xs
xsm
sm
md
lg

งดงามในความเจ็บปวด : เล มิเซราบส์ กับเส้นทางสู่ออสการ์

เผยแพร่:   โดย: อภินันท์ บุญเรืองพะเนา


หลังจากคว้ารางวัลใหญ่ในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมสาขาหนังเพลงหรือตลกจากเวทีลูกโลกทองคำมาแล้วเมื่อต้นปี เล มิเซราบส์ ก็มีชื่อเข้าชิงเป็นหนึ่งในหนังเก้าเรื่องบนเวทีออสการ์ซึ่งต้องแย่งตุ๊กตาทองสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมกัน ในมุมมองของหลายคน อาจจะเห็นว่าโอกาสออสการ์สำหรับ “เหยื่ออธรรม” เรื่องนี้ ค่อนข้างริบหรี่ อย่างการที่หนังเข้าชิง แต่ผู้กำกับไม่มาด้วย ก็เป็นเหตุผลที่ทำให้หลายคนฟันโชะว่า เล มิเซราบส์ ไม่เข้าวินอย่างแน่นอน แต่นั่นไม่แน่เสมอไป

เพราะอย่าลืมว่า ในรอบสิบปีที่ผ่านมา ออสการ์ไม่มีหนังเพลงระดับเทพให้ได้เลือกเลย นับตั้งแต่ Chicago ชนะออสการ์ในสาขานี้ มันเป็นไปได้ไหมว่า ในฐานะสถาบันซึ่งผูกพันอยู่กับเรื่องศิลปะ บางที ออสการ์ก็อาจจะอยากบอกกล่าวต่อชาวโลกไว้บ้างว่า ในโลกนี้มันยังมีสิ่งที่เรียกว่า “หนังเพลง” อยู่ และอีกเหตุผลที่กล่าวข้างต้น หนังออสการ์ยอดเยี่ยมกับผู้กำกับยอดเยี่ยม ไม่จำเป็นต้องมาจากผลงานเรื่องเดียวกันเสมอไป เท่าที่นึกออกตอนนี้ ยกตัวอย่างเช่น ในปีที่ Shakespeare in Love ได้หนังยอดเยี่ยม แต่ผู้กำกับยอดเยี่ยมกลับเป็น สตีเว่น สปีลเบิร์ก จากเรื่อง Saving Private Ryan

ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอันใด ถ้า เล มิเซราบส์ จะยังคงสถานะของการเป็น “หนังเต็ง” ไว้ได้ เช่นเดียวกับหนังทุกเรื่องทั้งหมดที่เข้าชิง เหมือนกับ Argo ที่แม้ผู้กำกับเบน แอฟเฟล็ก จะไม่ได้เข้าชิง แต่หนังของเขาแรงเหลือเกินในเวทีรางวัลต่างๆ ณ ตอนนี้ คาดการณ์กันว่า ออสการ์อาจจะประกอบพิธี “ไถ่บาป” ให้กับตัวเองที่ไม่ได้เอาเบน แอฟเฟล็ก เข้ามาชิงในสายผู้กำกับด้วย และอาจจะมีการทดแทนความรู้สึกผิดนั้นด้วยการให้ตุ๊กตาทองหนังยอดเยี่ยมแก่อาร์โก้ ก็เป็นได้

ขณะเดียวกัน จะว่าไป ปีนี้มีโอกาสสูงมากที่ผู้กำกับยอดเยี่ยมกับหนังยอดเยี่ยมออสการ์อาจจะไม่ได้มาจากสายเดียวกัน เพราะอย่างหนังไล่ล่าบิน ลาดิน อย่าง Zero Dark Thirty ที่เข้าชิงหนังยอดเยี่ยม แต่ทว่าผู้กำกับแคเธอรีน บิเกโลว์ กลับไม่ได้เข้ามาด้วย หนังเรื่องนี้เปรียบเสมือนบันทึกทางประวัติศาสตร์อีกหนึ่งหน้าของอเมริกา และมันก็เป็นไปได้ที่ออสการ์อาจจะอยากเข้าร่วมสังสรรค์ในการเป็นส่วนหนึ่งซึ่งร่วมขีดเขียนประวัติศาสตร์หน้านี้ด้วย แม้พูดกันอย่างถึงที่สุด ออสการ์อาจจะไม่ต้องทำถึงขั้นนั้นก็ได้ เพราะถึงอย่างไร ในสายนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม เจสสิกา แซสเทน (ดาราสาวตัวนำของ Zero Dark Thirty) ก็ “นอนมา” อยู่แล้ว และนั่นก็เพียงพอแล้วต่อการเข้าร่วมบันทึกหน้าสำคัญของบ้านเกิดตัวเองที่ออสการ์สามารถทำได้

คำถามก็คือ แล้วอย่างนี้ เล มิเซราบส์ จะหมดโอกาสไปแล้วจริงๆ หรือ? คำตอบก็คือ ไม่ใช่เลย

เพราะเมื่อพูดกันอย่างอิงตามหลักฐานความเป็นไปได้ ภาพยนตร์ซึ่งกำกับโดยทอม ฮูเปอร์ (ผู้กำกับ The King’s Speech ที่ได้ออสการ์เมื่อสองปีก่อน) เรื่องนี้ กล่าวได้ว่ามีมวลสสารหลายอย่างที่ “เข้าทาง” กับหนังยอดเยี่ยมของออสการ์เป็นอย่างยิ่ง หนังมีอารมณ์ความรู้สึกที่คนทั่วไปเข้าถึงได้ไม่ยาก มีเนื้อหาสาระที่สะเทือนใจ มีพลังของเรื่องราวที่จะยกชูสภาวะจิตของมนุษย์ให้ฮึกเหิม ไม่ยอมแพ้ และต่อสู้ฟันฝ่ากระทั่งทำให้คนดูเฮได้ในตอนจบ ด้วยชัยชนะอันเป็นผลจากการไม่ยอมจำนนของตัวละคร...เราสามารถย้อนกลับไปดูหนังออสการ์ก็ได้ว่า ส่วนใหญ่ หนังที่ได้รับการประทับตราออสการ์นั้น ล้วนแล้วแต่เดินอยู่บน “วิถีแห่งความคิด” แบบนี้ทั้งนั้น

แม้จะมีต้นทางมาจากนวนิยายระดับเวิลด์คลาสสาสของวิคเตอร์ อูโก้ แต่ เล มิเซราบส์ ฉบับที่เป็นภาพยนตร์เพลงนี้ ดัดแปลงมาจากละครเวที ดังนั้นตัวเรื่องอาจจะไม่เหมือนตัวนิยาย เหมือนอย่างบทของฟองทีนซึ่งเห็นได้ชัดว่าถูกลดทอนให้เหลือเพียง “สมทบ” กระนั้นก็ตาม นี่นับเป็นการ “สมทบ” ที่ยอดเยี่ยมน่าจดจำอย่างยิ่ง แอน แฮทธาเวย์ นั้น “เต็งจ๋า” แน่นอน กับการชนะออสการ์ในสาขานักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม ลำพังบทเพลงที่เธอขับร้องอย่าง I Dream a Dream นั้นก็เพียงพอแล้วที่จะได้ใจทั้งของคนดูและคะแนนของคณะกรรมการทุกเวที

ตัวหนังโดยรวม ว่าด้วยการต่อสู้ฟันฝ่าเพื่อปลดเปลื้องตัวตนจากความรู้สึกผิดบาปของตัวละคร “ฌอง วัลฌอง” คือนักโทษที่ถูกตัดสินจำคุกเป็นเวลา 18 ปี ด้วยข้อหาขโมยขนมปังให้หลานชายกิน และเมื่อพ้นโทษมา เขายังต้องทัณฑ์บน รายงานตัวทุกปี สิ่งนี้มันกลายเป็นคล้ายบาปเวรที่ฝังรากลึกอยู่ในห้วงสำนึกของวัลฌองราวกับไม่มีวันลบล้างได้ ซ้ำร้ายไปกว่านั้น “ฌาแวร์” เจ้าหน้าที่รัฐซึ่งไม่รู้ผูกแค้นอาฆาตกันมาแต่ชาติปางไหน ยังเป็นเหมือนหอกข้างแคร่ที่คอยตอกย้ำซ้ำเติมความรู้สึกผิดบาปของวัลฌองให้พุพองเปื่อยเน่าอยู่เสมอ

หนังเรื่องนี้ เซ็ตฉากหลังแบ็กกราวน์เป็นฝรั่งเศสในยุคปฏิวัติ ดังนั้น จึงมีเรื่องราวส่วนหนึ่งคาบเกี่ยวเชื่อมโยงกับความเป็นไปของบ้านเมืองในยุคนั้น ด้วยเหตุนี้ ในขณะที่ประชาชนคนฝรั่งเศสจำนวนหนึ่งเรียกร้องการปลดแอกจากระบบหนึ่งไปสู่อีกระบบ ตัวละครหลักอย่างฌอง วัลฌอง ก็ต้องการอย่างถึงที่สุดในการปลดแอกตัวเอง จากความรู้สึกผิดบาปไปสู่ความบริสุทธ์ เป็นมนุษย์ที่ปราศจากความรู้สึกผิดบาป

ฮิวจ์ แจ็คแมน กับบทบาทฌอง วัลฌอง ไม่มีความบกพร่องใดในด้านการแสดง และการร้อง อันที่จริง ก็น่ายกย่องนักแสดงทุกๆ คนในหนังเรื่องนี้ที่ต้องมาเล่นหนังซึ่งต้องร้องเพลงตลอดทั้งเรื่อง ไม่มีบทพูด นอกจากบทร้อง เอาง่ายๆ ว่า ลำพังแค่การแสดงธรรมดาๆ โดยไม่ต้องร้องเพลงก็ยากอยู่แล้ว แต่นี่ถือเป็นภาระที่หนักขึ้นไปอีกขั้น การร้องเพลงนั้น ว่าอันที่จริง ใครก็พอจะร้องได้ แต่ร้องเพลงไปด้วยแสดงไปด้วย โดยสามารถรักษาระดับอารมณ์และสีหน้าท่าทางให้คงเส้นคงวาได้นั้น นับว่ายาก ผมอยากให้ดูฉากที่แอนน์ แฮทธาเวย์ ขับร้อง I Dream a Dream นอกจากน้ำเสียงของเธอจะบาดลึกเข้าไปถึงขั้วหัวใจชนิดที่ทำให้น้ำตาของคนดูหลายท่านซึมออกมาแล้ว สีหน้าท่าทางของเธอก็เป๊ะ รักษาอารมณ์ความรู้สึกไว้ได้จนจบเพลงที่ยาวถึง 4-5 นาที ยอดเยี่ยมมาก!!

มันอาจจะดูแปลกๆ ไปบ้าง สำหรับคนดูหนังจำนวนหนึ่งซึ่งไม่คุ้นเคยกับการดูหนังที่ร้องเพลงตลอดทั้งเรื่องและไม่มีบทพูดเลย แต่ก็อยากให้ไปลองดูกันครับ จะได้รสชาติที่แตกต่าง อย่ากลัวว่าจะดูไม่สนุก หนังมีครบทุกรส ทั้งสุข โศก ตลก เศร้า และไม่ว่ามันจะไปถึงเส้นชัยบนเวทีออสการ์หรือไม่ก็ตาม แต่ ณ นาทีนี้ เล มิเซราบส์ เข้าไปจับพื้นที่หัวใจคนดูได้เรียบร้อยแล้ว



ข่าวบันเทิง, ถูกต้อง, รวดเร็วฉับไว ทั้งไทย และเทศ http://www.superent.co.th

ติดตามความเคลื่อนไหวอินสตาแกรมดาราทั้งไทยและเทศตลอด 24 ชั่วโมงได้ที่ ซูเปอร์สตาแกรม

เกาะติดข่าวบันเทิงและร่วมวงเมาท์ดารากับ ""ซ้อ 7"ก่อนใคร ผ่าน SMS โทรศัพท์มือถือทุกเครือข่าย
ระบบ dtac - เข้าเมนู write Message พิมพ์ R แล้วส่งไปที่หมายเลข 1951540
ระบบ AIS - กด *468200311 แล้วโทร.ออก
ระบบ True Move และ Hutch - เข้าเมนู write Message พิมพ์ ENT แล้วส่งไปที่หมายเลข 4682000
*ค่าบริการเพียง 29 บาท ต่อเดือน ทดลองใช้ฟรี 15 วัน อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ คลิก







กำลังโหลดความคิดเห็น