xs
xsm
sm
md
lg

บี้รัฐต้องปลดล็อก “พลังงานทดแทน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


จากสถานการณ์การใช้พลังงานของไทยที่อยู่ในขั้นฟุ่มเฟือย ทำให้ ส.อ.ท. เร่งขับเคลื่อนการใช้พลังงานทดแทนรองรับการผลิตในอนาคต ซึ่งฟากผู้ประกอบการ มองทางออกว่า รัฐจะต้องปลดล็อกพลังงานทดแทน
พลังงานทดแทน หรือ พลังงานทางเลือก เป็นอีกหนึ่งธุรกิจดาวเด่น 2556 และที่โดดเด่นในปัจจุบันคงไม่พ้น “โซลาร์ฟาร์ม” หรือ พลังงานแสงอาทิตย์ที่ผลิตด้วยเทคโนโลยี PV เป็นการเปลี่ยนแสงอาทิตย์ให้เป็นกระแสไฟฟ้า แล้วจะได้พลังงานที่สะอาดอย่างแท้จริง คือไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางเสียง และกลิ่น
โซลาร์เซลล์ พลังงานทดแทนมีโอกาสที่จะทดแทนได้ก่อนใคร
อย่างไรก็ตาม พลังงานแสงอาทิตย์จะต้องใช้ต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าเชื้อเพลิงทุกประเภท จึงเป็นการผลิตพลังงานโดยต้องพึ่งพาภาครัฐให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง มิเช่นนั้นต้นทุนการผลิตย่อมจะไม่คุ้มค่ากับราคาขายไฟ เนื่องจากส่วนต่างที่รัฐชดเชย (Adder) ถูกกำหนดขึ้นเป็นอัตราที่สูงและแพงกว่า เชื้อเพลิงประเภทอื่นๆ มาก ดังนั้น รัฐได้จูงใจให้มีการลงทุนและดูเป็นโชคดีของบริษัทที่มีใบอนุญาต เนื่องจากราคาแผง PV ลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว ต้นทุนที่เคยสูงจึงกลับลดลงมากโดยที่ยังสามารถมีแอดเดอร์สูงเหมือนเดิม บริษัทที่มีใบอนุญาตจึงสามารถทำกำไรได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ
ในขณะที่การลงทุนในพลังงานทางเลือกที่เป็นอุตสาหกรรมปลายน้ำก็เป็นสิ่งที่ยังรอวัน พิสูจน์ตัวเอง เนื่องจากการเติบโตยังคงต้องพึ่งการสนับสนุนจากภาครัฐ ส่วนทางด้านเทคโนโลยีก็ยังไม่อิ่มตัว ยังสามารถพัฒนาต่อไปได้อีก ดังนั้น การเติบโตในอนาคตจึงเป็นเรื่องที่มองยาก
สัดส่วนการใช้พลังงานจากแหล่งต่างๆ ในปี 2555
ทุกภาคส่วนทั่วไทยใช้ไฟฟ้าฟุ่มเฟือย
สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) รายงานสถานการณ์การใช้พลังงานของประเทศโดยรวมว่ามีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้น โดยการใช้พลังงานเชิงพาณิชย์ขั้นต้นของปี 2555 เพิ่มขึ้น 6.6% อยู่ที่ระดับ 1.977 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน แบ่งเป็นน้ำมันเพิ่มขึ้น 4.6% ก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้น 9.2% ถ่านหินนำเข้าเพิ่มขึ้น 14.6% การใช้ไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้น 3.4% ส่วนการใช้ถ่านหินลิกไนต์ลดลง 12.4%
ขณะที่การผลิตพลังงานเชิงพาณิชย์ของปี 2555 เพิ่มขึ้น 6.2% เมื่อเทียบกับปีก่อนอยู่ที่ระดับ 1.082 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน และการนำเข้าพลังงานสุทธิเพิ่มขึ้น 6.2% เมื่อเทียบกับปีก่อนอยู่ที่ระดับ 1.080 ล้านบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน
ถ้ามองในแง่มูลค่าการใช้พลังงานเชิงพาณิชย์ในปี 2555 คิดเป็น 2.129 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 9.4% จากที่อยู่ในระดับ 1.947 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น มูลค่าการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น 6% ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 16.3% ก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้น 26.3% ลิกไนต์และถ่านหินเพิ่มขึ้น 5.1% และพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น 3.9%
ในขณะที่ รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนที่ผลิตได้ในประเทศ ประกอบด้วย พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังน้ำ ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ ขยะ และเชื้อเพลิงชีวภาพ (เอทานอลและไบโอดีเซล) ด้วยการมีแผนพัฒนาและส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนและทางเลือกให้ได้ 25% ใน 10 ปี (พ.ศ.2555-2564) ส่งผลให้ในปี 2555 ที่ผ่านมามีการใช้พลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 14.3% คิดเป็นสัดส่วน 9.9% ของการใช้พลังงานทั้งหมด
ขณะเดียวกันการนำเข้าพลังงานคิดเป็นมูลค่ารวม 1.44 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 16.7% จากที่อยู่ในระดับ 1.236 ล้านล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นมูลค่าจากการนำเข้าน้ำมันดิบถึง 78% มีมูลค่าถึง 1.122 ล้านล้านบาท เป็นผลมาจากปริมาณนำเข้าที่สูงขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเฉลี่ยสูงขึ้นที่ 114 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล และมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว หรือแอลเอ็นจีเพิ่มขึ้นด้วย
ส่วนการส่งออกพลังงานในปี 2555 มีมูลค่ารวม 3.91 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 21.9% จากที่เคยอยู่ในระดับ 3.21 แสนล้านบาท โดยมูลค่าการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปมีสัดส่วนมากที่สุดคิดเป็น 85% มีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นถึง 19.7% อยู่ที่ 3.33 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) รายงานการใช้พลังงานในแต่ละสาขาเศรษฐกิจในภาพรวมพบว่า มีการใช้เพิ่มขึ้น ประกอบด้วย ภาคอุตสาหกรรม 26,910 พันตัน เพิ่มขึ้น 8.3% ภาคขนส่ง 26,230 พันตัน เพิ่มขึ้น 3.0% บ้านอยู่อาศัย 11,083 พันตัน เพิ่มขึ้น 0.4% ธุรกิจการค้า 5,303 พันตัน ลดลง 3.8% และเกษตรกรรม 3,790 พันตัน เพิ่มขึ้น 2.8%
จะเห็นว่าเป็นการใช้ในภาคอุตสาหกรรมมากที่สุดในสัดส่วน 36.7% ตามมาด้วยภาคขนส่ง 35.6% บ้านอยู่อาศัย 15.1% ธุรกิจการค้า 7.2% และเกษตรกรรม 5.2%
ดังนั้น ถ้าทุกภาคส่วนมีความต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น ในขณะที่พลังงานในประเทศมีจำกัด และต้องนำเข้าจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก คิดเป็นมูลค่ามหาศาลดังกล่าว ย่อมจะเป็นโจทย์ที่สำคัญซึ่งจะต้องหาทางออก และทางออกในเบื้องต้นที่เป็นเฉพาะหน้าที่เห็นกันบ่อยๆ ก็คือ การขอความร่วมมือ และรณรงค์ให้ร่วมมือกันประหยัดและใช้พลังงาน ทั้งๆ ที่ทางออกในระยะยาวที่ยั่งยืน คือการเร่งดำเนินการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนอย่างมีประสิทธิภาพ
พิชัย ถิ่นสันติสุข  ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน ส.อ.ท.
ผู้ประกอบรายใหญ่ บริหารจัดการมีประสิทธิภาพสูงสุด
จากสถานการณ์การใช้พลังงานของประเทศไทยโดยรวมอยู่ในสภาพค่อนข้างฟุ่มเฟือย เป็นเพราะจิตสำนึกการประหยัดพลังงานของคนไทยยังมีไม่มาก ประกอบกับสาเหตุสำคัญประการหนึ่งอยู่ที่ราคาพลังงาน โดยเฉพาะก๊าซแอลพีจี ที่มีราคาต่ำและได้รับการอุดหนุนราคาจากรัฐบาล ทำให้ไม่เกิดการประหยัดเท่าที่ควร ขณะที่การประหยัดพลังงานในองค์กรจำนวนมากเป็นเพียงคำพูดและใช้ในการสร้างภาพลักษณ์ขององค์กรว่ามีความใส่ใจรับผิดชอบต่อสังคม แต่ไม่ได้มีการดำเนินการอย่างจริงจัง ทั้งในด้านการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนและการหาแนวทาง หรือวิธีการที่ดีกว่าเดิมเพื่อให้เกิดการประหยัดอย่างแท้จริง
พิชัย ถิ่นสันติสุข ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในปัจจุบัน ผู้ที่ประหยัดพลังงานได้อย่างแท้จริง คือบริษัทขนาดใหญ่ เพราะมีการบริหารงานอย่างเป็นระบบ และเมื่อประหยัดเพียงเล็กน้อยจะเห็นผลกระทบได้อย่างชัดเจน ยิ่งกว่านั้น บริษัทขนาดใหญ่ยังเริ่มใช้เงินลงทุนนับพันล้านบาทในเรื่องพลังงานทดแทน เพราะมองว่าเป็นรายได้อีกทางหนึ่ง พลังงานทดแทนจึงกลายเป็นธุรกิจของบริษัทเหล่านี้ไปแล้ว จากที่ก่อนหน้านี้บริษัทต่างๆ ที่ขายทรัพยากรธรรมชาติ หรือทำธุรกิจที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น สิ่งทอ ยานยนต์ และปูนซิเมนต์ ลงทุนในเรื่องพลังงานทดแทนเพียงเพราะต้องการให้สังคมมองว่าเป็นบริษัทที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม โดยไม่สนใจว่าทำแล้วจะได้กำไรหรือขาดทุน
นอกจากนี้ หน่วยงานที่กำหนดนโยบายคือสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กับหน่วยงานปฏิบัติ คือ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.)ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ส่งเสริมเรื่องพลังงานทดแทน ไม่ได้ทำงานไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่สัมพันธ์กันเลย ส่งผลให้พลังงานทดแทนไม่เติบโตเท่าที่ควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการกำหนดอัตราส่งเสริมส่วนเพิ่มค่าไฟฟ้า (Adder) ซึ่งเป็นกุญแจของความสำเร็จสำหรับพลังงานทดแทนเพราะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการลงทุน จึงต้องเร่งแก้ปัญหาซึ่งเป็นการ “ปลดล็อก” ให้ถูกทิศทาง
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจลงทุนในพลังงานทดแทนของธุรกิจต่างๆ ไม่ใช่การให้ความใส่ใจในเรื่องของสิ่งแวดล้อม แต่อยู่ที่ “น่าลงทุน” หรือไม่? สำหรับการลงทุนที่น่าสนใจเมื่อมองในแง่ของวัตถุดิบคือพลังงานทดแทนที่มาจาก “วัตถุดิบที่ไม่ต้องมีสต็อก” เพราะจัดการง่าย แต่หลังจากที่รัฐบาลส่งเสริมด้วยการรับซื้อไฟฟ้า 2,000 เมกะวัตต์ ในตอนนี้จึงหยุดการส่งเสริมแล้วเนื่องจากต้องนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์ที่ใช้ในการผลิตพลังงานทั้งหมดและเมื่อเสื่อมสภาพแล้วจะกลายเป็นขยะอยู่ในประเทศไทย
ส่วนพลังงานลม เนื่องจากประเทศไทยมีกระแสลมอ่อนจึงใช้แรงลมในการผลิตไฟฟ้าได้ไม่มาก หากต้องการทำเป็นธุรกิจต้องใช้เวลาประมาณ 2 ปีเพื่อทดสอบ ซึ่งอาจจะไม่สำเร็จเพราะไม่คุ้มกับการลงทุน แต่ในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการผลิตพลังงาน ปัจจุบันประเทศไทยมีการพัฒนากังหันลมสำหรับแรงลมต่ำขึ้นมาใช้เอง ขณะที่ การใช้พลังงานจากน้ำ ต้องใช้พื้นที่ซึ่งเป็นเขตอุทยานจึงจะเหมาะสมในการผลิต แต่ไม่สามารถใช้พื้นที่ได้เพราะมีการต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่ จึงมีข้อจำกัดค่อนข้างมากในการใช้พลังงานกลุ่มนี้
ดังนั้น รัฐบาลจึงหันมาส่งเสริมพลังงานที่ผลิตได้ในประเทศไทย เพราะทำแล้วคนไทยได้ประโยชน์และเป็นแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน เนื่องจากเป็นจุดแข็งของประเทศไทยในด้านภูมิศาสตร์ซึ่งเป็นเขตร้อนมีพืชโตเร็วตลอดทั้งปี ขณะที่ประเทศในเขตหนาวพืชเติบโตได้เพียง 4 เดือนเท่านั้น ดังนั้น ประเทศไทยจึงได้เปรียบอย่างมากในเรื่องพืชพลังงาน ควรจะส่งเสริมส่วนนี้จึงถือว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง
กำลังโหลดความคิดเห็น