xs
xsm
sm
md
lg

Green Vision : ติดฉลากเขียว ช่วยลดต้นทุน ?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เป้าหมายในการขับเคลื่อน “ฉลากเขียว” (green label หรือ eco-label) จากนี้ไปมุ่งสู่ภาคประชาชน เพื่อจะทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการลดลง ไม่ใช่เพิ่มขึ้นเหมือนเมื่อก่อนที่เคยเข้าใจผิด
จะเป็นแนวทางสนับสนุนผู้ประกอบการให้เข้าร่วมโครงการฉลากเขียวมากขึ้นจนกระทั่งผลิตภัณฑ์และบริการใดติดฉลากเขียวเป็นเรื่องปกติ ทางคณะกรรมการบริหารโครงการฉลากเขียวได้วางหลักการทางสิ่งแวดล้อมเพื่อใช้เป็นแนวทางในการดําเนินโครงการ ตลอดจนใช้เป็นพื้นฐานในการคัดเลือกประเภทของผลิตภัณฑ์ การตั้งหลักการและออกข้อกําหนดสําหรับผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ดังต่อไปนี้
- การจัดการทรัพยากร ทั้งที่เกิดขึ้นได้ใหม่ (Renewable resources) และที่มีแต่หมดสิ้นไป (Nonrenewable resources) อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
- การลดมลภาวะทางสิ่งแวดล้อมที่เป็นปัญหาที่สําคัญของประเทศ โดยส่งเสริมให้มีการผลิต การขนส่ง การบริโภค และการกําจัดทิ้งหลังใช้แล้วอย่างมีประสิทธิภาพ
- การนําขยะมูลฝอยทั่วไปและขยะอันตรายกลับมาใช้ประโยชน์อย่างอื่น (Reuse) หรือ หมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ (Recycle)

“หากจะบอกว่าฉลากเขียวเป็นกลยุทธ์หนึ่งในนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมโดยที่ใช้การตลาดเป็นเครื่องมือก็ไม่ผิด เนื่องจากมีสินค้าและบริการอยู่ในตลาดเป็นจํานวนมาก”
เมื่อผู้บริโภคมองเห็นผลิตภัณฑ์และบริการใดมีฉลากเขียว ย่อมแสดงถึงความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งมีขั้นตอนการตรวจสอบเป็นอย่างดีตั้งแต่ต้นทาง ได้แก่ การเลือกวัตถุดิบ ใช้สารเคมีน้อย มีกระบวนการผลิตที่ดี ปล่อยมลพิษน้อย ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ มีการออกแบบที่ดี ใช้แล้วไม่สร้างภาระในการกำจัด ใช้แล้วยังสร้างความปลอดภัยต่อผู้บริโภค ตลอดจนมีกระบวนการจัดการซากบรรจุภัณฑ์ที่ดี
หากจะบอกว่าฉลากเขียวเป็นกลยุทธ์หนึ่งในนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมโดยที่ใช้การตลาดเป็นเครื่องมือก็ไม่ผิด เนื่องจากมีสินค้าและบริการอยู่ในตลาดเป็นจํานวนมาก การที่ผู้บริโภคเห็นฉลากเขียวติดอยู่กับผลิตภัณฑ์ก็จะเป็นข้อมูลที่ผู้บริโภคทราบทันทีว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเน้นคุณค่าทางสิ่งแวดล้อม ทําให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกซื้อได้ถูกต้อง
ขณะที่ผู้ผลิต หรือ ผู้จัดจําหน่าย จะได้รับผลประโยชน์เพิ่มขึ้นในแง่กําไร เนื่องจากมีการบริโภคผลิตภัณฑ์เหล่านั้นมากขึ้น และจะไปเป็นตัวเร่งให้ผู้ผลิตรายอื่นๆ ต้องปรับปรุงคุณภาพของสินค้าหรือบริการของตนเอง โดยคํานึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นสําคัญ ซึ่งก็คือการปรับกระบวนการผลิตตามเกณฑ์ฉลากเขียว
อย่างการเลือกซื้อเครื่องปรับอากาศที่มีเครื่องหมายเบอร์ 5 บ่งบอกถึงมีการประหยัดพลังงานสูงสุด ส่วนแบรนด์ใดติดฉลากเขียวก็บอกให้รู้เช่นกันว่าแบรนด์นั้นใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม
ด้านกระบวนการผลิตที่มีการปรับปรุงเทคโนโลยีเพื่อสร้างกระบวนการผลิตที่ดีและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการอยู่แล้ว ในปีนี้จึงรุกในภาคประชาชน เพื่อให้ผู้บริโภคเลือกซื้อเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ติดฉลากเขียว เพื่อเป็นการสนับสนุนการตลาดผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะทำให้ต้นทุนลดลงไม่ใช่เพิ่มขึ้น เหมือนแต่ก่อนเคยเข้าใจผิดว่า ฉลากเขียวทำให้ต้นทุนสูงขึ้น เพราะต้องไปลงทุนปรับปรุงกระบวนการผลิต ซึ่งเป็นการมองเพียงในระยะสั้นเท่านั้น
การขับเคลื่อนที่ผ่านมาเป็นการรุกเข้าทางกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว (Green Procurement) ของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งปีที่ผ่านมาเริ่มขับเคลื่อนเพื่อให้ภาคเอกชนตระหนักถึงการจัดซื้อจัดสีเขียว มาในปีนี้เน้นให้ผู้บริโภคหันมาเลือกใช้ผลิตภัณฑ์และบริการที่ติดฉลากเขียวเพื่อสร้างแรงกระตุ้นอีกทาง
ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์และบริการที่ติดฉลากเขียวแล้วร่วม 700 รายการ โดยลำดับความสำคัญที่ควรติดฉลากเขียว ได้แก่ สินค้าที่มีการใช้พลังงาน ควรตอบโจทย์ประหยัดพลังงาน สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เช่น คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน และอุปกรณ์โทรศัพท์ ที่มีการใช้โลหะหนัก และสารเคมีอันตราย รวมถึงสินค้าที่อาจจะใช้สารเคมีไม่เหมาะสม เช่น น้ำยารีดผ้า น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยาล้างจาน ซึ่งมีโอกาสทำลายสิ่งแวดล้อม และอาจก่อให้เกิดภูมิแพ้ต่อร่างกาย เป็นต้น

ปัจจุบัน มีประเทศต่าง ๆ ที่ดําเนินโครงการนี้ มากกว่า 40 ประเทศ เช่น แคนาดา สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน ไต้หวัน เกาหลี กลุ่มประเทศนอร์ดิก และสหภาพยุโรป แต่ละโครงการจะมีความแตกต่างกันทางด้านโครงสร้าง คณะผู้บริหาร รูปแบบ และขั้นตอนการดําเนินงาน เป็นทั้งโครงการระดับประเทศหรือระดับภูมิภาค
ฉลากเขียว จึงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมผ่านการผลิตและการบริโภคของผู้ผลิตและผู้บริโภคทุกคน โดยเฉพาะจากนี้เป็นต้นไป การมีส่วนร่วมของประชาชนจะมีส่วนช่วยจัดการสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น
ดร.ขวัญฤดี โชติชนาทวีวงศ์
ผู้อำนวยการ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น