xs
xsm
sm
md
lg

อ่านก่อนซื้อ!! รีวิว “กระทะเทฟลอน” ยี่ห้อไหน เจ๋งโดนโจคุณที่สุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

“กระทะ” ของใช้คู่ครัวที่ต้องมี และทุกวันนี้ก็มีผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ผลิตออกมาให้เราเลือกซื้อเลือกหามาใช้สอย หลายยี่ห้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระทะเทฟลอนที่ถือว่าเป็นตลาดใหญ่ที่หลายๆ แบรนด์กระโดดเข้ามาคว้าแย่งส่วนแบ่งการตลาด

“กระทะเทฟลอน” หรือ “กระทะก้นแบนชนิดที่มีการเคลือบผิว” มีหลากหลายรูปแบบ อีกทั้งมีความแตกต่างทางด้านราคา มีทั้งแพงและถูก ส่งผลให้ผู้ซื้อต้องคิดหนักเวลาเลือกซื้อ เกิดความไม่แน่ใจ และบ่อยครั้งก็ตัดสินใจเลือกซื้อด้วยเหตุผลด้านราคา เช่น ประหยัดบ้างอะไรบ้าง บางคนซื้อเพราะชื่นชอบรูปลักษณ์ที่ดูสวยงาม ชอบดีไซน์หรือการออกแบบของตัวผลิตภัณฑ์

นิตยสาร “ฉลาดซื้อ” ร่วมกับ “เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค” จึงได้ทำการทดสอบกระทะก้นแบนชนิดมีการเคลือบผิว(เทฟลอน) โดยใช้หลักการและข้อมูลทางด้านเทคนิค เพื่อนำผลการทดสอบมาใช้เป็นข้อมูลเพิ่มเติมประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อกระทะที่สามารถตอบสนองความต้องการการใช้งานในครัวเรือนได้อย่างมีประสิทธิภาพคุ้มค่ามากยิ่งขึ้น

การทดสอบดังกล่าว ได้สุ่มซื้อกระทะเคลือบ ชนิดก้นแบน ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของกระทะ 26 เซนติเมตร จำนวน 13 ยี่ห้อ จากห้างสรรพสินค้าและไฮเปอร์มาร์เก็ตในกรุงเทพมหานคร ราคาตั้งแต่ 500 บาท ถึง 2,000 กว่าบาท โดยมีเป้าหมายในการทดสอบเปรียบเทียบอยู่ 4 ประการ คือ “ความเร็วในการถ่ายเทความร้อน”, “การใช้พลังงาน”, “การกระจายตัวของอุณหภูมิที่บริเวณก้นกระทะ” และ “ความสะดวกในการทำความสะอาด ตลอดจนความหนาของวัสดุที่เคลือบ”

1. การทดสอบความเร็วในการถ่ายเทความร้อน

ทดสอบโดยการต้มน้ำปริมาตร 1 ลิตร โดยอุณหภูมิเริ่มต้นของน้ำ คือ 26 องศาเซลเซียส เปิดฝา จับเวลา และวัดพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ตั้งแต่เริ่มต้มจนกระทั่งน้ำเดือด โดยต้มบนเตาไฟฟ้า ผลจากการทดสอบสามารถแบ่งกระทะ 4 กลุ่ม คือ

1.1 กลุ่มที่ให้ความร้อนได้เร็วมาก ได้แก่ กระทะยี่ห้อ Tefal และยี่ห้อ Tesco Lotus โดยกระทะ Tefal ใช้เวลา 7 นาที 15 วินาที และ ยี่ห้อ Tesco Lotus ใช้เวลาเพียง 7 นาที 9 วินาที ในการต้มจนน้ำเดือด

1.2 กลุ่มที่ให้ความร้อนเร็ว ได้แก่ กระทะยี่ห้อ Dream Chef ใช้เวลา 7 นาที 46 วินาที ยี่ห้อ Calphalon โดย ใช้เวลา 7 นาที 54 วินาที ยี่ห้อ Meyer ใช้เวลา 7 นาที 50 วินาที ยี่ห้อ Sehaming ใช้เวลา 7 นาที 45 วินาที ในการต้มจนน้ำเดือด

1.3 กลุ่มที่ให้ความร้อนเร็วปานกลาง ได้แก่ กระทะยี่ห้อ Kosy ใช้เวลา 8 นาที 52 วินาที ยี่ห้อ Egg Dance ใช้เวลา 8 นาที 49 วินาที และยี่ห้อ คาร์ฟู ใช้เวลา 8 นาที 50 วินาที

1.4 กลุ่มที่ให้ความร้อนช้า ได้แก่ กระทะยี่ห้อ Seagull ใช้เวลา 9 นาที 44 วินาที ยี่ห้อ Circulon และยี่ห้อ Zebra ใช้เวลาเท่ากันคือ 9 นาที 59 วินาที และยี่ห้อ Supor ใช้เวลา 10 นาที 20 วินาที

2. การทดสอบการกระจายตัวของอุณหภูมิ

วิธีการนี้ใช้กล้องรังสีอินฟราเรด ตรวจวัดอุณหภูมิของก้นกระทะที่ตั้งวางไว้บนเตาไฟฟ้า โดยที่มีอุณหภูมิของเตาไฟฟ้าที่วัดได้สูง ประมาณ 370 องศาเซลเซียส แล้วทำการบันทึกอุณหภูมิ ณ เวลาต่างๆ กัน โดยจะทำการบันทึกอุณหภูมิตั้งแต่เริ่มตั้งกระทะไว้บนเตาจนกระทั่งก้นกระทะมีอุณหภูมิสูงสุด

การทดสอบนี้จะทำให้ทราบถึงสมบัติหรือความสามารถในการกระจายความร้อนที่ก้นกระทะ ซึ่งหากกระทะยี่ห้อใดมีบริเวณที่มีอุณหภูมิสูงสุด เป็นบริเวณกว้าง ก็จะทำให้ความร้อนส่งผ่านไปยังอาหารที่ปรุงได้เร็วขึ้นจากการวัดอุณหภูมิได้ผลการกระจายตัวของอุณหภูมิดังนี้

2.1 กระทะที่มีการกระจายตัวของอุณหภูมิที่ดี ได้แก่ ยี่ห้อ Circulon, ยี่ห้อ Zebra, ยี่ห้อ Calphalon, ยี่ห้อ Tefal, ยี่ห้อ Meyer, และยี่ห้อ Egg dance

2.2 กระทะที่มีการกระจายตัวของอุณหภูมิ ระดับดีปานกลาง ได้แก่ ยี่ห้อ Dream Chef, ยี่ห้อ Seagull, ยี่ห้อ Supor, และยี่ห้อ Tesco

2.3 กระทะที่มีการกระจายตัวของอุณหภูมิ ระดับพอใช้ ได้แก่ ยี่ห้อ Sahaming, ยี่ห้อ Kosy และยี่ห้อ Carrefour

3. การวัดความหนาของผิวเคลือบบนก้นกระทะ

ความหนาของชั้นเคลือบบนก้นกระทะ เป็นตัวชี้วัดถึงคุณภาพของกระทะอีกเช่นกัน ดังนั้น จึงทำการผ่ากระทะ แล้วจึงนำมาส่องกล้องจุลทรรศน์ (Light Microscope) เพื่อวัดความหนาของชั้นเคลือบ ซึ่งจากผลการวัด พบว่า

3.1 กระทะที่มีการเคลือบผิวโดยที่ความหนาของผิวเคลือบ มากกว่า 60 ไมครอน (ไมครอน หรือไมโครเมตร เป็นหน่วยวัดความยาว มีค่าเท่ากับ 1 ใน 1,000,000 เมตร) ได้แก่
ยี่ห้อ Zebra (หนา 75 ไมครอน)
ยี่ห้อ Tefal (หนา 90 ไมครอน)
ยี่ห้อ Egg dance (หนา 60 ไมครอน)

3.2 กระทะที่มีการเคลือบผิวโดยที่ความหนาของผิวเคลือบ ระหว่าง 50- 60 ไมครอน ได้แก่
ยี่ห้อ Dream Chef (หนา 55 ไมครอน)
ยี่ห้อ Circulon (หนา 55 ไมครอน)
ยี่ห้อ Kosy (หนา 50 ไมครอน)

3.3 กระทะที่ผิวเคลือบหนาน้อยกว่า 50 ไมครอน ได้แก่
ยี่ห้อ Seagull (หนา 30 ไมครอน)
ยี่ห้อ Supor (หนา 30 ไมครอน)
ยี่ห้อ Calphalon (หนา 40 ไมครอน)
ยี่ห้อ Meyer (หนา 35 ไมครอน)
ยี่ห้อ Sahaming (หนา 45 ไมครอน)
ยี่ห้อ Tesco (หนา 30 ไมครอน)
ยี่ห้อ Carrefour (หนา 30 ไมครอน)

4. การทดสอบทำความสะอาด

การทดสอบการทำความสะอาด ใช้วิธีการต้มนมสดจนกระทั่งนมสดแห้ง ติดก้นกระทะ แล้วจึงนำกระทะไปทำความสะอาด เพื่อดูว่ากระทะยี่ห้อใด สามารถล้างคราบไหม้ของนมที่ติดอยู่บนก้นกระทะออกได้ง่าย ผลการทดสอบในประเด็นนี้พบว่า กระทะที่สามารถล้างคราบไหม้ของนมก้นกระทะออกได้ง่าย ได้แก่ กระทะยี่ห้อ Dream Chef ยี่ห้อ Seagull ยี่ห้อ Supor ยี่ห้อ Calphalon ยี่ห้อ Tefal ยี่ห้อ Meyer ยี่ห้อ Sahaming ยี่ห้อ Kosy ยี่ห้อ Eggdance

ขณะที่กระทะซึ่งล้างคราบไหม้ของนมก้นกระทะออกได้ยาก เนื่องจากคราบไหม้ติดแน่นที่ก้นกระทะ ได้แก่ ยี่ห้อ Circulon ยี่ห้อ Tesco ยี่ห้อ Carrefour

รู้อย่างนี้แล้ว เมื่อเลือกซื้อกระทะครั้งต่อไป คุณสามารถใช้ผลลัพธ์นี้ประกอบการพิจารณาเลือกซื้อได้ เพื่อให้ได้กระทะเทฟลอนที่เหมาะสมกับจุดประสงค์การใช้งานของคุณได้อย่างแท้จริง
ข้อมูลจาก นิตยสารฉลาดซื้อ

กำลังโหลดความคิดเห็น