การเคหะฯชูแนวคิดสร้างบ้านประหยัดพลังงาน เตรียมต่อยอดงานอนุรักษ์พลังงาน/ใช้พลังงานทดแทน เดินหน้าวิจัยลดการใช้พลังงานไฟฟ้าให้เป็นศูนย์ ด้วยการติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคาเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าทดแทนใช้ภายในบ้าน
นายวีรยุทธณ์ พิทักษ์ธนางกูร ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการก่อสร้าง การเคหะแห่งชาติ ในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการ กล่าวว่า ปัจจุบันบ้านต้นแบบประหยัดพลังงาน 2 ชั้น ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ 100 % ด้วยกระบวนการก่อสร้างที่คำนึงถึง 3 ปัจจัยหลัก ประกอบด้วย ปัจจัยด้านกายภาพ อาทิ การวางผังบ้าน และการเลือกใช้วัสดุ ปัจจัยด้านเศรษฐศาสตร์ คำนึงถึงความคุ้มทุนและการเลือกใช้ที่ดินให้เหมาะสมกับรูปแบบบ้าน และปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม จะคำนึงถึงการจัดการขยะและสิ่งปฏิกูลอย่างถูกวิธี
ทั้งนี้ บ้านต้นแบบประหยัดพลังงาน 2 ชั้น มีจุดเด่นทางด้านเทคนิคการทำความเย็น โดยวิธีธรรมชาติ 3 ประการ ได้แก่ มวลสาร จะใช้มวลสารเบา เช่น ยิปซั่มบอร์ด ผนังโครงเคร่าที่มีคุณสมบัติพิเศษในการระบายความร้อนกับห้องนอน เพื่อถ่ายเทความร้อนและดูดความเย็นเข้าห้องในเวลากลางคืนและใช้วัสดุมวลสารหนัก เช่น คอนกรีตเสริมเหล็กกับห้องที่ใช้ประโยชน์ในเวลากลางวัน ได้แก่ ห้องทำงาน ห้องนั่งเล่น เพื่อกันความร้อนที่จะเข้ามาในห้อง ผู้อยู่อาศัยจึงสามารถพักอาศัยได้โดยไม่ต้องใช้เครื่องปรับอากาศ ด้วยการสร้างหลังคา 2 ชั้น เพื่อให้ลมไหลผ่านได้มาก และมีช่องเปิดเพื่อรับลมตามจุดต่างๆ ให้เหมาะสม เช่น ห้องทำงาน จะมีช่องเปิดน้อยสุด เพราะอากาศด้านนอกจะร้อนกว่าด้านใน
ส่วนห้องนอนจะมีช่องเปิดมากกว่าเพื่อให้ลมพัดผ่านได้มากและระบบการระเหยของน้ำ ทำการติดตั้งปั๊มน้ำ ไว้บนหลังคา ปล่อยน้ำให้ไหลลงมาตามโซ่ที่ได้ติดตั้งไว้ ทำให้เกิดไอความชื้นหรือไอน้ำ ช่วยให้อากาศบริเวณบ้านเย็นขึ้นเพื่อรักษาอุณหภูมิภายในบ้านที่เหมาะสมให้อยู่ในระดับประมาณ 27 องศาเซลเซียส
หลังการก่อสร้างแล้วเสร็จได้มีผู้สนใจขอแบบไปก่อสร้างแล้วมากกว่า 100 ราย รวมถึงได้เข้ามาศึกษาดูงานในพื้นที่จริง อาทิ นักศึกษาปริญญาตรี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นักศึกษาปริญญาโท คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นต้น ซึ่งนโยบายการดำเนินงานในอนาคตอันใกล้นี้ การเคหะแห่งชาติจะศึกษาวิจัยเพิ่มเติมด้านการอยู่อาศัยเพื่อหาผลลัพธ์ว่า สามารถอยู่ได้แบบสุขสบายอย่างแท้จริงหรือไม่ ควบคู่กับการศึกษาวิจัยลดการใช้พลังงานไฟฟ้าให้เป็นศูนย์ (Net Zero Energy) ด้วยการติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคาเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าทดแทนใช้ภายในบ้าน โดยจะเริ่มดำเนินการวิจัยประมาณปลายเดือนมกราคม 2556
ส่วนแผนการดำเนินงานในปี 2556 การเคหะแห่งชาติเตรียมจะดำเนินการศึกษาวิจัยการใช้ประโยชน์จากการติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Roof) ในโครงการของการเคหะแห่งชาติทั่วประเทศครอบคลุม 5 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ รวมถึงกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อศึกษาหาพื้นที่ที่สามารถผลิตพลังงานทดแทนได้สูงและสร้างประโยชน์อย่างคุ้มค่าทั้งในด้านประสิทธิภาพและประสิทธิผล ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงพลังงานที่สนับสนุนการติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์บนหลังคามากกว่าการดำเนินการในลักษณะ Solar Farm โดยทั้งสองหน่วยงานจะศึกษาแนวทางการร่วมมือระหว่างกันต่อไป