น้องนักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาการจัดการทั่วไป คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ รวมกลุ่มกันช่วยคิดวิธีการกำจัดและลดปริมาณของผักตบชวา จนได้แนวคิดที่นำมาอัดแท่งทำเป็นถ่านใช้ในการหุงต้ม ซึ่งทางมหาวิทยาลัยมีการผลิตถ่านอัดแท่งอยู่แล้วเลยนำไปต่อยอด ทดลอง จนสำเร็จ และส่งโครงการผักตบชวา วัชพืชไร้ค่า พัฒนาเศรษฐกิจชุมชน เข้าร่วมประกวด “โครงการกรุงไทย ต้นกล้าสีขาว” ประจำปี 2555 ภายใต้ทีม Inspiration of weed ที่หมายถึงแรงบันดาลใจจากวัชพืช
ทั้งนี้ ผักตบชวาสดปริมาณ 1,000 กิโลกรัม สามารถอัดเป็นแท่งที่มีน้ำหนักประมาณ 775 กิโลกรัม โดยมีขั้นตอนในการทำที่ไม่ยาก ดังนี้
ขั้นตอนแรกนำผักตบชวาที่เก็บได้มาสับละเอียด หรือนำเข้าเครื่องย่อยปุ๋ยพืชสด เพื่อเป็นการประหยัดเวลาและสะดวก หลังจากนั้นนำผักตบชวาที่ย่อยแล้วตากแห้งประมาณ 5 -10 วัน แต่ถ้าต้องการประหยัดเวลาสามารถใช้เครื่องอบโดยอบในอุณหภูมิ 80 องศาเซลเซียส นาน 12 ชั่วโมง ก็จะได้ผักตบชวาที่แห้งสนิท จากนั้นก็นำผักตบชวาที่แห้งสนิทแล้วมาผสมน้ำกับแป้งมันสำปะหลังในสัดส่วน ผักตบชวา 10 กิโลกรัม น้ำ 1 ลิตร แป้งมันสำปะหลัง 1 กิโลกรัม แล้วคนให้เข้ากัน เสร็จแล้วก็นำผักตบชวาที่ผสมน้ำและแป้งมันสำปะหลังมาอัดในท่อ PVC ตามขนาดที่ต้องการ หรือถ้าหากใครมีเครื่องอัดก็สามารถนำเข้าเครื่องอัดแท่งได้ หากมีปริมาณมาก จะช่วยประหยัดเวลา
พอได้ผักตบชวาอัดแท่งแล้ว ให้นำไปตากให้แห้งประมาณ 1-2 วัน หลังจากนั้นนำมาเผาแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยใช้แกลบแก่เผาถ่านประมาณ 1 วัน เมื่อเผาเสร็จก็จะได้ถ่านผักตบชวา 500 กิโลกรัม นำไปบรรจุภัณฑ์ชะลอมละ 500 กรัม จะได้ถ่านผักตบชวาทั้งหมด 1,000 ชะลอม ขายชะลอมละ 10 บาท ก็จะได้เงิน 10,000 บาท เมื่อหักต้นทุนค่าใช้จ่ายประมาณ 5,000 บาท ก็จะมีกำไร 5,000 บาท
สำหรับ สมาชิกในทีมประกอบไปด้วย นายจักรพันธ์ เลี่ยวเจริญสิริชัย นางสาวณัฐพร วงศ์ประสิทธ์ นางสาวธิดารัตน์ วาทกิจ นายชัชชัย ภมรจันทร์ และ นางสาวชาริณี ยอดดี
“น้องบาส” นายจักรพันธ์ เลี่ยวเจริญสิริชัย ซึ่งเป็นหัวหน้าทีม บอกว่า ผักตบชวา 1 ต้นสามารถขยายได้ 300 ต้นภายในระยะเวลา 1 เดือน จัดเป็นวัชพืชที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการทำลาย แม้ที่ผ่านมาจะนำไปแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์เครื่องจักสาน แต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาผักตบชวาให้หมดไปจากแม่น้ำลำคลองได้หมด พวกเราจึงต้องการช่วยลดปริมาณผักตบชวาที่มีจำนวนมากในแม่น้ำปิงที่ส่งผลให้น้ำเน่าเสีย พอน้ำขาดออกซิเจน ก็ส่งผลต่อการเลี้ยงปลาในประชังของหลายชุมชน นอกจากนั้น ยังไปขวางทางน้ำซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วม จึงได้ร่วมกันคิดค้นวิธีการกำจัดและแปรรูปผักตบชวาที่ไร้ค่าให้มีประโยชน์เพื่อช่วยลดปริมาณของผักตบชวาลง
ถือว่าเป็นแนวคิดและแรงบันดาลใจจากการที่มหาวิทยาลัยได้ทำถ่านอัดแท่งอยู่ก่อนแล้ว จึงดัดแปลงวัตถุดิบจากไม้มาเป็นผักตบชวา ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้เกินคาดเพราะถ่านจากผักตบชวาอัดแท่งสามารถใช้งานได้จริงและให้พลังงานความร้อนที่ยาวนานกว่าถ่านไม้ธรรมดาทั่วไปอีกด้วย
สำหรับใครที่สนใจอยากเรียนรู้วิธีการทำถ่านผักตบชวาอัดแท่ง สามารถเข้าไปศึกษาและขอข้อมูลได้ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน ชุมชนบ้านวังผาง อำเภอเวียงหนองล่อง จังหวัดลำพูน หรือเข้าไปชมตัวอย่างของถ่านผักตบชวาอัดแท่งได้ที่ http://www.facebook.com/BatteryPhakTb หรือติดต่อน้องๆ จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ได้ที่ น้องบาส จักรพันธ์ โทร 083-1575109 หรือ โครงการกรุงไทยต้นกล้าสีขาว โทร 0-2208-8674-6