หลายคนที่ไม่ใช่คนในแวดวงพลังงานอาจจะมองขยะเป็นสิ่งมีค่าจากการนำไปรีไซเคิล แต่เวลานี้ภาครัฐ-เอกชน เห็นคุณค่า “ขยะ” เป็นอีกขุมพลังงานทดแทนที่จะสร้างความยั่งยืนด้านพลังงานได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะในการนำไปแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้า
ปัจจุบันภาครัฐให้การสนับสนุนในการคิดค้นพัฒนาพลังงานทดแทน โดยที่ “ขยะ” เป็นอีกทางเลือกหนึ่งด้านการผลิตพลังงานไฟฟ้า เนื่องจากเทคโนโลยีสมัยใหม่สามารถรองรับการนำขยะมาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ
ผู้ประกอบการขยะ ต้องการให้รัฐหนุนมากขึ้น
การนำขยะมาแปลเป็นพลังงานนั้นอาจจะมีไม่มากเท่ากับพลังงานทดแทนอื่นๆ เนื่องจากข้อจำกัดหลายอย่างถึงแม้ว่าขยะจะมีจำนวนเพียงพอต่อการผลิตก็ตาม ดังนั้น ส่วนใหญ่กำลังการผลิตในแต่ละโรงจึงมีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าไม่ถึง 6 เมกะวัตต์ และไม่ได้เซ็นสัญญาซื้อขายไฟ ต่อมามีโครงการโรงไฟฟ้าจากขยะที่ได้เซ็นสัญญาซื้อขายไฟแล้วขนาดกำลังการผลิต 6 - 8 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างการติดตั้งเครื่องจักรในพื้นที่ จังหวัดภูเก็ต สงขลา หาดใหญ่ นครศรีธรรมราษฎร์ ขอนแก่น และเชียงใหม่ เป็นต้น
สำหรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานขยะในขนาดโครงการ 6 - 8 เมกะวัตต์ จะต้องมีปริมาณขยะป้อน 200 ตันต่อวันขึ้นไปถึงจะคุ้มกับการลงทุนในเชิงพาณิชย์หากยังได้ราคาแอดเดอร์อยู่ที่ 3.50 บาทต่อหน่วย อย่างไรก็ตาม หลายๆ แห่งมีปริมาณขยะป้อนเพียง 50 - 100 ตันต่อวัน และมีอยู่กระจายทั่วประเทศนั่นทำให้ไม่มีผู้ประกอบการให้ความสนใจลงทุนนักเนื่องจากราคาค่าแอดเดอร์ก็ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน ดังนั้น ทางผู้ประกอบการพลังงานขยะจึงต้องการขอปรับราคาค่าแอดเดอร์เพิ่มเป็น 4.50 บาทต่อหน่วยสำหรับปริมาณขยะที่ 50 - 100 ตันต่อวัน
ส่วนโครงการขนาดใหญ่ตั้งแต่ 10 เมกะวัตต์ขึ้นไปนั้นก็มีข้อจำกัดในเรื่องของพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน หรือดำเนินการในกิจการของรัฐ หรือ พ.ร.บ. ร่วมทุน 2535 เนื่องจากมูลค่าโครงการในการลงทุน 1,000 ล้านบาทนั้นจะต้องผ่าน พ.ร.บ. ร่วมทุน ทำให้ล่าช้าในการสร้างโรงไฟฟ้า เนื่องจากจะต้องผ่านการพิจารณาจากหลายหน่วยงานไม่ว่าจะเป็น กระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่วมถึงผ่านการพิจารณาจาก คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบก่อนถึงจะสามารถสร้างโรงไฟฟ้าได้ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 3 ปี
แต่ถ้ารัฐบาลเห็นด้วยกับการปรับเพิ่มมูลค่าโครงการจาก 1,000 ล้านบาท เป็น 3,000 ล้านบาท ก็ย่อมจะทำให้โครงการสร้างโรงไฟฟ้าจากพลังงานขยะทำได้เร็วขึ้นโดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนการพิจารณามากเกินไป ซึ่งจะช่วยผู้ประกอบการที่สนใจเข้ามาลงทุนในธุรกิจจากโรงไฟฟ้าพลังงานขยะมากขึ้น
อย่างไรก็ดี การคาดการณ์ของผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานขยะบอกว่า “ถ้ารัฐบาลแก้ พ.ร.บ. ร่วมทุน เชื่อว่าภายใน 3 ปีจะมีผู้ประกอบการเข้ามาลงทุน และสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานขยะได้ประมาณ 400 เมกะวัตต์ในจำนวนขยะประมาณ 15 ล้านตันต่อปี ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณที่เพียงพอต่อการผลิตถึงแม้จะมีปริมาณขยะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 2% ก็ตาม”
นำพลังงานกลับมาใช้ใหม่
ประโยชน์หลักที่ได้รับจากการเผาไหม้ขยะมูลฝอยในเตาเผา เป็นการนำเอาพลังงานที่มีอยู่ในขยะมูลฝอยกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ (Energy Recovery)โดยการเผาทำลายขยะมูลฝอยในเตาเผาสามารถลดปริมาณการปลดปล่อยก๊าซมีเทนจากหลุม ฝังกลบและสามารถใช้ทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลได้ นอกจากนี้ ยังเป็นการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยรวมด้วย
เพราะก๊าซร้อนที่เกิดจากการเผาไหม้ในเตาเผาจะให้พลังงานที่เกิดจากการเผาไหม้อยู่ในตัวด้วย และมันจะถูกทำให้เย็นตัวลงในหม้อน้ำก่อนที่ไหลเข้าสู่อุปกรณ์ควบคุมมลพิษอากาศ ชนิดของหม้อน้ำที่ติดตั้งขึ้นอยู่กับว่าต้องการพลังงานในรูปของน้ำร้อนเพื่อใช้กับระบบน้ำร้อน หรือไอน้ำเพื่อใช้ในกระบวนการอุตสาหกรรม หรือเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้า
ประสิทธิภาพ เชิงความร้อนโดยรวมของโรงเผาขยะมูลฝอยชุมชนซึ่งรวมถึงระบบการผลิตพลังงาน ขึ้นอยู่กับพลังงานรูปสุดท้ายที่ต้องการใช้งาน การผลิตกระแสไฟฟ้าจะให้ประสิทธิภาพเชิงความร้อนที่ต่ำและจะให้ราคาขาย พลังงานที่สูง ในขณะที่การผลิตน้ำร้อนเพื่อใช้ในระบบเครือข่ายน้ำร้อนจะได้พลังงานที่มีราคาขายพลังงานที่ไม่แพง แต่จะให้ประสิทธิภาพเชิงความร้อนที่สูงกว่าและความยุ่งยากรวมทั้งต้นทุน และความต้องการการติดตั้งด้านเทคนิคค่อนข้างต่ำกว่า
แปรรูปเป็น “ขยะเชื้อเพลิง”
ขยะเชื้อเพลิง หมายถึง ขยะมูลฝอยที่ผ่านกระบวนการจัดการต่างๆ เช่น การคัดแยกวัสดุที่เผาไหม้ได้ออกมา การฉีกหรือตัดขยะมูลฝอยออกเป็นชิ้นเล็กๆ ขยะเชื้อเพลิงที่ได้นี้จะมีค่าความร้อนสูงกว่าหรือมีคุณสมบัติเป็นเชื้อ เพลิงที่ดีกว่าการนำขยะมูลฝอยที่เก็บรวบรวมมาใช้โดยตรง เนื่องจากมีองค์ประกอบทั้งทางเคมีและกายภาพสม่ำเสมอกว่า ข้อดีของขยะเชื้อเพลิง คือ ค่าความร้อนสูงเมื่อเปรียบเทียบกับขยะมูลฝอยที่เก็บรวบรวมมา และง่ายต่อการจัดเก็บ การขนส่ง การจัดการต่างๆ รวมทั้งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำ
เพราะการใช้ขยะมูลฝอยที่เก็บรวบรวมได้เพื่อการเผาไหม้โดยตรงก่อให้เกิดความยุ่งยากในการใช้งานเนื่องจากความไม่แน่นอนในองค์ ประกอบต่างๆ ที่ประกอบกันขึ้นเป็นขยะมูลฝอย ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามชุมชนและตามฤดูกาล อีกทั้งขยะมูลฝอยเหล่านี้มีค่าความร้อนต่ำ มีปริมาณเถ้าและความชื้นสูง สิ่งเหล่านี้ก่อความยุ่งยากให้กับผู้ออกแบบโรงเผาและผู้ปฎิบัติและควบคุมการ เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ยาก การแปรรูปขยะมูลฝอยโดยผ่านกระบวนการจัดการต่างๆ เพื่อปรับปรุงคุณสมบัติทางกายภาพและคุณสมบัติทางเคมีของขยะมูลฝอยเพื่อทำให้ กลายเป็นขยะเชื้อเพลิง (Refuse Derived Fuel; RDF) จะสามารถแก้ปัญหาได้
ใช้ประโยชน์จาก "ขยะเชื้อเพลิง"
การใช้ RDF นั้น เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าและความร้อนอาจจะมีการใช้ RDF เป็นเชื้อเพลิงภายในที่เดียวกัน หรือมีการขนส่งในกรณีที่ตั้งของโรงงานไม่ได้อยู่ที่เดียวกัน ทางเลือกอีกทางหนึ่ง คือ นำไปใช้เผาร่วมกับถ่านหิน เพื่อลดปริมาณการใช้ถ่านหินลง อุตสาหกรรมบางประเภท เช่น อุตสาหกรรมซีเมนต์ ได้มีการนำ RDF ไปใช้ในกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ ซึ่งทำให้ลดการใช้ถ่านหินลงไปได้
ประเทศไทยมีความจำเป็นที่จะต้องแสวงหาแหล่งพลังงานหมุนเวียนมาทดแทนพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีปริมาณลดน้อยลง และมีราคาสูงขึ้นจนต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศจำนวนมาก
ด้วยปัจจัยดังกล่าว “ขยะ” จึงเป็นทางเลือกในการผลิตพลังงานที่มีศักยภาพ เนื่องจากมีปริมาณมาก และไม่ต้องซื้อหายาก แต่ในปัจจุบันยังนำขยะผลิตเป็นพลังงานน้อยมากเมื่อเทียบกับพลังงานทดแทนด้านอื่นๆ