xs
xsm
sm
md
lg

เคล็ดลับการนอน นอนแบบไหนให้สุขภาพดี หลับสบาย?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เคยคิดไหมว่าทำไมเรานอนครบ 8 ชั่วโมงแล้ว แต่พอตื่นมาเราไม่สดชื่น เกิดอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย รู้สึกเหมือนพักผ่อนไม่เพียงพอ สาเหตุนั้นอาจจะเป็นเพราะว่าท่านอนของเราไม่เหมาะสม ดั้งนั้นท่านอนถือเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เพื่อให้ได้สุขภาพที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อการนอนได้อย่างเต็มที่


ข้อดี และข้อเสียของท่านอนแต่ละท่า


1.ท่านอนหงาย

ท่านอนนี้ผู้นอนจะวางแขนราบขนานข้างลำตัวหรือนอนหงายกางแขนและขา เป็นท่านอนที่ดีที่สุดสำหรับผู้ที่ไม่มีปัญหาเรื่องสุขภาพ

ข้อดี

1. ช่วยป้องกันอาการปวดหลัง เมื่อยคอและเข่า เพราะเป็นท่าที่ง่ายต่อการคงท่าทางของกระดูกสันหลังที่ถูกต้อง

2. ช่วยป้องกันการเกิดริ้วรอยเหี่ยวย่นบนใบหน้าและรักษารูปร่างทรวงอกได้ดีกว่าท่าอื่น ๆ

3. ช่วยลดอาการจมูกตันหรือแน่นจมูกจากภูมิแพ้

ข้อเสีย

1. ไม่เหมาะกับคนนอนกรนหรือมีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ เพราะท่านอนหงายอาจทำให้ทางเดินหายใจหดแคบ ส่งผลให้อาการแย่ลง

2. หากที่นอนแข็งจนเกิดช่องว่างระหว่างหลังส่วนล่างกับที่นอนจะทำให้หลังรับน้ำหนักและเกิดอาการปวดหลังตามมา แต่แก้ไขได้ด้วยการใช้หมอนแบน ๆ หนุนหลังหรือหนุนใต้เข่าไว้ เพื่อช่วยลดแรงกดและทำให้กระดูกสันหลังอยู่ในท่าธรรมชาติยิ่งขึ้น

3. ท่านอนนี้ไม่เหมาะสำหรับหญิงตั้งครรภ์ เพราะน้ำหนักครรภ์อาจทำให้เกิดแรงกดต่อหัวใจจนเลือดไหลเวียนได้ไม่ดีเท่าที่ควร

4. ผู้ที่เป็นโรคกรดไหลย้อนควรหลีกเลี่ยงท่านี้ เพราะจะกระตุ้นให้มีอาการบ่อยขึ้น

5. ผู้ที่มีอายุมากหรือมีน้ำหนักตัวมากอาจหายใจไม่สะดวกเมื่อนอนหงาย เพราะจะมีแรงกดต่อร่างกายมากกว่าท่านอนตะแคง


2. ท่านอนตะแคง

ผู้นอนจะวางตำแหน่งแขนแนบขนานไปกับลำตัว เป็นท่านอนที่ดีต่อสุขภาพมากที่สุด เมื่อเรายิ่งอายุมากขึ้นยิ่งมีโอกาสที่จะนอนท่านี้มากขึ้น เพราะเมื่ออายุมากขึ้น ความยืดหยุ่นของกระดูสันหลังจะลดลง ทำให้หลาย ๆ คนรู้สึกสบายมากขึ้นเมื่อนอนในท่าตะแคง

ข้อดี

1. ช่วยรักษากระดูกสันหลังให้เหยียดตรง ลดอาการปวดเมื่อยคอและหลัง

2. ลดอาการนอนกรน กรดไหลย้อน และภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

3. ท่านอนนี้เหมาะสำหรับหญิงตั้งครรภ์


ข้อเสีย

1. ทำให้ใบหน้ามีริ้วรอยเหี่ยวย่นและหน้าอกหย่อนคล้อย

2. นานไปอาจทำให้มีอาการปวดไหล่หรือไหล่ตึง ควรสลับท่านอนเป็นครั้งคราว

3. ถ้าทำในท่าที่ไม่สมมาตรอาจทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยเมื่อตื่นนอนได้


3. การนอนขดตัว

การนอนขดตัวเป็นท่านอนในลักษณะตะแคงซ้ายหรือขวาโดยงอเข่าขึ้นมาชิดหน้าอกและก้มหน้า


ข้อดี

1. ท่านี้ช่วยให้นอนกรนน้อยลง

2. เป็นท่าที่เหมาะสำหรับหญิงตั้งครรภ์ เพราะช่วยให้เลือดไหลเวียนไปสู่ทารกได้ดีและช่วยลดแรงกดของมดลูกลงสู่บริเวณตับได้

3. ท่านอนนี้ยังเหมาะสำหรับผู้ป่วยอัลไซเมอร์หรือผู้ป่วยพาร์กินสันด้วย เพราะมีงานวิจัยสนับสนุนว่าการนอนขดตัวช่วยให้ของเสียจากสมองที่ทำให้เกิดโรคในระบบประสาทถูกกำจัดออกไปได้ดีกว่าการนอนหงายหรือนอนคว่ำ


ข้อเสีย

1. อาจทำให้ปวดเมื่อยคอและหลังในช่วงที่ตื่นนอน

2. ทำให้เกิดริ้วรอยเหี่ยวย่นบนใบหน้า รวมทั้งอาจทำให้หน้าอกหย่อนคล้อยเช่นเดียวกับท่านอนตะแคง


4.ท่านอนคว่ำ

การนอนคว่ำในลักษณะหันหน้าไปทางด้านซ้ายหรือขวาโดยซุกแขนไว้ใต้หมอนหรือวางแขนข้างศีรษะ เป็นท่านอนที่พบได้น้อยที่สุดในทั้งสามท่า โดยมีงานวิจัยชี้ว่าในแต่ละคืนเราจะนอนท่านี้ไม่เกิน 10% และยังเป็นท่านอนที่ไม่ค่อยแนะนำในคนส่วนใหญ่


ข้อดี

1. ช่วยลดการนอนกรน เนื่องจากทางเดินหายใจจะเปิดออกเมื่อนอนท่านี้ แต่ก็อาจต้องใช้พลังงานในการหายใจมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้นอนหลับได้ไม่เต็มที่เท่าควร


ข้อเสีย

1. ขณะนอนคว่ำน้ำหนักจะถ่ายเทไปที่ท้อง จึงเป็นท่าที่กระดูกสันหลังได้รับการรองรับน้ำหนักน้อยที่สุด และเป็นการเพิ่มแรงกดที่ทำต่อกระดูกสันหลัง ทำให้อาจตามมาด้วยอาการปวดหลังเมื่อตื่นนอน

2. ท่านอนคว่ำอาจทำให้ใบหน้าเหี่ยวย่นและหน้าอกหย่อนคล้อยได้ ผู้ที่ชอบนอนในท่านี้ควรใช้หมอนนุ่ม ๆ หรือใช้หมอนที่ไม่หนามากนักเพื่อช่วยให้รับกับสรีระได้

3. การนอนคว่ำส่งผลให้เกิดการบิดตัวของกระดูกสันหลังบริเวณคอและศีรษะไปคนละแนวกับกระดูกสันหลังในส่วนที่เหลือ หากที่นอนไม่แข็งพอ อาจทำให้สะโพกจมลงไปในที่นอน กระดูกสันหลังยืดออกในลักษณะผิดท่า และนานไปอาจมีผลต่อสุขภาพของกระดูกสันหลังได้

4. เป็นท่านอนที่ไม่แนะนำในผู้ที่ตั้งครรภ์ 

ถึงแม้ว่าจะรู้แล้วว่าท่านอนแบบไหนมีข้อดี ข้อเสียที่แตกต่างกัน แต่สุดท้ายแล้วก็ขึ้นอยู่กับความชอบและความถนัดของแต่ละคนด้วย ถ้าเกิดว่าท่าที่นอนอยู่ประจำไม่ได้ส่งผลเสียอะไรต่อร่างกายก็ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไร แต่ถ้านอนแล้วมีอาการตามที่บอกไว้ดังกล่าวข้างต้น เราสามารถเปลี่ยนท่านอนได้ทันที เพื่อการนอนที่ส่งผลดีต่อสุขภาพของเรา

ข่าวโดย : พันนา วงศ์ใหญ่


กำลังโหลดความคิดเห็น