xs
xsm
sm
md
lg

บทเรียน CSR กรณี “แสนสิริ” / สุวัฒน์ ทองธนากุล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรณีเกิดปัญหาคอนโดมิเนียมโครงการเดอะเบส สุขุมวิท 77 ของบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) โดนลูกค้ารายหนึ่งร้องเรียนผ่านสื่อออนไลน์ว่าเกิดปัญหาน้ำรั่วซึม และพบว่ามีการใช้โฟมเป็นวัสดุส่วนประกอบในผนังอาคารจนมีความเห็นวิพากต์วิจารณ์กระหึ่ม ทาง Social Network
แน่นอนแรงกระเพื่อมนี้ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ บมจ.แสนศิริ อย่างแรง เนื่องจากได้สร้างชื่อเสียงผ่านการสื่อสารแบรนด์มาหลายปี มีการบริหารโครงการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์เด่นๆ มากมายจนติดกลุ่มบริษัทในระดับชั้นนำของวงการ
อุทัย อุทัยแสงสุข
“แสนสิริ” ออกแถลงการณ์ยอมรับ ผนังคอนโดฯ ไม่ได้มาตรฐานพร้อมเร่งแก้ไข
นั่นเป็นพาดหัวข่าวของผู้จัดการออนไลน์ เกี่ยวกับการที่ “แสนสิริ” ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 2 หลังถูกโจมตีหนักในโซเชียล มีเดีย
โดย อุทัย อุทัยแสงสุข รองกรรมการผู้จัดการอาวุโสสายงานพัฒนาธุรกิจและพัฒนาโครงการแนวสูง บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ชี้แจงผ่าน http://www.youtube.com/watch?v=EobkM2NJW2Q&feature=youtu.be ว่าโครงการเดอะเบส สุขุมวิท 77 เป็นอาคารที่มีระบบการก่อสร้างโดยมีเสาโครงสร้าง และมีพื้นระบบ Post Tension Slab เป็นตัวรับน้ำหนักของอาคาร ดังนั้น ผนังห้องชุดทั้งภายใน และภายนอกของอาคารจึงเป็นงานในส่วนของสถาปัตยกรรมเท่านั้น (ไม่ใช่ผนังรับน้ำหนัก) จึงไม่มีผลกระทบต่อความมั่นคงแข็งแรงของโครงสร้างอาคารแต่อย่างใด จึงขอให้ลูกค้าได้เกิดความเข้าใจ และเชื่อมั่นในเรื่องความปลอดภัยของโครงสร้างอาคาร

ในส่วนของผนังห้องชุดในโครงการเดอะเบส สุขุมวิท 77 ที่ตกเป็นข่าวมีผนังอยู่ 2 รูปแบบ คือ ผนังหล่อสำเร็จ (Pre-Cast) ปริมาณ 98% ของผนังอาคารทั้งหมด และผนังก่ออิฐฉาบปูน (Conventional Wall) ปริมาณ 2% ของผนังอาคารทั้งหมด ซึ่งผนังที่พบวัสดุแปลกปลอม (โฟมขนาด 30 X 20 ซม.) คือผนังก่ออิฐฉาบปูน

ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากความบกพร่องในการใช้วัสดุผิดจากมาตรฐานดังกล่าว ทำให้เกิดการรั่วซึมของน้ำจากภายนอกอาคาร และความแข็งแรงของผนังเฉพาะจุดเท่านั้น แต่ไม่มีผลกระทบต่อความแข็งแรงของโครงสร้างอาคารแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ทีมงาน Sansiri Homecare ได้เร่งซ่อมบำรุงผนังดังกล่าวแล้วเสร็จ ในเรื่องข้อกังวลใจที่เกี่ยวกับการรั่วซึมของน้ำในบริเวณอื่นๆ ซึ่งมิได้เกิดจากสาเหตุข้อบกพร่องดังกล่าวข้างต้นนั้น ทางผู้บริหารฯ ได้รับทราบข้อกังวลใจดังกล่าว และเพื่อความมั่นใจของเจ้าของห้องชุด ได้มอบหมายให้บริษัทฯ จัดทีมงานพิเศษเข้าสำรวจ และแจ้งแผนการดำเนินการให้เจ้าของห้องชุดทราบเป็นลำดับต่อไป

ภายหลังจากการเข้าชี้แจงของผู้บริหารฯ ทีมงานได้มีการตรวจสอบคุณภาพของผนังห้องชุดด้วยอุปกรณ์ Rebound Hammer ซึ่งเป็นอุปกรณ์มาตรฐานในการตรวจสอบความสม่ำเสมอของคอนกรีตเจ้าของห้องชุด นาย Kristopher George Houston โดยผลการทดสอบแสดงว่า ผนังก่ออิฐฉาบปูนแข็งแรงตรงตามมาตรฐานก่อสร้าง และตัวแทนฝ่ายบริหารฯ ได้กล่าวขออภัยในข้อบกพร่องดังกล่าว

ส่วนเหตุน้ำรั่วซึมที่พบบริเวณห้องนอน ทางแสนสิริ จะจัดทีมงานเข้าตรวจสอบภายในวันอังคารนี้ รวมถึงทางบริษัทฯ จะจัดทีมงานเข้าตรวจสอบงานผนังก่ออิฐฉาบปูนในห้องชุดทุกห้องด้วยเครื่องมือ Rebound Hammer โดยได้เริ่มมาแล้วตั้งแต่วันที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมา ไปจนกว่าจะดำเนินการตรวจสอบจนครบทั้งหมด

“แสนสิริ ขอแสดงความเสียใจอีกครั้งสำหรับเหตุการณ์นี้ และทางเราจะดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องนี้แก่ลูกบ้าน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด และรวดเร็ว สำหรับลูกบ้านโครงการอื่นๆ ของแสนสิริ ที่มีความประสงค์จะให้เข้าตรวจสอบความแข็งแรงของผนังของห้องชุดที่อยู่อาศัยของตนในโครงการแสนสิรินั้น ทางแสนสิริ จะจัดเตรียมอุปกรณ์ และทีมงานตรวจสอบในลำดับต่อไปเพื่อมอบความอุ่นใจในการอยู่อาศัยในโครงการของแสนสิริ” รองกรรมการผู้จัดการอาวุโสของแสนสิริ กล่าวตอนท้าย
และเมื่อวันที่ 3 กันยายนศกนี้ ได้มีการแถลงข่าวชี้แจงกรณีนี้ โดยอุทัย อุทัยแสงสุข รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายงานพัฒนาธุรกิจ และพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียม บริษัท แสนสิริฯ เป็นผู้แถลงว่า บริษัทได้ตรวจสอบคุณภาพ และมาตรฐานของงานก่อสร้างเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งบริษัทขอแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากความเลินเล่อของช่างเฉพาะบุคคล (Human error)

“ขอยืนยันลูกค้าแสนสิริทีมควบคุมคุณภาพของแสนสิริ ได้ทำงานอย่างเต็มความสามารถโดยจากการตรวจสอบของผู้เชี่ยวชาญพบว่า กรณีที่เกิดขึ้นของห้องลูกค้าดังกล่าวเป็นการเก็บเฉพาะส่วนจากช่างผู้รับเหมาที่ได้กระทำการไม่ได้มาตรฐานต่องานก่อสร้างที่บริษัทได้กำหนดไว้ ซึ่งกรณีนี้ไม่ได้กระทบต่อความแข็งแรงของอาคาร”
จากนั้นมีการตรวจสอบงานผนังก่ออิฐฉาบปูนทุกผนังภายในโครงการ เดอะ เบส สุขุมวิท 77 เพื่อตรวจสอบความถูกต้อง และมั่นใจในคุณภาพงานก่อสร้างโดยอุปกรณ์พิเศษ เพื่อตรวจสอบความหนาแน่นของมวลผนังก่ออิฐฉาบปูน ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 20 ก.ย. นี้

นอกจากนี้ ทางบริษัท แสนสิริฯ เตรียมเชิญวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางมาตรวจสอบในด้านโครงสร้าง เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ลูกค้า ส่วนลูกค้าโครงการอื่นๆ ของแสนสิริ หากต้องการให้บริษัทเข้าตรวจสอบสามารถแจ้งความประสงค์ บริษัทจะไปตรวจสอบให้เช่นกัน
ข้อคิด...
แง่ดีของความผิดพลาดบกพร่องครั้งนี้เป็นกรณีศึกษาชี้ให้เห็นว่า ความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR ( Corporate Social Responsibility) ไม่ใช่แค่การทำกิจกรรมเชิงสังคมสังเคราะห์เพื่อให้เกิดภาพลักษณ์ว่าช่วยเหลือสังคม หรือเป็นกิจการที่ดีมีจิตอาสาเพื่อสาธารณกุศล แม้เป็นเรื่องที่ดีก็ตาม
แต่การเป็นองค์กรที่น่ายกย่องยอมรับนั้น ความรับผิดชอบต่อสังคมที่สำคัญกว่า คือ CSR-in-process หรือความรับผิดชอบที่เป็นแก่นของกระบวนการทางธุรกิจ
ค่านิยมและจิตสำนึกในคุณภาพ ประสิทธิภาพ และคุณธรรมต้องฝังแน่นอยู่ในวิสัยทัศน์ นโยบาย และกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ
ดังนั้น ตัว S หรือ Social ในหลัก CSR จึงหมายถึงผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกิจการต้องมีความรับผิดชอบในการมอบคุณประโยชน์ที่คุ้มค่าด้วยความซื่อสัตย์ และรับผิดชอบ
ด้วยเหตุนี้เอง คำว่าธรรมาภิบาลของธุรกิจ หรือ บรรษัทภิบาล จึงเป็นหลักในแนวทาง CSR ซึ่ง ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยพยายามส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนทั้งหมดใช้เป็นหลักในการดำเนินกิจการอย่างถูกต้อง เป็นธรรม โปร่งใส และตรวจสอบได้
ยิ่งในสภาพสังคมยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีที่ทันสมัยช่วยเป็นเครื่องมือให้การรับรู้และการสื่อสารผ่านสื่อได้อย่างสะดวกรวดเร็ว จึงเป็นอุทธาหรณ์ให้ผู้ประกอบการยิ่งต้องตระหนักในการเริ่มต้นกระบวนการ “เก่งและดี” ด้วยความมุ่งมั่นตั้งแต่การกำหนดจุดยืนในการดำเนินธุรกิจที่ดี
การเริ่มต้นด้วยเจตนารมณ์การสร้างคุณค่าและความเป็นธรรมต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายเจ้าของ คือ ผู้ถือหุ้น พนักงาน ลูกค้า คู่ค้า ชุมชนและสิ่งแวดล้อม โดยมีกระบวนการดำเนินงานและตรวจสอบคุณภาพและความถูกต้อง ย่อมดีกว่าการแก้ปัญหา อย่างกรณีมีโฟมที่ถูกใส่เข้ามาอย่างผิดมาตรฐาน
กรณีนี้ถูกระบุว่าเป็นความรับผิดชอบของช่างจากผู้รับเหมาซึ่งก็ต้องโดนเล่นงาน มิฉะนั้นจะมีคำถามว่า “โครงการนี้มีกำหนดใช้โฟมเป็นวัสดุในผนังหรือ”
ในยุคที่ “ความรับผิดชอบต่อสังคม” เป็นคุณลักษณะสำคัญของผู้ประกอบ แสนสิริก็ต้องเหนื่อยในการฟื้นฟูภาพลักษณ์ และทบทวนกระบวนการควบคุมคุณภาพอย่างทั่วถึงแหละครับ
suwatmgr@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น