xs
xsm
sm
md
lg

‘นวัตกรรม’พาอดีตสมรภูมิแยกดินแดน ‘พ้นความจน’

เผยแพร่:   โดย: อามันธา เปเรรา

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Innovation offers hope in Sri Lanka's north
By Amantha Perera
25/08/2014

ห้าปีหลังกบฏพยัคฆ์ทมิฬอีแลมถูกปราบปรามราบคาบ และแผ่นดินรบแผ่นดินเลือดในภูมิภาคตอนเหนือของประเทศศรีลังกากลายเป็นดินแดนที่มีสันติภาพ แต่ความเจริญรุ่งเรืองก็ยังไม่เกิดขึ้นแก่ชีวิตของผู้คนซึ่งยากจนแสนสาหัส ส่งผลให้เหล่าผู้ที่รอดตายจากยุคแผ่นดินรบแผ่นดินเลือดต้องต่อสู้ต่อไปเพื่อเอาชีวิตให้รอดพ้นจากความอดอยาก ในการนี้ หลายท่านประสบความสำเร็จจากการพัฒนานวัตกรรมมาสร้างรายได้ให้มากที่สุดจากทรัพยากรที่พอจะมีอยู่ให้ใช้งานได้บ้าง

ออดดูสูดดาน, ศรีลังกา – ภายในหมู่บ้านแห่งหนึ่งลึกเข้าในเขตพื้นที่อดีตความขัดแย้งเลือดนองแผ่นดินของศรีลังกา ชาวบ้านจะอวดให้ผู้มาเยือนได้ตระหนักถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนดิน

ในหมู่บ้านออดดูสูดดาน (Oddusuddan) เขตมูลไลติวู (Mullaitivu) ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงโคลัมโบไปทางเหนือประมาณ 338 กิโลเมตร ผู้คนเชื่อกันว่าผืนดินของหมู่บ้านมีความอุดมสมบูรณ์อย่างมาก ปลูกอะไรก็งาม กระนั้นก็ตาม นางมาเชวารี เวลลูพิไล (Mashewari Vellupillai) คุณแม่ใบเลี้ยงเดี่ยววัย 53 ปี ตระหนักในใจว่าลำพังแค่มีผืนดินแสนดีนั้น ไม่เพียงพอจะนำไปสู่อนาคตที่มั่นคงได้จริง

30 ปีของยุคสงครามกลางเมืองยืดเยื้อในจังหวัดภาคเหนือ (Northern Province) แห่งนี้ของศรีลังกา จบลงโดยที่กลุ่มแบ่งแยกดินแดนซึ่งมีนามว่า กลุ่มพยัคฆ์ปลดปล่อยแห่งทมิฬอีแลม (Liberation Tigers of Tamil Eelam หรือ LTTE) ถูกฝ่ายรัฐบาลปราบปรามราบคาบเมื่อเดือนพฤษภาคม 2009 แต่ห้าปีที่ผ่านมาในความสงบสันติจากการสู้รบยังไม่สามารถสร้างความรุ่งเรืองให้แก่ผู้คนในอดีตสมรภูมิแห่งนี้

แม้จะมีการนำโครงการความช่วยเหลือเพื่อฟื้นฟูและสร้างงานให้แก่ผู้คนบ้าง แต่ก็นับว่าน้อยมาก ชาวบ้านเล่าว่าการต่อสู้เพื่อความอยู่รอดต้องพึ่งพิงการคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาสร้างรายได้ให้มากที่สุดจากทรัพยากรที่พอจะมีอยู่ให้ใช้งานได้บ้าง

ที่ผ่านมา ประชากรไม่น้อยกว่า 30% ในจังหวัดภาคเหนือแห่งนี้ สร้างรายได้จากการทำงานในภาคเกษตร หรือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการเกษตร แต่แล้ว หายนะความแห้งแล้งเรื้อรังนานกว่า 10 เดือน ได้เล่นงานบรรดาเกษตรกรที่มุ่งอยู่กับการปลูกพืชประเภทเดียวในแต่ละฤดูกาล

อย่างไรก็ตาม ในกรณีของเวลลูพิไล เธอเอาตัวรอดได้ เพราะเธอสรุปบทเรียนจากการเพาะปลูกล้มเหลวเมื่อหนึ่งปีก่อนหน้า ซึ่งทำให้เธอสูญเสียไปราว 5 หมื่นรูปี (ประมาณ 384 ดอลลาร์สหรัฐฯ) กล่าวคือ ในปีนี้ เธอลงเม็ดพันธุ์สารพัดประเภทลงเต็มผืนดิน 2 เอเคอร์ (ประมาณ 5 ไร่) รอบบ้านหลังเล็กที่ยังปลูกสร้างค้างคาไว้ โดยมีตั้งแต่หอมใหญ่และกล้วย ไปจนถึงมันสำปะหลัง มะเขือยาว และยาสูบ

นอกจากนั้น เธอยังทำนาข้าวในที่นา 2 เอเคอร์ และจ้างแรงงานมาทำการเก็บเกี่ยว

ผลปรากฏว่ายาสูบเป็นผลผลิตที่ทำกำไรให้เวลลูพิไลมากที่สุด ตกประมาณ 1 หมื่นรูปีต่อเดือน

“ดิฉันไม่สามารถจะเสี่ยงที่จะพึ่งพิงอยู่กับแหล่งรายได้แหล่งเดียว ดิฉันต้องทำให้ตนเองมีทางเผื่อเหลือเผื่อขาดเอาไว้” เวลลูพิไลกล่าวกับผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส (Inter Press Service ใช้อักษรย่อว่า IPS) พร้อมกับเล่าถึงชะตากรรมของชาวบ้านรายอื่นๆ ซึ่งตกเป็นเหยื่อเพราะเจอสภาพการณ์ที่ตลาดถูกบิดเบือนจนกลายเป็นตลาดของผู้ซื้อเมื่อปี 2011 กล่าวคือ ชาวบ้านในออดดูสูดดานส่วนใหญ่แห่กันไปปลูกมะเขือยาว เพียงเพื่อจะต้องประสบปัญหาว่าผู้รับซื้อผลผลิตที่มาจากเมืองวาวูนิยะ (Vavuniya) (อยู่ห่างไปทางทิศใต้ประมาณ 60 กิโลเมตร) ทำการปั่นตลาดจนกระทั่งราคามะเขือยาวตกต่ำลงติดดิน

หลังจากที่รัฐบาลศรีลังกาปราบปรามฝ่าย LTTE ได้อย่างราบคาบ ผู้คนกว่า 4 แสนชีวิตซึ่งรวมถึงเวลลูพิไลด้วย ได้พากันอพยพกลับสู่หมู่บ้าน หลังจากที่หนีภัยสงครามกลางเมืองในช่วงท้ายๆ ของการสู้รบ

ถัดจากนั้น รัฐบาลทุ่มเทงบประมาณมากกว่า 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดมหึมา เพื่อฟื้นฟูบูรณะดินแดนแห่งนี้อย่างขนานใหญ่ อาทิ รางรถไฟ ถนน และระบบไฟฟ้า

กระนั้นก็ตาม ชีวิตของผู้คนยังทุกข์ยากแสนเข็ญ ดังปรากฏในตัวเลขสถิติที่รัฐบาลประกาศเมื่อไตรมาสแรกของปีนี้ซึ่งบ่งชี้ว่าความยากจนยังรุนแรงสาหัส ทั้งนี้ มี 4 เขตจาก 5 เขตของจังหวัด ที่ทำสถิติสูงกว่าตัวเลขเฉลี่ยของทั่วประเทศซึ่งอยู่ที่ 6.7%

ในจำนวนดังกล่าว มี 3 เขตที่โดดเด่นได้แก่ กิลิโนคคี (Kilinochchi) มานนาร์ (Mannar) และมูลไลติวู ซึ่งทำสถิติอัตราความยากจน ณ ระดับ 12.7%, 20.1% และ 28.8% ตามลำดับ ทั้งนี้ เป็นรายงานการสำรวจสัดส่วนระหว่างจำนวนคนยากจนต่อประชากรทั้งหมด ฉบับล่าสุดซึ่งรัฐบาลเผยแพร่ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าตัวเลขดังกล่าวไม่ใช่เรื่องที่ต้องประหลาดใจ ในเมื่อพื้นที่เหล่านี้เป็นเขตที่ได้รับความเสียหายจากสงครามร้ายแรงที่สุด และยังอยู่ในระยะที่สาหัสที่สุดของช่วงรอยต่อความเปลี่ยนแปลงสืบเนื่องจากผลกระทบจากสงคราม

แน่นอนว่าอัตราการว่างงานในพื้นที่เหล่านี้ก็ดุเดือดกว่าอัตราว่างงานเฉลี่ยทั่วประเทศ และแม้ไม่มีตัวเลขสถิติของทางการที่บ่งบอกอัตราว่างงานรวมในจังหวัดภาคเหนือ แต่สำหรับในเขตคิลิโนคคี และเขตมานนาร์ ได้มีการจัดทำสถิติไว้ กล่าวคือ อัตราว่างงานในเขตคิลิโนคคี อยู่ที่ 9.3% ส่วนในเขตมานนาร์ อยู่ที่ 8.1% เทียบเท่ากับกว่าสองเท่าตัวของอัตราระดับประเทศ ซึ่งอยู่ที่ 4%

นักเศรษฐศาสตร์ที่ปฏิบัติงานอยู่ในภูมิภาคนี้ประมาณการด้วยความชำนาญส่วนตัวว่า ในบางเขตของจังหวัดภาคเหนือแห่งนี้ อัตราว่างงานน่าจะพุ่งถึง 30%

ความขาดแคลนด้านที่อยู่อาศัยอันเหมาะสมเป็นอีกส่วนหนึ่งของปัญหาสารพัดในจังหวัดภาคเหนือของศรีลังกา กล่าวคือ จากคำร้องขอบ้านที่อยู่อาศัยจำนวน 143,000 คำร้องซึ่งมาจากชาวบ้านที่อพยพกลับถิ่นฐานหลังสงครามกลางเมืองปิดฉาก รัฐบาลได้ส่งมอบให้แก่ประชาชนไปแล้วเพียง 41,000 หลัง สำหรับอีก 10,500 หลัง ยังอยู่ระหว่างก่อสร้าง

ข้อมูลจากโครงการพัฒนาการตั้งถิ่นฐานมนุษย์ของสหประชาชาติ หรือ UN Habitat ชี้ว่า กองทุนตั้งต้นสำหรับเรื่องดังกล่าวสามารถสร้างได้ 83,000 หลัง (จำนวนนี้รวมบ้านที่สร้างเสร็จแล้วทั้งหมด) ปัจจุบันยังไม่มีเงินทุนเพื่อสนับสนุนการก่อสร้างตามคำร้องขออีกจำนวน 60,000 หลัง

“สำหรับผู้ที่สามารถปรับปรุงลักษณะการทำงานของตนได้ หรือรู้จักใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ได้ดี ... จะมีชีวิตความเป็นอยู่ดีกว่าผู้อื่น” เซลลามุธธู ศรีนิวสันต์ (Sellamuththu Srinivasan) เจ้าหน้าที่อาวุโสระดับอำเภอ ที่ประจำอยู่ที่ เขตคิลิโนคคี กล่าวกับสำนักข่าวไอพีเอส

นั่นคือสิ่งที่นายเวลูพิลไล เซลวารัตนัม (Velupillai Selvarathnam) แห่งมูลไลติวูทำอยู่

เดิมเขาเป็นคนขับรถบรรทุก หลังสงครามยุติ เขาลงทุนเช่ารถเล็กๆ คันหนึ่งเพื่อใช้เดินทางระหว่างกรุงโคลัมโบกับมูลไลติวู เขานำเสื้อผ้าสำเร็จรูปมาขายในร้านเล็กๆ ของเขาซึ่งตั้งอยู่ใกล้เมืองพูธุกคูดีย์อิรูปปู (Puthukkudiyiruppu) อันเป็นเมืองใหญ่ของเขตมูลไลติวู

“ผมทำกำไรได้ประมาณ 25,000 รูปีทุกเดือน” เขาให้สัมภาษณ์ไอพีเอส

ตัวเลขขนาดนั้นถือว่าดีทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อคำนึงว่านี่เป็นเขตที่ยากจนที่สุดหนึ่งในห้าเขตของศรีลังกา และเป็นพื้นที่ที่รายได้เฉลี่ยต่อเดือนของผู้คนยังต่ำกว่า 4,000 รูปี

นายเซลวารัตนัม มีรอยแผลเป็นฝังลึกและยาวจากบริเวณข้างอกลงไปถึงช่วงท้อง อันเป็นผลจากถูกสะเก็ดลูกปืนใหญ่ในช่วงสงครามกลางเมือง เขาเล่าให้ไอพีเอสฟังว่า “คุณต้องลุกขึ้นมาทำโน่นทำนี่ มิฉะนั้นก็จะไม่มีเงินติดบ้านเลย”

แผนธุรกิจในระยะต่อไปของเขาคือ จะเดินทางไปอินเดียเพื่อนำเข้าเสื้อผ้าเป็นล็อตใหญ่ๆ มาขายในท้องถิ่น เพราะต้นทุนเฉลี่ยต่อชิ้นจะต่ำลงอย่างมหาศาล

ละม้ายกันกับเคสดังกล่าวคือ นางเวลวรสา สิถาเทวี (Velvarasa Sithadevi) สมาชิกหมู่บ้านออดดูสูดดาน ซึ่งจับธุรกิจล้นมือ เธอต้องเลี้ยงดูบุตรชายวัย 25 ปี ซึ่งยังป่วยด้วยโรคเครียดจากสงคราม ตลอดจนสามีซึ่งยังรักษาตัวจากบาดแผลสงคราม

ในปี 2011ครอบครัวนี้ได้รับเงินช่วยเหลือ 25,000 รูปีจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอชซีอาร์) เพื่อช่วยเหลือสนับสนุนให้ผู้ลี้ภัยกลับคืนถิ่นฐาน คุณสิถาเทวีนำเงินไปลงทุนตั้งร้านค้าเล็กๆ ขึ้น

“ครอบครัวดิฉันอาศัยอยู่ในห้องด้านหลัง ที่ทางแค่นี้เหลือเฟือให้พออยู่พอกินได้” เธอกล่าว

จุดแข็งของสิถาเทวีคือ เธอเป็นแม่ครัวที่เก่ง เธอขายผลิตภัณฑ์อาหารในร้านเล็กๆ ริมถนนแห่งนี้

“เป็นธุรกิจที่ดีค่ะ ลูกค้าของดิฉันส่วนใหญ่คือผู้คนที่มาทำงานตามท้องถนนและสถานที่ก่อสร้างต่างๆ” เธอเล่าด้วยว่าเธอทำรายได้ตกวันละประมาณ 4,000 รูปี

แม้จะมีเรื่องราวความสำเร็จของบุคคลต่างๆ ปรากฏอย่างมากมาย แต่ก็มีผู้คนอีกหลายพันรายซึ่งยังไม่สามารถก้าวพ้นออกมาจากวงจรความยากจนภายในภูมิภาคแห่งนี้

บุคลากรภาครัฐอย่างศรีนิวสันต์ให้ความเห็นว่า หากความช่วยเหลือมีเข้ามามากขึ้น สถานการณ์โดยรวมจะกระเตื้องขึ้นเยอะ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีวี่แววว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นในเร็ววัน

“ทางเลือกต่อไปคือการดึงดูดการลงทุนเอกชนเข้ามา เรากำลังเจรจากับหลายบริษัทจากจังหวัดในภาคใต้ ที่ผ่านมานับว่าคืบหน้าพอใช้ แต่เราต้องเร่งเรื่องนี้ให้มากเลยครับ” ศรีนิวสันต์กล่าวย้ำ

ข้อเขียนชิ้นนี้มาจาก สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส (ไอพีเอส) http://www.ipsnews.net ซึ่งเป็นสถาบันเพื่อการสื่อสารระหว่างประเทศที่มีสำนักข่าวระดับโลกเป็นแกนกลาง ไอพีเอสก่อตั้งขึ้นในปี 1964 มีความชำนาญเป็นพิเศษในการเสนอข่าวด้านพัฒนาการทางสังคมและเศรษฐกิจ, สิทธิมนุษยชน, สิ่งแวดล้อม, ตลอดจนเรื่องนโยบายการต่างประเทศของพวกมหาอำนาจพัฒนาแล้ว ซึ่งมองจากแง่มุมของการที่พวกเขามีปฏิสัมพันธ์กับพวกประเทศกำลังพัฒนา
กำลังโหลดความคิดเห็น