เอเอฟพี - เจ้าหน้าที่เกาหลีใต้เปิดเผยในวันนี้ (3 พ.ค.) ว่า เหตุรถไฟใต้ดินสองขบวนชนกันที่กรุงโซลล่าสุดนี้เป็นผลมาจากระบบหยุดรถไฟอัตโนมัติ (เอทีเอส) ทำงานขัดข้อง
เมื่อช่วงบ่ายคล้อยวานนี้ (2) รถไฟที่มุ่งหน้าไปยังชานชาลาได้พุ่งชนท้ายรถไฟอีกขบวนหนึ่ง ซึ่งจอดอยู่ ณ สถานีรถไฟซางวางซิมนี ทางตะวันออกของกรุงโซล ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บมากกว่า 200 คน ซึ่งรวมถึง หญิงสูงอายุคนหนึ่งที่มีอาการบาดเจ็บสาหัส ขณะที่อีก 150 คนต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล โดยส่วนใหญ่มีบาดแผลและเคล็ดขัดยอก
เหตุการณ์นี้เป็นอุบัติเหตุระลอกล่าสุดที่เกิดขึ้นกับประเทศ ซึ่งยังอกสั่นขวัญแขวนกับโศกนาฏกรรมเรือเฟอร์รี “เซวอล” อับปางเมื่อวันที่ 16 เมษายน ที่ทำให้มีผู้บาดเจ็บหรือสูญหายถึง 300 ชีวิต ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นนักเรียนมัธยมปลาย
ชาง จุงวู ประธานการรถไฟใต้ดินกรุงโซลชี้แจงกับผู้สื่อข่าวว่า “ระบบหยุดรถไฟอัตโนมัติ (เอทีเอส) ซึ่งติดตั้งที่สถานีรถไฟซางวางซิมนีเกิดทำงานขัดข้อง
ทั้งนี้ เอทีเอสได้รับการออกแบบมาเพื่อควบคุมระยะห่างระหว่างรถไฟ และควรจะทำงานเมื่อรถไฟ 2 ขบวนอยู่ห่างจากกันภายในรัศมี 200 เมตร
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากระบบดังกล่าวทำงานผิดพลาด รถไฟขบวนที่ตามหลังมาจึงสามารถเข้าใกล้อีกขบวนที่จอดอยู่ ทำให้พนักงานขับรถไฟแทบเบรกรถไม่ทัน
เขากล่าวเสริมว่า อุโมงค์รถไฟใต้ดินก่อนถึงสถานีซางวางซิมนีมีลักษณะเป็นทางโค้ง ทำให้พนักงานขับรถไม่เห็นว่ามีรถไฟอีกขบวนจอดอยู่ตรงชานชาลา และกว่าที่เขาจะรู้ก็สายไปแล้ว
อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นส่งผลให้ตู้รถไฟ 2 ตู้ท้ายขบวนที่จอดอยู่ถูกสลัดออกไปนอกราง และวิดีโอคลิปที่นำออกเผยแพร่ทางโทรทัศน์เผยให้เห็นหน้าต่างตู้รถไฟที่แตกร้าว และประตูเชื่อมต่อระหว่างตู้รถไฟหลุดออกจากบานพับโดยสมบูรณ์
เมื่อช่วงรุ่งสางของวันนี้ (3) รถไฟใต้ดินสายที่ 2 สามารถเปิดให้บริการได้ตามปกติแล้ว
ข้อมูลจากศาลากลางกรุงโซลชี้ว่า เครือข่ายรถไฟใต้ดินกรุงโซลนั้นมีผู้ใช้บริการกันอย่างคึกคักมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยรองรับผู้โดยสารราว 5.25 ล้านคนในแต่ละวัน
เหตุรถไฟชนกันครั้งนี้ทำให้ประชาชนชาวเกาหลีใต้เกิดความโกรธแค้นและขุ่นเคืองใจในมาตรการรักษาความปลอดภัยอันหละหลวมหย่อนยานของประเทศมากขึ้น หลังจากประสบอุบัติภัยทางทะเลไปเมื่อมานานนี้
หนังสือพิมพ์ “โชซุน อิลโบ” ซึ่งมียอดจำหน่ายสูงสุดในประเทศรายงานวันนี้ (3) ว่า รถไฟใต้ดินสาย 2 ของกรุงโซลสร้างตั้งแต่เมื่อ 34 ปีที่แล้ว และเริ่มมีสภาพชำรุดทรุดโทรม ทั้งยังเตือนว่าเกาหลีใต้ไม่ทุ่มงบประมาณเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศอย่างเพียงพอ
บทบรรณาธิการระบุว่า “อย่างไรก็ตาม ประเทศนี้มักแสดงความตระหนี่ในเวลาที่ต้องทุ่มเงินลงทุนเพื่อมาตรการรักษาความปลอดภัย แต่กลับพุ่งเข้าใส่ความสำเร็จทางเศรษฐกิจแบบฉาบฉวย”