xs
xsm
sm
md
lg

กสอ.นำระบบ IQS พัฒนาผปก.OTOP SMEs รองรับการเข้าสู่ AEC

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางอรรชกา สีบุญเรือง อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นำระบบ IQS ประกอบด้วย Innovation , Quality และ Standard มาใช้ยกระดับอุตสาหกรรม OTOP SMEsเพื่อรองรับการแข่งขันในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยส่งเสริมทั้ง 5 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ได้แก่ อาหาร เครื่องดื่ม ผ้าและเครื่องแต่งกาย ของใช้ของตกแต่งและของที่ระลึก และสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร

นางอรรชกา สีบุญเรือง อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า เพื่อ เตรียมพร้อมวิสาหกิจชุมชน OTOP SMEs ของไทย ในการเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน AEC นั้น ทางกรม ได้นำกลยุทธ์ IQS ประกอบด้วย Innovation , Quality และ Standard มาใช้เป็นแนวทางให้กับอุตสาหกรรม OTOP เพื่อไปแข่งขันในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน อาทิ เร่งส่งเสริมการนำนวัตกรรมใหม่เพื่อพัฒนาสินค้า กระบวนการผลิต และการควบคุมคุณภาพสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค รวมทั้งการส่งเสริมให้สินค้าได้รับมาตรฐานจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้ง 5 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ได้แก่ อาหาร เครื่องดื่ม ผ้าและเครื่องแต่งกาย ของใช้ของตกแต่งและของที่ระลึก และสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร

โดยการนำมาตรฐานต่าง ๆ เข้ามารับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ อาทิ มผช., อย., GMP, มอก., ฮาลาล, GAP, HACCP, Smart Fabric, Global GAP, EU Eco label ทั้งนี้ ปัจจุบัน กสอ.มีโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP ผ่านโครงการต่าง ๆ กว่า 13 โครงการ อาทิ โครงการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมโดยใช้ทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา โครงการพัฒนาศักยภาพโอทอปและวิสาหกิจชุมชน โครงการพัฒนาศักยภาพด้านการบริหารจัดการวิสาหกิจชุมชน และโครงการพัฒนาการผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของกลุ่มประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย เป็นต้น

ทั้งนี้ การนำเอาระบบมาตรฐานการจัดการวิสาหกิจชุมชน (มจก.) มาใช้ในการฝึกอบรมเชิงลึกเพื่อพัฒนาด้านการบริหารจัดการกลุ่มและสมาชิก ด้านการตลาดและลูกค้า ด้านการผลิตและบริการ ด้านบัญชีและการเงิน รวมทั้งการให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกด้านการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ เพื่อเพิ่มมูลค่าทางการตลาด และเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาดในภูมิภาคอาเซียน
ผลิตภัณฑ์โอทอปที่เข้าร่วมโครงการ
ทั้งนี้ จากฐานข้อมูลล่าสุด ประเทศไทยมีสินค้าโอทอป จำนวน 70,960 ผลิตภัณฑ์ มีมูลค่ายอดขายตั้งแต่ปี 2545 - 2556 รวมถึง 650,000 ล้านบาท และยอดขายโดยเฉพาะปี 2556 รวม 87,000 ล้านบาท ดังนั้น ทำให้สินค้าโอทอปไทยมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และการลงทุนในประเทศ รวมทั้งเป็นกลไกในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งและความก้าวหน้าของวิสาหกิจชุมชนเป็นอย่างยิ่ง โดยในปี 2557 กสอ. ตั้งเป้าช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าโอทอปไทยกว่า 1,330 ผลิตภัณฑ์ และพัฒนาผู้ประกอบการและบุคลากรอีกกว่า 5,340 ราย 425 กลุ่ม ซึ่งคาดว่าหลังจากจบโครงการจะสามารถเพิ่มรายได้ให้กับกลุ่มโอทอปไม่น้อยกว่าร้อยละ 10

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SME ผู้จัดการออนไลน์” รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *


กำลังโหลดความคิดเห็น