xs
xsm
sm
md
lg

SCB ประกันชีวิตปรับกลยุทธ์ มุ่ง “สร้าง” มากกว่า “ให้”/ ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในวงการธุรกิจประกันชีวิต องค์กรที่มีนโยบายและดำเนินกิจการด้วยหลัก CSR หรือ ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างครบเครื่อง ยังมีไม่มากนัก แต่ที่มีการพัฒนาจนเห็นความก้าวหน้าของหลักคิดและแนวปฏิบัติที่น่าสนใจนั้นพอมีให้เห็น
กรณี บมจ.ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต (SCBLIFE) เป็นตัวอย่างที่ดีซึ่งผมขอนำมาบอกเล่ากันครับ
วิพล  วรเสาหฤท และเก้าอี้นี้เพื่อน้อง
วิพล วรเสาหฤท กรรมการผู้จัดการใหญ่ บอกว่า หลักคิดเรื่องความรับผิดชอบสำหรับธุรกิจที่ทำกันมาในอดีตมีลักษณะ “การให้” เป็นหลัก เช่น การบริจาคช่วยเหลือสังคม หรือโครงการปลูกป่าก็ทำมาตลอด เรามีทีมขายที่เป็นจิตอาสาไปร่วมทำประโยชน์ให้สังคมเสมอ ตอนหลังเรากลับมาคุยกันว่า จะพัฒนาแนวทาง CSR อย่างไร ในขณะที่แบรนด์องค์กรแม่ คือ ธนาคารไทยพาณิชย์นั้นแข็งแรงมาก ส่วนเราก็เป็นธุรกิจประกันชีวิตต้องการสร้างความยั่งยืน มีความมั่งคงให้ชีวิตและครอบครัว
แนวคิดของผู้บริหารยุคใหม่จึงเน้น “การสร้าง” มากกว่า “การให้” ทั้งนี้โดยการพัฒนาต่อยอดจากกิจกรรม CSR ลักษณะการส่งเสริมสังคมที่อยู่นอกกระบวนการธุรกิจ (CSR-after -process ) มาเชื่อมโยงเข้าในวิถีการดำเนินธุรกิจ ( CSR-in-process)
ตั้งแต่ปี 2556 SCBLIFE ได้มีการปรับวิสัยทัศน์การขับเคลื่อนโครงการเพื่อสังคม ให้มีส่วนรับผิดชอบต่อสังคมตั้งแต่กระบวนการผลิต มีการรณรงค์ ส่งเสริม สร้างความเข้าใจเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมให้แก่พนักงานในองค์กร โดยเริ่มต้นจากสิ่งใกล้ตัว เช่น การใช้กระดาษในกระบวนการทำงานอย่างคุ้มค่า เพื่อลดปริมาณการใช้กระดาษในแต่ละปี
เพราะทุกวันนี้ คนไทยมีการใช้กระดาษเฉลี่ยถึง ปีละ 3.9 ล้านตัน หรือ คนละ 60 กิโลกรัม ต่อปี และยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เมื่อกระดาษ 1 ตัน ต้องแลกกับต้นไม้ถึง 17 ต้น นั่นหมายความว่า ทุกๆ หนึ่งนาที จะมีต้นไม้ใหญ่ที่โตเต็มที่ถูกตัดเพื่อนำมาผลิตกระดาษถึง 126 ต้น และในหนึ่งปี ต้นไม้ใหญ่จะถูกตัดมากถึง 66.23 ล้านต้น
จากสถิติอันน่าตกใจนี้ นับเป็นสัญญาณที่บอกให้รู้ว่าทรัพยากรป่าไม้ของไทยกำลังอยู่ในขั้นวิกฤต เนื่องจากความต้องการ พฤติกรรมการใช้ของผู้บริโภค ขณะที่วงการที่เกี่ยวข้องไม่สามารถปลูกป่าทดแทนใหม่ได้ทัน
กล่องรวบรวมกระดาษใช้แล้วภายในองค์กร
จึงเป็นที่มาของโครงการ “SCBLIFE กระดาษให้ชีวิต” (Think Before Print) ที่เกิดจากแนวคิดที่ต้องการสื่อสารไปยังพนักงานว่า “การปลูกป่าต้องใช้ระยะเวลานานกว่าป่าจะฟื้นคืนทดแทนส่วนที่สูญเสียไปได้ จะดีกว่าหรือไม่ หากทุกคนช่วยกันลดปริมาณการตัดไม้ทำลายป่า ด้วยการลดปริมาณการใช้กระดาษควบคู่กันไป” ซึ่งจะเกิดผลดีทั้งการลดต้นทุนของธุรกิจควบคู่กับการมีส่วนรับผิดชอบต่อสังคมในกระบวนการทำงาน
“ปีแรกตั้งเป้าหมายในการลดปริมาณการใช้กระดาษภายในองค์กรลง 30% แต่ปัจจุบันสามารถทำได้จริง ถึง 36% แล้ว” ผู้บริหารสูงสุดไทยพาณิชย์ประกันชีวิต กล่าวยืนยัน

โครงการนี้มีผลช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมของพนักงานให้รอบคอบก่อนสั่งพิมพ์กระดาษ หรือใช้กระดาษภายในสำนักงานอย่างคุ้มค่าและกระดาษที่ไม่ใช้งานแล้ว ยังนำกลับมาใช้ซ้ำได้อีก หรืออาจแปรรูปเป็นเยื่อกระดาษใหม่ เพื่อช่วยลดปริมาณขยะกระดาษ
นอกจากนี้ กระดาษที่ผ่านการคัดแยกประเภทจากกล่องรับกระดาษใช้แล้วทั้งหน้าเดียวและสองหน้าภายในสำนักงานยังนำไปเปลี่ยนสภาพเป็น สมุดทำมือ ที่ออกแบบเก๋ไก๋ จากฝีมือพี่ๆ พนักงาน และตัวแทน SCBLIFE เพื่อมอบให้โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล ผ่านมูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ จำนวนกว่า 10,000 เล่ม ได้ใช้จัดสรรเป็นวัสดุใช้ในการเรียนการสอน สำหรับน้องๆ นักเรียนต่อไป
ส่วนกระดาษใช้แล้วสองหน้าก็นำไปทำเป็นสมุดอักษรเบลสำหรับคนตาบอด ผ่านมูลนิธิคนตาบอดแห่งประเทศไทยอีกด้วย
แผนสำหรับปี 2557 ได้ต่อยอดด้วยการรวบรวมกระดาษสำนักงานใช้แล้วสองหน้า นิตยสาร และกระดาษหนังสือพิมพ์เก่า นำมาแปรรูปทำเป็นเก้าอี้พิเศษโดยได้ความร่วมมือจากสถาบันราชานุกูล ในการให้ความรู้ และ จัดการอบรมขึ้นแบบเก้าอี้ ด้วยเทคนิคเปเปอร์ มาเช่ กลายเป็นโครงการ “เก้าอี้นี้เพื่อน้อง” เพื่อมอบให้แก่ครอบครัวที่มีบุตรหลานบกพร่องทางสมองและพิการซ้ำซ้อน และขาดแคลนทุนทรัพย์ได้ใช้เป็นเครื่องมือช่วยอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตประจำวันของน้องๆ ซึ่งนอกจากจะเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิต ส่งเสริมการฟื้นฟูทักษะพัฒนาการทางด้านสมองและพัฒนากล้ามเนื้อช่วยให้นั่งได้
ทุกวันนี้ จึงเกิดมีกลุ่มจิตอาสาพนักงาน SCBLIFE 166 คน ร่วมกันทำเก้าอี้จากกระดาษที่ติดกาวขึ้นรูปปะสะสมจนหนา 1 นิ้ว เป็นเก้าอี้ที่แข็งแรง ซึ่งมีทั้งกลุ่มวันพุธเย็นหลังเลิกงานและที่นำวัสดุกลับไปทำที่บ้าน คาดว่าจะผลิตได้ 100 ตัวเพิ่อมอบให้โรงพยาบาลต่างๆ
กี่ เครื่องใช้ทอผ้ากะเหรี่ยง
สอนนักเรียนทอผ้ากะเหรี่ยงที่โรงเรียนบ้านยางน้ำกลัดใต้
ผลิตภัณฑ์ผ้ากะเหรี่ยงของชุมชน ปัจจุบันได้รับมาตรฐาน OTOP
ส่วนกิจกรรมส่งเสริมสังคม (CSR-after-process) ที่บริษัท ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต ทำควบคู่กันไปอย่างโดดเด่น คือ โรงเรียนอุปถัมภ์และการอนุรักษ์ศิลปะทอผ้ากะเหรี่ยง ซึ่งเป็นโรงเรียนอุปถัมภ์ลำดับที่ 2 ณ โรงเรียนบ้านยางน้ำกลัดใต้ และชุมชนในอำเภอหนองหญ้าปล้อง-จังหวัดเพชรบุรี
โครงการนี้ มุ่งให้ความช่วยเหลือ และสนับสนุนโรงเรียนในถิ่นทุรกันดารให้เกิดพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งด้านการเงิน ทรัพยากร ความรู้ และเครือข่ายด้านต่างๆ โดยเน้นการสร้างปัจจัยพื้นฐานหลักที่เอื้อต่อการพัฒนาการศึกษา เพิ่มคุณภาพชีวิต และสร้างทักษะอาชีพพื้นฐาน ให้แก่นักเรียน และชุมชนให้พึ่งพาตนเองได้ในอนาคต ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
โครงการโรงเรียนอุปถัมภ์ที่ โรงเรียนบ้านยางน้ำกลัดใต้ สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งอยู่บริเวณชายแดนไทย- พม่า และเป็นชุมชนที่มีชาวกะเหรี่ยงประมาณ 70% นักเรียนส่วนใหญ่ยังมีฐานะยากจน แต่มีความเด่นในการอนุรักษ์วัฒนธรรม และศิลปะการทอผ้ากะเหรี่ยง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า “กี่” และผู้ทอจะนั่งทอกับพื้น ผ้าที่ได้หน้าแคบ และนำมาเย็บเป็นเสื้อ ผ้าถุง กางเกง และอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆเช่น ย่ามใส่ของ ผ้าโพกผม ซึ่งเป็นการผลิตเพื่อใช้ภายในชุมชน
SCBLIFE ได้เล็งเห็นว่าโรงเรียนแห่งนี้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของชุมชนและมีศักยภาพเพียงพอที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์จากการทอผ้ากะเหรี่ยงให้เป็นสินค้าชุมชนได้ต่อไปจึงประสานนักออกแบบไปช่วยฝึกและแนะนำให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์และร่วมอนุรักษ์ศิลปะการทอผ้ากะเหรี่ยงท้องถิ่นเพื่อสร้างอาชีพให้กับชุมชน จนทำให้ผ้ากะเหรี่ยงของที่นี่ได้รับมาตรฐาน OTOP

ข้อคิด...
ไม่น่าแปลกนะครับ องค์กรใดจะแสดงออกในการ “ทำดี” ด้วยกิจกรรม CSR ประเภทช่วยเหลือสังคมหรือส่งเสริมสิ่งแวดล้อมในทำนองการบริจาคหรือสังคมสงเคราะห์ ซึ่งอยู่นอกเหนือกระบวนการทางธุรกิจ (CSR-after-process)
เพราะส่วนใหญ่ก็มักเริ่มต้นระดับนี้แหละ แล้วค่อยมีพัฒนาการให้กิจกรรมนั้นมีผลดีใน 3 มิติ คือ ด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านสิ่งแวดล้อม
แนวคิดและกลยุทธ์ของผู้บริหารบริษัท ไทยพาณิชย์ประกันชีวิต นับเป็นตัวอย่างที่ดีขององค์กรที่มีการเรียนรู้และพัฒนาแนวทางในการดำเนินกิจการให้ดี สร้างคุณค่าแก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มตั้งแต่ ผู้ถือหุ้น พนักงาน ลูกค้า คู่ค้าหรือพันธมิตรธุรกิจรวมทั้งชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม
โดยเฉพาะ นโยบายที่นำเอาหลักคิดความรับผิดชอบต่อสังคมหรือ CSR เชื่อมโยงเข้าสู่กระบวนการธุรกิจ เช่น การลดใช้กระดาษโดยคำนึงถึงการใช้กระดาษอย่างคุ้มค่า ซึ่งจะช่วยลดทั้งค่าใช้จ่ายบริษัทและมีผลต่อการลดการตัดไม้ ซึ่งเป็นวัตถุดิบผลิตกระดาษ แล้วยังต่อยอดโดยเอากระดาษที่ใช้แล้วไปแปรรูปเป็นสิ่งของสำหรับคนที่มีปัญหาทางร่างกาย
ที่สำคัญ ก็คือ การเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมของคนที่เกี่ยวข้องในธุรกิจได้ตระหนักในการไม่ทำหรือลดการกระทำที่ส่งผลกระทบกับธรรมชาติ นี่เป็นพื้นฐานของการทำธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล และจะได้รับความเชื่อถือในความดีและความเก่ง ซึ่งเป็นวิถีการพัฒนาไปสู่ “ความยั่งยืนขององค์กร”ได้

suwatmgr@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น