xs
xsm
sm
md
lg

ฟันธง “กรีนแพกเกจ 2013” ไร้ทิศทางใหม่ในตลาดโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วัสดุที่ใช้การผลิตหีบห่อ ทำแพกเกจสินค้าต่าง ๆ พยายามจะพัฒนาการดำเนินงานก้าวไปสู่ “กรีนแพกเกจ” โดยใช้นวัตกรรมที่สร้างสรรค์มากขึ้น
ปัจจุบัน วัสดุที่ใช้เป็นแพกเกจ มีด้วยกันหลายอย่าง ที่ใช้กันหลักๆ ได้แก่ เหล็ก แก้ว พลาสติก และกระดาษ จึงเป็นเป้าหมายหลักในการพัฒนากรีนแพกเกจในโลกธุรกิจ
เมื่อปลายปีที่แล้ว การจัดงานเอ็กซ์โป ชื่อ Chicago Pack Expo show (จัดปีละ 2 ครั้ง) ได้แสดงผลผลิตของกิจการด้านอุปกรณ์และวัสดุที่ใช้ผลิตหีบห่อกว่า 2,000 รายการ

เช่นเดียวกับการแสดงในงานของ International Housewares Show ซึ่งทั้งสองงานนี้แสดงให้เห็นว่ายังไม่มีการสร้างนวัตกรรมและการบริหารแนวคิดใหม่ เพื่อที่จะพัฒนากรีนแพกเกจอย่างเพียงพอ จะมีก็แต่เพียงแนวคิดเท่านั้น
ยิ่งกว่านั้น ในส่วนของกรีนแพกเกจ อาจจะกล่าวด้วยซ้ำว่ามีการถดถอยของการสร้างนวัตกรรมของกรีนแพกเกจ
จากข้อมูลที่ปรากฏในงาน Pack Expo 2012 มีความก้าวหน้าและการพัฒนาน้อยลงกว่าปีก่อนหน้าในผลิตภัณฑ์กรีนแพกเกจ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับปี 2008 และ 2010
เรื่องนี้คงมาจากงานวิจัยและพัฒนากรีนแพกเกจ ในระยะปีหลังๆ ที่น้อยลงกว่าเดิม ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากภาวะที่ถดถอยของเศรษฐกิจโดยรวม ทำให้งบประมาณในการวิจัยและพัฒนากรีนแพกเกจลดลงตามไปด้วย นั่นเองที่ทำให้กรีนแพกเกจใหม่ๆ ออกสู่ตลาดลดลง
ในขณะที่ผู้ประกอบการเองก็ปรับการมุ่งเน้นไปสู่สินค้าและตลาดที่มีการประกันประสิทธิผลแล้ว มากกว่าจะเสี่ยงจากกรีนแพกเกจที่คิดค้นใหม่ๆ จึงทำให้กรีนแพกเกจใหม่ๆ ไม่ค่อยได้รับการสนับสนุน
ตลาดกรีนคงจะต้องมีการเติบโตและแนวโน้มของการขยายตัวที่เด่นชัดและต่อเนื่องก่อน จึงจะทำให้ผู้ประกอบการกล้าเสี่ยงในการลงทุนในด้านกรีนแพกเกจเพิ่มเติม หมายความว่า ผู้ประกอบการใช้การสนองตอบต่อความจำเป็นทางการตลาดมากกว่าที่จะรุกนำตลาด

กระนั้นก็ตาม การสำรวจความคิดเห็นในตลาดสหรัฐ ที่มีกิจการข้ามชาติและผู้ประกอบการชั้นนำของโลกมากมาย พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังมีความกระตือรือร้นและพร้อมที่จะปรับตัวด้านกรีนแพกเกจ หากมีความจำเป็น และยินดีจะใช้แนวคิดกรีนและกรีนแพกเกจ และการพัฒนาสู่ความยั่งยืน ในการกระตุ้นความต้องการและปริมาณการจำหน่ายสินค้าในตลาดที่มียอดการจำหน่ายไม่เข้าเป้า หรือคุณภาพสินค้ายังมีปัญหา หรือระดับราคาแพง
ในด้านของซัพพลายเออร์เองก็มีการสำรวจพบว่า มีความตระหนักต่อความต้องการของลูกค้าที่เป็นภาคอุตสาหกรรม ในการจะพัฒนากรีนแพกเกจเป็นส่วนหนึ่งของการสะท้อนแนวทางการนำเสนอและป้อนสินค้าในแนวทางของ “อีโค”
กรีน แพกเกจที่มีการพัฒนาและก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องในวงการกรีนแพกเกจของโลก ได้แก่ การนำเอาวัสดุออร์แกนิก วัสดุที่ผลิตซ้ำ วัสดุที่ไร้ประโยชน์ อย่างเช่น เห็ด สาหร่ายทะเล และพลาสติกจากทะเล
แต่การนำเอากรีนแพกเกจแนวนี้มาใช้เป็นเพียงการใช้ในตลาดแบบแคบๆ ไม่ได้กระจายตัวอย่างกว้างขวาง หรือในระดับโลกที่กระจายออกไปในหลากหลายประเทศอย่างแท้จริง

แนวคิด “กรีน แพกเกจ” สรุปเป็นประเด็นหลักๆ ดังนี้
แนวคิดแรก การพยายามส่งเสริมให้มีการใช้แพกเกจลดลงและกลับไปสู่แพกเกจพื้น ๆ ที่ไม่ต้องการความหรูหราและฟุ่มเฟือยมากเกินความจำเป็น ซึ่งรวมถึงการใช้แนวทางการรัดเข็มขัด หรือประหยัดการใช้หีบห่อ ให้มีภาระต้นทุนลดลง
แนวคิดที่ 2 การพัฒนากรีนแพกเกจ ที่เน้นการเป็นกรีนจากรากฐาน ไม่ใช่จากความบังเอิญ หรือจากเจตนาที่จะสร้างความเข้าใจผิด โดยเน้นแนวคิด R’s ของการพัฒนากรีนแพกเกจ ได้แก่
- Reduce เน้นไปสู่การใช้วัสดุในการทำกรีนแพกเกจที่บางลง เหลือเพียงเพื่อความจำเป็น เพื่อจะได้ใช้วัสดุในการทำหีบห่อน้อยลง ทั้งส่วนที่เป็นกระดาษ พลาสติก เรซิน หีบห่อที่มองเห็นได้ หรือยืดหยุ่นการใช้งานได้มากขึ้น ไม่มีฟิล์มในการทำหีบห่อ หรือเทปปิดผนึกหีบห่อที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม
- Reuse การนำมาใช้ซ้ำ อย่างเช่นกรีนแพกเกจที่เป็นกระดาษ ที่มีอายุการใช้งานยาวนานขึ้น ไม่ใช่แกะกล่องแล้วทิ้งทันที ซองจดหมายที่นำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นเป็นหีบห่ออเนกประสงค์
- Recycle การดัดแปลงเพื่อการใช้ซ้ำ เป็นชิ้นส่วนของสินค้าชิ้นใหญ่จากรีไซเคิลในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้น กระบวนการรีไซเคิลที่ทำให้ง่ายและสะดวกขึ้น และมีผลให้สามารถปิดข้อความว่าเป็นวัสดุจากการรีไซเคิล ซึ่งแนวโน้มของการรีไซเคิลมีความต่อเนื่อง เพราะช่วยประหยัดต้นทุนในการผลิตของผู้ประกอบการได้อย่างเป็นรูปธรรม สามารถใช้ความได้เปรียบด้านต้นทุนในการต่อรองด้านราคาได้ดีขึ้นกว่าเดิมด้วย
ทั้งนี้ การที่จะเกิดการบริหารจัดการด้านกรีนแพกเกจได้ดี จะต้องเริ่มจากการออกแบบที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนของสังคมและสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ก่อนการออกแบบ และนำเอาประเด็นต่างๆ มาพิจารณาและคำนึงถึง 3 R’s ข้างต้นอย่างครบถ้วนควบคู่กับอายุและความนิยมของกรีนแพกเกจที่ต้องยาวนาน เพื่อให้การลงทุนในการพัฒนากรีนแพกเกจมีความคุ้มค่าด้านผลตอบแทนทางการเงิน และผลตอบแทนทางสังคม
กำลังโหลดความคิดเห็น