xs
xsm
sm
md
lg

Green Energy : ตอบโจทย์ธุรกิจยุค AEC เจาะลึกหนทางชนะคู่แข่งแบบยั่งยืน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เพราะการใช้พลังงานเป็นสิ่งสำคัญของทุกองค์กรที่จะต้องให้ความตระหนักเพิ่มขึ้น "พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม" ซึ่งสามารถใช้เป็นพลังงานหลัก จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อได้รับข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญทำให้องค์กรต่างๆ สามารถนำไปปรับประยุกต์ใช้ได้ และเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อเอาชนะคู่แข่ง
การเสวนาในหัวข้อ “เตรียมความพร้อมธุรกิจไทย มีชัยเหนือคู่แข่งในยุค AEC” ภายใต้โครงการ “ดาว เคมิคอล เพื่ออุตสาหกรรมยั่งยืน” ปี 2 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ เป็นความร่วมมือระหว่างบริษัท ดาว เคมิคอล ประเทศไทย จำกัด สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อให้ผู้ประกอบการและผู้บริหารนำเอาหลักการต่างๆ และประสบการณ์จากผู้ที่มีความเชี่ยวชาญไปใช้ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด
สร้างความได้เปรียบ
ด้วยนวัตกรรมเพื่อลดต้นทุน
ในการเสวนาเรื่อง “นวัตกรรมเพื่อลดต้นทุน : สร้างความได้เปรียบทางธุรกิจ” ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า เนื่องจากนวัตกรรมเพื่อลดต้นทุนจะเป็นประเด็นหลักในการเชื่อมโยงธุรกิจต่างๆ ของประเทศไทยกับการเข้าสู่เออีซี โดยในบางกลุ่มธุรกิจผู้ประกอบการต้องมีความพร้อมในการดำเนินธุรกิจเพื่อให้อยู่รอดได้ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ในขณะที่อีกกลุ่มธุรกิจต้องหาช่องทางที่จะได้เปรียบในเชิงธุรกิจกับโอกาสที่เปิดกว้างขึ้น
สำหรับประเด็นในเรื่องต้นทุนด้านพลังงาน ในภาพรวมประเทศไทยใช้พลังงานในปริมาณมากเพื่อการผลิตสินค้าและบริการเมื่อเปรียบเทียบกับหลายๆ ประเทศ ดังนั้น ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องพัฒนาการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แม้ว่าจะมีการดำเนินการในเรื่องนี้มาพอสมควรแล้วก็ตาม
ในปัจจุบันประเทศไทยมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายพลังงาน หรือ Energy Expenditure ซึ่งมาจากค่าใช้จ่ายทุกรูปแบบเมื่อเทียบกับ GDP อยู่ที่ประมาณ 18-19% หรือทุกหนึ่งร้อยบาทที่เป็นรายได้ของคนไทยเป็นการใช้จ่ายด้านพลังงานประมาณ 18-19 บาท
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าต้นทุนพลังงานเป็นส่วนที่สามารถบริหารจัดการได้อย่างแน่นอน แต่ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ คือ หนึ่ง มีความต้องการหรือตั้งใจที่จะทำหรือไม่ สอง มีนวัตกรรมที่จะช่วยในการบริหารหรือไม่ และสาม มีทีมงานหรือผู้บริหารที่ดำเนินการในเรื่องนี้ได้หรือไม่
ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร
ในวันนี้ เป็นยุคที่ต้องรู้จักคำว่า “Big Data” เพราะปัจจุบันมีนวัตกรรมบางประเภทที่ใช้ระบบ Automation เช่น Home Automation หรือ Factory Automation ซึ่งเป็นการรวบรวมข้อมูล และนำข้อมูลนั้นมาสื่อสารเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรม
ทั้งนี้ นวัตกรรม Home Automation ซึ่งเรียกได้อีกอย่างว่า Smart Technology เพราะเป็นระบบอัจฉริยะที่ให้ข้อมูลทั้งดีมานด์และซัพพลายแบบ realtime สำหรับโรงงาน หากโรงงานใดมีแหล่งพลังงานมากกว่าหนึ่งแหล่ง เช่น มีการผลิตเองบางส่วน มีการนำเข้าไปใช้ด้วยการผ่านสายส่ง จึงทำให้มีโอกาสเลือกต้นทุนที่ถูก และนำเข้าสู่ระบบในส่วนที่ต้องการ
ยกตัวอย่าง โรงงานหนึ่งที่เป็นพันธมิตรกับบริษัท ดาว เคมิคอล จะนำพลังงานแสงอาทิตย์จากหลังคามาใช้เป็นพลังงานภายในโรงงาน เช่น ระบบแสงสว่างในโรงงาน ฯลฯ เพื่อทดแทนพลังงานจากสายส่งปกติ
ดังนั้น ระบบ Automation ช่วยให้องค์กรสามารถบริหารจัดการต้นทุนพลังงาน นอกจากนี้ หากมีแหล่งพลังงานมากกว่าหนึ่งแหล่ง จึงเป็นโอกาสที่สามารถเลือกแหล่งที่มาของพลังงานได้ อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่การมีระบบ Automation หรือไม่ แต่อยู่ที่ความสามารถในการสื่อสารให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมได้หรือไม่?
เนื่องจากคำว่า Home Automation หมายถึงเทคนิคในการวัดข้อมูลการใช้พลังงานในทุกจุดที่มีการใช้พลังงาน ไม่ว่าจะเป็น หลอดไฟ เครื่องปรับอากาศ ฯลฯ หรือทุกตัวที่เป็นอุปกรณ์หลักที่ใช้ไฟฟ้า จะมีการวัดแล้วส่งมารวมที่สมองกล เช่น หากเป็นโรงงานเล็กก็คือคอมพิวเตอร์หนึ่งเครื่อง หากเป็นโรงงานใหม่ก็คือเน็ตเวิร์กหนึ่งตัว เพื่อจะวิเคราะห์ให้เห็นว่าโรงงานนั้นใช้พลังงานอย่างไรในปัจจุบัน โดยจุดสำคัญหรือหัวใจอยู่ที่การสามารถตัดสินใจได้หรือไม่เมื่อถึงจุดที่จะต้องลดการใช้ ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้คือ Big Data นั่นเอง
ตามที่ได้กล่าวไว้ว่า หัวใจของ Big Data อยู่ที่การเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ตามปกติผู้เข้าพักในโรงแรมส่วนมากมักจะไม่ให้ความสำคัญหรือใส่ใจกับการใช้ไฟฟ้าในห้องพักว่าจะมากหรือน้อยเพียงใด หรือให้ความสนใจในการประหยัดพลังงาน เพราะไม่ได้เกี่ยวข้องกับค่าห้องพักที่ต้องจ่ายตามที่กำหนดไว้อยู่แล้ว
แต่เมื่อโรงแรมแห่งนั้นมีการติด Home Automation ทุกห้องพัก โดยมีการบอกข้อมูลให้ผู้เข้าพักทราบว่าในห้องพักของตนเองมีการใช้ไฟฟ้าจำนวนเท่าใด ซึ่งในตอนที่เช็กอินจะได้รับทราบว่าสามารถใช้ไฟฟ้าได้เท่าใด เช่น ได้สิทธิ์ใช้คืนละหนึ่งร้อยหน่วย ซึ่งหากใช้เกินจะต้องจ่ายค่าห้องพักเต็มตามจำนวนที่กำหนดไว้ แต่ถ้าใช้ไม่เกินจะได้รับส่วนลด จึงเป็นการส่งสัญญาณให้ผู้เข้าพักได้รู้ว่ามีส่วนลดและจูงใจให้เกิดความต้องการอยากได้ส่วนลด ซึ่งหมายถึงทำให้เกิดการปลี่ยนพฤติกรรมเป็นการประหยัดพลังงานได้อย่างทันที จึงเป็นสัญญาณที่แตกต่างกันจากสัญญาณแรกที่ไม่ช่วยให้เกิดการประหยัดพลังงาน นี่คือตัวอย่างของการนำข้อมูลมาสื่อสารเพื่อให้เกิดการประหยัด ทั้งนี้ การประหยัด เป็นการจัดการพลังงานที่ช่วยให้เกิดการลดต้นทุนลงได้
เนื่องจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้ให้กับประเทศไทย มีการใช้พลังงานและทรัพยากรจำนวนมาก เช่น นักท่องเที่ยวหนึ่งคนใช้ไฟมากกว่าคนปกติหนึ่งเท่า ก่อให้เกิดขยะมากกว่าคนปกติสี่เท่า ดังนั้น แม้ว่าการที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเติบโตจะช่วยให้รายได้ของประเทศเติบโตตามไปด้วย แต่การใช้พลังงานจะสูงขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง
ในขณะที่ การใช้ไฟฟ้าของเมืองที่มีบ้านนับแสนนับล้านหลัง ใช้ระบบที่เรียกว่า Smart Grid ซึ่งเป็นการใช้ Big Data ในระบบเมือง อย่างไรก็ตาม หากไม่ใช้ Big Data เพื่อการจัดการพลังงานก็ได้ แต่จำเป็นต้องอาศัยคนทั้งองค์กรหรือทั้งโรงงานหรือทั้งชุมชนหรือทั้งอาคาร
ยกตัวอย่าง มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงซึ่งพยายามปลูกฝังดีเอ็นอีของพนักงานและเจ้าหน้าที่ทุกคนให้รู้ซึ้งถึงการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า ซึ่งพลังงานคือหนึ่งในนั้น ด้วยการทำผ่านกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ เช่น การแข่งขัน การแบ่งปันหรือแชร์ข้อมูลและประสบการณ์ ฯลฯ โดยผู้นำองค์กรมีความมุ่งมั่นตั้งใจจริง เช่น การยอมลงทุนเปลี่ยนอุปกรณ์และเครื่องใช้ต่างๆ ที่ช่วยให้เกิดการประหยัดพลังงานเพิ่มขึ้น เป็นต้น จะเห็นได้ว่าพฤติกรรมต่างๆ เหล่านี้ เมื่อเปลี่ยนแปลงได้แล้วทำให้เกิดการลดต้นทุนขององค์กรลงได้และยังเพิ่มขีดความสามารถให้มากขึ้นได้ในอนาคต
นอกจากนี้ ยังมีอาคารต่างๆ ที่ให้ความสำคัญในการสื่อสารให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อการประหยัดพลังงานและนำไปสู่การลดต้นทุน เช่น อาคารฟอร์จูนทาวเวอร์ ซึ่งอยู่ในย่านชุมชนที่นอกจากจะมีคนมาเดินชอปปิ้งในห้างแล้ว ยังมีคนจำนวนมากที่ใช้บริการรถไฟใต้ดินซึ่งมีเส้นทางผ่านอาคารนี้ โดยมีการสนับสนุนให้ใช้รถจักรยานจึงมีบริการสำหรับผู้ที่ขี่จักรยาน เช่น ที่จอด ห้องอาบน้ำ หรืออาคารปาร์คเวนเจอร์ซึ่งออกแบบให้เป็นอาคารประหยัดพลังงาน เป็นต้น
รวมทั้ง ในองค์กรต่างๆ เช่น ธนาคารกสิกรไทยซึ่งมีการก่อตั้งชมรมประหยัดพลังงาน และมีแคมเปญกระตุ้นด้วยการให้เงินสมทบกับพนักงานที่สามารถใช้ไฟฟ้าได้ลดลง โดยค่าไฟของเดือนปัจจุบันต้องต่ำกว่าเดือนที่แล้ว และเดือนถัดไปต้องต่ำกว่าเดือนปัจจุบัน ซึ่งแม้ว่าอาจจะไม่ได้ทำให้เกิดการลดการใช้ไฟฟ้าได้มาก แต่สิ่งสำคัญคือการส่งสัญญาณให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งสามารถกระตุ้นต่อไปในวงกว้างจากการเปลี่ยนพฤติกรรมของคนๆ หนึ่ง ไปสู่ครอบครัวและสังคม
การส่งสัญญาณข้อมูลเป็นการส่งสัญญาณให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมและนำไปสู่การลดต้นทุนพลังงาน ซึ่งหากจัดการได้ดีจะช่วยลดต้นทุนได้อย่างมากแน่นอน และทำให้เกิดการได้เปรียบเมื่อเข้าสู่ AEC
กำลังโหลดความคิดเห็น