xs
xsm
sm
md
lg

"โรคกระเพาะอาหาร" ไม่อันตราย แต่ก็ทำให้ตายได้! อย่างไรมาดูกัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หลายคนมักคิดว่าโรคกระเพาะอาหารเกิดจากการรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา ซึ่งปัจจุบันนี้คนส่วนใหญ่มักจะละเลยการรับประทานอาหารเช้า เพราะว่าเป็นเวลาที่เร่งรีบ จึงเป็นสาเหตุของการปวดท้องตามมา หลายคนจึงพยายามที่จะรับประทานอาหารให้ตรงเวลา เพื่อจะได้ไม่ปวดท้อง แต่รู้หรือไม่ว่ายังมีสาเหตุอื่นร่วมด้วย

สาเหตุของโรคกระเพาะ

โรคกระเพาะอาหารมีกลไกการเกิดที่ซับซ้อนมาก และเกิดได้จากหลายสาเหตุ ในแต่ละสาเหตุจะทำให้เกิดภาวะที่มีกรดและน้ำย่อยในกระเพาะอาหารมากเกินไป จนทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหาร แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ

1. กลุ่มโรคกระเพาะชนิดมีแผล อาจเป็นแผลตรงกระเพาะอาหาร ลำไส้เล็กส่วนต้น
- สาเหตุเกิดจากการใช้ยาต้านการอักเสบบางชนิด เช่น ยาแอสไพริน ไอบูโพรเฟน อินโดเมทาซิน นาโพรเซน ไพร็อกซิแคม ไดโคลฟีแนก ฯลฯ ซึ่งก็คือยาแก้ปวดปวดต่างๆ
- ติดเชื้อแบคทีเรียเฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobacterpylori) หรือ เอชไพโลไร (H. pylori) ซึ่งติดต่อได้จากการกินอาหาร เชื้อนี้จะอาศัยอยู่ในชั้นเมือกที่ปกคลุมผิวกระเพาะอาหาร แล้วสร้างสารที่เป็นด่างออกมาเจือจางกรดที่อยู่รอบๆ ตัวมัน และสร้างสารพิษทำลายเซลล์เยื่อบุผิวของกระเพาะอาหารได้ จึงทำให้เซลล์เยื่อบุกระเพาะอาหารอักเสบ ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร อาจเรื้อรังถึงขั้นมะเร็งกระเพาะอาหารได้

2. กลุ่มโรคกระเพาะที่ไม่มีแผล มีสาเหตุที่หลากหลาย
- การรับประทานอาหารไม่เป็นเวลา
- การรับประทานอาหารที่มีรสชาติเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด
- ภาวะกรดในกระเพาะไหลย้อนขึ้นมาหลอดอาหาร
- การสูบบุหรี่
- การดื่มสุรา กาแฟ
- ความเครียด
ปัจจัยเหล่านี้จะทำให้เยื่อบุกระเพาะอาหารเกิดการระคายเคืองจนเกิดการอักเสบเรื้อรัง แล้วนำไปสู่การเกิดแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นได้

อาการปวดท้องจากโรคกระเพาะอาหาร

1. ปวดแบบรุนแรงที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อาจเกิดจากโรคอื่นๆ นอกเหนือจากโรคกระเพาะได้ เช่น นิ่วในถุงน้ำดีหรือตับอ่อนอักเสบ
2. ปวดแบบเป็นๆ หายๆ มาไม่น้อยกว่าหนึ่งเดือน เป็นการปวดท้องที่เกี่ยวข้องกับมื้ออาหาร เช่น ปวดขณะหิวหรืออิ่ม แต่เป็นการปวดแบบทนได้ และเมื่อรับประทานยาลดกรดหรืออาหารแล้วมีอาการดีขึ้น
3. ปวดแน่นท้องกลางดึกหลังจากที่หลับไปแล้ว
4. บางคนอาจมีอาการกำเริบเวลากินยาแอสไพริน ยาแก้ปวดข้อ ดื่มแอลกอฮอล์ กาแฟ ของมันๆ ของหวานๆ อาหารที่ย่อยยากหรือกำเริบในช่วงที่รับประทานอาหารผิดเวลาหรือปล่อยให้หิวนานๆ หรือเวลาที่มีความเครียด

วิธีป้องกันโรคกระเพาะอาหาร

- งดสูบบุหรี่และงดดื่มสุรา หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด
- งดการใช้ยาแก้ปวดและยารักษาโรคข้อกระดูกอักเสบทุกชนิด ถ้าจำเป็นต้องใช้ยากลุ่มนี้ ควรปรึกษาแพทย์
- อย่าเครียด ควรหาวิธีการผ่อนคลายความเครียดและความวิตกกังวล รวมทั้งพักผ่อนให้เพียงพอ
- อย่านอนดึก พอยิ่งดึกเราก็จะยิ่งหิว เพราะกรดถูกหลั่งออกมาในท้องมากเกินไป
- ควรรับประทานอาหารในจำนวนที่น้อยแต่ให้บ่อยมื้อขึ้น ไม่ควรรับประทานจนอิ่มมากเกินไปในแต่ละมื้ออาหาร
- ควรรับประทานอาหารให้ตรงเวลา
- ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสชาติที่เผ็ดจัด เปรี้ยวจัด ของหมักดอง น้ำอัดลม กาแฟ ของทอด ของมัน ขนมขบเคี้ยว เพราะว่าอาหารเหล่านี้จะทำให้น้ำย่อยหลั่งออกมามากกว่าปกติ
- ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพราะการออกกำลังกายจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรง

ทั้งนี้ โรคกระเพาะอาหารไม่ถือว่าเป็นโรคที่อันตราย สิ่งที่ควรระวังคือ โรคกระเพาะอาหารมักจะเป็นเรื้อรัง เมื่อรักษาแผลหายไปแล้วก็สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีก ควรจะปฏิบัติตนให้ถูกต้องหากปล่อยไว้จนเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น เช่น ภาวะเลือดออกในกระเพาะอาหาร กระเพาะทะลุ และกระเพาะอุดตัน ก็สามารถทำให้ผู้ป่วยถึงขั้นแก่เสียชีวิตได้

กำลังโหลดความคิดเห็น