอย่างเงียบๆ เป็นเวลา 2 ปี ล่าสุด นายธีรยุทธ บุญมี นักวิชาการ นักวิจารณ์สังคม อดีตผู้อำนวยการสถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย ก็ขึ้นเวทีในงานวัน "สัญญา ธรรมศักดิ์" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 5 เมษายน ที่ผ่านมา
วิเคราะห์ วิจารณ์ สังคม และ "เขย่าเรือแปะ"ได้อย่างถึงใจผู้ฟัง ผู้ชม
โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องการปฏิรูป ที่ คสช.ยกมาเป็นเงื่อนไข ข้ออ้าง ในการเข้าสู่อำนาจ และเผยไต๋ออกมาแล้วว่าจะขออยู่ในอำนาจอีกต่อไปเป็นเวลา 5 ปี เพียงแต่เลี่ยงไปใช้คำว่า "ช่วงเปลี่ยนผ่าน" เพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ไม่ให้กลับไปสู่ความขัดแย้งเหมือนที่ผ่านมา โดยการใช้อำนาจผ่านทาง ส.ว.สรรหา 250 คนที่ คสช.จะเป็นคนเลือกจิ้มขึ้นมาเอง
นายธีรยุทธ พูดชัดว่าไม่เห็นด้วยกับวิธีการปฏิรูปประเทศของ คสช. ที่โยนให้นักกฎหมาย ร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาแก้ปัญหา ทั้งที่เรื่องนี้เป็นปัญหาในเชิงโครงสร้าง และอำนาจที่ไม่มีความสมดุล ระหว่างประชาชน ข้าราชการ นักการเมือง และฝ่ายตรวจสอบ จึงไม่เชื่อว่าจะใช้การร่างรัฐธรรมนูญ แบบตามใจแป๊ะ แก้ปัญหานี้ได้
จึงรู้สึกเสียดายเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ของคสช.ในการเข้ามาปฏิรูปประเทศ ทั้งที่กุมอำนาจเบ็ดเสร็จ เด็ดขาด แต่ไม่ได้ใช้อำนาจนั้นเพื่อการปฏิรูปที่ยั่งยืน
"หัวใจสำคัญที่สุดของการปฏิรูปก็คือ การส่งเสริม สนับสนุน สร้างเครือข่ายกลไกอำนาจ และค่านิยมความรับผิดชอบของภาคสังคม และชุมชนขึ้นมา เพื่อถ่วงดุลกับการใช้อิทธิพลอำนาจเกินขอบเขตกติกา ของทั้งนักการเมือง ข้าราชการ และกลุ่มอิทธิพล การแก้ปัญหาหาบเร่ แผงลอย วินมอเตอร์ไซค์ได้อย่างยั่งยืนนั้น แก้ได้โดยอำนาจของชุมชน และการปกครองท้องถิ่น โดยไม่จำเป็นต้องใช้การรัฐประหาร หรืออำนาจตามมาตรา 44 แต่อย่างใด"
นายธีรยุทธ เสนอว่า แนวทางการปฏิรูปประเทศที่ถูกที่ควรคือ ต้องดึงประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิรูปประเทศ ต้องสร้างอำนาจให้ประชาชนในท้องถิ่นร่วมกันดูแล ตรวจสอบฝ่ายบริหาร จึงจะมีความยั่งยืน ต่างจากการใช้อำนาจจากส่วนบนลงไป เพราะเมื่ออำนาจเปลี่ยนมือ ปัญหาต่างๆ ก็จะวนกลับมาเป็นเหมือนเดิม
ขณะนี้ยังเหลือเวลาอีก 1 ปีเศษ กว่าจะมีการเลือกตั้ง จึงหวังว่าคสช. จะผลักดันให้ประชาชนได้ฝึกใช้อำนาจของตัวเองที่มีอยู่ แม้จะทำได้ยาก แต่ก็ควรที่จะต้องทำ โดยไม่ต้องไปรอว่าจะทำในช่วง 5 ปี หลังการเลือกตั้ง
"ในคำอธิบายของ คสช. ที่เป็นห่วงเกี่ยวกับเรื่องความขัดแย้งนั้น ดูเหมือนว่าอยากดูแลสถานการณ์ต่ออีก 5 ปี ผมมองว่าคสช.ไม่ได้แสดงความมุ่งมั่นในเรื่องการปฏิรูป ไม่ผูกพันภารกิจปฏิรูปกับกองทัพตั้งแต่ต้น การที่รัฐบาลพลเรือนถูกมองว่าอ่อนแอ ปฏิรูปไม่ได้ ก็พอรับฟังได้ แต่ในขณะที่ คสช. มีอำนาจมากเต็มที่ ถ้าไม่เริ่มทำตอนนี้ รัฐบาลจากการเลือกตั้งมีความพร้อมน้อยกว่ารัฐบาลปัจจุบันแน่นอน แล้วจะขอเวลาดูทำไมอีก 5 ปี จะได้ทำหรือ มันขัดแย้งในตัวเอง และไม่สร้างความเชื่อมั่นเลย"
เป็นการฉายภาพให้เห็นว่า 2 ปีที่ผ่านมา เรื่องใหญ่ๆ หลักๆ ที่ประชาชนต้องการให้มีการปฏิรูป แต่คสช. ก็ไม่ได้ทำ ไปจับเรื่องหยุมหยิม เล็กๆ น้อยๆ แต่ปัญหาใหญ่ๆ ปล่อยให้คาราคาซัง แล้วจะขอเวลาอยู่อีก 5 ปีนั้น บอกล่วงหน้าได้เลยว่า เหลว !!
เรื่องใหญ่ๆ ที่ว่า ก็คือ เรื่องการปฏิรูปตำรวจ การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ที่เป็นต้นเหตุหนึ่งของ "ความเหลื่อมล้ำ" การปฏิรูปพลังงาน หยุดการกอบโกยของนายทุน ปฏิรูปเรื่องการอนุรักษ์ป่า รักษาสิ่งแวดล้อม เรื่องเหล่านี้ คสช.แทบไม่ได้แตะ ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องเร่งด่วน ที่ประชาชนต้องการเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม
ซึ่งเรื่องเหล่านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคสช. และนายกรัฐมนตรี ก็รู้อยู่แก่ใจว่า ตัวเองยังไม่ได้ออกแรง หรือทุ่มเทอย่างเต็มที่ หรือในบางเรื่องอยากจะทำแต่ก็ติดขัดที่กลัวปัญหาจะบานปลาย กลายเป็นความขัดแย้งภายในขั้วอำนาจของคสช.เสียเอง ดังนั้นเมื่อถูกสื่อมวลชนทวงถาม ก็จะใช้ลูกถนัดในการเบี่ยงเบนประเด็น คือ ออกอาการโมโห ฉุนเฉียว แล้วก็จบด้วยการทวงบุญคุณ
ที่ชัดเจน และจี้ใจดำที่สุดก็คือ เรื่องการปฏิรูปตำรวจ ที่ประชาชนอยากเห็นที่สุด แต่ พล.อ.ประยุทธ์ มักอ้างว่า ต้องใช้เวลา ทำให้ไม่ทัน ต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลหน้า
ความเปลี่ยนแปลงในส่วนของตำรวจ ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจึงมีเพียง การโยกย้ายเอานายตำรวจระดับสูง ที่เคยเป็นเครือข่ายการเมืองในกลุ่ม อำนาจเก่าออกไป สลับสับเปลี่ยนเอาคนในเครือข่ายอำนาจใหม่ เข้ามาแทน หรือหากบางคนที่แม้จะอยู่ในกลุ่มอำนาจเก่า แต่ถ้าสามารถประนีประนอมกันได้ ก็ยังสามารถอยู่ดี มีสุข
นายธีรยุทธ ยังโฟกัสไปที่ "ใบสั่งคสช." ในการยกร่างรัฐธรรมนูญ ให้มี ส.ว.สรรหา 250 คน เท่ากับว่าเอาหลักการประชาธิปไตยไปเสียสละด้วยข้ออ้างที่จะดูแลการปฏิรูป ซึ่งผลที่จะตามมาคือ จะเป็นรัฐธรรมนูญที่มีแนวโน้มทำให้เกิด "รัฐราชการ" และมีความเป็นอนุรักษ์นิยม ซึ่งมาจากพื้นฐานเดิมของกองทัพ และคาดการณ์ได้เลยว่า ส.ว.สรรหา ส่วนใหญ่ก็จะมาจากบุคคลที่แวดล้อม คสช. อยู่ในตอนนี้ ที่ยังเป็นข้าราชการ หรือที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว
ยิ่งบรรดาลิ่วล้อใน สปท. และ สนช. พยายามจะชง"คำถามพ่วง" ในการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ ส.ว.สรรหา มีอำนาจเข้าไปร่วมเลือกตัวนายกรัฐมนตรีด้วยแล้ว หากทำสำเร็จ ความเป็น"รัฐราชการ" ก็จะยิ่งเด่นชัดขึ้น
สำหรับประชาชน คนยากจนที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศก็ยังคงเป็นเพียง"เบี้ย" ในทางการเมืองของผู้มีอำนาจ เบี้ยในทางเศรษฐกิจของกลุ่มทุน ต่อไป
อย่างไรก็ตาม นายธีรยุทธ ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นถึงการลงประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพียงตั้งข้อสังเกตว่า ?ในสถานการณ์ปัจจุบัน พบว่าคะแนนนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังมีอยู่ ซึ่งอาจมองได้ว่า เป็นเพราะประชาชนมีความกลัว ความเบื่อ ความวิตก ความระแวง กับการชุมนุมที่วุ่นวาย จึงทำให้กองทัพอาจยังคงอยู่ได้ รวมถึงนโยบายของกองทัพที่คิดขึ้นมา และไม่พบเสียงคัดค้าน ทั้งที่การแก้ปัญหาบางอย่าง เป็นการใช้ความรู้สึก และอาจเป็นปัญหาในระยะยาวได้
จากการวิเคราะห์ของนายธีรยุทธ ถึงสถานการณ์ และแนวโน้มความเป็นไปของบ้านเมืองในยุค คสช.ครองเมืองนั้น แม้รัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติ มีการเลือกตั้ง และมีรัฐบาลใหม่ แต่อย่าได้หวังว่าในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี ตามที่คสช.ขอมีอำนาจอยู่ต่อนั้น จะได้เห็นการปฏิรูปอย่างเป็นรูปธรรม ให้ประชาชนได้ชื่นใจ
ดังนั้น อย่าให้ "ปฏิรูป" ถูกจับเป็นตัวประกัน เพื่อแลกกับความอยู่รอดปลอดภัยของ "เรือแป๊ะ"