xs
xsm
sm
md
lg

ใช่ ไฟฟ้าวิกฤต แต่วิกฤตมาตั้งแต่ก่อนปี 2538 แล้ว!

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

​สืบเนื่องคำแถลงของรัฐมนตรีพลังงานว่าในช่วงต้นเดือนเมษายนนี้อาจจะเกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับเนื่องจากก๊าซธรรมชาติที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้ามีปัญหาพร้อมกันทั้งสองแหล่ง คือจะมีการซ่อมแท่นเจาะที่ทรุดตัวในประเทศพม่า และท่อส่งก๊าซไทย-มาเลเซียรั่วเพราะเจอสมอลาก

ปริมาณก๊าซธรรมชาติที่หายไปจะทำให้พลังงานไฟฟ้าหายไปประมาณ 6,000 เมกะวัตต์ หรือ 23% ของพลังงานไฟฟ้าที่จำเป็นต้องใช้ทั้งประเทศ รัฐมนตรีพลังงานกล่าวเพิ่มเติมว่า แม้จะระดมเชื้อเพลิงชนิดอื่น เช่น น้ำมันเตา น้ำมันดีเซล น้ำจากเขื่อน และซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้นก็ยังขาดอยู่อีก 2,000 เมกะวัตต์ (ประมาณ 8%)

รัฐมนตรีท่านนี้ถึงกับกล่าวว่าจะ “ประกาศภาวะฉุกเฉินทางพลังงาน” คำแถลงดังกล่าวได้สร้างความวิตกกังวลให้กับคนในวงกว้าง กระทบไปถึงธุรกิจท่องเที่ยวที่บางรายถูกยกเลิกการจองล่วงหน้าไปแล้ว

ผู้ที่ติดตามเรื่องนโยบายไฟฟ้าภาคประชาชนได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์คำแถลงของรัฐมนตรีดังกล่าวใน 2 ประเด็น คือ

หนึ่ง กรณีท่อก๊าซไทย- มาเลเซียรั่วนั้น เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2555 แล้ว ปัจจุบันได้ซ่อมเสร็จเรียบร้อยไปแล้ว หลายคนจึงสงสัยว่าท่านยกเหตุการณ์นี้ขึ้นมาทำไม

สอง กรณีการซ่อมแท่นเจาะก๊าซฯ ในพม่า รัฐบาลไทยน่าจะไปเจรจาต่อรองกับบริษัทรับสัมปทานซึ่งทางบริษัท ปตท.สผ. ที่เป็นรัฐวิสาหกิจของประเทศไทยถือหุ้นอยู่ประมาณ 25% และบริษัท ปตท.สผ. ก็อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาลไทย โดยขอให้เลื่อนการซ่อมจากวันที่ 4-14 เมษายน ไปเป็นช่วงอื่นที่ใช้ไฟฟ้าน้อยกว่า หรือในช่วงสงกรานต์ (9-16 เมษายน) ก็ได้เพราะความต้องการไฟฟ้าของประเทศไทยลดลงต่ำที่สุด เป็นช่วงที่ภาคอุตสาหกรรม (ซึ่งใช้ไฟฟ้าประมาณ 40% ของประเทศ) ต้องหยุดยาว นอกจากนี้ภาคประชาชนยังได้ตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อปีก่อนนี้ (2554) ก็มีการหยุดซ่อมเอาในช่วงหน้าร้อน (มีนาคม) ซึ่งเป็นช่วงที่มีการไฟฟ้ามากเช่นกัน

บางคนถึงกับเปรียบเทียบว่า “เหมือนโรงน้ำแข็ง เจ้าของคนไหนจะบ้ามาหยุดซ่อมโรงงานเอาในหน้าร้อนซึ่งมีความต้องการบริโภคน้ำแข็งมากที่สุด” หลายคนวิจารณ์ว่า

“นี่เป็นแผนการทำให้ประชาชนรู้สึกกลัว แล้วถือเอาความหวาดกลัวมาเป็นพลังบีบให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ถูกคัดค้านทั่วประเทศจากชุมชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง”

ในที่นี้ ผมจะนำเสนอว่า แท้ที่จริงแล้วภาวะฉุกเฉินดังกล่าวได้เกิดขึ้นมานานแล้ว พร้อมกับจะยกตัวอย่างให้เห็นว่าประเทศอื่นโดยเฉพาะประเทศเยอรมนีเขามีนโยบายและวิธีการอย่างไรจึงสามารถนำพลังงานจากแสงแดดมาใช้ผลิตไฟฟ้าได้เป็นจำนวนมาก

ในปี 2538 รัฐบาลและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้เคยรณณรงค์ให้ประชาชนช่วยกันปิดไฟฟ้าที่ไม่ได้ใช้ในเวลาประมาณ 1 ทุ่มตรง เพราะช่วงนั้น การใช้ไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ช่วงหัวค่ำ ต่างจากปัจจุบันที่ภาคอุตสาหกรรมและห้างสรรพสินค้าเป็นจำนวนมาก ทำให้ช่วงการใช้ไฟฟ้าสูงสุดมาอยู่ที่ประมาณบ่ายสอง

ในตอนนั้นประชาชนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี สามารถลดกำลังการผลิตลงได้ประมาณ 500 เมกะวัตต์ซึ่งเทียบเท่ากับไฟฟ้าจากเขื่อนขนาดใหญ่หลายเขื่อน

ในคืนนั้นเอง รองผู้ว่าการ กฟผ. ท่านหนึ่งได้ออกมาพูดกับประชาชนทางโทรทัศน์ว่า “กฟผ.จะไม่ยอมให้มีการใช้ก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้าเกินร้อยละ 50 อย่างเด็ดขาด”

ผมจำและชื่นชมคำพูดของท่านเป็นอย่างมาก แต่ในที่สุดนโยบายดังกล่าวก็หาเป็นจริงไม่ เพราะสัดส่วนของการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงได้เพิ่มขึ้นเป็น 72% ของเชื้อเพลิงทุกประเภท ที่เหลือ 18% เป็นถ่านหิน ที่เหลือจากนี้เป็นพลังน้ำ ที่ส่วนใหญ่ซื้อจากประเทศเพื่อนบ้าน

ปัจจุบัน (2556) แม้ว่าสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติได้ลงมาอยู่ที่ 66% แต่ปริมาณก๊าซกลับยังเพิ่มขึ้นอีกเพราะการใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น

เมื่อปี 2547 หมอมิ้ง (นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช) ในฐานะรัฐมนตรีพลังงานได้กล่าวในที่ประชุมพลังงานหมุนเวียนระดับโลกที่ประเทศเยอรมนีว่า “ประเทศไทยจะใช้พลังงานหมุนเวียนผลิตไฟฟ้าให้ได้ 8% ในอีกประมาณ 5 ปีข้างหน้า” คำกล่าวที่ว่านี้ได้รับการยกย่องเป็นอย่างมากจากที่ประชุม แต่แล้วจนถึงวันนี้ ไม่ว่าจากมั่นสัญญาจาก กฟผ. หรือจากรัฐมนตรีพลังงาน ก็ไม่มีอะไรเป็นจริงหรือใกล้ความจริงเลย

ปัจจุบันนี้ถ้าไม่นับพลังน้ำ ประเทศเราใช้พลังงานหมุนเวียน (ซึ่งได้แก่ ลม แสงแดด และชีวมวล) รวมกันไม่ถึง 1% รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ได้กำหนดว่าในปี 2564 จะใช้พลังงานหมุนเวียนผลิตไฟฟ้าให้ได้กว่า 20%

แม้เวลานั้นจะยังมาไม่ถึง แต่จากความล้มเหลวและเหลวไหลในอดีต เราก็พอจะสรุปได้ล่วงหน้าว่านโยบายดังกล่าวเชื่อถือไม่ได้

การที่เราใช้เชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติถึง 70% ก็เหมือนกับการนำไข่ไปใส่ไว้ในตะกร้าเดียวกัน เมื่อเกิดปัญหาก็พากันแตกหมด ดังนั้นเราจึงควรกระจายเชื้อเพลิง

สิ่งที่กระทรวงพลังงานใช้อ้างอยู่ในขณะนี้ก็คือการกระจายเชื้อเพลิง แต่ดันคิดจะกระจายไปหาถ่านหินและนิวเคลียร์ที่กระแสโลกกำลังต่อต้าน เหตุผลสำคัญก็คือมีบริษัทผูกขาดพลังงานไปทำเหมืองถ่านหินอยู่ต่างประเทศแล้ว

นอกจากนี้ ผมได้รับทราบจากอดีตข้าราชการระดับสูงท่านหนึ่งว่า อดีตนักการเมือง (ที่เป็นอดีตเป็นผู้นำนักศึกษาช่วง 14 ตุลาคม 2516) กำลังพยายามจะนำถ่านหินจากประเทศจีนมาใช้ในประเทศไทย เป็นถ่านหินที่คณะกรรมการโอลิมปิกสากลยื่นคำขาดต่อรัฐบาลจีนว่า “ถ้าคุณไม่ปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินดังกล่าว ก็จะไม่มีการแข่งขันโอลิมปิก เพราะคุณภาพอากาศไม่ได้มาตรฐาน” เรื่องที่เล่ามานี้ คือเบื้องหลังหนึ่งของการขับเคลื่อนด้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในบ้านเรา

กิจการอื่นๆ ก็ไม่ต่างจากนี้ครับ

การผลิตไฟฟ้าด้วยโซลาร์เซลล์ในประเทศเยอรมนีได้เพิ่มขึ้นจาก 20,000 ล้านหน่วยในปี 2554 เป็น 28,500 ล้านหน่วยในปี 2555

ท่านอาจจะสงสัยว่าพลังงานไฟฟ้าในปี 2555 จำนวนนี้มันมากน้อยแค่ไหน คำตอบก็คือคิดเป็นประมาณ 16% ของที่ประเทศไทยใช้ มันน้อยเสียเมื่อไหร่ มันใกล้เคียงกับที่เราผลิตจากถ่านหินทั้งหมด

เราอาจจะตั้งคำถามว่า ระหว่างประเทศไทยกับประเทศเยอรมนี ประเทศไหนมีแดดมากกว่ากัน ผมเชื่อว่าเราทั้งหลายคงมีคำตอบตรงกัน เพราะที่เห็นข่าวจากทีวีพบว่าในแต่ละปีประเทศในยุโรปต้องเจอกับหิมะปกคลุมขาวไปทั้งประเทศนานกว่า 3 เดือน ส่วนประเทศเราก็แทบจะมีแค่ 2 ฤดูคือ “ร้อนกับร้อนฉิบห..” ดังนั้นจึงไม่ต้องสงสัยว่าประเทศเรามีแดดมากกว่าแน่นอน

ในเรื่องชีวมวลหรือของเหลือจากการเกษตร อดีตรัฐมนตรีพลังงาน (นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล ค้นได้จากกูเกิล โดยใช้คำว่า ไฟฟ้า + กระบี่ + นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล) ก็จะพบข้อความตอนหนึ่งว่า “อย่างเช่นที่จังหวัดกระบี่มีอยู่หลายโรงที่ผลิตกระแสไฟฟ้าจากปาล์มทลาย เมื่อดูดีมานด์การใช้ไฟฟ้าทั้งจังหวัดกระบี่อยู่ที่ 60 เมกะวัตต์ แต่ผลิตได้เองถึง 30 เมกะวัตต์ และมีศักยภาพจะผลิตได้ถึง 120 เมกะวัตต์ เราอยากที่จะส่งเสริมจังหวัดกระบี่เป็นต้นแบบที่ดี”

นั่นแปลว่า จังหวัดกระบี่จังหวัดเดียวมีศักยภาพที่จะผลิตจากทลายปาล์มได้ถึง 120 เมกะวัตต์ ทั้งๆ ที่จังหวัดนี้มีความต้องการแค่ 60 เมกะวัตต์เท่านั้น

นี่เป็นคำพูดของอดีตรัฐมนตรีนะครับ ใครที่ไม่เชื่อก็ลองเช็กดูซิ ผมเคยเจอมาแล้วว่า ข้าราชการระดับสูงของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ไม่เชื่อข้อมูลของกรมเอง

เวรกรรมประเทศไทย!

ดร.เฮอร์แมน เชีย ผู้ได้รับรางวัลโนเบลทางเลือกได้ให้ข้อมูลที่ทำให้พวกเราตกตะลึงว่า “พลังงานที่ชาวโลกใช้ในปัจจุบัน ทั้งโลก ทั้งปีนั้น เท่ากับพลังงานที่ดวงอาทิตย์ส่งให้โลกเพียง 8 นาทีเท่านั้น”

คำถาม คือ ทำไมประเทศไทยจึงไม่ยอมนำมาใช้

คำตอบ คือ ถ้านักการเมืองไทยมีโฉนดบนดวงอาทิตย์เช่นเดียวกับการมีเหมืองถ่านหินในอินโดนีเซีย ออสเตรเลียแล้ว พวกเขาก็จะส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนทันที

มักจะอ้างกันเสมอว่า ไฟฟ้าที่ผลิตจากแสงแดดยังแพงอยู่ คนไทยยังยากจน “ถ้าคนไทยสามารถกินสเต็กได้เหมือนฝรั่งแล้วค่อยนำพลังงานแพงๆ มาใช้” (คำพูดของรัฐมนตรีคนนี้)

คำพูดดังกล่าวเป็นความจริงบางส่วนเท่านั้น

จากข้อมูลของ ส.ส.พรรคกรีน ประเทศเยอรมนี (คุณ Hans-Josel Fell) ที่เพิ่งมาบรรยายที่วุฒิสภาเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 56 นี้ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตจากแสงแดด (ชนิดที่ใช้ความร้อน) นั้นมีราคาถูกกว่าที่ผลิตจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แล้ว ดังรูปข้างล่าง

ถ้าไม่เชื่อกันอีกก็ไม่รู้จะว่าอย่างไรแล้ว

ในวันที่คณะการองค์การอิสระเพื่อผู้บริโภค ภาคประชาชน จัดแถลงข่าว (20 ก.พ. 56) ได้นำนักข่าวไปดูแผงโซลาร์เซลล์ซึ่งอยู่บนหลังคาอาคารผู้บริโภค ลงทุนไปล้านกว่าบาท ผลิตไฟฟ้าได้คิดเป็นมูลค่า 5-6 พันบาทต่อเดือน แต่การไฟฟ้านครหลวงไม่รับซื้อ โดยอ้างว่า ไม่มีโควต้าและเล็กเกินไป

เมื่อปลายปีที่แล้ว เจ้าของโรงงานหีบปาล์มน้ำมันที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้มาร้องต่อกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่า โรงงานของเขามีปัญหาทำให้น้ำเสียลงสู่คูคลอง แต่ครั้นเมื่อพวกเขาคิดจะผลิตไฟฟ้า ทางการไฟฟ้าบอกว่า “คุณเป็นรายที่ 4 แต่เรามีโควตาแค่ 3 ราย”

ในขณะที่ประเทศเยอรมนีเขามีกฎหมาย กำหนดไว้ 3 ข้อ ง่ายๆ คือ

หนึ่ง ใครก็ตามที่สามารถผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียนได้ ให้สามารถส่งเข้าสู่ระบบสายส่งได้เลย โดยไม่มีโควตาและไม่จำกัดจำนวน (ถ้าส่งมามาก โรงไฟฟ้าถ่านหินนั่นแหละที่ต้องลดการผลิตลง)

สอง สัญญาซื้อขายเป็นระยะยาว เช่น กังหันลม 25 ปี โซลาร์เซลล์ 12 ปี เป็นต้น (ของไทยสัญญาคราวละ 5-7 ปี สร้างความไม่แน่นอนต่อผู้ลงทุน

สาม ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นให้เป็นภาระของผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศ

ด้วยกฎหมายดังกล่าวทำให้การใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ดังกราฟข้างล่างนี้ (http://www.volker-quaschning.de/datserv/ren-Strom-D/index_e.php)

​ประเทศไทยไม่ได้มีปัญหาหรือวิกฤตแค่เรื่องไฟฟ้าเท่านั้น แต่พ่อค้าพลังงานและนักการเมืองนั่นแหละเห็นแก่ตัว ขณะเดียวกันคนไทยเราเองก็ขาดวิริยะในการค้นหาความจริงอีกด้วย ชอบเชื่ออะไรง่ายๆ

​ด้วยเหตุนี้แหละกระทรวงพลังงานกำลังเตรียมให้เงินภาษีของเราเพื่อมาโหมการโฆษณาล้างสมองคนไทยให้ยอมจำนนอีกต่อไป

​เรียนตามตรงครับ บางครั้งผมเองรู้สึกเหนื่อยอ่อนเหมือนกัน ที่จะต้องมาศึกษาค้นคว้าเผยแพร่ในเรื่องแบบนี้ แล้วสิ่งที่ได้รับคือการใส่ร้ายป้ายสี

แถมคนที่สนใจอ่านจริงๆ ก็แค่หยิบมือเดียว สิ่งที่พอเป็นกำลังใจของผมอยู่บ้างก็เพราะผมเชื่อในพลังของคนหยิบมือเดียว (Law of the few) ที่ว่า คนหยิบมือเดียวก็สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้

รู้ว่าปลอบใจตัวเองครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น