xs
xsm
sm
md
lg

เปิดรายงานกรณีศึกษา “สารสกัดกัญชง” ลดขนาดมะเร็งปอดในผู้ป่วยสูงวัย / ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

สารสำคัญชนิดหนึ่งที่มีอยู่ในทั้งกัญชาและกัญชง ชื่อ แคนนาบิไดออล (Cannabidiol) หรือที่เรียกว่า CBD สาร CBD นี้มีผลไม่เพียงมีผลประโยชน์หลายประการ เช่น ลดการอักเสบ ช่วยลดอาการโรคลมชัก ช่วยลดพาร์กินสัน ลดความวิตกกังวล ฯลฯ แต่สาร CBD นี้ยังเป็นสารที่ไม่ออกฤทธิ์ทางจิตประสาท ซึ่งต่างจากสารเตตระไฮโดรแคนนาบินอล หรือ THC ซึ่งมีการโจมตีกันวงการแพทย์อย่างหนัก โดยสาร THC นี้พบมากในกัญชาที่ทำให้เมา ออกฤทธิ์ทางจิตประสาท และทำให้นอนหลับ ฯลฯ

เมื่อ CBD กลายเป็นสารที่ไม่ออกฤทธิ์ทางจิตประสาท และไม่เมา สาร CBD นี้จึงถูกนำเสนอผ่านรายงานขององค์การอนามัยโลกให้บรรจุในวารการประชุมของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษระหว่างประเทศ องค์การสหประชาชาติ ให้ถอด CBD ออกจากการควบคุมยาเสพติดให้โทษระหว่างประเทศอย่างสมบูรณ์ และกำลังถูกมองว่าจะส่งผลทำให้กัญชงสายพันธุ์ที่มีสาร CBD สูง กลายเป็นพืชเศรษฐกิจ ที่ไม่เพียงจะนำใยไฟเบอร์มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หลายชนิดเท่านั้น แต่ยังสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ที่ใส่สาร CBD เข้าไปได้อย่างมหาศาลด้วย โดยเฉพาะในกลุ่ม อาหาร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องดื่ม ยาสีฟัน เครื่องบำรุงผิว เครื่องสำอาง อาหารสัตว์เลี้ยง ฯลฯ

อีกประเด็นหนึ่งที่มีความน่าสนใจก็คือสาร CBD นี่จะมีส่วนนการต้านเนื้องอกและเพิ่มระบบภูมิคุ้มกันที่มีผลต่อเซลล์มะเร็งได้มากเพียงใดนั้น ด้วยอุปสรรคของระเบียบวิธีวิจัยของวิทยาศาสตร์รวมไปถึงการผ่านขั้นตอนของคณะกรรมการจริยธรรมที่ไม่ยินยอมให้ใช้สาร CBD มาวิจัยผู้ป่วยโรคมะเร็งเป็นยารักษาตรงๆ เป็นแน่ คงมีแต่บริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีเงินทุนหนา สายป่านยาวเท่านั้น จึงจะเป็นผู้มีสิทธิประกาศพร้อมกับการจดสิทธิบัตรว่าสาร CBD สามารถนำมาช่วยรักษามะเร็งได้จริงมากน้อยเพียงใด แล้วก็จะกลับนำมาขายให้ผู้ป่วยในราคาแพงๆ ต่อไป

ดังนั้น ใครก็ตามที่เป็นผู้ป่วย หรือคนในครอบครัวที่มีผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็ง หากแสวงหาสิ่งใดที่จะพอมีโอกาสความเป็นไปได้ในการรักษาโรคมะเร็งแล้ว ก็คงจะหาหนทางนั้นอย่างถึงที่สุดเพื่อช่วยผู้ป่วย แม้ต่อให้มีความเสี่ยงก็อาจจะต้องยอม ดังนั้นจึงไม่น่าจะแปลกใจที่ในทุกวันนี้ ใครๆ ก็หากัญชาได้ ถ้าอยากจะหา และกัญชาที่ว่านั้นก็มีการแอบใช้ในผู้ป่วยจำนวนมากในตลาดใต้ดิน

ที่ผู้ป่วยโรคมะเร็งและคนในครอบครัวที่มีผู้ป่วยโรคมะเร็งหันมาใช้กัญชาหรือกัญชงกันมากนั้น ก็เพราะมีข่าวสารที่ทำให้เชื่อว่ามีความหวังจากการใช้กัญชาหรือกัญชงมาช่วยรักษาโรคมะเร็งได้

เมื่อประมาณปี 2559 เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ และแฟนเพจกัญชาชน ได้เคยเปิดเผยข้อมูลของผู้ป่วยโรคมะเร็งตับแต่สามารถหายได้ด้วยการ “ต้มดอกกัญชา” วันละ 2 ช่อ ดื่มแทนชา ควบคู่ไปกับการควบคุมอาหารและงดเนื้อสัตว์ ต่อมาใช้สูบด้วยวันละ 1 ครั้ง ปรากฏว่าผู้ป่วยคนดังกล่าวสามารถหายป่วยได้โดยมีผลการตรวจของแพทย์แผนปัจจุบันมายืนยันโดยไม่ได้ใช้การรักษาด้วยการแพทย์แผนปัจจุบันเลยแม้แต่น้อย [1]


ไม่ใช่ว่ามีเบาะแสข่าวจากการสัมภาษณ์ผู้ป่วยในประเทศไทยเท่านั้น แต่ก็มีการรายงานเป็นกรณีศึกษาที่คล้ายคลึงกันในต่างประเทศ เพียงแต่ข่าวสารเช่นนี้ก็ถูกตั้งคำถามและโจมตีโดยนักวิทยาศาสตร์หรือผู้ที่มีผลประโยชน์กับบริษัทยาทั้งหลายว่าไม่มีความน่าเชื่อถือ ไม่มีระเบียบวิจัยใดๆยอมรับ ขอให้ประชาชนเอาหูไปนา เอาตาไปไร่


ความจริงก็เริ่มเปิดเผยมากขึ้นเมื่อประชาชนรู้ว่าเมื่อปรากฏว่าบริษัทยาต่างชาติได้ทยอยจดสิทธิบัตรในการใช้สารสกัดกัญชาหรือกัญชงในการรักษาโรคมะเร็งอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึง มะเร็งสมอง มะเร็งของต่อมลูกหมาก, มะเร็งของเต้านม, หรือมะเร็งของโคลอน (มะเร็งลำไส้), มะเร็งรังไข่ [2], [3]

โรคมะเร็งปอด ซึ่งถือว่าเป็นโรคมะเร็งอีกชนิดหนึ่งที่วงการแพทย์แผนปัจจุบันมีความเชื่อว่าหากไม่รักษาด้วยการแพทย์แผนปัจจุบันแล้วไม่มีโอกาสที่จะหายได้ มีแต่จะรอวันตายสถานเดียว ปรากฏว่าได้มีรายงานในวารสารทางการแพทย์ชื่อ SAGE Open Medical Case Report ฉบับเผยแพร่เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 โดยกล่าวถึงกรณีศึกษาผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดมีอาการดีขึ้นเมื่อใช้สาร CBD แต่เพียงอย่างเดียว

ขอย้ำว่าเป็นการใช้ CBD อย่างเดียวโดยไม่ได้มีการผ่าตัด ฉายแสง หรือ คีโมใดๆ ทั้งสิ้น

กรณีศึกษาครั้งนี้เกิดขึ้นในชายสูงวัยอายุ 81 ปี ซึ่งโดยปกติแล้วยิ่งอายุมากโอกาสที่จะรักษาด้วยการแพทย์แผนปัจจุบันให้รอดชีวิตเกิน 5 ปีนั้น ยิ่งยากขึ้นกว่าผู้ป่วยที่อายุน้อย

ผู้ป่วยรายนี้เคยมีประวัติเป็นโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) ซึ่งมีพยาธิสภาพของถุงลมโป่งพอง และหรือ หลอดลมอักเสบเรื้อรังเกิดร่วมกัน เป็นโรคเบาหวานที่มีการควบคุม เคยมีประวัติเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากซึ่งได้รับการบำบัดรักษาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 ผู้ป่วยรายดังกล่าวนี้เคยมีประวัติสูบบุหรี่จัดมาก่อน กล่าวคือสูบวันละ 18 มวนต่อวัน เป็นเวลา 15 ปี และหยุดสูบบุหรี่มาเป็นเวลาา 45 ปีแล้ว

จนกระทั่งเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2559 ผู้ป่วยรายดังกล่าวนี้มีอายุ 81 ปี ซึ่งเป็นมีภาวะหายใจยากมากขึ้นโดยไม่มีการไอมาเป็นเวลา 3 สัปดาห์ต่อเนื่องกันเมื่อพบเงาด้านล่างของปอดด้านซ้าย จึงได้ทำการซีทีสแกนจึงได้พบก้อนเนื้อที่ปอดด้านล่างซ้ายขนาด 2.5 เซนติเมตร x 2.5 เซนติเมตร และยังพบที่ต่อมน้ำเหลืองเมดิแอสตินัมหลายจุด เมื่อทำการตรวจชิ้นเนื้อจึงพบว่าเป็นมะเร็งปอดชนิดแอนดิโนคาร์ซิโนมาร์ หรือ adenocarcinoma (T1c N3 M0) แพทย์จึงเสนอให้ใช้การรักษาด้วยการใช้คีโมบำบัดและการฉายรังสี แต่เนื่องจากผู้ป่วยสูงวัยแล้วจึงไม่ต้องการบำบัดเพราะไม่ต้องการได้รับผลข้างเคียงจากการรักษาเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี แพทย์จึงได้ติดตามคนไข้โดยไม่ได้รับการรักษาใดๆ ทั้งสิ้น

ต่อมา เดือนธันวาคม 2559 ผลปรากฏว่ามะเร็งปอดมีขนาดใหญ่ขึ้นเป็น 2.7 เซนติเมตร x 2.8 เซนติเมตร ส่วนบริเวณของต่อมน้ำเหลืองไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงขนาด แพทย์ได้เสนอให้บำบัดรักษาแต่ก็ผู้ป่วยก็ปฏิเสธการรักษาอีก ต่อมาในเดือนกรกฎาคม 2560 ก็ปรากฏว่ามะเร็งปอดด้านซ้ายล่างมีขนาดเพิ่มขึ้นต่อไป

ปรากฏว่า ในเดือนกันยายน 2560 ผู้ป่วยเริ่มใช้น้ำมันที่มี CBD ผสมอยู่ 200 มิลลิกรัมผสมในน้ำมัน 10 มิลลิลิตร ตั้งแต่เดือนกันยายน 2560 จำนวน 2 หยด (มีปริมาณ 0.06 มิลลิลิตร ที่มีน้ำหนักของ CBD 1.32 มิลลิกรัม) จำนวน 2 ครั้งต่อวัน เป็นเวลา 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นได้มีการเพิ่มจำนวนเป็น 9 หยด (มีปริมาณ 0.3 มิลลิลิตร ที่มีน้ำหนักของ CBD 6 มิลลิกรัม) จำนวน 2 ครั้งต่อวัน ใช้แบบนี้ไปเรื่อยๆ จนสิ้นเดือนกันยายน 2562 ผู้ป่วยตัดสินใจหยุดใช้ น้ำมัน CBD เพราะไม่ชอบรสชาติทำให้เกิดอาการคลื่นไส้เล็กน้อย โดยในช่วงดังกล่าวนี้ผู้ป่วยแจ้งต่อแพทย์ว่าไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอาหารหรือการดำเนินชีวิตแต่ประการใด

จนกระทั่งเดือนพฤศจิกายน 2560 ได้มีการตรวจด้วยซีทีสแกนอีกครั้งปรากฏว่ามะเร็งที่ปอดลดลงเหลือ 1.3 เซนติเมตร x 0.6 เซนติเมตร และในส่วนที่ปรากฏต่อมน้ำเหลืองเมดิแอสตินัมหลายจุดก็มีขนาดเล็กลงเช่นกัน แพทย์จึงได้แจ้งให้ผู้ป่วยทราบ และทำให้ผู้ป่วนตัดสินใจใช้น้ำมัน CBD ต่อไป จนเมื่อเดือนมกราคม 2561 ก็ได้มีการตรวจซีทีสแกนอีกครั้งมีสภาพขนาดเล็กคงตัวอีกเช่นกัน

แม้จะไม่ใช่งานวิจัยทางคลินิก หรือเป็นงานวิจัยตามระเบียบวิธีวิจัยมาตรฐาน แต่ก็เป็นอีกกรณีศึกษาที่จะเป็นเบาะแสสำหรับงานวิจัยในวันข้างหน้า และสำคัญย่ิงกว่านั้นรายงานชิ้นนี้ก็อาจจะเป็นข้อมูลให้กับผู้ป่วยที่แอบใช้กัญชาหรือกัญชงใต้ดินอยู่เพื่อเป็นเครื่องมือในการใช้วิจารณญาณตัดสินใจต่อไป

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต
(อ้างอิง)

[1] สรวัจน์ ศิลปโรจนพาณิช (เรื่อง), แฟนเพจ กัญชาชน (ภาพ), กัญชารักษามะเร็ง!! เปิดประสบการณ์ลับ ผู้ป่วยมะเร็งตับ หมอบอกตายแน่ แต่กัญชาช่วยไว้ได้!, ผู้จัดการออนไลน์, เผยแพร่: 11 ส.ค. 2559 16:11 ปรับปรุง: 12 ส.ค. 2559 07:47 https://mgronline.com/onlinesection/detail/9590000079216" CLASS="innerlink" TARGET="_blank">https://mgronline.com/onlinesection/detail/9590000079216


[2] ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, รู้ไว้ไม่โง่! เบื้องหลังบริษัทยาต่างชาติถือสิทธิบัตร “สารสกัดกัญชารักษาโรคมะเร็ง” หลายชนิด, ผู้จัดการออนไลน์, เผยแพร่: 7 มิ.ย. 2562 17:34 ปรับปรุง: 7 มิ.ย. 2562 20:03 https://mgronline.com/daily/detail/9620000054069" CLASS="innerlink" TARGET="_blank">https://mgronline.com/daily/detail/9620000054069


[3] ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, ข่าวดี! กรณีศึกษาล่าสุดการใช้สารสกัด “กัญชง-กัญชา” ลดขนาดมะเร็งรังไข่ในมนุษย์สำเร็จ, ข่าวร้าย! ต่างชาติยื่นคำขอสิทธิบัตรกัญชารักษามะเร็ง !!!! ผู้จัดการออนไลน์, เผยแพร่: 28 มิ.ย. 2562 17:03 ปรับปรุง: 28 มิ.ย. 2562 18:10 https://mgronline.com/daily/detail/9620000061605" CLASS="innerlink" TARGET="_blank">https://mgronline.com/daily/detail/9620000061605

[4] Sulé-Suso J, Watson NA, van Pittius DG, Jegannathen A. Striking lung cancer response to self-administration of cannabidiol: A case report and literature review. SAGE Open Med Case Rep. 2019;7:2050313X19832160. Published 2019 Feb 21. doi:10.1177/2050313X19832160 https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6385325/" CLASS="innerlink" TARGET="_blank">https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6385325/




กำลังโหลดความคิดเห็น