xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวดี! กรณีศึกษาล่าสุดการใช้สารสกัด “กัญชง-กัญชา” ลดขนาดมะเร็งรังไข่ในมนุษย์สำเร็จ, ข่าวร้าย! ต่างชาติยื่นคำขอสิทธิบัตรกัญชารักษามะเร็ง !!!! /ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

จีดับเบิลยู ฟาร์มา ลิมิเต็ด ร่วมกับ บริษัท โอซูกะ ฟาร์มาซูติคอล จำกัด ได้ถือสิทธิบัตรเกี่ยวกับกัญชาจำนวนมาก และในการใช้สารสกัดกัญชาซึ่งได้เคยยื่นคำขอแล้วถึงขั้นประกาศโฆษณาคำขอเกี่ยวกับ โรคมะเร็ง ที่สำคัญในช่วงเวลาที่ผ่านมามีทั้งสิ้น 2 ฉบับ

บับที่ 1 คือ สิทธิบัตร เลขที่คำขอ 1201004672 เลขที่คำขอพีซีที PCT/GB2011/050487 ซึ่งยื่นคำขอวันที่ 11 มีนาคม 2554 กรมทรัพย์สินทางปัญญาประกาศโฆษณาคำขอวันที่ 9 ตุลาคม 2557 ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ได้สั่งยกคำขอเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2562 ตามคำสั่ง คสช. ที่ 1/2562 เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2562 โดยหัวข้อคำขอของสิทธิบัตรฉบับนี้ใช้ข้อความว่า

“การประดิษฐ์นี้เกี่ยวกับการใช้งานของไฟโตแคนนาบินอยด์ (phytocannabinoids) ทั้งในรูปแบบที่ถูกแยกโดดเดี่ยว หรือรูปแบบสสารยาที่มาจากพืช (botantical drug substance (BDS)) ในการรักษาของมะเร็ง โดยที่พึงประสงค์ มะเร็งที่จะถูกรักษาคือ มะเร็งของต่อมลูกหมาก, มะเร็งของเต้านม, หรือมะเร็งของโคลอน (มะเร็งลำไส้)”

ข้อความดังกล่าวข้างต้น เป็นคำขอสิทธิบัตรของ บริษัท จีดับเบิลยู ฟาร์มา ลิมิเต็ด ร่วมกับ บริษัท โอซูกะ ฟาร์มาซูติคอล จำกัด เลขที่คำขอ 1201004672 เลขที่คำขอพีซีที PCT/GB2011/050487 ซึ่งยื่นคำขอวันที่ 11 มีนาคม 2554 กรมทรัพย์สินทางปัญญาประกาศโฆษณาคำขอวันที่ 9 ตุลาคม 2557

โดยสิทธิบัตรฉบับดังกล่าวได้ให้ความสนใจในสารกลุ่มแคนนาบินอยด์บางตัวเป็นการเฉพาะเจาะจงต่อมะเร็งแต่ละชนิดและการใช้ร่วมกับการรักษาโดยยาของแพทย์แผนปัจจุบัน ได้แก่ CBD, CBG, CBDV, CBDA, THC, THCV, THCVA, CBDA, CBC

ฉบับที่สอง คือสิทธิบัตร เลขที่คำขอ 0901002472 ซึ่งได้ยื่นคำขอวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2552 และกรมทรัพย์สินทางปัญญาประกาศโฆษณาคำขอวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2556 โดยมีบทสรุปการประดิษฐ์ความว่า

“การประดิษฐ์นี้เกี่ยวกับการใช้แคนนาบินอยด์หนึ่งชนิดหรือมากกว่า, โดยเฉพาะ THC และ/หรือ CBD โดยผสมรวมกับสารเคมีบำบัดชนิด นัน-แคนนาบินอยด์ (เคมีบำบัดที่ไม่ได้มีสารสกัดจากกัญชา) ในการผลิตยาสำหรับใช้รักษาโรคมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งที่ถูกรักษาคือ เนื้องอกในสมอง, ไกลโอมา, ไกลโอบลาสโทมา มัลติฟอร์ม (GBM) สารเคมีบำบัดชนิด นัน-แคนแนบินอยด์อาจเป็นเอสโตรเจน รีเซพเตอร์ โมดูเลเตอร์ ที่เลือกเฉพาะ หรือสารอัลคิเลทิง” [1]

หากปล่อยให้สิทธิบัตรเหล่านี้ซึ่งมีส่วนในการรักษาโรคอันสำคัญได้ กัญชาซึ่งมีสารสำคัญเหล่านี้หากนำมาใช้รักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ และมะเร็งสมอง ประชาชนชาวไทยหรือผู้ที่นำมาใช้ก็อาจจะต้องจ่ายค่าสิทธิบัตรให้กับบริษัทดังกล่าวด้วย

และด้วยการเคลื่อนไหวและกดดันของภาคประชาสังคมกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์สำหรับประชาชน กรมทรัพย์สินทางปัญญา เช่น ไบโอไทย เอฟทีเอวอทช์ นายกสภาการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยรังสิต มูลนิธิสุขภาพไทย ฯลฯ กระทรวงพาณิชย์จึงได้สั่งยกคำขอสิทธิบัตรที่เกี่ยวกับกัญชาทั้งหมด รวมถึง 2 ฉบับข้างต้นที่เกี่ยวข้องกับโรคมะเร็ง เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2562 ตามคำสั่ง คสช. ที่ 1/2562 โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ได้อาศัยคำสั่งในข้อ 1 และ ข้อ 2 ในการยกเลิก ซึ่งในข้อ 1 ปรากฏข้อความว่า

“ข้อ ๑ เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรตามคำสั่งนี้ การประดิษฐ์ดังต่อไปนี้หากนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ให้ถือเป็นการประดิษฐ์ที่ไม่ได้รับความคุ้มครอง ตามมาตรา ๙ (๕)แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสิทธิบัตร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕

(๑) การประดิษฐ์ที่มีกัญชา หรือสารสกัดธรรมชาติจากกัญชาเป็นองค์ประกอบ

(๒) สารที่มีโครงสร้างทางเคมีอย่างเดียวกันกับการประดิษฐ์ตาม (๑)

(๓) เกลือ เอสเทอร์ และอีเทอร์ใดๆ ของสารตาม (๒)” [2]

กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ได้อาศัยคำสั่งของ คสช.ฉบับดังกล่าวนี้ยกเลิกสิทธิบัตรกัญชาทั้งหมดที่ได้ยื่นคำขอมาก่อนหน้านี้ รวมที่ได้มีการประกาศโฆษณาคำขอเอาไว้ด้วย ด้วยเหตุผลที่ว่าสิทธิบัตรกัญชาเหล่านั้นตาม มาตรา 9 (5) แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522 ด้วยเหตุผลว่า เป็นการประดิษฐ์ที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน (โดยในขณะนั้นให้ถือว่าเป็นยาเสพติดให้โทษ)

ทว่า “ข้อ 4 ในคำสั่ง คสช.ฉบับนี้” ก็ผูกเงื่อนไขเอาไว้ว่า “จะยกเลิกข้อห้ามการจดสิทธิบัตร โดยอาศัยคำสั่ง คสช. ”เกี่ยวกับกัญชาในอนาคต หากมีการประกาศบังคับใช้กฎหมายยาเสพติดให้โทษฉบับใหม่ ที่ให้กัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์หรือการวิจัยได้ โดยปรากฏข้อความว่า

“ข้อ ๔ ในกรณีที่กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษมีการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้มีการนำกัญชา ไปทำการศึกษาวิจัยเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ได้ ให้ข้อ ๑ และ ข้อ ๒ ของคำสั่งนี้เป็นอักยกเลิก นับแต่วันที่กฎหมายดังกล่าวมีผลใช้บังคับ ทั้งนี้ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรที่ได้ยื่นไว้แล้วต่อไปตามหลักเกณฑ์วิธีการและขั้นตอนตามข้อ ๑ และข้อ ๒ จนกว่าจะแล้วเสร็จ” [2]

ดังนั้นนับตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ซึ่งได้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 เป็นต้นมา [3] การจดสิทธิบัตรสามารถดำเนินต่อไปได้ตามขั้นตอนโดยไม่มีข้อห้ามโดยอาศัยคำสั่ง คสช.อีกต่อไป

ฟังดูผิวเผินก็ดูเหมือนว่ามีความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายเพราะคนไทยก็มาจดสิทธิบัตรได้ ต่างชาติก็มาจดสิทธิบัตรได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วหาได้มีความเป็นธรรมไม่ เพราะถึงวันนี้ขั้นตอนและอุปสรรคในการศึกษา วิจัย เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์นั้นมีขั้นตอนยุ่งยากมาก จึงยังไม่มีใครจะสามารถแสดงผลวิจัยอย่างเป็นทางการเพื่อจดสิทธิบัตรได้ ในขณะที่องค์กรต่างชาติได้ศึกษาวิจัยมาล่วงหน้ามาแล้วหลายปี อีกทั้งยังมีผลิตภัณฑ์จำนวนมาก จึงย่อมมีความพร้อมมากกว่าคนไทยมาก จึงเท่ากับเป็นการแข่งขันที่มีจุดเริ่มต้นที่ไม่เป็นธรรมสำหรับคนไทยอย่างยิ่ง

ยิ่งถ้าจะให้นำกัญชามาเป็นยาสมัยใหม่เพื่อรักษามะเร็งนั้น ก็ต้องไปเริ่มต้นจากการทดลองในหลอดทดลอง ในสัตว์ทดลอง แล้วจึงจะมีสิทธิวิจัยในมนุษย์กลุ่มเล็กซึ่งสิ้นหนทางในการรักษามาเป็นกรณีศึกษา หลังจากนั้นก็ทดลองในมนุษย์ในระยะสั้น และดูผลในระยะยาว ซึ่งนอกจากจะต้องใช้เวลานานหลายๆปีแล้ว ยังต้องใช้เงินวิจัยอย่างมหาศาลด้วย

ดังนั้นหากประเทศไทยจะบ้าจี้ให้พืชสมุนไพรเป็นยาสมัยใหม่เป็นหลักเท่านั้น หรือคนไทยจะใช้ได้กัญชาเฉพาะเท่าที่ระบุในตำรับยาไทย โดยไม่มีโอกาสพัฒนาตำรับโดยอาศัยข้อมูลใหม่แล้ว สรรพคุณกัญชาด้วยข้อมูลใหม่ที่ว่าอาจมีส่วนช่วยรักษาโรคมะเร็งย่อมมีความเสี่ยงถูกผูกขาดโดยสิทธิบัตรบริษัทยาข้ามชาติทั้งหลายในท้ายที่สุด

เปรียบเสมือนการแข่งขันวิ่งที่นักวิ่งต่างชาติซึ่งตัวใหญ่กว่าแข็งแรงกว่าได้เริ่มต้นแข่งขันการวิ่งในจุดใกล้เส้นชัยกว่าคนไทย อีกทั้งยังมีการมัดมือมัดเท้าให้นักวิ่งต่างชาติที่ห่างไกลจากเส้นชัยอีกด้วย

ยังไม่นับว่าบริษัทยาต่างชาติเหล่านี้สามารถนำสิทธิบัตรฉบับเก่าขึ้นมาปัดฝุ่นดัดแปลงเล็กน้อย แล้วกลับมายื่นคำขอจดสิทธิบัตรใหม่ได้ทันทีอีกด้วย !!!

จนถึงในขณะนี้มีแหล่งข่าวแจ้งว่ามี บริษัทยาต่างชาติ มาจดสิทธิบัตรกัญชานับตั้งแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 นับร้อยคำขอ จริงหรือไม่ ซึ่งในขณะนี้ตราบใดยังไม่มีการประกาศโฆษณาคำขอ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ คนไทยทั่วไปจึงย่อมไม่มีโอกาสทราบข้อเท็จจริงนี้ได้เลย

แม้ว่าในขณะนี้ “งานวิจัยในมนุษย์” ยังไม่ได้มีข้อสรุปว่า กัญชาสามารถรักษาโรคมะเร็งได้ แต่การที่บริษัทยักษ์ใหญ่ต่างชาติได้มาจดสิทธิบัตร ก็เพราะมีเบาะแสจากงานวิจัยในหลอดทดลอง สัตว์ทดลอง [4] รวมถึงยังมีการศึกษาว่ากัญชาหากนำมาเป็นส่วนหนึ่งของการบูรณาการมีศักยภาพที่สามารถช่วยรักษาโรคมะเร็งได้ [5]

และการที่แพทย์แผนปัจจุบันเป็นผู้กำหนดการวิจัยโรคมะเร็งในมนุษย์ ดังนั้นสมุนไพรหรือแม้กระทั่งการใช้กัญชาก็มักจะทำได้สูงสุดคือนำมาใช้ภายหลังลดอาการคีโมหรือการฉายแสงเพื่อลดผลข้างเคียง [4]หรือไม่ก็เป็นยาเสริมกับการรักษาแผนปัจจุบันเท่านั้น

อย่างไรก็ตามแม้จะไม่มีงานวิจัยในมนุษย์ที่สรุปถึงขั้นว่ากัญชาจะสามารถรักษาโรคมะเร็งได้ แต่ก็เริ่มมี “กรณีศึกษา” ที่รายงานในวารสารทางการแพทย์มากขึ้นเกี่ยวกับการใช้สารสกัดจากกัญชาหรือกัญชงมีส่วนช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของโรคมะเร็งให้ช้าลง หรือเซลล์มะเร็งลดน้อยลงในบางกรณี อันจะเป็นเบาะแสของข้อเท็จจริงเพื่อแสวงหาความสำเร็จในการบูรณาการใช้กัญชาในการมีส่วนที่จะช่วยรักษาโรคมะเร็งต่อไป

สำหรับสารสำคัญในกัญชาจากงานวิจัยที่พบว่าสารสำคัญในกัญชงหรือกัญชามีศักยภาพในการต้านการเจริญเติบโตของเนื้องอกหรือมะเร็งต่างชนิดกัน ได้แก่ เดลต้าไนน์ เตตระไฮโดรแคนนาบินอยด์ (∆9-THC), สารแคนนาบินอล (CBN), สารเดลต้าเอท เตตระไฮโดรแคนนาบินอยด์ (∆8-THC), สารแคนนาบิไดออล (CBD),สารแคนนาบิไซคลอล (CBL)ฯลฯ [4],[6] รวมถึงเบาะแสข้อมูลจากงานวิจัยที่พบว่าสาร เดลต้าไนน์ เตตระไฮโดรแคนนาบิวาริน (THCV) ซึ่งจะช่วยยับยั้งการผลิตไนไตรท์ที่ถูกสร้างโดยไลโปโพลีแซคคาไรด์(LPS)ซึ่งมีศักภาพที่จะควบคุมการอักเสบในหลายโรคได้ [7] เป็นต้น

ความจริงแล้วสารจากกัญชามีนับร้อยชนิด แต่ที่พบได้มากจากดอกหรือใบอ่อนรอบดอกกัญชาหรือกัญชงได้แก่ THC, CBD, CBN และ CBC ตามมาด้วย ∆8-THC, CBDA, CBDV และ CBG [8] ซึ่งการได้สารสำคัญที่มีผลต่อเซลล์มะเร็งแต่ละชนิดไม่เหมือนกันนั้น เพราะต่อมรับสารสกัดกัญชา (Receptor)ในร่างกายของมนุษย์มีผลต่อมะเร็งไม่เหมือนกัน ไม่เพียงมีข้อดีอย่างเดียวเท่านั้น แต่สารสกัดกัญชาก็ยังมีข้อเสียด้วย ดังเช่นปรากฏในผลตรงกันข้ามได้ด้วยว่าอาจมีผลต่อการกระตุ้นการแพร่กระจายของมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม และมะเร็งตับ [9] ดังนั้นการใช้กัญชาเกี่ยวกับมะเร็งว่าจะยับยั้งหรือเร่งการเจริญเติบโตของมะเร็งนั้นนอกจากขึ้นอยู่กับชนิดของสารสำคัญที่ใช้หรือสกัดออกมาแล้ว ความเข้มข้นของสารสำคัญแต่ละชนิดที่ใช้บนเงื่อนไขที่แตกต่างกันด้วยก็มีความสำคัญด้วยเช่นกัน

แม้กระทั่งสารแคนนาบิไดออลหรือ (CBD) ซึ่งเป็นสารสำคัญที่พบมากในกัญชงไม่ออกฤทธิ์ทางจิตประสาท ไม่ทำให้เมา ซึ่งนอกจากจะช่วยลดความเครียด เกร็ง เพิ่มคุณภาพการนอน ยังมีประโยชน์อย่างยิ่งการช่วยผู้ป่วยโรคลมชัก [10] รวมถึงถูกระบุในสิทธิบัตรของบริษัทยาต่างชาติที่เคยมายื่นคำขอสิทธิบัตรในประเทศไทยว่ามีประโยชน์ในการนำมาบูรณาการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากและมะเร็งเต้านม [1] แต่ในอีกด้านหนึ่งมีงานวิจัยในหนูทดลองล่าสุดว่าหากบริโภคในแบบเข้มข้นและปริมาณที่มากเกินไปก็กลับให้ผลเป็นพิษต่อตับได้ด้วยเช่นกัน [11]

ดังนั้นนอกจากจะขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ที่ให้น้ำหนักของสารสำคัญต่างกันแล้ว ยังต้องถูกกำหนดโดยการใช้ส่วนใดของกัญชา การใช้สดหรือแห้ง การสกัดด้วยวิธีการใด และการใช้ความร้อนหรือการกระตุ้นด้วยออกซิเจนด้วยอุณหภูมิเท่าใดและเวลานานเท่านั้น ใช้กับผู้ป่วยแบบไหน อายุเท่าไหร่ และองค์ความรู้เหล่านี้ถือเป็นสรรพคุณเภสัชยุคใหม่ ด้วยสายพันธุ์ใหม่ หรือมีรสยาและฤทธิ์ยายุคใหม่ ที่ทำให้เราไม่ควรจำกัดองค์ความรู้อยู่เฉพาะตำรับยาเดิม แต่ก็ไม่ควรมุ่งเป้าหาสกัดแยกสารสำคัญที่ต้องทำตามขั้นตอนซึ่งถูกล้อมกรอบด้วยสิทธิบัตรต่างชาติด้วยเช่นกัน เพราะในความเป็นจริงแล้วสารสำคัญในพืชกัญชาหลายชนิดต่างทำงานร่วมกัน เพียงแต่ว่าเราจะเน้นอะไรเพื่อสิ่งใดในการพัฒนาสายพันธุ์พืชเหล่านั้นเท่านั้น

ตัวอย่างกรณีล่าสุดเกิดขึ้น คือโรคมะเร็งรังไข่ชนิด Serous Carcinoma ซึ่งพบได้ร้อยละ 80 ของมะเร็งรังไข่ชนิดเนื้อเยื่อบุผิว ซึ่งโดยปกติแล้วสาร CBD ในกัญชงหรือกัญชานั้นจะมีผลต่อต่อมรับในร่างกายมนุษย์ที่ชื่อว่า CPR55 ซึ่งจะส่งต่อมะเร็งต่อมลูกหมากและมะเร็งรังไข่

วารสารทางการแพทย์เกี่ยวกับรายงานเกี่ยวกับมะเร็งชื่อ Gynecologic Oncology Reports ได้เผยแพร่ตีพิมพ์รายงานชิ้นหนึ่งเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2562 เป็นกรณีศึกษาของ สตรีผู้สูงวัยอาย 81 ปี เป็นโรคมะเร็งรังไข่ชนิด low grade serous ovarian carcinoma ซึ่งได้แพร่กระจายลุกลามแล้ว สตรีผู้สูงวัยคนนี้ได้ตัดสินใจลดการรักษาแผนปัจจุบันเพราะไม่สามารถทนได้ต่อภาวะความเป็นพิษและคุณภาพชีวิต จึงได้ตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการแพทย์ทางเลือกและอนุญาตให้เก็บบันทึกข้อมูลได้

สตรีสูงวัยคนนี้รักษาแพทย์ทางเลือกโดยเริ่มจากได้ กินยาเม็ดชื่อ Laetrile tablets หรือที่เรียกว่าวิตามินบี 17 โดยในปริมาณ 500 มิลลกรัม 4 ครั้งต่อวัน ร่วมกับการได้รับน้ำมัน CBD เพียงแค่ 1 หยดหยอดใต้ลิ้นในตอนเย็นเพียง 1 ครั้งต่อวัน ปรากฏว่าค่าบ่งชี้มะเร็งรังไข่ที่ชื่อ Ca-125 ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2560 ที่ 46 หลังจากนั้นเพียงเดือนเดียว เหลือเพียง 22 ในเดือนมิถุนายน 2560 และค่า Ca-125 ก็ยังลดลงต่อไปอีกหลังจากนั้นอีกด้วย

และเมื่อตรวจซีทีสแกนก็พบว่าก้อนมะเร็งที่ปีกมดลูกด้านขวา ซึ่งเคยมีขนาด 5.8 เซนติเมตร x 5.0 เซนติเมตร ในเดือนพฤษภาคม 2560 พอเวลาผ่านไป 4 เดือนกลับพบว่าก้อนดังกล่าวเล็กลงเหลือ 1.6 เซนติเมตร x 1.6 เซนติเมตร และเมื่อถึงเดือนธันวาคม 2561 การรักษาก็ยังตอบสนองดีต่อเนื่อง อีกทั้งไม่มีอาการเจ็บป่วยจากวิธีการดังกล่าวด้วย แม้ว่ากรณีนี้จะมีการใช้น้ำมัน CBD และ Laetrile (วิตามินบี 17) แต่รายงานชิ้นนี้กลับระบุว่าการทดลองในมนุษย์ทางคลินิกก่อนหน้านี้พบว่า Laetrile (วิตามินบี 17)ไม่มีผลใดๆต่อผู้ป่วยโรคมะเร็ง [13]

การตั้งประเด็นดังกล่าวทำให้เกิดคำถามว่ากรณีศึกษาของสตรีผู้สูงวัยรายนี้มีอาการดีขึ้นอย่างชัดเจนและต่อเนื่องในครั้งนี้ เป็นเพราะการใช้น้ำมัน CBD ร่วมกันทำงานกับ Laetrile (วิตามินบี 17) และในความเป็นจริงแล้ววิตามินบี 17 ยังจะต้องมีความระมัดระวังในความเป็นพิษจากไซยาไนด์ด้วย หรือในความเป็นจริงแล้วสตรีผู้สูงวัยคนนี้ดีขึ้นเพราะน้ำมัน CBD ซึ่งพบได้มากในดอกกัญชงและกัญชา(บางสายพันธุ์)ซึ่งจะต้องรองานวิจัยในวันข้างหน้าต่อไป

แม้ว่าจะมีเรื่องน่ายินดีข้างต้น แต่ประเทศไทยจะต้องจับตาดูว่าภายหลังจากการที่ประเทศไทยได้ประกาศบังคับใช้ พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ลงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2562 นั้น มีบริษัทใดมายื่นคำขอสิทธิบัตรสาร CBD หรือสารสกัดอื่นๆจากพืชกัญชามารักษาโรคมะเร็งรังไข่หรือไม่?

เพราะบริษัทรายเดิมคือ จีดับเบิลยู ฟาร์มา ลิมิเต็ด ร่วมกับ บริษัท โอซูกะ ฟาร์มาซูติคอล จำกัด ได้ยื่นจดสิทธิบัตรทั้งในสหรัฐอเมริกาและยุโรปก่อนหน้านั้นไปแล้วว่าสารสกัดจากกัญชาช่วยบำบัดมะเร็งรังไข่ โดยระบุถึง สารสำคัญชื่อ CBD, CBDA, CBG, CBGA, CBGV, THCV ทั้งในรูปของสารเดี่ยวหรือผสมรวมกันมากกว่าหนึ่งสารโดยเฉพาะสารที่มีองค์ประกอบของ CBD และ CBG ด้วย อยู่ที่ว่ากรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์จะปฏิเสธคำขอหรือไม่?

จึงขอให้ประชาชนติดตามสิทธิบัตรสารสกัดกัญชาต่างชาติเอาไว้อย่าให้ใครขายชาติเพื่อมาปล้นประชาชนชาวไทย

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต

อ้างอิง
[1] ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, รู้ไว้ไม่โง่เบื้องหลังบริษัทยาต่างชาติถือสิทธิบัตรสารสกัดกัญชารักษาโรคมะเร็งหลายชนิด, ผู้จัดการออนไลน์, เผยแพร่ : 7 มิ.ย. 2562 เวลา 17:34, ปรับปรุง 7 มิ.ย. 2562 เวลา 20:03 https://mgronline.com/daily/detail/9620000054069

[2] คำสั่งหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑/๒๕๖๒ เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยสิทธิบัตรและมาตรการด้านสิทธิบัตรเป็นกรณีพิเศษ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๖ ตอนพิเศษ ๒๕ ง หน้า ๙๒ ลงวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๖๒
https://library2.parliament.go.th/giventake/content_ncpo/ncpo-head-order1-2562.pdf

[3] พระราชบัญญัติ ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๖๒ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๖ ตอนที่ ๑๙ ก หน้า ๑ ลงวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2562/A/019/T_0001.PDF
[4] Davis MP. Cannabinoids for symptom management and cancer therapy:The evidence. J Natl Compr Canc Netw. 2016;14(7):915-22.https://doi.org/10.6004/jnccn.2016.0094. [PubMed]
[5] Javid FA, Phillips RM, Afshinjavid S, Verde R, Ligresti A. Cannabinoid pharmacology in cancer research:A new hope for cancer patients? Eur J Pharmacol. 2016;775:1-14.https://doi.org/10.1016/j.ejphar.2016.02.010. [PubMed] [Google Scholar]
[6] Birdsall SM, Birdsall TC, Tims LA. The use of medical marijuana in cancer. Curr Oncol Rep. 2016;18(7):40.https://doi.org/10.1007/s11912-016-0530-0. [PubMed] [Google Scholar]
[7] Romano B, Pagano E, Orlando P, Capasso R, Cascio MG, Pertwee R, et al. Pure delta9-tetrahydrocannabivarin and a Cannabis sativa extract with high content in delta9-tetrahydrocannabivarin inhibit nitrite production in murine peritoneal macrophages. Pharmacol Res. 2016;113(Pt A):199-208. https://doi.org/10.1016/j.phrs.2016.07.045. [PubMed] [Google Scholar]
[8] Andre CM, Hausman JF, Guerriero G. Cannabis sativa:The plant of the thousand and one molecules. Front Plant Sci. 2016;7:19.https://doi.org/10.3389/fpls.2016.00019. [PMC free article][PubMed] [Google Scholar]
[9] Cridge BJ, Rosengren RJ. Critical appraisal of the potential use of cannabinoids in cancer management. Cancer Manag Res. 2013;5:301-313. Published 2013 Aug 30. doi:10.2147/CMAR.S36105
[10] Pamplona FA, da Silva LR, Coan AC. Potential Clinical Benefits of CBD-Rich Cannabis Extracts Over Purified CBD in Treatment-Resistant Epilepsy: Observational Data Meta-analysis [published correction appears in Front Neurol. 2019 Jan 10;9:1050]. Front Neurol. 2018;9:759. Published 2018 Sep 12. doi:10.3389/fneur.2018.00759
[11] Ewing LE, Skinner CM, Quick CM, et al. Hepatotoxicity of a Cannabidiol-Rich Cannabis Extract in the Mouse Model. Molecules. 2019;24(9):1694. Published 2019 Apr 30. doi:10.3390/molecules24091694
[12] Piñeiro R., Maffucci T., Falasca M. The putative cannabinoid receptor GPR55 defines a novel autocrine loop in cancer cell proliferation. Oncogene.
[13] Barrie AM, Gushue AC, Eskander RN. Dramatic response to Laetrile and cannabidiol (CBD) oil in a patient with metastatic low grade serous ovarian carcinoma. Gynecol Oncol Rep. 2019;29:10-12. Published 2019 May 17. doi:10.1016/j.gore.2019.05.004
[14] GW Phama Limited, Otsuka Phamarceutical LimitedThe use of phytocannabinoids in the treatment of ovarian carcinoma, Application PCT/GB2014/951889 events, WO2014202990A1 WIPO (PCT) https://patents.google.com/patent/WO2014202990A1
กำลังโหลดความคิดเห็น