ต้นไม้ ไม่ว่าในป่าธรรมชาติ สวนป่า สวนสาธารณะ หรือ ริมถนน ล้วนมีบทบาทช่วยกักเก็บคาร์บอน โดยเริ่มที่การดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จากบรรยากาศแล้วนำไปสร้างสารอินทรีย์ที่มีคาร์บอนเป็นองค์ประกอบ และนำไปกักเก็บไว้ตามส่วนต่างๆ ตั้งแต่ ลำต้น กิ่ง ใบ และ ราก
ทุกวันนี้คนจำนวนมากทั่วโลกมองเห็นความสำคัญของการปกป้องป่าไม้ โดย “การปลูกป่า” ในเวทีระดับโลกนั้นให้ความสำคัญกับการลดการทำลายป่าซึ่งมักจะเกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนาในเขตร้อน เนื่องจากความต้องการพื้นที่เพื่อการเกษตรกรรมที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ ตามจำนวนที่เพิ่มขึ้นของประชากร และหลายพื้นที่มีการตัดไม้จนเกินกำลังผลิตทดแทนของป่า และเป็นสาเหตุที่ทำให้ป่าเสื่อมโทรม
“การปลูกป่า” กิจกรรมหนึ่งในเวทีโลกจึงได้กำหนดให้สามารถดำเนินการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกบนพื้นฐานของความสมัครใจภายใต้กลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism) ของพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) หรือที่รู้จักกันดีในชื่อของ “CDM” ซึ่งเป็นกิจกรรมการปลูกป่าในพื้นที่ที่เคยเป็นป่าและไม่เคยเป็นป่ามาก่อนก็ได้
ทั้งนี้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำการศึกษาพรรณไม้ที่มีศักยภาพสำหรับปลูก ภายใต้โครงการ CDM พบว่า การปลูกสวนป่าไม้สักที่มีรอบตัดฟันประมาณ 30 ปี สามารถดูดซับ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 1.36-2.16 ตันต่อไร่ต่อปี ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของพื้นที่ปลูก เมื่อตัดฟันแล้วนำไม้สักจากสวนป่าไปใช้ประโยชน์ในการสร้างบ้าน ทำเฟอร์นิเจอร์ หรือเครื่องใช้อื่นๆ ที่มีอายุยืนนาน ไม้สักเหล่านั้นสามารถกักเก็บคาร์บอนได้ตลอดอายุการใช้งาน และเมื่อทำการปลูกใหม่สวนสักที่ปลูกใหม่เหล่านั้นก็ยังคงดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทดแทนได้ต่อไป
ในขณะที่ชนิดของต้นไม้โตเร็ว เช่น กระถินเทพา กระถินเทพ และยูคาลิปตัส เป็นต้น สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้สูงสุดมากกว่า 6 ตันต่อไร่ต่อปี ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของพื้นที่ปลูก ด้านศักยภาพในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของการปลูกพรรณไม้ต่างๆ สามารถหารายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก “คู่มือศักยภาพของพรรณไม้สำหรับส่งเสริมภายใต้โครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาดภาคป่าไม้” จัดพิมพ์โดย องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ร่วมกับ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
จะเห็นว่าโครงการปลูกป่าเพื่อกักเก็บคาร์บอนในตลาดภาคสมัครใจ เป็นการดำเนินงานที่อยู่นอกกรอบพิธีสารเกียวโตซึ่งมีกฎเกณฑ์เข้มงวดน้อยกว่าการดำเนินงานภายใต้พิธีสารเกียวโต จึงสามารถขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว สำหรับในประเทศไทยก็มีกิจกรรมหลายรูปแบบ ที่เกี่ยวข้องกับการลดก๊าซเรือนกระจก และเพิ่มการกักเก็บคาร์บอนในภาคป่าไม้ โดยมีรูปแบบกิจกรรม เช่น ธนาคารต้นไม้ ป่าชุมชน การปลูกป่าในระบบวนเกษตร การปลูกและฟื้นฟูป่าของภาคเอกชนในรูปแบบ CSR หรือการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม เป็นต้น
แม้ว่าปรากฏการณ์ก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas Effect) หรือเรียกว่า ภาวะโลกร้อน (global warming) มีสาเหตุสำคัญมากกว่าร้อยละ 75 จากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงประเภทฟอสซิล (Fossil Fuels) เช่น ถ่านหิน น้ำมันปิโตรเลียม และก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น ในขณะที่การสูญเสียคาร์บอนจากการทำลายป่าในเขตร้อนจากการเปลี่ยนเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ดูจะเป็นเรื่องสำคัญรองลงมา แต่ก็เป็นแนวทางของมนุษย์ที่จะช่วยลดอุณหภูมิของโลก และสร้างวิถีการอยู่ร่วมกับทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุล