xs
xsm
sm
md
lg

เป็นแล้วต้องรักษา "ออฟฟิศซินโดรม" ปล่อยไว้นาน อันตรายเกินคาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ทุกสิ่งที่เกิดกับเราในปัจจุบัน ล้วนเป็นผลสืบเนื่องจากการกระทำที่ผ่านมาเสมอเรื่องของสุขภาพร่างกายก็เช่นกัน

โดยทั่วไป คนเรามักเริ่มต้นวัยทำงานในช่วงอายุ 23 ปี ไปจนเกษียณตอนอายุ 60 ปี แม้ในช่วงนี้ ร่างกายจะยังแข็งแรง ไม่ค่อยเจ็บป่วยง่าย แต่ลักษณะการทำงานในบางอาชีพ โดยเฉพาะพนักงานออฟฟิศที่ต้องนั่งโต๊ะทำงานตั้งแต่เช้าจนถึงเย็น ก็มีความเสี่ยงเกิดอาการออฟฟิศซินโดรม (office syndrome) ที่เริ่มจากการแสดงอาการเล็กๆ น้อยๆ จนคนมองข้ามไป เช่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ปวดคอ แต่หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่มีการปรับพฤติกรรมหรือทำการรักษา ก็อาจลุกลาม ทำให้ร่างกายเสียสมดุล จนนำไปสู่การเจ็บป่วยอื่นๆ ในอนาคต

อย่าวางใจ...“ออฟฟิศซินโดรม”
เรื่องเล็กๆ ที่อาจกลายเป็นเรื่องใหญ่

นพ. วศิน กุลสมบูรณ์ แพทย์หัวหน้าแผนกเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า ออฟฟิศซินโดรมเป็นกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นกับคนที่ทำงานในออฟฟิศ ซึ่งมีลักษณะงานที่ต้องนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งด้วยท่าทางซ้ำๆ ต่อเนื่องเป็นเวลานานมากกว่า 6 ชั่วโมงต่อวัน หรือท่าทางการทำงานที่ไม่เหมาะสม เช่น การนั่งหลังค่อม ท่าก้มหรือเงยคอมากเกินไป จนอาจส่งผลให้เกิดโรคและอาการผิดปกติในระบบต่างๆ ของร่างกาย เช่น ระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ ระบบการย่อยอาหารและการดูดซึม ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบฮอร์โมน นัยน์ตาและการมองเห็น

“วงจรชีวิตการทำงานคือ 23-60 ปี ถ้ามีอาการต่อเนื่อง 3-5 ปีก็จะเริ่มมีปัญหาแล้ว และจะส่งผลต่อปัจจัยอื่นๆ ในร่างกาย เช่น กระดูกต้นคอเสื่อม กระดูกหลังเสื่อมเพราะตัวกล้ามเนื้อและกระดูก ถูกธรรมชาติออกแบบให้ใช้งานสำหรับการเคลื่อนไหว เมื่อไหร่ที่นั่งทำงานนานๆ การทำงานของระบบพวกนี้ก็จะผิดปกติ ทำให้ระบบทุกอย่างในร่างกายเกิดความไม่สมดุลกันไปหมด กล่าวได้ว่าเป็นเรื่องเล็กๆ ที่จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ในอนาคต” นพ. วศิน กล่าว

สำหรับอาการออฟฟิศซินโดรมที่พบได้บ่อย ได้แก่ กล้ามเนื้ออักเสบเรื้อรัง (myofascial pain syndrome) เอ็นรัดข้อมืออักเสบกดทับเส้นประสาท (carpal tunnel syndrome) ความผิดปกติของความตึงตัวของเส้นประสาท (nerve tension)กล้ามเนื้อบริเวณแขนท่อนล่างด้านนอกอักเสบ (tennis elbow) ปลอกหุ้มเอ็นกล้ามเนื้อบริเวณฐานนิ้วโป้งอักเสบ (De QuervainSyndrome) นิ้วล็อก (trigger finger) เอ็นกล้ามเนื้ออักเสบ (tendinitis)และ หลังยึดติดในท่าแอ่น (back dysfunction)

จากสถิติผู้ป่วยที่เข้ารับบริการที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ในแต่ละปี พบว่า ผู้ป่วยที่เข้ารับการทำกายภาพบำบัดกว่า 60% ของผู้ป่วยทั้งหมด คือผู้ที่มีอาการออฟฟิศซินโดรม ซึ่งเมื่อตรวจสอบประวัติแล้วก็พบว่าสาเหตุมาจากการนั่งทำงานเป็นระยะเวลานานๆ โดยไม่มีการเคลื่อนไหว

นอกจากนี้ แนวโน้มที่น่าสนใจคือ ช่วงอายุของผู้มีอาการออฟฟิศซินโดรม เริ่มมีแนวโน้มที่น้อยลงเรื่อยๆ จากอดีต มักพบในกลุ่มคนวัยทำงานอายุ 40 ปี ต่อมาลดลงเหลือ 30 ปี และปัจจุบันลดลงมาอยู่ที่ 20 กว่าปีแล้ว สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะไลฟ์สไตล์เปลี่ยน เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น มีการใช้สื่อโซเชียลอย่างแพร่หลาย ทำให้คนอยู่ในท่าทางเดิมเป็นระยะเวลานาน ซึ่งในกลุ่มที่เล่นโซเชียลผ่านโทรศัพท์มือถือนานๆ ส่วนใหญ่จะพบการอักเสบของข้อมือ และในระยะยาวอาจเกิดอาการนิ้วล็อก เหยียดให้ตรงไม่ได้

อย่างไรก็ดี ในอีกมุมหนึ่งก็อาจมองได้ว่า การตระหนักรู้และใส่ใจต่อสุขภาพของคนยุคปัจจุบันมีมากขึ้น ทำให้คนที่อายุน้อยๆ เข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาลมากขึ้นตามไปด้วย

เช็กลิสต์ “อาการ” ออฟฟิศซินโดรม
“เป็นน้อย” หรือ “เป็นหนัก” ต้องรักษา?

นพ. วศิน กล่าวอีกว่า วิธีปฏิบัติตัวเพื่อหลีกเลี่ยงอาการออฟฟิศซินโดรม ทำได้ง่ายมาก โดยหลักการคือควรมีการลุกหรือเคลื่อนไหวร่างกายทุกๆ ครึ่งชั่วโมงก็ช่วยได้แล้ว แต่ต้องเป็นการเคลื่อนไหวแบบยืดตัว เนื่องจากลักษณะท่าทางการทำงานส่วนใหญ่คือการก้มทั้งหมด

อย่างไรก็ดี ด้วยภาระงานที่ยังต้องทำต่อไป ก็อาจเป็นข้อจำกัดในการเคลื่อนไหวร่างกาย จนทำให้เกิดอาการได้ ซึ่งในทางวิชาการแล้ว ออฟฟิศซินโดรม แบ่งออกเป็น3 ระดับ ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถสังเกตเบื้องต้นด้วยตัวเองว่าอาการเจ็บปวดที่เกิดขึ้นอยู่ในระดับไหนแล้ว

ระดับที่ 1
มีอาการปวดเมื่อยเกิดขึ้นเมื่อทำงานไประยะหนึ่ง แต่พักแล้วดีขึ้นทันที แนวทางแก้ไขคือ การพักสลับทำงานเป็นระยะๆ การยืดกล้ามเนื้อเพื่อผ่อนคลาย การนวดเพื่อผ่อนคลาย และการออกกำลังกาย

ระดับที่ 2
มีอาการเกิดขึ้น แม้จะพักผ่อนนอนหลับแล้ว แต่ยังคงมีอาการอยู่ อาจจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงานหรือรับการรักษาที่ถูกต้อง

ระดับที่ 3
มีอาการปวดอย่างมากแม้ทำงานเพียงเบาๆ พักแล้วอาการก็ยังไม่ทุเลาลง หากมีอาการระดับนี้ จำเป็นต้องพักงานปรับเปลี่ยนงานและรับการรักษาที่ถูกต้อง

“วิธีสังเกตอาการว่าเป็นมากเป็นน้อย สมมุตินั่งทำงานอยู่แล้วปวด แต่พอลุกเดินไปทำกิจกรรมอื่น เช่น ไปเข้าห้องน้ำ ไปชงกาแฟ แล้วหายปวด แบบนี้อยู่ในระยะเริ่มแรก แปลว่าคุณดูแลตัวเองได้ ยังไม่ถึงขั้นต้องไปหาหมอ แต่พอเป็นถึงระดับ 2-3 คุณเริ่มต้องการคำแนะนำหรือต้องไปพบแพทย์แล้ว ระดับ 2 อาจต้องมาพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำ ทำการรักษา 1-2 ครั้งแล้วกลับไปทำต่อที่บ้าน แต่ถ้าระดับ 3 จำเป็นต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง” นพ. วศิน กล่าว

ทั้งนี้ นพ. วศิน แนะนำว่า เมื่อมีอาการเกิดขึ้น แม้ไม่ถึงขั้นต้องรักษาด้วยเครื่องมือหรือตัวยา ก็ควรมาพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษาอย่างน้อยเพื่อตรวจสอบว่าอาการที่เกิดขึ้นเกิดจากกล้ามเนื้อและกระดูกจริงๆ หรือเกิดจากภาวะซ่อนเร้นอื่นๆ เช่น ปลายประสาท หรือผิดปกติของกระดูก เพื่อจะได้วิเคราะห์ต้นเหตุได้อย่างถูกต้องต่อไป

“กายภาพบำบัด”
ปัจจัยสำคัญในการรักษา

แนวทางการรักษากลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรม ขึ้นอยู่กับอาการและระดับความรุนแรง ตั้งแต่การรักษาด้วยยา การรักษาด้วยวิธีทางเวชศาสตร์ฟื้นฟูและการทำกายภาพบำบัด เพื่อยืดกล้ามเนื้อและปรับอิริยาบถให้ถูกต้อง การปรับสภาพแวดล้อมในการทำงาน และลักษณะงานให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล

“การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มสมรรถภาพร่างกายโดยรวม ตลอดจนการรักษาด้วยศาสตร์ทางเลือกอื่น เช่น การฝังเข็ม การนวดแผนไทยซึ่งระยะเวลาการรักษาต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร เช่น ถ้าอยู่ในระยะเริ่มต้น อย่างเร็วก็ 1-3 เดือนถึงจะหาย และมีข้อแม้ว่าต้องดูแลตัวเองไปเรื่อยๆ ไม่ให้กลับมาเป็นอีก”

นพ. วศิน กล่าวเพิ่มเติมว่า กระบวนการทำกายภาพบำบัด เป็นขั้นตอนสำคัญในการรักษากลุ่มอาการออฟฟิศซินโดรมที่เกี่ยวข้องกับระบบกล้ามเนื้อและกระดูก เพื่อฟื้นฟูให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ซึ่งการทำกายภาพบำบัดที่ดีนั้น ไม่ใช่แค่การรักษาแล้วปล่อยกลับบ้าน แต่ยังควรสร้างความรู้ความเข้าใจเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วยกลับมามีอาการเหล่านี้อีก

นักกายภาพบำบัดควรประเมินโครงสร้างร่างกายและปรับแก้ให้เกิดความสมดุล แนะนำการปรับเปลี่ยนท่าทางระหว่างการทำงานให้เหมาะสมเฉพาะแต่ละบุคคล รวมทั้งส่งเสริมให้มีการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องเพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรง พร้อมรับสภาวะการทำงานที่อาจไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงของโรคอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับออฟฟิศซินโดรมด้วย

กำลังโหลดความคิดเห็น