ขณะนี้ ภาครัฐได้เล็งถึงความสำคัญของการใช้พลังงานทดแทนเพิ่มขึ้น เห็นได้จากการปรับเปลี่ยนแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกจาก 15 ปี เหลือ 10 ปี (พ.ศ.2555-2564) พร้อมตั้งเป้าหมายให้เกิด “การใช้พลังงานทดแทน 25%” เมื่อสิ้นสุดแผน
เพราะทุกวันนี้โลกของเราต้องเผชิญกับปัญหาอย่างหนักหน่วงกับภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นมากมายอย่างคาดไม่ถึง และจากการวิเคราะห์ของนักวิชาการทั่วโลกต่างเห็นพ้องกันว่าสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดจากฝีมือของมนุษย์เราเอง จึงทำให้มนุษย์ตื่นตัวมากขึ้นเพื่อจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้พลังงานโดยคำนึงถึงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมหาวิธีการที่จะประหยัดพลังงานมากขึ้น รวมถึงการหันมาผลิตและใช้พลังงานทดแทน แทนการใช้พลังงานเชื้อเพลิงจากฟอสซิล
แสงอาทิตย์ และชีวมวล พลังงานทางเลือกที่มีโอกาส
เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ได้รับรับรังสีอาทิตย์เกือบตลอดทั้งปี ตกเฉลี่ยถึงปีละ 18.2 MJ/m2-day ข้อดีของการใช้พลังงานแสงอาทิตย์นอกเหนือจากเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ยังมีปริมาณที่มากมายและมีให้ใช้อีกยาวนานเมื่อเทียบกับพลังงานทดแทนอื่นๆ อีกทั้งตอนใช้งานก็ไม่มีต้นทุนค่าเชื้อเพลิง แต่ข้อด้อย คือไม่สามารถใช้งานได้ในเวลากลางคืน และในวันที่มีแสงอาทิตย์น้อย เช่น ในฤดูฝน
“บ้านเราเป็นประเทศหนึ่งที่มีความตื่นตัวจนถือว่าเป็นผู้นำในเอเชียในการนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ทั้งในรูปแบบพลังงานความร้อนและแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้าหลังจากที่ได้เปิดตัวโครงการ VSPP เพื่อให้เอกชนผลิตไฟฟ้าขายเข้าสายส่งได้ ซึ่งในขณะนี้เกิดโรงไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ขึ้นมากมาย ส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์กลับเกิดขึ้นได้เพียงโรงเดียว ทั้งๆ ที่โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์ใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตได้เองในประเทศมากกว่า 65% และสามารถเกิดการสร้างงานให้กับคนไทยอีกมากมาย ในขณะที่เซลล์แสงอาทิตย์เกือบทั้งหมดต้องน้ำเข้าจากต่างประเทศ นั่นก็เพราะต้นทุนของโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์สูงกว่า” ดร.สุขฤดี สุขใจ ผู้อำนวยการ วิทยาลัยพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าว
อย่างไรก็ตาม โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์ ยังมีทางออกที่อาจนำหน้าโรงไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ได้ เพราะสามารถเพิ่มส่วนของระบบกักเก็บความร้อน (Thermal Storage) ไว้ผลิตไฟฟ้าเมื่อไม่มีรังสีอาทิตย์ หรือในเวลากลางคืน รวมถึงสามารถใช้งานร่วมกับชีวมวล (Hybrid System) โดยใช้เทอร์ไบน์ตัวเดียวกันได้ ดังนั้น โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์จึงมีความยั่งยืนเพราะโรงไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ไม่สามารถทำได้
“หากประเทศไทยมีนโยบายที่มีการกำหนดสัดส่วนของการใช้เทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์อย่างเหมาะสม รวมถึงมี Feed in Tariff สำหรับระบบไฮบริดด้วยแล้วก็จะทำให้ภาคธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เกิดความเป็นไปได้ในสัดส่วนที่ถูกทิศทางและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศอีกด้วย” ดร.สุขฤดี กล่าว
ส่วนพลังงานชีวมวล ไทยเป็นประเทศที่เติบโตโดยมีรากฐานมาจากการเป็นประเทศเกษตรกรรมซึ่งถ้าหากมีการวางแผนและบริหารจัดการที่ดีก็จะสามารถผลิตพลังงานชีวมวลได้อย่างสบายๆ เพราะชีวมวลได้จากธรรมชาติ และสามารถผลิตฟาร์มชีวมวลสำหรับการผลิตเป็นพลังงานให้ได้ปริมาณพลังงานตามต้องการ
ข้อมูล : เรียบเรียงจาก วารสาร Energy Focus (ตุลาคม-ธันวาคม 2555) www.iie.or.th