ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
“การประดิษฐ์นี้เกี่ยวกับการใช้งานของไฟโตแคนนาบินอยด์ (phytocannabinoids) ทั้งในรูปแบบที่ถูกแยกโดดเดี่ยว หรือรูปแบบสสารยาที่มาจากพืช (botantical drug substance (BDS)) ในการรักษาของมะเร็ง โดยที่พึงประสงค์ มะเร็งที่จะถูกรักษาคือ มะเร็งของต่อมลูกหมาก, มะเร็งของเต้านม, หรือมะเร็งของโคลอน (มะเร็งลำไส้)”
ข้อความดังกล่าวข้างต้น เป็นคำขอสิทธิบัตรของ บริษัท จีดับเบิลยู ฟาร์มา ลิมิเต็ด ร่วมกับ บริษัท โอซูกะ ฟาร์มาซูติคอล จำกัด เลขที่คำขอ 1201004672 เลขที่คำขอพีซีที PCT/GB2011/050487 ซึ่งยื่นคำขอวันที่ 11 มีนาคม 2554 กรมทรัพย์สินทางปัญญาประกาศโฆษณาคำขอวันที่ 9 ตุลาคม 2557 ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ได้สั่งยกคำขอเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2562 ตามคำสั่ง คสช. ที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2562 แต่ถึงวันนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าบริษัทดังกล่าวได้มีการอุทธรณ์หรือไม่
การจดสิทธิบัตรในครั้งนั้นทำให้เราได้เบาะแสสำคัญว่าจากสารกลุ่มแคนนาบินอยด์ (สารจากกัญชา) ซึ่งมีหลายร้อยตัว บริษัทดังกล่าวได้ให้ความสนใจในสารกลุ่มแคนนาบินอยด์บางตัวเป็นการเฉพาะเจาะจงต่อมะเร็งแต่ละชนิดและการใช้ร่วมกับการรักษาโดยยาของแพทย์แผนปัจจุบัน ได้แก่ CBD, CBG, CBDV, CBDA, THC, THCV, THCVA, CBDA, CBC
เพื่อให้ท่านผู้อ่านเข้าใจในความเป็นไปว่าบริษัทยายักษ์ใหญ่ระดับโลกเหล่านี้ ได้ฉวยโอกาสในช่วงเวลาที่ชาวเอเชียถูกห้ามใช้กัญชาในมนุษย์โดยเฉพาะถูกกำหนดให้เป็นยาเสพติด ต่างได้เร่งการวิจัยสารสกัดกัญชาเพื่อจดสิทธิบัตรแล้วจะมาขายเป็นยารักษาสารพัดโรคให้กับคนทั่วโลก
บริษัทยายักษ์ใหญ่เหล่านี้ไม่ได้นึกจะมาจดการรักษาโรคมะเร็งตามอำเภอใจ แต่ข้อถือสิทธิในคำขอสิทธิบัตรนั้นได้แนบกระบวนการกลไก การวิจัยในหลอดทดลองและในสัตว์ทดลองมาด้วย เพียงแต่ว่าบริษัทเหล่านี้ต่างจดสิทธิบัตรพร้อมๆกับการเปิดเผยผลการวิจัยในขั้นตอนการประกาศโฆษณาคำขอ เพื่อป้องกันไม่ให้ใครมาดำเนินการซ้ำกับสิทธิบัตรเหล่านี้ หากใครละเมิดก็อาจจะถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย และต้องจ่ายค่าสิทธิบัตรเหล่านั้นย้อนหลังได้ด้วย
และเนื่องจากประเทศไทยได้ประกาศยกเลิกโฆษณาคำขอไปแล้ว โดยการกดดันจากภาคประชาสังคม จึงถือว่าข้อมูลในประกาศโฆษณาคำขอได้เปิดเผยต่อสาธารณะและไม่ใช่ความลับอีกต่อไป และเมื่อประเทศไทยได้ยกเลิกสิทธิบัตรโดยอาศัยว่ากัญชาขัดต่อมาตรา 9(5) เพราะขัดต่อความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดี อนามัยหรือสวัสดิภาพของประชาชนโดยอาศัยคำสั่ง คสช.ที่ 1/2562 ดังนั้นการใช้กัญชาเพื่อรักษาโรคมะเร็งโดย “เน้นการได้สารสำคัญจากการสกัดทั้งหมดโดยไม่แยกสารสำคัญเชิงเดี่ยวออกมา” จากพันธุ์พืชที่เหมาะสม ส่วนของกัญชาที่นำมาใช้ การใช้แห้งหรือสด อุณหภูมิที่ใช้ และการสกัดจากกัญชา เพื่อมาเป็นประโยชน์ต่อการบูรณาการรักษาโรคมะเร็งลำไส้ มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก ย่อมไม่ขัดต่อสิทธิบัตรใดๆอีกต่อไปเช่นกัน ยกเว้นว่าบริษัทเหล่านั้นมีการอุทธรณ์และกรมทรัพย์สินทางปัญญาในช่วงเวลาที่ผ่านมา (โดยที่ประชาชนทั่วไปไม่ทราบ) และกระทรวงพาณิชย์ยอมให้อุทธรณ์คำร้องนั้นได้
อย่างไรก็ตาม หากนักวิจัยที่มีอัตตามากสนใจแต่ขั้นตอนอันมากมายพะรุงพะรังเพื่อขัดขวางการใช้กัญชาเพื่อนำมาบูรณาการรักษาโรคมะเร็ง โดยผู้ป่วยโรคมะเร็งไม่มีโอกาสได้ใช้สารสกัดกัญชาเหล่านี้ก็ดี หรือกลุ่มคนขายชาติที่มีผลประโยชน์แอบแฝงกับบริษัทยาต่างชาติที่คอยขัดขวางการใช้กัญชาเพื่อบูรณาการรักษาสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งเพื่อสุดท้ายแล้วบีบให้ผู้ป่วยต้องใช้ยากัญชาจากต่างชาติที่มาพร้อมกับสิทธิบัตรราคาแพงก็ดี สุดท้ายแล้วก็จะมีผู้ป่วยจำนวนมากแอบใช้กัญชาในตลาดใต้ดินในที่สุดอย่างแน่นอน
เพราะแม้แต่ในทุกวันนี้ ก็มีการใช้น้ำมันกัญชาใต้ดินกันอย่างเกลื่อนกลาด มีการโฆษณาน้ำมันกัญชากันอย่างเปิดเผย มีทั้งเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก ไลน์ น้ำมันกัญชากลายเป็นสิ่งที่หาได้ไม่ยากเลย เรียกได้ว่าใครๆ ก็มีน้ำมันกัญชาได้ทั้งนั้นหากต้องการจะหาเพื่อให้ได้มาจริงๆ
เหลือเพียงแต่ว่าผู้ใช้น้ำมันกัญชาจะโชคดีหรือโชคร้ายได้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มี คุณภาพ ความปลอดภัย และประสิทธิภาพจะมีมากน้อยเพียงใด และถูกเอารัดเอาเปรียบด้วยราคาเท่าใดในตลาดมืด และตราบใดที่รัฐไม่ตอบสนองความต้องการของผู้ป่วยได้ดีและมากเพียงพอ ผู้ที่จะได้ประโยชน์สูงสุดคือผู้ค้าน้ำมันกัญชาใต้ดินนั่นเอง
เพราะในความเป็นจริงแล้ว มีผู้ป่วยโรคมะเร็งแอบใช้น้ำมันกัญชาอยู่จำนวนมาก และในจำนวนที่มีผู้แอบใช้จำนวนมากนั้น มีทั้งประสบความสำเร็จในการรักษาด้วยการบูรณาการกัญชาร่วมกับรักษาอย่างอื่น ทั้งการแพทย์แผนปัจจุบัน ธรรมชาติบำบัด การแพทย์แผนไทย โภชนาการบำบัด การแพทย์บูรณาการ ฯลฯ และใน
ขณะเดียวกันก็มีคนแอบใช้น้ำมันกัญชาใช้เป็นยารักษาหลักแล้วเสียชีวิตไปแล้วแต่ไม่เปิดเผยข้อมูลก็มีจำนวนมากเช่นเดียวกัน ซึ่งความจริงเป็นเช่นไรนั้น รัฐจะต้องเริ่มต้นจากการยอมรับความเป็นไปในการใช้ตลาดมืดที่มีอยู่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน พร้อมๆกับการติดตามผล หาข้อเท็จจริง และแจ้งให้ประชาชนได้รับทราบเป็นระยะๆต่อไป
นอกจากสิทธิบัตรต่างชาติได้เคยยื่นข้อถือสิทธิสารสกัดกัญชามาใช้ร่วมรักษาโรคมะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งลำไส้แล้ว ยังมีสิทธิบัตรอีกฉบับหนึ่งที่มีความสำคัญและน่าสนใจอย่างยิ่งไม่แพ้กันก็คือ “การใช้สารสกัดกัญชาร่วมในการรักษาโรคมะเร็งสมอง”
ที่ว่าน่าสนใจก็เพราะเหตุว่ามีรายงานจากวงการแพทย์ของประเทศไทยที่แอบจ่ายน้ำมันกัญชามาใช้ร่วมในการรักษาโรคมะเร็งในสมอง พบว่าได้ผลดีหลายราย ซึ่งจะเป็นความจริงหรือไม่ จะทราบได้ก็ต่อเมื่อกฎหมายในประเทศไทยเปิดกว้างยอมรับการเก็บข้อมูลเหล่านี้โดยคุ้มครองแพทย์และผู้ป่วยให้สามารถรักษาได้ต่อเนื่อง ก็จะทำให้ความจริงนี้ปรากฏสู่สังคมได้มากขึ้น
ซึ่งเมื่อตรวจสอบแล้วปรากฏว่า สิทธิบัตรในเรื่องสารสกัดกัญชาที่นำมาใช้ร่วมรักษาโรคมะเร็งในสมองนั้น ปรากฏว่าผู้ที่ยื่นคำขอนั้นก็เป็น “รายเดิม” อีกเช่นกัน คือ บริษัท จีดับเบิลยู ฟาร์มา ลิมิเต็ด ร่วมกับ บริษัท โอซูกะ ฟาร์มาซูติคอล จำกัด เลขที่คำขอ 0901002472 ซึ่งได้ยื่นคำขอวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2552 และกรมทรัพย์สินทางปัญญาประกาศโฆษณาคำขอวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2556 โดยมีบทสรุปการประดิษฐ์ความว่า
“การประดิษฐ์นี้เกี่ยวกับการใช้แคนนาบินอยด์หนึ่งชนิดหรือมากกว่า, โดยเฉพาะ THC และ/หรือ CBD โดยผสมรวมกับสารเคมีบำบัดชนิด นัน-แคนนาบินอยด์ (เคมีบำบัดที่ไม่ได้มีสารสกัดจากกัญชา) ในการผลิตยาสำหรับใช้รักษาโรคมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งที่ถูกรักษาคือ เนื้องอกในสมอง, ไกลโอมา, ไกลโอบลาสโทมา มัลติฟอร์ม (GBM) สารเคมีบำบัดชนิด นัน-แคนแนบินอยด์อาจเป็นเอสโตรเจน รีเซพเตอร์ โมดูเลเตอร์ ที่เลือกเฉพาะ หรือสารอัลคิเลทิง”
ความน่าวิตกกังวลของสิทธิบัตรฉบับนี้อยู่ที่การระบุในข้อถือสิทธิข้อ 6. ความว่า
“องค์ประกอบทางเภสัชกรรมที่ขอถือสิทธิไว้ในข้อถือสิทธิที่ 5, ในที่ซึ่ง THC และ CBD มีอัตราส่วนระหว่าง 20:1 ถึง 1:20”
สาร THC นั้นเป็นสารสำคัญในกัญชา ออกฤทธิ์ทางจิตประสาท ทำให้มึนเมา แต่ CBD ไม่ได้ออกฤทธิ์ทางจิตประสาทให้มึนเมา การกำหนดข้อถือสิทธิบัตรสัดส่วนระหว่าง THC ต่อ CBD กว้างถึงตั้งแต่ 20 ต่อ 1 ถึง 1 ต่อ 20 นั้น ข้อถือสิทธินี้ระบุว่าหากนำมาใช้รักษาโรคมะเร็งเนื้องอกในสมอง ไกลโอมา หรือไกลโอบลาสโทมา มัลติฟอร์ม (Glioblastoma Multiforme, GBM) สิทธิบัตรนี้จะถือว่าเป็นสิทธิบัตรของ บริษัท จีดับเบิลยู ฟาร์มา ลิมิเต็ด ร่วมกับ บริษัท โอซูกะ ฟาร์มาซูติคอล จำกัด ทันที ดังนั้นถ้าน้ำมันกัญชาไทย หรือสัดส่วนของสารสกัดกัญชาอยู่ในช่วงขอบเขตนี้แล้วถูกนำมาใช้รักษาโรคมะเร็งสมอง ก็อาจจะต้องจ่ายค่าสิทธิบัตรเช่นกัน
โชคดีที่ประเทศไทยรอดพ้นจากการยกเลิกสิทธิบัตรเหล่านี้ไปทั้งหมดแล้ว แต่โชคร้ายคือคนไทยยังไม่สามารถใช้น้ำมันกัญชาแบบพึ่งพาตัวเองได้ และกำลังจะนำไปสู่ความสุ่มเสี่ยงที่จะถูกบีบให้ประเทศไทยต้องนำเข้าจากต่างประเทศในท้ายที่สุด โดยข้ออ้างว่ารัฐไม่สามารถจัดหาได้ทัน สิ่งที่มีอยู่ในประเทศไทยไม่เพียงพอ กัญชาในประเทศไทยมีสิ่งปนเปื้อนและมีอันตราย (ทั้งๆที่รัฐไม่ยกเลิกสารพิษยาฆ่าวัชพืช ยาฆ่าแมลงที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพคนไทย) ฯลฯ ทั้งนี้เป็นเพราะว่าประเทศไทยมีสารพัดข้อกำหนดที่ทำให้คนไทยไม่สามารถปลูก และใช้น้ำมันกัญชา โดยการพึ่งพาตัวเองได้นั่นเอง
นอกจากนั้นแล้ว สารสกัดกัญชาที่บริษัทยาต่างชาติได้จดสิทธิบัตรได้เคยจดสิทธิบัตรกัญชา สารสกัดกัญชา หรือสารสังเคราะห์กัญชา ใช้นำมารักษาหรือร่วมรักษาสารพัดโรคมาแล้ว
ตัวอย่างเช่น สารสกัดกัญชาได้แก่ THC THCV CBD CBDV รักษาอาการชักทั่วไป การชักเฉพาะที่ และลมบ้าหมูมาตรฐาน, CBDV และ CBD ใช้บำบัดทางด้านระบบประสาท เพื่อบำบัดอาการชักเหตุกล้ามเนื้อหดเกร็ง (Convulsion) หรือ อาการชักเหตุกระแสประสาทผิดปกติ (seizure), การใช้สาร CBD ที่ขนาดยามากกว่า 300 มิลลิกรัมต่อวัน รวมกับยาต้านโรคลมชักแบบมาตรฐาน (SAED), การใช้เพื่อช่วยการเจริญอาหาร, การใช้ป้องกันและรักษาภาวะต่อมลูกหมากโต, การใช้สารสกัดกัญชาร่วมกับยาโรคจิต, การใช้แบบใหม่ในการรักษาโรคกรดไหลย้อน ฯลฯ
ดังนั้น ถึงแม้ประเทศไทยจะได้ยกเลิกสิทธิบัตรไปแล้ว แต่การที่คนไทยเต็มไปด้วยอุปสรรคมากมาย แต่มีความคิดนำเข้าจากต่างประเทศ ก็ไม่ต่างจากการสร้างอุปสรรคให้คนไทยเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ต่างชาติอยู่ดี ทั้งๆที่ในความเป็นจริงมีกัญชาอยู่ในตลาดมืดที่คนไทยได้ใช้อยู่จำนวนมากอยู่แล้ว แต่เมื่อไหร่ที่ต่างชาติได้ประโยชน์จากนำเข้าเมื่อไหร่ ถึงเวลานั้นตลาดมืดทั้งหลายก็ย่อมต้องถูกกวาดล้างจับกุม และจะนำไปสู่การที่คนไทยต้องมีความเสี่ยงที่จะต้องซื้อผลิตภัณฑ์กัญชาจากต่างชาติ หรือคิดจะปลูกเองก็ต้องทำแบบโรงปิดมาตรฐานสูงที่ต้องลงทุนด้วยเงินจำนวนมาก ที่เกษตรกรเองไม่สามารถจะทำได้
ยกเว้นเสียแต่ว่าประเทศไทยจะผ่อนปรนยอมรับว่า “น้ำมันกัญชาที่สกัดออกมาแบบทั้งหมดโดยไม่แยกสารสำคัญตัวใดตัวหนึ่งออกมาเป็นยาแผนโบราณ” ที่สามารถดำเนินการใช้กับมนุษย์ได้ทันที โดยไม่ต้องผ่านการวิจัยในหลอดทดลอง หนูทดลอง แล้วทำการอบรมให้ความรู้ทั้งแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ รวมถึงประชาชนเพื่อให้ระมัดระวัง ผลข้างเคียงจากการใช้กัญชาเพื่อความปลอดภัย
เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลแล้ว ก็สมควรแก่การเวลาที่จะให้ผู้ป่วยซึ่งมีใบสั่งยาจากแพทย์สามารถปลูกในจำนวนจำกัดสำหรับการพึ่งพาตัวเองได้ ให้สถานพยาบาลที่มีแพทย์ตามใบประกอบวิชชาชีพซึ่งผ่านการฝึกอบรมการใช้กัญชาแล้วทั้งคลินิก โรงพยาบาล รวมถึงมหาวิทยาลัยที่เกี่ยวข้องกับทางการแพทย์ ทั้งรัฐและเอกชน สามารถเพาะปลูกเพื่อสกัดปรุงยาใช้ในสถานประกอบการทางการแพทย์ได้ หรือร่วมทำงานกับเกษตรกรหรือวิสาหกิจชุมชนเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ รวมถึงการเปิดให้มีการลงทุนผลิตกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์สามารถส่งออกไปยังต่างประเทศ และหากสถานประกอบการเหล่านั้นมีการใช้ผิดวัตถุประสงค์ไม่ได้เป็นประโยชน์เพื่อทางการแพทย์ ก็ให้ดำเนินการในการถอนใบอนุญาตนั้นเสีย
โดยเฉพาะประเทศไทยมีภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยที่มีความเข้าใจในการใช้กัญชาเป็นอย่างดี จึงปรุงตำรับยาที่มีกัญชาเป็นส่วนผสมเพื่อลดผลเสียได้อย่างลึกซึ้ง หากมีการปลดล็อกกัญชาทางการแพทย์แล้ว ก็ยิ่งเชื่อมั่นได้ว่า จะมีกรณีศึกษาอีกมากที่พิสูจน์ความจริงได้ว่าภูมิปัญญาไทยสามารถนำมาบูรณาการเพื่อรักษาโรคหลายโรคได้มหัศจรรย์มากน้อยเพียงใด
ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต