รศ.ดร.วีระเชษฐ์ ขันเงิน อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวลาดกระบัง เล่าว่า ในอดีตรถพลังงานไฟฟ้าเคยได้รับความนิยมช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึง 20 ในช่วงปี ค.ศ.1970-1980 เกิดวิกฤติทางพลังงานน้ำมัน ทำให้รถพลังงานไฟฟ้ากลับมาได้รับความสนใจอีกครั้งเป็นช่วงเวลาสั้นๆ
จนเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 จึงกลับมาผลิตรถพลังงานไฟฟ้าอย่างจริงจัง เนื่องจากแบตเตอรี่มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น ระบบการจัดการพลังงานดีขึ้น ทำให้รถไฟฟ้ามีโอกาสทางการตลาด สูงขึ้นเพราะการสร้างรถยนต์ไฟฟ้าสามารถสร้างในรูปลักษณ์ต่างๆได้มากขึ้น และไม่มีข้อจำกัดเหมือนรถยนต์เครื่องยนต์น้ำมัน ส่วนประสิทธิภาพในการวิ่งก็จะมากขึ้น สามารถลดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา เพราะไม่ต้องเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง และสายพาน ทำให้ธุรกิจอุตสาหกรรมรถยนต์ เช่น ศูนย์บริการ และศูนย์จำหน่ายรถยนต์ต้องเปลี่ยนทิศทางจากการขายรถยนต์ บริการเปลี่ยนอะไหล่ หรือบริการอื่นๆไปเน้นด้านการตลาดในการนำเสนอรูปแบบตัวถังรถยนต์ไฟฟ้าแบบต่างๆ แทน เพราะผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องซื้อรถยนต์ใหม่ทั้งคัน แต่สามารถเปลี่ยนรูปแบบของตัวถังให้ทันสมัยได้ตามต้องการ
แนวโน้มของรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานจึงเชื่อว่ารถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์เบนซินและดีเซลแบบธรรมดาจะลดลงและหายไปใน 20 ปีข้างหน้า โดยถูกแทนที่ด้วยรถไฮบริด รถปลั๊กอินไฮบริด รถยนต์ไฟฟ้า (หรือรถเซลล์เชื้อเพลิง) ส่วนตัวรถจะมีขนาดเล็กลง น้ำหนักเบา รถยนต์ประสิทธิภาพสูง และในปัจจุบันมีค่ายรถยนต์หลายค่ายได้ผลิตออกมาทดลองในตลาดกันแล้ว
ทางด้าน ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระเจ้าเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวถึงความเป็นไปได้ ว่ารัฐบาลควรส่งเสริมงานวิจัย และภาคเอกชนในการผลิตรถไฟฟ้าอย่างจริงจัง เนื่องจากในด้านเศรษฐศาสตร์ รถยนต์ไฟฟ้าสามารถลดการพึ่งพาน้ำมันที่เป็นแหล่งพลังงานหลักในปัจจุบัน ทำให้ประเทศชาติประหยัดค่าใช้จ่าย สามารถนำงบประมาณสำหรับการซื้อน้ำมันไปใช้ในด้านอื่นที่เกิดประโยชน์ต่อสังคม และพัฒนาเศรษฐกิจได้อีกมากมาย และยังช่วยผลักดันการพัฒนาแหล่งพลังงานทดแทนในรูปแบบอื่นๆ
แต่สิ่งสำคัญจะต้องทำให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว คือ การสร้างสถานีสำหรับการชาร์ตพลังงานไฟฟ้าให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยอาศัยปั๊มน้ำมันที่มีอยู่ในปัจจุบันและแหล่งพลังงานไฟฟ้าที่มีอยู่ในทุกพื้นที่ เพียงแต่มีข้อบังคับให้ปั๊มน้ำมันแต่ละแห่งมีที่ชาร์ตไฟฟ้าสำหรับรถยนต์แห่งละหนึ่งจุดในช่วงแรก เมื่อผู้บริโภคเริ่มเห็นว่ารถยนต์ไฟฟ้าสามารถขับขี่ไปได้ไกลมากกว่าในตัวเมืองแล้ว ปริมาณการใช้รถยนต์ไฟฟ้าจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นเองจนทุกคนเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ากันหมด รวมทั้งต้องพัฒนาความรวดเร็วในการชาร์ตไฟฟ้า ซึ่งเดิมใช้เวลา 10 ชั่วโมงในการชาร์จ แต่ในปัจจุบันได้พัฒนาการชาร์จไฟฟ้า 80% ในเวลา 30 นาที นอกจากนี้ต้องสร้างแบตเตอรี่ กับเครื่องชาร์ตไฟฟ้าให้มีมาตรฐานแบบเดียวกันทั้งหมด เพื่อให้ผู้ขับขี่สามารถชาร์ตไฟฟ้าได้ทุกแห่ง นอกจากนั้นรัฐบาลควรสนับสนุนด้วยการลดภาษีของแบตเตอรี่จากปัจจุบัน 30 % ให้ลดลง เพื่อส่งเสริมการใช้งานอย่างกว้างขวาง ทั้งนี้จะผลักดันให้เกิดเศรษฐกิจแบบใช้รถยนต์ไฟฟ้า ที่ช่วยให้สังคมที่ยั่งยืนควบคู่กับสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยและของโลกดีขึ้น ”
สาเหตุดังกล่าวมา ภาครัฐจึงควรสนับสนุนงานวิจัยพัฒนาแหล่งพลังงานทางเลือก และหันมาผลิตรถไฟฟ้าเพื่อใช้งานอย่างจริงจัง สร้างมาตรฐานแบตเตอรี่กับเครื่องชาร์ตไฟฟ้าให้เป็นแบบเดียวกัน ส่งเสริมการสร้างสถานีสำหรับการชาร์ตพลังงานไฟฟ้าในปั๊มน้ำมันให้ครอบคลุมทั่วประเทศ รวมถึงการลดภาษีของแบตเตอรี่จากที่คิดในปัจจุบัน 30 %