เมื่อเร็วๆ นี้ การเคหะแห่งชาติ พาเยี่ยมชมโครงการบ้านสบายเพื่อยายตา ในพิ้นที่ อ.พนา จ.อำนาจเจริญ หนึ่งในโครงการปรับปรุงที่อยู่อาศัยผู้สูงอายุในโอกาสครบรอบ 40 ปี ผู้ว่าฯ เผยเป็นแนวทางประสานท้องถิ่นร่วมกันช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้สูงอายุ
ปัจจุบัน สภาพความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุใน อ.พนา จ.อำนาจเจริญ ไม่ได้แตกต่างไปจากชนบทไทยโดยทั่วไป คือมีผู้สูงอายุพำนักอยู่อาศัยเป็นหลัก เนื่องจากบรรดาลูกหลานต้องออกไปทำงานอยู่ต่างจังหวัด ต่างเมือง มีทั้งเป็นแรงงานรับจ้าง และข้าราชการ โดยเฉพาะกลุ่มข้าราชการพอเกษียณอายุส่วนหนึ่งหวนกลับคืนถิ่นบ้านเกิด ทำให้สังคมของผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน
“ปีที่ผ่านมา “โครงการบ้านสบายเพื่อยายตา” ที่ อ.พนา มีบ้านทั้งสิ้น 12 หลัง ส่วนใหญ่เป็นการปรับปรุงซ่อมแซม ทั้งบันได ห้องน้ำ ห้องนอน ฝาผนัง ฯลฯ ด้วยประสบการณ์ในโครงการบ้านสบายเพื่อยายตาที่ผ่านมาหลายแห่งในทุกภาคนั้นทำให้การปรับปรุงที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุที่ อ.พนา เป็นไปเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุอย่างแท้จริง” กฤษฎา รักษากุล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าว และว่า
นอกจากได้ข้อมูลความต้องการของผู้สูงอายุจากการสังเกตการณ์ในการใช้ชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุ เพื่อใช้ในการออกแบบที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุอย่างเหมาะสม การเคหะแห่งชาติ ยังถ่ายทอดภูมิความรู้เหล่านี้ผ่านช่างพื้นบ้านที่เป็นผู้ลงมือปฏิบัติจริง ดังนั้น จึงเกิดการเรียนรู้ร่วมกันทั้ง 3 ฝ่าย คือ ผู้สูงอายุ การเคหะแห่งชาติ และช่างพื้นบ้าน รวมถึงองค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุในพื้นที่อีกด้วย
ความสำเร็จของโครงการนี้จึงเป็นที่รู้จักและยอมรับในสังคม ในฐานะที่เป็นโครงการนำร่องเพื่อจุดประกายความคิดให้สังคมไทยคำนึงถึงผู้สูงอายุอย่างจริงจัง ทั้งนี้ จุดเริ่มต้นของโครงการ “บ้านสบายเพื่อยายตา” เริ่มโครงการแรกที่ ต.บางตะบูน อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี ในปี 2553 โดยการเคหะฯ ร่วมกับเทศบาล ต. บางตะบูนทำ จัดทำโครงการปรับปรุงที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ ผู้มีรายได้น้อย และผู้ยากไร้ในชุมชน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ 3 ประการ คือ มีระบบการดูแลสุขภาพและบริการที่ครบวงจร มีที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และมีพื้นที่กิจกรรมสำหรับผู้สูงอายุ
ด้านที่ปรึกษาโครงการ เรืองยุทธ์ ตีระวนิช ผู้ปลุกปล้ำคลุกคลีกับงานนี้มาตั้งแต่ต้น กล่าวถึงแนวคิดการดำเนินโครงการในระยะต่อไปว่า “โครงการนี้ควรเป็นนโยบายของรัฐบาล เพราะเป็นโครงการที่ส่งตรงถึงประชาชนและสร้างความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ ขึ้นมาถึงแม้ที่ผ่านมา พบว่ายังมีปัญหาอยู่บ้าง แต่การเคหะฯ ได้พิสูจน์แล้วว่าทำได้จริง ดังนั้น ถ้ามีงบประมาณและขยายโครงการนี้ไปในทุกพื้นที่ของประเทศได้ก็จะเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่สุดสำหรับสังคมผู้สูงอายุของไทย”
เทศบาล - ผู้สูงอายุ อ.พนา ร่วมชื่นชม
ว่าที่ พ.ต.เผชิญลาภ อินทร์จันทร์ นายกเทศมนตรี เทศบาล ต.พนา “กล่าวสนับสนุนการปล่อยให้เช่าพื้นที่ห้องชั้นบนของบ้านผู้สูงอายุ เพื่อให้ผู้สูงอายุมีรายได้ที่มาช่วยเจือจุน นอกจากรายได้เบี้ยยังชีพของภาครัฐ โครงการบ้านสบายเพื่อยายตาจึงเป็นคำตอบที่มากกว่าแค่การปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้ผู้สูงอายุอย่างเดียวเท่านั้น มากไปกว่านั้นเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจ เสริมสร้างผู้สูงอายุให้มีคุณค่า
“อย่าลืมว่าบ้านเมืองเราที่พัฒนาก้าวหน้ามาได้ในทุกวันนี้ก็ด้วยผู้สูงอายุเหล่านี้มีส่วนในการขับเคลื่อนประเทศทั้งสิ้น เราจึงอยากให้ผู้สูงอายุมีอายุยืนยาว พร้อมๆ กับมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อย่างบ้านของตาสมาน และยายคำพอง ตัวคุณยายเองนอกจากจะเป็นผู้สูงอายุอายุแล้วยังมองไม่เห็น หลักการปรับปรุงคืออำนวยความสะดวกให้คุณยายสามารถช่วยเหลือตัวเองในยามที่ไม่มีคุณตาคอยช่วยเหลือโดยให้มีราวจับและไม่ต้องขึ้นลงบนบ้านที่เป็นใต้ถุนสูง"
นายสมาน มหานิล อายุ 68 ปี และนางคำพอง มหานิล อายุ 72 ปี มีอาชีพทำนา เป็นส่วนหนึ่งของผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือในโครงการบ้านสบายเพื่อยายตา
ยายคำพอง ตาบอดจากเบาหวานมาเป็นเวลานานเกือบ 10 ปี มีลูก 2 คน แต่ได้แยกย้ายไปทำงานต่างถิ่นกันหมด คงเหลืออยู่แต่คุณตาสมานซึ่งคอยดูแลหุงหาอาหารให้ ยายเล่าว่า “หลังจากการเคหะฯ เข้ามาปรับปรุง ได้ลงมาอยู่ชั้นล่าง เพราะที่เคยอยู่ชั้นบนเวลาจะไปไหนก็ลำบาก ยายต้องถัดก้นลงบันไดจากชั้นบน ตาก็มองไม่เห็น แต่ตอนนี้สะดวกสบายขึ้นแล้ว ยายชอบห้องน้ำที่มีที่นั่งพักอาบน้ำ หย่อนขาได้สบาย”