xs
xsm
sm
md
lg

Levi’s เริ่มธุรกิจกรีนแนวใหม่อีกแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ลีวายส์ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการผู้นำในด้านกรีนของโลกสิ่งทอ หลังจากที่ลีวายส์ปรับกระบวนการผลิตที่ไม่ต้องพึ่งพาการใช้น้ำมาแล้ว ตอนนี้ลีวายส์สนใจจะช่วยกำจัดขวดพลาสติกที่เป็นขยะสำคัญของโลกโดยเอามาผลิตกางเกงยีนส์
เมื่อไม่นานนี้ ลีวายส์เปิดโครงการนำขวดพลาสติก 8 ขวดมาผลิตยีนส์รุ่นใหม่ของลีวายส์ชื่อ Waste คาดในอีกราว 1-2 ปีข้างหน้านี้ ลีวายส์มีแผนงานที่จะขยายโครงการออกไปยังผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่จะลดผลกระทบของการดำเนินงานของกิจการต่อการทำร้ายโลกมากขึ้น
เฉพาะช่วงฤดูใบไม้ผลิตปี 2013 เพียงช่วงเดียว ลีวายส์ได้ขยายความครอบคลุมของการผลิตสินค้าด้วยขวดพลาสติกออกไป จนสามารถรีไซเคิลขวดพลาสติกได้กว่า 3.5 ล้านขวด
ลีวายส์ประชาสัมพันธ์เรื่องนี้ออกไปอย่างกว้างขวาง เพื่อต้องการให้ลูกค้าของตนรับรู้และเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นผู้บริโภคแบบกรีน ที่ใส่ใจดูแลสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ก่อนหน้านี้ ลีวายส์ได้พัฒนากระบวนการที่เรียกว่า green washing โดยพัฒนาต่อยอดมาจากการพยายามปรับกระบวนการผลิตจาก white washing แบบเดิม จนทำให้คนคุ้นเคยกับกระบวนการดังกล่าวกันในวงกว้าง

มุ่งการวิจัยพัฒนา สร้างมาตรฐาน Go Green
การพัฒนาสู่การใช้ขวดพลาสติกเป็นวัสดุในการผลิตกางเกงยีนส์ของลีวายส์ สะท้อนถึงความใส่ใจในการพัฒนาการดำเนินงานสู่กรีนอย่างต่อเนื่องและจริงจัง และพยายามพิจารณาทุกทาง ทุกวิธีที่จะเป็นไปได้ในการปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานของลีวายส์ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ทั้งแบรนด์ Levi’s®, Dockers® และ Denizen™

เมื่อต้นปีนี้ ลีวายส์ไปร่วมมือกับ Forum for the Future องค์กรชั้นนำด้านความยั่งยืนในลอนดอน ในหัวข้อที่ชื่อว่า แฟชั่นที่เป็นมิตรต่อระบบนิเวศ ที่จะดำเนินการอย่างต่อเนื่องไปจนถึงปี 2025
เป็นการสร้าง scenario เกี่ยวกับภาพฉากทัศน์ที่เรียกว่าความยั่งยืนในอนาคต เพื่อที่จะทำให้เกิดความท้าทายกับตนเองในการผลักดันการดำเนินธุรกิจไปสู่ความยั่งยืนมากที่สุด โดยขอความร่วมมือและการสนับสนุนด้านการออกแบบสินค้ากรีนจากสถาบันการศึกษาด้านการออกแบบระหว่างประเทศชั้นนำ เพื่อสร้างวงจรธุรกิจแฟชั่นแบบยั่งยืน
และเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมานี้ ลีวายส์ยังได้เข้าร่วมกับผู้ประกอบการอีก 60 รายในเส้นทางของการทดสอบเกี่ยวกับวิธีการใหม่ในการวัดผลการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก เพื่อที่จะมีความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับการเกิดก๊าซคาร์บอนจากการผลิตสินค้าและจากกระบวนการบริหารห่วงโซ่อุปทาน
มาตรฐานที่นำมาใช้ทดสอบที่ว่านี้ เป็นมาตรฐานที่พัฒนาโดย World Resources Institute และได้วางวิธีการโดยรวมในการทำบัญชีปริมาณของก๊าซคาร์บอนที่สามารถปรับลดได้

ปรับกระบวนการผลิต เน้นรักษ์สิ่งแวดล้อม
ควบคู่กับการปรับตัวด้านกระบวนการผลิต ลีวายส์ยังให้การศึกษาแก่ลูกค้าและสาธารณชน เพื่อให้เกิดความใส่ใจและดูแลการใช้ผลิตภัณฑ์ยีนส์ที่อาจจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นแคมเปญการให้การศึกษา The Levi’s® Care Tag for Our Planet initiative และ our Care to Air Contest ให้เกิดการแข่งขันกันออกแบบเสื้อผ้า และกระบวนการผลิตที่ดูแลโลก
สำหรับโครงการใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตกางเกงยีนส์แนวกรีนที่ชื่อ Water โครงการที่ออกใหม่อีกโครงการหนึ่งของลีวายส์เริ่มเป็นที่รู้จักกันในวงการกรีนมากขึ้นแล้ว ก็คือ การริเริ่มการแปลงสภาพกางเกงยีนส์เก่า ที่ไม่ได้ใส่แล้ว หรือหมดสภาพการใส่เป็นกางเกงได้แล้ว ให้นำไปส่งให้กับโครงการ recycled denim insulation เพื่อมิให้เกิดการทิ้งกางเกงยีนส์กลุ่มนี้จนทับถมบนพื้นดิน และนำไปดัดแปลงเป็นสินค้าอื่นที่กลับมาใช้ประโยชน์ได้อีก เพื่อยืดอายุของการใช้งานออกไป

นอกจากการพยายามสร้างความตระหนักและการเรียนรู้ในหมู่ของผู้บริโภคและสาธารณชนแล้ว ลีวายส์พยายามทำให้เสียงการดำเนินงานของตนดังไปถึงวอชิงตัน ดีซี ให้เกิดการสนใจที่จะออกนโยบายเพิ่มเติมในภาครัฐและพรรคการเมืองด้านการบริหารการดำเนินงานที่มีผลกระทบต่อภาวะโลกร้อน และการบันทึกผลงานในด้านการดูแลหรือการทำลายชั้นบรรยากาศของโลก และภาวะโลกร้อน รวมทั้งสร้างกฎเกณฑ์ในการจัดระบบการให้เกรดด้านสิ่งแวดล้อม หรือ environmental rating system เอาไว้กำกับกิจการ 90 กิจการใน 12 ประเภทธุรกิจให้มีความคืบหน้าในการดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง

ภายในการดำเนินงานของลีวายส์เอง ยังมีโครงการที่ดูแลเอาใจใส่คนงาน ด้วยการทำความร่วมมือกับ Hennes & Mauritz ในการยกเลิกวิธีการเป่าด้วยทราย หรือ sandblasting ในการผลิตสินค้าทุกสายผลิตภัณฑ์ของกิจการ เพื่อลดอันตรายด้านสุขภาพของคนงานจากฝุ่นทรายที่ออกมาจากกระบวนการทำงาน ซึ่งลีวายส์กำลังจะขยายผลเรื่องนี้ออกไปสู่กิจการเสื้อผ้าอื่นและร้านค้าปลีกด้วย
และที่ดำเนินการไปแล้วตั้งแต่ปี 2012 ของลีวายส์ยังถอยกลับไปตั้งแต่ต้นน้ำ ในการปรับปรุงและส่งเสริมกระบวนการผลิตฝ้ายที่จะนำมาใช้ในกระบวนการผลิต ให้การเพาะปลูกฝ้ายเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ในชื่อโครงการ The Better Cotton Initiative ด้วยการส่งเสริมการปลูกฝ้ายที่ลดการใช้น้ำและปุ๋ยที่เป็นสารเคมี
กำลังโหลดความคิดเห็น